“…ราคาข้าวไทยห่างจากคู่แข่งเยอะมาก เราจึงสูญเสียลูกค้าไปเยอะพอสมควร โดยเฉพาะวิกฤติโควิดที่กำลังซื้อลูกค้าลดน้อยถอยลง เขาจึงไปหาแหล่งที่ถูกกว่า ซึ่งมีอินเดียที่ขายข้าวถูกกว่าเราตันละ 100 เหรียญ ทำให้ 3 เดือนนี้อินเดียส่งออกข้าวพุ่งกระฉูด ส่งออกได้เดือนละ 2 ล้านตัน เวียดนามเองก็ลด ไปเพิ่มที่อินเดีย…”
.....................
การส่งออกข้าวไทยยังอยู่ในสถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก
ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานว่า ในเดือนมี.ค.2564 ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 3.02 แสนตัน ลดลง 41.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออกที่ 211 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 40.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2564) ไทยส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 1.13 ล้านตัน ลดลง 22.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 21.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“ไทยยังพบกับปัญหาต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่ง ส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันยากขึ้นในด้านราคา โดยไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าเวียดนาม 30% และข้าวไทยยังไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากไทยส่งออกข้าวขาวเป็นหลัก ในขณะที่ผู้บริโภคหันมาบริโภคข้าวนุ่มมากขึ้น” ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยลดลงทั้งแง่ปริมาณและมูลค่า โดยปี 2562 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.58 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.31 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่ส่งออกข้าวได้ 11.13 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท และในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวลดลงเหลือ 5.72 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.16 แสนล้านบาท
หรือเท่ากับเม็ดเงินรายได้ที่หายไปประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าว่า ในปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 6 ล้านตัน ภายใต้ 6 มาตรการ เช่น เร่งรัดเปิดตลาดข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ขยายช่องทางตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และแสวงหาข้าวพันธุ์ใหม่ เป็นต้น (อ่านประกอบ : ถก ตปท.ลดภาษี! ดันส่งออกข้าวไทย 6 ล้านตัน 'จุรินทร์' เร่งจีทูจี)
@อินเดียขายข้าวถูกแย่งตลาดข้าวขาว-ข้าวนึ่งจากไทย
“ข้าวไทยตอนนี้ราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เพราะผลผลิตของเราไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้ราคาข้าวในประเทศแพง ส่วนค่าเงินบาทก็เพิ่งมาอ่อนเมื่อเดือนที่ผ่านมา จาก 3 เดือนแรกของปีนี้ที่ยังแข็งค่าตลอด ทำให้ราคาข้าวไทยห่างจากคู่แข่งเยอะมาก เราจึงสูญเสียลูกค้าไปเยอะพอสมควร
โดยเฉพาะวิกฤติโควิดที่กำลังซื้อลูกค้าลดน้อยถอยลง เขาจึงไปหาแหล่งที่ถูกกว่า ซึ่งมีอินเดียที่ขายข้าวถูกกว่าเราตันละ 100 เหรียญ ทำให้ 3 เดือนนี้อินเดียส่งออกข้าวพุ่งกระฉูด ส่งออกได้เดือนละ 2 ล้านตัน เวียดนามเองก็ลด ไปเพิ่มที่อินเดีย” ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ชูเกียรติ ระบุว่า สาเหตุที่ข้าวอินเดียมีราคาถูก เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อินเดียมีผลผลิตข้าวดีมาก บางปีผลิตได้ 120 ล้านตันข้าวสาร แต่บริโภคในประเทศประมาณ 100 ล้านตัน จึงมีข้าวส่งออกจำนวนมหาศาล เช่น ในปี 2563 ที่ผ่านมา อินเดียส่งออกข้าว 14.5 ล้านตัน และปีนี้กระทรวงเกษตรฯสหรัฐ (USDA) คาดว่าอินเดียจะส่งออก 16 ล้านตัน
“แม้ว่าในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาราคาข้าวไทย (ข้าวขาว 5%) จะลดลงมามาก จากระดับ 530 เหรียญในช่วงต้นปี ลงมาอยู่ที่ 470-480 เหรียญต่อตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ก็ยังเป็นราคาที่สูงมากเมื่อเทียบกับข้าวอินเดียที่มีราคาเพียง 400 เหรียญต่อตัน” ชูเกียรติกล่าว
