“ไม่น่าจะเป็นการแบ่งเค้กอะไร เพราะในนั้น (ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package)) เขียนว่า ต้องมีประสบการณ์การที่เกี่ยวข้อง..ซึ่งก็มีเจ้าเดียว”
........................
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศเปิดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย ชุดข่ายงานดาวเทียม 4 ชุด ได้แก่
ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท
ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท
ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท
ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท
โดยสำนักงาน กสทช. เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารหลักฐานขอรับอนุญาตในวันที่ 5 ก.ค.2564 ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ในวันที่ 12 ก.ค.2564 จากนั้นจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล และ Mock Auction วันที่ 19-21 ก.ค.2564 และเปิดประมูลในวันที่ 24 ก.ค.2564
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ Thai PBS จัดเสวนาออนไลน์ เรื่อง “ดาวเทียมหมดสัญญา…ผลประโยชน์ชาติ จะอยู่กับใคร” โดยนักวิชาการที่เข้าร่วมการเสวนา ระบุว่า การประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ อาจมีเอกชนเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติเข้าประมูล ในขณะที่ผลประโยชน์ในการประมูลครั้งนี้จะมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้ากลุ่มวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สัมปทานดาวเทียมของไทยที่จะสิ้นสุดอายุในเดือน ก.ย.2564 และกำลังจะเปิดประมูลใบอนุญาตใหม่ในเดือน ก.ค.นั้น เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมเหมือนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
เช่น เรื่องดาวเทียมไทยคม 5 ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าจนไม่สามารถใช้งานได้ และต้องยิงดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทน หรือดาวเทียมไทยคม 7 ที่วันนี้ยังไม่ทราบชัดเจนใครเป็นเจ้าของ ทั้งๆที่ใช้สิทธิวงโคจรของประเทศไทย
“บางคนอาจไม่รู้ว่าเราใช้ดาวเทียมสื่อสารทั้งดูทีวี หรือใช้งานอินเตอร์เน็ต และวันนี้รูปแบบการใช้งานเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีเพียงดาวเทียมค้างฟ้า แต่ยังมีอย่างอื่นที่เกิดขึ้นอีก เราจึงต้องรักษาผลประโยชน์ให้กับคนไทยทั้งชาติ และเราก็ไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม” ผศ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว
@หวั่นเอกชนรายเดียวมีสิทธิเข้าประมูลใบอนุญาต
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ประเมินว่า การประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้ คงไม่ใช่เป็นเรื่องของการแบ่งเค้ก เพราะหากพิจารณาประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ พบว่ามีเอกชนเจ้าเดียวที่มีประสบการณ์ตามที่ประกาศได้ระบุไว้
“ไม่น่าจะเป็นการแบ่งเค้กอะไร เพราะในนั้น (ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package)) เขียนว่า ต้องมีประสบการณ์การที่เกี่ยวข้อง ...ซึ่งก็มีเจ้าเดียว” ผศ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว
(ที่มา : ประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package))
