‘การบินไทย’ เจรจา ‘สถาบันการเงิน’ ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน ยก 4 เหตุผลจูงใจปล่อยกู้ คาดได้ข้อสรุปไม่เกิน ม.ค.2565 หวังภาครัฐตัดสินใจหนุนเงินใหม่อีก 2.5 หมื่นล้าน เผยหลังเดินหน้า ‘ปฏิรูปธุรกิจ’ ลดต้นทุนได้ 4.48 หมื่นล้านบาท
..................................
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดหาสินเชื่อใหม่ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ว่า บริษัท การบินไทย เตรียมเจรจากับสถาบันการเงินขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นปี 2565
“ในแผนฟื้นฟูฯกำหนดว่า จะมีสินเชื่อใหม่ 5 หมื่นล้านบาท โดย 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากรัฐ หรือเงินที่รัฐสนับสนุน หรือเงินที่รัฐค้ำประกัน ส่วนอีก 2.5 หมื่นล้านบาท มาจากภาคเอกชน แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า เงินภาครัฐจะมาอย่างไร ในรูปแบบไหน ทางการบินไทย ก็เดินหน้าต่อไป โดยเงินจากภาคเอกชนมา 2.5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ก็มีที่ปรึกษาฯแล้ว และจะพูดกับสถาบันการเงินในเร็วๆนี้
ก็หวังว่าจะเบิกเงินใหม่ได้ 2.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้การดำเนินงานของเรา เป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่น เพียงแต่งบดุลอาจจะยังดูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ ถ้าได้เงินจากภาครัฐมาด้วยอีก 2.5 หมื่นล้านบาท ก็จะดีมาก แต่ว่าคงต้องพอใจเท่านี้ก่อน เพราะมีกฎระเบียบของภาครัฐที่เป็นปัญหาการเมือง ซึ่งเราเข้าใจ ดังนั้น ในชั้นนี้ เราจะเดินเฉพาะสถาบันการเงินภาคเอกชน” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการ ที่สถาบันการเงินควรปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับบริษัท การบินไทย ได้แก่
ประการที่ 1 หากพิจารณาในแง่ของต้นทุนและผลการดำเนินงานของบริษัทฯแล้ว หากโควิด-19 หมดไป ตนเชื่อว่าการบินไทยจะเป็นสายการบินที่มีกำไรและมีกำไรดีด้วย ดังนั้น ผู้ที่ให้เงินกู้กับการบินไทยจะได้เงินกู้คืนแน่นอน
ประการที่ 2 ปัญหาของการบินไทย รวมถึงสายการบินทั่วโลกในขณะนี้ คือ การขาดสภาพคล่องในระยะสั้นๆ เนื่องจากผลกระทบโควิด หากบริษัทฯต้องล้มละลายไป เจ้าหนี้จะได้เงินประมาณ 10% แต่หากเจ้าหนี้เดิมเอาเงินใหม่ใส่เข้ามา หนี้เดิมจะได้คืนทั้งหมด และหนี้ใหม่จะได้คืนด้วย จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ประการที่ 3 การบินไทยยังมีหลักทรัพย์และมีทรัพย์สินอยู่พอสมควรที่จะนำไปค้ำประกันสินเชื่อใหม่ได้ เช่น ที่ดินสำนักงานใหญ่บริษัท การบินไทย เนื้อที่ 30 ไร่ รวมถึงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆในต่างประเทศ เป็นต้น
ประการที่ 4 ตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ กำหนดให้คนที่นำเงินใหม่ใส่เข้ามา จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาท/หุ้น ในขณะที่ราคาพาร์อยู่ที่ 10 บาท/หุ้น หากผลประกอบการของบริษัท การบินไทย ฟื้นตัวกลับมาดี ก็มีโอกาสสูงที่จะได้กำไรจากการซื้อหุ้นใหม่
นายปิยสวัสดิ์ ย้ำว่า ภาครัฐควรต้องพิจารณาให้ดีว่าสมควรใส่เงินใหม่เข้ามาในบริษัท การบินไทย หรือไม่ เพราะหากรัฐไม่ใส่เงินเข้ามา ต้องดูว่าจะเป็นการเสียโอกาสหรือไม่ เนื่องจากคนที่ใส่เงินใหม่เข้ามาจะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคา 2.54 บาท/หุ้น ซึ่งหากผลประกอบการของการบินไทยดี ภาครัฐจะเสียโอกาสตรงนี้ไป ตอนนี้จึงกลับไปที่ภาครัฐจะตัดสินใจอย่างไร จะยอมเสียโอกาสนี้หรือไม่
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า บริษัท การบินไทย พร้อมกลับมาให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว ในฐานะสายการบินแห่งชาติ เพื่อเปิดประตูสู่ประเทศไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ บริษัท การบินไทย จะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินทั้งไปและกลับในจุดบินที่บินอยู่แล้ว เช่น ยุโรป และสหรัฐ เป็นต้น ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น จีน นั้น คงต้องรอให้เขาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวออกมาก่อน