@เวียดนามชิงแชร์ข้าวหอมมะลิ-จีนยึดตลาดแอฟริกา
ชูเกียรติ ยังกล่าวว่า ในขณะที่อินเดียแย่งตลาดข้าวขาวและข้าวนึ่งไปจากไทย เพราะข้าวอินเดียมีราคาถูกกว่า จะพบว่าตลาดข้าวหอมมะลิของไทย ก็ถูกข้าวหอมมะลิเวียดนามที่มีราคาถูกกว่าแย่งตลาดไปเช่นกัน ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แย่ลงมาก
ข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกไทย ณ เดือน มี.ค.2564 ระบุ ข้าวขาว 5% ของไทย มีราคา 487 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และเวียดนามมีราคา 483-487 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับอินเดียที่มีราคา 398-402 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิไทยมีราคา 811 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทียบกับข้าวหอมมะลิเวียดนามที่มีราคา 558-562 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
(ชูเกียรติ โอภาสวงศ์)
ชูเกียรติ บอกด้วยว่า แม้ว่าปัจจุบัน จีน จะมีการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และข้าวหอมมะลิจากไทย แต่ในขณะเดียวกัน จีน ซึ่งมีสต็อกข้าวในประเทศสูงมาก ยังคงเป็นคู่แข่งของไทยในตลาดแอฟริกา โดยจีนขายข้าวเก่าผ่านเทรดเดอร์ไปยังตลาดแอฟริกาปีละ 2-3 ล้านตัน ในราคาเพียง 340 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน จึงแย่งลูกค้าไปจากไทย
“เป้าที่เราวางไว้ 6 ล้านตัน ดูแล้วน่าจะเหนื่อย เพราะหากจะไปถึงเป้า เราต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีเดือนไหนที่เราถึงเลย โดยเฉพาะในเดือนเม.ย. เราอาจได้เห็นการส่งออกข้าวแค่ 3 แสนตัน เพราะมีวันหยุดเยอะ และปัญหาเรือขนส่งสินค้ายังมีปัญหามาก ขณะที่ราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเท่าตัว” ชูเกียรติกล่าว
ชูเกียรติ หวังว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น หากค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าเช่นนี้ และปีนี้คาดว่าทั้งอินโดนีเซียและบังคลาเทศน่าจะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทย ส่วนราคาข้าวขาวไทยเชื่อว่าราคาไม่น่าจะลดลงต่ำกว่าระดับ 470-480 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้ว
@โรงสีแย่งซื้อข้าวเปลือกในประเทศเก็งมีราคาดี
ด้าน รังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า แม้ว่าการส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะลดลง 22% แต่ขณะนี้ต้องถือว่าข้าวเปลือกเจ้าในประเทศยังมีราคาดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าจะลดลงบ้างจากช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ที่ 1.1 หมื่นบาทต่อตัน ทั้งนี้ ล่าสุดราคาข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตัน เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อย
“พ่อค้ายังแย่งกันซื้ออยู่ เพราะใกล้สิ้นสุดฤดูนาปรังแล้ว ทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ยืนอยู่ที่ 9,000 บาทต่อตันบวกลบเล็กน้อย ซึ่งพ่อค้าเองก็ซื้ออนาคต โดยหวังว่าในช่วง 4 เดือนข้างหน้า ก่อนที่ข้าวนาปีฤดูกาลใหม่จะออกมา ราคาข้าวจะขยับขึ้น ส่วนเกษตรกรนั้น หากราคาข้าวยังยืนอยู่ที่ระดับนี้ได้ เกษตรกรน่าจะอยู่ได้” รังสรรค์กล่าว
รังสรรค์ ย้ำว่า “ข้าวไทยไม่ได้พึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะเราต้องบริโภคภายในด้วย และต้องดูว่าผลผลิตจะออกมาหรือออกน้อยด้วย ดังนั้น จะไปมองว่า ถ้าส่งออกน้อย ส่งออกไม่ดี แล้วราคาข้าวเปลือกในประเทศจะไม่ดีตามไปด้วย คงไม่ใช่ และสิ่งที่สำคัญ คือ ต้องดูว่าเกษตรกรปลูกข้าวแล้วมีกำไรหรือไม่”
รังสรรค์ กล่าวว่า ด้วยกำลังซื้อในประเทศที่เริ่มกลับเข้าแล้ว ทำให้ขณะนี้ราคาข้าวสาร (ข้าวขาว) ในประเทศมีราคาอยู่ที่ 13.6-13.8 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าจะต่ำกว่าช่วงต้นปีที่ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม
รังสรรค์ กล่าวถึงแนวโน้มราคาข้าวเปลือกนาปีฤดูใหม่ ว่า เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในประเทศต้องอ้างอิงกับราคาต่างประเทศด้วย แต่ส่วนตัวเชื่อว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าน่าจะยังมีราคาดีอยู่ ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ คงประเมินยาก เพราะมีข้าวตัวอื่นๆมาทดแทน เช่น ข้าว กข 79 เป็นต้น
“ราคาข้าวเปลือกคงไม่เลวร้าย ราคาน่าจะยืนที่ 9,000 บาทต่อตัน จะขึ้นจะลงบ้างก็ไม่มากนัก เพราะการแข่งขันของพ่อค้าและโรงสียังเยอะอยู่แล้ว และจะยังคงเยอะอย่างนี้ต่อเนื่อง และแม้ว่าอินเดียจะแย่งตลาดข้าวของเราไป แต่เราก็ยังตลาดของเราอยู่ และมีการบริโภคภายใน ซึ่งช่วยประคับประคองราคาข้าวเปลือกฤดูใหม่ๆไว้ได้” รังสรรค์กล่าว
@สมาคมชาวนาฯห่วงต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่ม
ขณะที่ ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือก ณ ตอนนี้ ถือเป็นราคาที่ชาวนาอยู่ได้ ขณะที่โรงสีต่างก็แย่งซื้อข้าวเปลือกกันอยู่ เพราะเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว เมื่อรวมกับเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ ชาวนายังมีกำไรไร่ละ 2,000-3,000 บาท
“โรงสีต้องการข้าวเยอะ จึงมาแย่งซื้อกัน เพราะไม่มีข้าว ซึ่งราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาได้จะอยู่ที่ 8,000-9,000 บาทต่อตัน หรือข้าวเปลือกหอมปทุมธานีขายได้ 9,000 บาท และคิดว่าข้าวเปลือกน่าจะยังมีราคาดีต่อไป” ปราโมทย์กล่าว
(ปราโมทย์ เจริญศิลป์ ขอบคุณภาพ : เพจสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย)
อย่างไรก็ตาม ปราโมทย์ ระบุว่า ชาวนากำลังกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตข้าวที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากขณะนี้ราคาปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ปรับตัวสูงขึ้นกระสอบละ 100-200 บาท ทำให้ล่าสุดอธิบดีกรมการค้าภายในต้องส่งสัญญาณว่า จะเข้าไปควบคุมราคาปุ๋ย ซึ่งก็หวังว่าภาครัฐจะควบคุมราคาปุ๋ยได้ รวมถึงปัจจัยการผลิตอื่นๆด้วย
“หากคุมราคาปุ๋ยได้ก็จะดี เพราะชาวนาต้องใช้ปุ๋ย ถ้านาปีน้ำมี คนจะปลูกข้าวกันเยอะ” ปราโมทย์กล่าว และย้ำ “ราคาประกันข้าวที่รัฐบาลตั้งไว้ เป็นราคาที่ชาวนาพอใจแล้ว แต่ต้องมาคุมต้นทุนปัจจัยการผลิตให้เรา ซึ่งภาครัฐก็ทำอยู่ และถ้าข้าวเปลือกมีราคาที่ระดับ 8,000 บาทต่อตัน ผมว่าชาวนาอยู่ได้ แต่ถ้าข้าวแพงไป เราจะส่งไม่ออก ขายไม่ได้”
ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า จากแนวโน้มความต้องการบริโภคข้าวพันธุ์พื้นนุ่มที่เพิ่มสูงขึ้น ในปีนี้สมาคมฯได้ร่วมกับสมาชิกและโรงสี ส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม พันธุ์ กข 79 โดยเริ่มนำร่องที่ จ.กำแพงเพชร เนื้อที่ 3 หมื่นไร่ ซึ่งข้าวที่ปลูกได้โรงสีจะเข้ามารับซื้อถึงที่ และจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ เช่น อยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น
“ตอนนี้เราปฏิวัติใหม่หมด ก่อนผลิต เราต้องรู้ที่มา รู้ที่ขาย รู้ว่าได้เท่าไหร่ เราจึงผลิต ซึ่งผมได้คุยกับนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ต้องการให้ทำข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม และปีนี้เราตั้งเป้าจะปลูกให้ได้มากกว่า 1 แสนไร่ แต่เรายังไม่ทิ้งข้าวพันธุ์พื้นแข็ง เพราะตลาดยังมีอยู่” ปราโมทย์กล่าว
เหล่านี้เป็นภาพรวมของสถานการณ์ส่งออกข้าวไทย และราคาข้าวเปลือกในประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 3
อ่านประกอบ :
ถก ตปท.ลดภาษี! ดันส่งออกข้าวไทย 6 ล้านตัน 'จุรินทร์' เร่งจีทูจี
ห่วงบาทแข็ง-คู่แข่งตีตลาด! 'พาณิชย์' ตั้งเป้าปี 64 ไทยส่งออกข้าว 6 ล้านตัน
มองทิศทางข้าวไทยปี 64 'ราคาดี-ส่งออกฟื้น'
‘อีไอซี’ คาดปี 64 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน-เตือนจีนรุกหนักยึดตลาดแอฟริกา
ทวงแชมป์สำเร็จ! ‘หอมมะลิ 105’ ชนะเลิศประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 63 หลังพ่าย 2 ปีซ้อน
‘บิ๊กตู่’ สั่งศึกษาตั้ง ‘กองเรือพาณิชย์’-ครม.ไฟเขียวเพิ่มเงินประกันราคาข้าว 4.68 หมื่นล.
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/