‘การบินไทย’ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุดจ่ายคืนหนี้ ‘เงินต้น-ดอกเบี้ย’ แล้ว 1.29 พันล้านบาท พร้อมแจ้งผลการขายทรัพย์สินอีก 4 รายการ ขณะที่ ‘พนง.การบินไทย’ ทวงเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับงวดระหว่าง วันที่ 15 ก.ย.2564 ถึงวันที่ 14 ธ.ค.2564 (ปีที่ 1 ไตรมาสที่ 2)
โดยระบุว่า ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการข้อ 5.3 การชำระหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้ และการลดภาระหนี้ ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หรือศาลฎีกา (แล้วแต่กรณี) ซึ่งเป็นคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้ นั้น ผู้บริหารแผน ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน โดยการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง จนถึงวันที่ 15 พ.ย.2564 รวมเป็นเงิน 1,298.47 ล้านบาท และบริษัทฯ ไม่ได้ผิดนัดแต่ประการใด
สำหรับการขายทรัพย์สินรองที่ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางลงวันที่ 3 ธ.ค.2563 ซึ่งอนุญาตให้บริษัทฯ จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 4 รายการ ได้แก่ (1) หุ้นที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BAFS) (2) หุ้นที่บริษัทฯ ถืออยู่ในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) (NOK)
(3) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารศูนย์ฝึกอบรมที่หลักสี่ และ (4) เครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ประเภท CFM56-3C1 ติดตั้งกับเครื่องบิน B737-400จำนวน 5 เครื่องยนต์ นั้น การบินไทยได้ขายทรัพย์สินรายการ (1) (2) และ (3) และได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้มีการขายทรัพย์สินรองดังกล่าวเพิ่มเติมในงวดการรายงานประจำไตรมาสนี้
ขณะที่ การขาย ให้เช่า หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองอื่นนั้น คณะผู้บริหารแผนได้อนุมัติการทรัพย์สิน 4 รายการ ประกอบด้วย
1.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างสำนักงานหลานหลวง คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติการขายทรัพย์สินรองดังกล่าวให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อ (มีผู้เสนอราคาเพียง 1 ราย) ที่ราคา 957 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินและมูลค่าตามบัญชีสุทธิที่บริษัทฯได้บันทึกไว้ และการบินไทยได้โอนกรรมสิทธิ์และรับเงินค่าขายทรัพย์สินรองดังกล่าวครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564
2.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างสำนักงานภูเก็ต คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติการขายทรัพย์สินรองดังกล่าวให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุด และสูงกว่าราคาประเมินและมูลค่าตามบัญชีสุทธิที่บริษัทฯ ได้บันทึกไว้ ในราคา 179 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยได้โอนกรรมสิทธิ์และรับเงินค่าขายทรัพย์สินรองดังกล่าวครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564
3.ที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่ คณะผู้บริหารแผนได้มีมติอนุมัติการขายทรัพย์สินรองดังกล่าวให้แก่ผู้ยื่นซองเสนอราคาซื้อสูงสุดและสูงกว่าราคาประเมินและมูลค่าตามบัญชีของที่ดินที่บริษัทฯ บันทึกไว้ ในราคา 105 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยได้โอนกรรมสิทธิ์และรับเงินค่าขายทรัพย์สินรองดังกล่าวครบถ้วนแล้ว เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2564
4.หุ้น BAES (ในส่วนที่นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง ตามคำสั่งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2563)เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 บริษัทฯ ได้ขายหุ้น BAFS ให้แก่ผู้ยื่นซองประมูลซื้อในราคาสูงสุด จำนวน 15,000,000 หุ้น (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.35 ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของ BAFS) ในราคาหุ้นละ 32 บาทหรือคิดเป็นจำนวนเงิน 480 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ได้โอนหุ้น BAFS และได้รับเงินจากผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ขายหุ้น BAFS ในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2564 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 รวมจำนวน 7,720,500 หุ้น ในราคาเฉลี่ยหุ้นละ 29.51 บาท คิดเป็น รายรับรวม (สุทธิ) 227.32 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าการเข้าเจรจาเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลง(Letter of Intent) นั้น ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 35 เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญาเดิมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลง (Letter of Intent) เป็นที่เรียบร้อยแล้วจนถึงวันที่ 15 พ.