เมื่อถามว่า ฝูงบินของการบินไทยที่จะลดลงเหลือ 58 ลำในสิ้นปี 2564 นั้น จะเพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสารหรือไม่ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ฝูงบินที่มีอยู่ดังกล่าง น่าจะเพียงพอในระยะสั้น แต่หากในระยะต่อไปจะมีการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม จะต้องพิจารณาก่อนว่าสถานการณ์การบินเป็นอย่างไร และแม้ว่าบริษัท การบินไทย จะเหลือฝูงบิน 58 ลำ แต่ตะมีการเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบินที่อยู่ เช่น เครื่อง 777-300 ER ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น
ด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การจัดหาสินเชื่อใหม่จากเอกชนนั้น น่าจะได้ข้อสรุปในเดือน ธ.ค.2564-ม.ค.2565 และคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 เป็นต้นไป ซึ่งเงินดังกล่าว 1.6 หมื่นล้านบาท จะนำไปคืนค่าตั๋วให้ลูกค้าในต่างประเทศ 1.2 หมื่นล้านบาท และอีก 4,000 ล้านบาท จะนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้พนักงานที่เข้าโครงการร่วมใจจาก ส่วนที่เหลืออีก 1 หมื่นล้านบาท จะนำไปใช้ในการดำเนินกิจการ
“เรามีค่าตั๋วเครื่องบินที่ต้องจ่ายคืนลูกค่าในต่างประเทศ 12,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพนักงานที่สมัครใจร่วมจากกันอีก 4,000 ล้านบาท ถ้าได้เงินสินเชื่อใหม่จากเอกชนมาเราจะเอาไปจ่ายตรงนี้ ส่วนเงินที่เหลือเราจะนำไปใช้ในการดำเนินกิจการตามแผนงานโดยไม่สะดุดนัก และมั่นใจว่าเงินก้อนนี้จะทำให้เราฟื้นฟูกิจการให้เข้มแข็งได้ ส่วนเงินของรัฐอีก 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น หากยังไม่มีความชัดเจน ก็จะมีผลกระทบในส่วนของทุน และงบดุลเท่านั้น” นายศิริ กล่าว
นายศิริ กล่าวว่า หากภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง ตัดสินใจให้สินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นบาท แก่บริษัท การบินไทย และใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาท เต็มจำนวนเงินที่ให้สินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับเอกชน จากประมาณการพบว่า หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว กระทรวงการคลังจะถือหุ้นในบริษัท การบินไทย ไม่เกิน 40% ทำให้บริษัท การบินไทย ยังเป็นบริษัทเอกชน และไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทั้งหมดจะได้ข้อสรุปภายในกลางปี 2565
นายศิริ ระบุว่า ในปี 2565 คาดว่าบริษัทฯจะมีผู้โดยสาร 6 ล้านคน และมีกำไรก่อนหักค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เป็นบวก คือ มีรายได้จากการดำเนินงานมากกว่ารายจ่ายจากการดำเนินงาน และในปีถัดไปรายได้จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้ EBITDA เป็นบวกมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า บริษัทฯจะมีเงินมาจ่ายคืนหนี้สินเดิม และชำระคืนหนี้สินใหม่ที่ยืมจากภาคเอกชน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า สำหรับลูกค้าบริษัท การบินไทย ที่ยังมีตั๋วค้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบัตรโดยสาร และ Travel voucher นั้น ในส่วนของ Travel voucher จะใช้ได้ถึงสิ้นปี 2565 โดยสามารถนำมาแลกเป็นตั๋วของการบินไทย หรือตั๋วไทยสมายล์ได้ ส่วนบัตรโดยสารเดิมที่มีอยู่ก็สามารถใช้งานได้ ซึ่งช่องทางในการซื้อหรือเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสารจะมี 4 ช่องทาง เช่น thaiairways.com หรือ Call center เป็นต้น
ส่วนสมาชิกรอยัล ออร์คิด พลัส นั้น จะขยายระยะเวลาไมล์สะสมที่จะหมดอายุไปจนถึงสิ้นปี 2566 และขยายอายุสถานภาพสมาชิกออกไปจนถึงสิ้นปี 2565
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า นอกเหนือจากธุรกิจการบินแล้ว บริษัท การบินไทย มีธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero) ที่เป็นจุดแข็งและจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯอย่างยั่งยืนในอนาคตได้ใน 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจครัวการบิน ,ธุรกิจคาร์โก้ (ขนส่งสินค้า) และคลังสินค้า ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจร้านเบเกอรี่ puff&pie นอกจากนี้ บริษัทฯ มีบุคลากรฝ่ายช่างที่ศักยภาพสูง ซึ่งสามารถซ่อมบำรุงเครื่องบินให้กับลูกค้าได้