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ยังเป็นห่วงว่า แม้ว่า บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) จะมีประสบการณ์ที่ดีในด้านการบริหารกิจการดาวเทียม แต่ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ไทยคม นั้น มี SINGTEL GLOBAL INVESTMENT PTE. LTD. ซึ่งกองทุนเทมาเส็กจากสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
“ความหวังลึกๆของนักวิชาการคนหนึ่ง ก็ยังอยากให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าของ ในอดีตเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่ามีการผิดพลาดไปแล้ว เพราะเปรียบเสมือนการเอาทรัพยากรที่ล้ำค่าของประเทศเราไปให้ที่อื่น แต่ทุกวันนี้ ถ้าสมมุติว่าเอากลับมาได้ ก็อย่าให้ซ้ำรอยเดิม เราก็จะได้ของไทยกลับมา แต่ถ้าอยากเทกฯกลับคืนมา ก็อยากให้คุยกันดีๆ” ผศ.ดร.สุภาภรณ์ระบุ
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ยังให้มุมมองเพิ่มเติมว่า วันนี้เรื่องของกิจการดาวเทียมนั้น ไม่ใช่เฉพาะดาวเทียมค้างฟ้า (Geostationary Orbit) ที่ประเทศไทย และ กสทช.ต้องให้ความสนใจ แต่ต้องรวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) ซึ่งอยู่เหนือพื้นโลก 550 กิโลเมตร ไปจนถึงระดับพันกิโลเมตร เช่น ระบบดาวเทียม starlink ของสเปซเอ็กซ์ และระบบดาวเทียม Kuiper ของ Amazon
"ดาวเทียมเหล่านี้ลอยอยู่เหนือน่านฟ้าอวกาศของประเทศไทย แต่ไทยไม่ได้เป็นเจ้าของ ในขณะที่ระบบดาวเทียมเหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลเก็บข้อมูลไว้ในระบบคลาวด์ได้ แล้วอย่างนี้ประเทศไทยจะทำอย่างไร"
(นิพนธ์ ทรายเพชร (ซ้าย)และ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน (ขวา))
@สิทธิในวงโคจรดาวเทียมต้องสงวนให้ประเทศไทยใช้
ด้าน ดร.ศาสดา วิริยานุพงศ์ สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน กล่าวว่า เรื่องสัมปทานดาวเทียม เมื่อก่อนไทยอาจไม่มีทางเลือกมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เงินลงทุน และเรื่องความเสี่ยง แต่วันนี้เรื่องเหล่านี้พัฒนาไปมากแล้ว และหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับความมั่นคง
ดังนั้น ในการเปิดประมูลสิทธิในวงโคจรดาวเทียมนั้น ภาครัฐควรจัดชุด (Package) ว่า ตำแหน่งวงโคจรชุดใดจะภาครัฐจะเก็บไว้เอง หรือชุดใดที่จะนำไปเปิดให้เอกชนประมูลทั้ง 100%
“เราสามารถจัดกลุ่ม (Package) ว่า กลุ่มใดที่เราจะบริหารจัดการเองในบางตำแหน่ง กับบางตำแหน่งที่เราคิดว่าจะนำไปหาผลประโยชน์ 100% เราก็ให้สัมปทานไปเลย แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเราให้เขา (เอกชน) ไปหมด แต่ไปเขียนข้างในว่าเขาต้องให้ transponder (ช่องสัญญาณ) กับหน่วยงานรัฐ หรือมีการใช้ประโยชน์ฟรีบ้าง
ซึ่งมันฟังแล้วดูตลก เพราะถ้าบอกว่าเป็นสิทธิของเรา แล้วให้เขาไป เพื่อที่เราจะได้เงินมาบ้าง เราไม่ต้องเหนื่อยกับการจัดการ แต่เราต้องมาขอเขามาอีกที ตอนแรกทุกอย่างจะสวยงามหมด เพราะฝ่ายหนึ่งอยากหาคนมาประมูล อีกคนก็อยากได้ แต่หลังจากนั้นแล้ว ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สัญญาก็บิดไปได้เรื่อยๆ
ดังนั้น ผมคิดว่า เราก็จัดกลุ่มไปเลยว่า อันนี้เราไม่ให้ แต่การที่รัฐจะดำเนินการเองนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐไปทำเองหมด แต่อาจเป็นในรูปแบบร่วมทุนแบบ PPP ก็ได้ ส่วนที่ให้เอกชนก็ให้เขาทำไป” ดร.ศาสดากล่าว
(ดร.ศาสดา วิริยานุพงศ์)
สำหรับการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ดร.ศาสดา มองว่า “ผมคิดว่า กสทช.เขาดูมาดีแล้ว แต่จะทำดีแล้วหรือไม่ ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งเริ่มต้น ส่วนมีข่าวว่าอาจมีแค่ไม่กี่รายหรือไม่กี่เจ้าเข้ามา แต่อาจมีหลายรายก็ได้ หรืออาจจะเป็นเจ้าเดียวจริงๆก็ได้