ย.2564 รวมเป็นเครื่องบินจำนวน 12 ลำ โดยคณะผู้บริหารแผนอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่เหลือกับเจ้าหนี้สำหรับเครื่องบินอีก 45 ลำ
การบินไทย ยังรายงานด้วยว่า จนถึง 15 พ.ย.2564 มีการประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้เพิ่มเติมจากการรายงานความคืบหน้าคราวที่แล้วรวม 3 ครั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการติดตามสิทธิเรียกร้อง การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร เพิ่มรายได้ ปฏิรูปธุรกิจ และการหาแหล่งเงินทุนใหม่ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานข้างต้นของบริษัทฯ แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2564 นายวิรัช อนุเคราะห์ พนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนกลุ่มทวงคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า ทางกลุ่มฯมีความประสงค์ที่จะเดินทางมายืนถวายฎีการ้องทุกข์ เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน การบินไทย
สำหรับหนังสือร้องทุกข์มีเนื้อหาสรุปได้ว่า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงาน ส่งเสริมการออมทรัพย์ และเป็นหลักประกันแก่พนักงานและครอบครัว ในกรณีตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 โดยมีสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
แต่ด้วยค่าครองชีพในปัจจุบันที่สูงขึ้น ทำให้การดำรงชีพจึงมีความยากลำบาก และเหตุผลความจำเป็นในแต่ละบุคคลที่ต่างกัน จึงมีพนักงานที่เป็นสมาชิกองทุนฯจำนวนมาก จำเป็นต้องลาออกจากสมาชิกกองทุน เพราะต้องการนำเงินกองทุนมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันของแต่ละครอบครัวให้อยู่รอดจากปัญหาต่างๆ
แต่พนักงานกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้รับสิทธิในเงินกองทุนส่วนสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากนายจ้าง เนื่องจากการได้รับสิทธิเงินกองทุนส่วนสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากนายจ้างนั้น ข้อบังคับกองทุนฯกำหนดว่าต้องเป็น สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนเกษียณอายุ หรือออกจากงานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา สมาชิกกองทุนฯ ได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการกองทุนฯ และล่าสุดได้ร้องเรียนไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นนายทะเบียนกองทุนฯ เพื่อพิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกองทุนฯ แก้ไขข้อบังคับของกองทุนฯ เพื่อให้สมาชิกที่ลาออกจากกองทุนก่อนเกษียณอายุ หรือลาออก ได้รับประโยชน์สมทบในส่วนของนายจ้างด้วย แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการฯไม่มีการแก้ไขข้อบังคับของกองทุนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบปัญหาว่าสมาชิกที่ลาออกจากกองทุน เนื่องจากเกษียณอายุ หรือออกจากงาน บางส่วน ไม่ได้รับเงินกองทุนส่วนสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากนายจ้างแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนฯและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530
อ่านประกอบ :
‘บิ๊กตู่’สั่ง‘คมนาคม’ถกอุ้ม ‘การบินไทย’-‘ศักดิ์สยาม’ชี้ไม่เป็น‘รสก.’ ขอเงินรัฐไม่ได้
'ปิยสวัสดิ์’ หวังรัฐแปลงหนี้ฯ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน‘การบินไทย’-เผย 9 เดือน กำไร 5.1 หมื่นล.
‘บิ๊กตู่’ยัน‘การบินไทย’เป็น'สายการบินแห่งชาติ'ตลอดไป-ชี้แผนฟื้นฟูฯคืบหน้าในเกณฑ์ดี
‘การบินไทย’เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-ลั่นไม่กลับเป็น‘รัฐวิสาหกิจ’แล้ว
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'