ราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้ ‘ดาวเทียมต่างชาติ’ ให้บริการเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย เผยไทยสามารถอ้างเหตุ 'ความมั่นคง' ตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดดาวเทียมต่างชาติได้
........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2564 ประกาศ ณ วันที่ 21 ก.ค.2564 ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ
ทั้งนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวกำหนดว่า การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทยเชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น หรือ
(2) ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ที่ประสงค์จะประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย
โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงได้
นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ ยังกำหนดให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ พ.ศ.2558 ลงวันที่ 17 ส.ค.2558 ด้วย
@เทียบข้อแตกต่างประกาศฉบับใหม่-ประกาศฉบับปี 2558
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2564 ดังกล่าว มีความแตกต่างจากประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ พ.ศ.2558 ในหลายประเด็น
เช่น ประกาศฯฉบับปี 2564 กำหนดให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการฯต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ต่อ กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช.
แตกต่างจากประกาศฯฉบับปี 2558 ที่กำหนดให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ในขณะนั้น) จะพิจารณาอนุญาต ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก สำนักงาน กสทช. ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงเทคไอซีทีกําหนด และให้กระทรวงไอซีที มีอำนาจในการยกเลิก เปลี่ยนแปลง เงื่อนไขในการอนุญาตหากเห็นว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
ส่วนการอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาตินั้น ประกาศฯฉบับปี 2564 กำหนดว่า การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทยเชิงพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ
1.ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ ในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น หรือ 2.ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบกิจการ ซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย โดยผู้ประสงค์ประกอบกิจการต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ต่อ กสทช.
แตกต่างจากประกาศฯฉบับปี 2558 ที่ระบุเงื่อนไขการใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติไว้ 4 กรณี คือ
(1) เป็นการใช้ในภารกิจของพระราชวงศ์ บุคคลสำคัญ ภัยพิบัติแห่งชาติ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความมั่นคงของประเทศ สาธารณสุข อุตุนิยมวิทยา และการศึกษา
(2) เป็นการให้บริการในระยะสั้น และมีการกําหนดเวลาที่แน่นอนที่เป็นบริการเฉพาะ ซึ่งจัดการถ่ายทอดกิจกรรมสำคัญทั่วโลกทั้งในประเทศหรือต่างประเทศหรือมีความจำเป็นต้องให้บริการแบบเหมารวมกับการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ
(3) เป็นการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสาธารณะ และสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
(4) เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการให้บริการรับ-ส่งสัญญาณของผู้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล โดยใช้สถานีดาวเทียมภาคพื้นดินภายในประเทศ (Satellite Gateway) หรือสถานีรับ-ส่งสัญญาณที่อยู่ในอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard Infrastructure) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรฯ
@เนื้อหาประกาศอนุญาตใช้‘ดาวเทียมต่างชาติ’ฉบับใหม่
สำหรับรายละเอียดเนื้อหาของประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2564 ระบุว่า ด้วยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 มี.ค.2562 มีมติเห็นชอบนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอเพื่อให้มีนโยบายและหลักเกณฑ์การขออนุญาตการใช้ดาวเทียมต่างชาติ
เพื่อให้บริการในประเทศไทยที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อกระตุ้นการสร้างบรรยากาศการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติ และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการ
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 8 (8) แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกิจการอวกาศ พ.ศ.2552คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ จึงยกเลิกประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ พ.ศ.2558 ลงวันที่ 17 ส.ค.2558 และออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ขอบเขตการอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ครอบคลุมกรณีผู้ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น รวมถึงกรณีผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติที่ประสงค์จะประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์หรือกิจการกระจายเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ดาวเทียมต่างชาติ” หมายความว่า ดาวเทียมสื่อสารประเภทวงโคจรประจ าที่ (Geostationary Satellite Orbit: GSO) และดาวเทียมวงโคจรไม่ประจำที่ (Non-Geostationary Satellite Orbit: NGSO) ที่ใช้สิทธิข่ายงานดาวเทียมของประเทศอื่น
“การประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารโดยใช้ดาวเทียมต่างชาติ” หมายความว่า การประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสาร เชิงพาณิชย์โดยใช้ดาวเทียมต่างชาติแก่บุคคลอื่นทั่วไป
“การอนุญาต” หมายความว่า การอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ
“ข่ายงานดาวเทียม (Satellite Network Filing)” หมายความว่า ชุดข้อมูลที่แสดงสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดการใช้งานคลื่นความถี่ ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม และลักษณะทางเทคนิคของการใช้งาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศและประเทศสมาชิกใช้ในการบริหารการใช้งานคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียม
ข้อ 3 การพิจารณาว่ารัฐใดเป็นรัฐเจ้าของดาวเทียม จะต้องพิจารณาจากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเป็นหลัก หากรัฐที่เป็นเจ้าของสิทธิข่ายงานดาวเทียมตามทะเบียนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศไม่ใช่รัฐที่มีความเชื่อมโยงที่แท้จริงกับดาวเทียมให้พิจารณารัฐที่เป็นเจ้าของดาวเทียมด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
(1) รัฐที่มีอำนาจในการควบคุมการดำเนินงานของดาวเทียมนั้น
(2) เมื่อการพิจารณาตามข้อ 3 (1) ไม่สามารถหารัฐเจ้าของดาวเทียมได้ ให้รัฐเจ้าของดาวเทียม หมายถึง รัฐที่มีบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสัญชาติตนถือหุ้นข้างมากและเป็นผู้มีอำนาจควบคุมที่แท้จริงของดาวเทียม
ข้อ 4 ประเทศไทยอาจตั้งเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาดของดาวเทียมต่างชาติด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
ข้อ 5 การอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศไทยเชิงพาณิชย์ให้เป็นไปตามกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทยที่ประสงค์จะใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในการประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารแก่บุคคลอื่น หรือ
(2) ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต่างชาติของรัฐเจ้าของดาวเทียมที่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกที่ประสงค์จะประกอบกิจการซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสารในประเทศไทย
โดยผู้ประสงค์จะประกอบกิจการต้องยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด
ข้อ 6 เมื่อประกาศฉบับนี้บังคับใช้ไปแล้วสามปี ให้มีการประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ต่อไป
อ่านประกอบ :
ผู้ตรวจอัยการฯ VS ปลัดดีอีเอส : ขอให้ยึดถือความสัตย์จริง ตรงไปตรงมา
เสี่ยงถูกครอบงำ! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ ค้านตั้ง ‘อนุญาโตฯ’ คนเดียว รวบคดีไทยคม
อ้างผิดพลาด! 'ปลัดดีอีเอส'ขออภัย 'ผู้ตรวจอัยการ’ ยันไม่เปลี่ยน‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม 5
'รมว.ดีอีเอส' ยันเสนอชื่อ ‘อนุญาโตฯ’ คดี 'ไทยคม' ใหม่อีกรอบ ขึ้นอยู่กับ ‘อสส.’
‘ดีอีเอส’ ตีกลับ‘เลขาฯอสส.’! แจ้งขอเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีพิพาทไทยคมอีกรอบ
4 ปมปัญหา! เบื้องหลังเปลี่ยน ’อนุญาโตฯ’คดีไทยคม หลังผลัดเก้าอี้ 'รมว.ดีอีเอส'
ปมขัดแย้งเปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ ฝ่ายอัยการ คดีข้อพิพาท ‘ไทยคม’ เดิมพันผล ปย.หมื่นล้าน
เสียหายต่อชื่อเสียง! ‘ผู้ตรวจอัยการ’ จี้ ‘ปลัดดีอีเอส’ แจงปมเปลี่ยน 'อนุญาโตฯ' คดีไทยคม
ข้องใจ! ‘ผู้ตรวจฯอัยการ’ ถาม ‘ดีอีเอส’ หลัง ‘อสส.’ เปลี่ยน ‘อนุญาโตฯ’ คดีไทยคม
อสส.ตั้ง 'เลขาฯ’ตัวเองนั่งอนุญาโตฯ ‘คนเดียว’ พิจารณาข้อพิพาทดาวเทียมไทยคม 3 คดี
เลื่อนเคาะราคาเป็น 28 ส.ค.!'บอร์ด กสทช.'ขยายเวลาประมูลใบอนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม
ไม่มีการแข่งขัน! ‘ชัยวุฒิ’ เสนอล้มประมูลใบอนุญาตดาวเทียม หลัง ‘ไทยคม’ ยื่นรายเดียว
มารายเดียว! ‘บ.ลูกไทยคม’ ยื่นเอกสารประมูลใบอนุญาตดาวเทียม-‘มิวสเปซ’ ถอดใจ
ส่อวุ่น! ศึกประมูลดาวเทียม ‘ดีอีเอส’ งัดข้อ กสทช. -‘มิว สเปซ’ เขย่าบังลังก์ ‘ไทยคม’
ยิงดาวเทียมต้องใช้เวลา 2 ปี! ‘กสทช.’ ยันเดินหน้าเคาะประมูลใบอนุญาตฯ 24 ก.ค.นี้
กระทบดาวเทียมเก่า! ‘ไทยคม’ ร้อง ‘ดีอีเอส’ ถก ‘กสทช.’ ทบทวนเปิดประมูลสิทธิ 2 วงโคจร
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/