ซึ่งเจ้าเดียวที่เข้ามาอาจมีวิธีการที่ดี และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก็ได้ หรืออาจหมายมั่นปั้นมือว่า ครั้งนี้แหละเค้กก้อนใหญ่ที่จะกินกันอร่อย จึงต้องไปดูตอนทำ คือ ตอนนี้เพิ่งเริ่มทำ ก็ไม่อยากจะนับอะไร เพราะยังไม่เข้ากระบวนการอะไรที่แท้จริง”
ดร.ศาสดา ยังระบุว่า "บางครั้งการมีเอกชนต่างประเทศเข้ามาถือเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง แต่เนื่องจากดาวเทียมมีตำแหน่งวงโคจรนั้น เป็นเรื่องสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ความมั่นคง และมีอาณาเขตการใช้ประโยชน์ที่กว้าง จึงต้องสงวนไว้และมีหลักเกณฑ์ที่แน่นหนา เช่น ต้องลงรายละเอียดว่าผู้ถือหุ้นต้องเป็นคนไทยเกิน 51% และต้องเป็นคนไทย 51% แท้ ไม่ใช่นอมินี"
@ประมูลรอบนี้ผลประโยชน์มากกว่าเดิมหลายเท่า
ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวด้านกลศาสตร์ท้องฟ้า กล่าวว่า สิทธิในวงโคจรเป็นสิทธิของประเทศไทย ดังนั้น รัฐควรเป็นผู้บริหารเอง ซึ่งการเปิดให้เอกชนประมูลสิทธิในวงโคจรแล้วให้เอกชนนำไปบริหารเลยนั้น ตนเห็นว่ายังไม่รอบคอบ เพราะหลายเรื่องมีปัญหาในการสื่อสาร
“สิทธิในวงโคจร รัฐควรบริหารเอง แต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ารัฐให้เอกชนนำไปบริหาร และแม้ว่าจะมีการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทเอกชน หน่วยงานของรัฐ และรัฐบาล แต่ในรายละเอียดเราไม่แน่ใจว่า ทุกอย่างจะเป็นอย่างที่เราต้องการหรือไม่ เพราะสื่อสารแล้วมีปัญหา” ผศ.ดร.จตุรงค์กล่าว
(ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ)
ผศ.ดร.จตุรงค์ กล่าวถึงการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมของ กสทช. ครั้งนี้ ว่า เป็นการประมูลที่มีความสำคัญ และมีผลประโยชน์เป็นตัวเงินมากกว่าเดิมหลายเท่า เนื่องจากตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ120 องศาตะวันออกที่นำมาเปิดประมูลนั้น พบว่ามีชุดความถี่ใหม่ๆที่สามารถนำไปทำระบบ 5G ได้
“การเปิดประมูลสิทธิในการบริหารวงโคจร ณ ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ120 องศาตะวันออกนั้น พบว่ามีชุดความถี่ใหม่ๆ ตั้งแต่ L แบนด์ , X แบนด์ , Q แบนด์ และ V แบนด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ 5G ได้ ส่งข้อมูลได้เร็ว สามารถหาประโยชน์ได้มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า” ผศ.ดร.จตุรงค์ระบุ
(ที่มา : ประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package))
@หนุนไทยต่อยอดเทคโนโลยีสร้างดาวเทียมของตัวเอง
ขณะที่ นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่สามารถยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเองได้ แต่ตัวดาวเทียมนั้น ไทยมีความรู้ที่จะสร้างเองได้ อยู่ที่ว่าจะมีงบประมาณหรือไม่ และส่วนตัวเห็นว่าไทยควรส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมของตัวเอง เช่น เราต้องสร้างดาวเทียมของเราเองได้
“กิจการดาวเทียม เป็นกิจการยุคอวกาศ เราน่าจะใช้เรื่องพวกนี้ในการส่งเสริมการเรียนการสอน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราต้องปลูกฝังให้คนเรียนให้มากขึ้น ถ้าเรามีฐาน เราจะมีคนเก่งที่จะมาเป็นรากฐานในการพัฒนาการสื่อสารหรือระบบอื่นๆในอนาคต ด้วยความสามารถของไทยเราเอง” นิพนธ์กล่าว
เหล่านี้เป็นข้อสังเกตของนักวิชาการเกี่ยวกับการประมูลใบอนุญาตดาวเทียมของ กสทช. ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน ก.ค.นี้ ส่วนผลการประมูลจะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/