‘ไทยคม’ ยื่นหนังสือถึง ‘รมว.ดีอีเอส’ ขอให้เจรจากับ ‘กสทช.’ ทบทวนการนำสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 78.5 และ 119.5 องศาตะวันออก ไปเปิดประมูล หวั่นส่งผลกระทบต่อการใช้งานดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ที่ยังใช้งานได้อยู่
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถึงนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยขอให้กระทรวงดีอีเอสพิจารณาหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการผลกระทบจากการเปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะการจัดชุด (Package) ของ กสทช.
โดยเฉพาะกรณีที่ กสทช. นำสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออกและ 119.5 องศาตะวันออก ไปเปิดประมูลนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบและมีความเสียหายเกิดขึ้นได้
สำหรับหนังสือของ บมจ.ไทยคม สรุปความได้ว่า ตามที่ได้มีประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ซึ่งกำหนดให้มีการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นชุด จำนวน 4 ชุด นั้น บมจ.ไทยคม เห็นว่า การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก ไปเปิดประมูล อาจจะก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ
ทั้งนี้ เนื่องจากตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออกนั้น ปัจจุบันมีดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้บริการในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ และหลังวันที่ 10 ก.ย.2564 กระทรวงดีอีเอสในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 จะรับดาวเทียมทั้ง 2 ดวง ไปบริหารจัดการและให้บริการลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนว่าจะมีการมอบหมายให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการกิจการ
ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลและได้รับสิทธิในการใช้งานดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออก เป็นบุคคลอื่น ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับผู้ที่จะได้รับมอบหมายจากกระทรวงดีอีเอส จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯดังกล่าว รวมทั้งจะสร้างผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการให้บริการ การดำเนินธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร และรายได้ของภาครัฐ
“ดาวเทียมสื่อสารมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคงของชาติ จึงควรมีการพิจารณาถึงผลกระทบให้รอบด้าน อีกทั้งหากพิจารณาถึงหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ที่ต้องรักษาวงโคจรที่มีอยู่ของประเทศไทย การนำสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออกและ 119.5 องศาตะวันออก มาประมูลนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นต้องดำเนินการ ณ ขณะนี้ เพราะปัจจุบันยังคงมีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่บนวงโคจรดังกล่าวอยู่” หนังสือ บมจ.ไทยคม ระบุ
นายชัยวุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า บมจ.ไทยคม มีหนังสือถึงกระทรวงดีอีเอส โดยขอให้กระทรวงฯไปหารือกับ กสทช. เนื่องจาก บมจ.ไทยคม เห็นว่าไม่ควรนำวงโคจรดาวเทียม 78.5 องศาตะวันออก และ 119.5 องศาตะวันออกมาเปิดประมูล เพราะปัจจุบันมีดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้บริการอยู่แล้ว และดาวเทียมดังกล่าวยังมีอายุการใช้งานอยู่ ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อขอให้ชี้แจงถึงผลกระทบในเรื่องนี้
“ตอนนี้กระบวนการเปิดประมูลของ กสทช. เดินไปแล้ว และเราก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปขอให้ชะลอการประมูล เพราะ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกระทรวง แต่เราคงจะให้ทาง กสทช. ชี้แจงมาว่าเป็นอย่างไร เพราะหลังจากหมดสัมปทานแล้ว จะต้องมีการส่งคืนทรัพย์สินมาให้รัฐบาลมาดูแลต่อ ซึ่งถ้ามีการนำวงโคจรดาวเทียมทั้ง 2 วงโคจร ไปประมูลแล้ว ก็ต้องดูว่าจะมีผลกระทบอย่างไร” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า กิจการดาวเทียมและการใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศนั้น เป็นเรื่องของความมั่นคง ดังนั้น จึงต้องพิจารณาด้วยว่าคนที่จะมาใช้งานดาวเทียมเป็นคนต่างชาติหรือไม่ และการใช้งานดาวเทียมดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศและต่อความมั่นคงอย่างไร
นายชัยวุฒิ ยังให้ความเห็นว่า การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ค.นั้น ในความจริงแล้ว ควรให้เป็นหน้าที่ของ กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ หรือไม่ เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะมี กสทช.ชุดใหม่แล้ว หาก กสทช.ชุดใหม่ มีนโยบายหรือความเห็นที่แตกต่างจาก กสทช.ชุดเดิม ก็จะกลายเป็นประเด็นกันอีก และที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสได้มีการพูดคุยเรื่องนี้กับ กสทช.ชุดปัจจุบันแล้ว แต่ไม่มีการตอบอะไรกลับมาอย่างเป็นทางการ
“ได้เคยมีข้อสังเกตไปยัง กสทช.ชุดปัจจุบันว่า ทำไมไม่รอ กสทช.ชุดใหม่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ตอบอะไรที่เป็นทางการออกมา เขาอาจมองว่าดาวเทียมกำลังจะหมดสัมปทานในเดือน ก.ย.2564 จึงอยากเปิดประมูลเพื่อทดแทนดาวเทียมที่หมดสัมปทานไป และถ้าดูเรื่องเงื่อนเวลา มันก็ต้องเริ่มทำแล้ว ถึงเวลาเหมาะสมที่ต้องประมูลแล้ว ส่วนปัญหาในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ต้องมีอยู่แล้ว เช่น ถ้ามีรายใหม่เข้ามาก็จะกระทบกับดาวเทียมดวงเก่า” นายชัยวุฒิกล่าว
อ่านประกอบ :
วงเสวนาชำแหละ! ประมูลไลเซ่นส์ดาวเทียม ส่อมีเจ้าเดียว-ห่วงนอมินี
‘กสทช.’ เปิดฟังความเห็นร่างประกาศประมูล 'ใบอนุญาตดาวเทียม' 4 ชุด 2.2 พันล้าน
แบ่งใบอนุญาตเป็น 4 ชุด! กสทช.เดินหน้าคัดเลือกผู้รับสิทธิใช้ 'วงโคจรดาวเทียม' ปลายปีนี้
ท้าชิงไทยคมฯ ‘มิว สเปซ’ บ.ลูกชายอดีตหน.สนง.ทบ. จ่อร่วมประมูลใบอนุญาตดาวเทียม
บอร์ดกสทช.ไฟเขียวร่างประกาศกิจการดาวเทียม 3 ฉบับ
กางพิมพ์เขียวเปิดเสรี‘ดาวเทียมไทย’ กสทช..ประชาพิจารณ์21ต.ค.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/