สำหรับภาพรวมความคืบหน้าในการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัท การบินไทย ได้ดำเนินโครงการปฏิรูปธุรกิจ (Transformation Initiatives) ซึ่งพัฒนาจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการ จากทั้งหมด 1,000 โครงการ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาทต่อปีเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตที่ใกล้เคียงกับปี 2562 ค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปธุรกิจ
เช่น ลดต้นทุนด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ,เพิ่มประสิทธิภาพฝูงบินและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ,ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ลดต้นทุนได้ 1,100 ล้านบาท ,ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน ซึ่งลดต้นทุนได้ 719 ล้านบาท ,เพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง ซึ่งลดต้นทุนได้ 802 ล้านบาท และลดต้นทุนด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกระดับเป็นอย่างดีในการสมัครใจเข้าร่วมรับการกลั่นกรองในโครงการปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร ปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างและโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากร โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน (Leave without Pay) รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน
ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน เทียบกับปี 2562 มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาทต่อเดือน เหลือกว่า 600 ล้านบาทต่อเดือน จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วน 35% ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ด้วยจำนวนพนักงานที่ลดลง ทำให้บริษัทฯ สามารถกระชับพื้นที่ทำงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และพื้นที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่
บริษัทฯ ยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ
กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น
ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือร้อยละ 1.5 ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่ายจำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อจำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินรวม 58 ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูง ทำให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท เมื่อทำการบินในปริมาณการผลิตใกล้เคียงปี 2562
ในเดือน ต.ค.2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19เมื่อเดือนเมษายน 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือนเม.ย.2563-ต.ค.2564 บริษัทฯ มีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบินเป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาท และมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่ขาดทุนลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารแผนฯสามารถดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ แผนปฏิรูปธุรกิจ และบริหารจัดการสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ให้บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มิ.ย.2564 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล บริษัทฯ ได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 – 26 มีนาคม 2565 โดยภายในไตรมาสที่ 1/2565 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ในทวีปยุโรป 9 จุดบิน ในทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน ด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services)
อาทิ ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง ห้องรับรองพิเศษ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สื่อสาระบันเทิงบนเครื่องบิน บริการเลือกอาหารล่วงหน้าสำหรับชั้นธุรกิจในเที่ยวบินระหว่างประเทศ กาแฟและเครื่องดื่มรายการพิเศษ นิตยสารและหนังสือพิมพ์ระบบดิจิทัล ทั้งนี้ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ครบทุกคน พร้อมมาตรฐานความเป็นเลิศด้านสุขอนามัย (Hygiene Excellence) ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
อ่านประกอบ :
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage