เปิดงบ ‘ธ.ก.ส.’ ล่าสุด พบปีงบ 62 รัฐบาลเหลือหนี้ค้างชำระโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ‘ข้าวเปลือก-มัน-ยาง’ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อีก 3.37 แสนล้านบาท หลังจากตั้งงบชดใช้ไปแล้ว 2.21 แสนล้านบาท ขณะที่ 1 ปี รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ไม่น้อยหน้า ค้างหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือ ‘ชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่’ กว่า 9.36 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยแพร่รายงานกิจการประจำปี 2562 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 โดยส่วนหนึ่งของรายงานได้ระบุภาระหนี้สินของโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงปี 2554-57 ซึ่งล่าสุดพบว่ารัฐบาลค้างหนี้กับธ.ก.ส.เป็นเงิน 337,528 ล้านบาท จาก ณ วันที่ 31 มี.ค.62 ที่มีหนี้สินค้างชำระ 374,306 ล้านบาท หรือลดลง 36,778 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และเสถียรภาพราคายาง เป็นเงินทั้งสิ้น 960,665 ล้านบาท โดยมีรายรับจากการระบายสินค้าเกษตรและการไถ่ถอน 401,667 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีการโอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ให้ธ.ก.ส.ไปแล้วทั้งสิ้น 221,469 ล้านบาท ยังเหลือหนี้สินที่ต้องชำระอีก 337,528 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ระบุว่า การตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้หนี้สินดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 8 ปี
รายงานประจำปี ธ.ก.ส. ระบุรายละเอียดว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มติครม.วันที่ 13 ก.ย.2554 ,วันที่ 22 พ.ย.2554 ,วันที่ 29 มี.ค.2555 ,วันที่ 2 ต.ค.2555 ,วันที่ 31 มี.ค. 2556 ,วันที่ 10 มิ.ย.2556 และวันที่ 3 ก.ย.2556 ประกอบด้วย
การดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 ซึ่งครม.มีมติเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2554 กำหนดกรอบวงเงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก รวมจำนวน 410,000 ล้านบาท เป็นเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนอีกจำนวน 320,000 ล้านบาท ซึ่งภายหลังครม.เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2554 ปรับลดวงเงินกู้เหลือเพียง 269,160 ล้านบาท
สำหรับวงเงินหมุนเวียนที่ได้รับนอกจากใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2555 ให้นำไปใช้ในโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง และโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางด้วย
เมื่อระยะเวลาโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ปีการผลิต 2554/2555 สิ้นสุดลงแล้ว ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกต่อในปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2555 และวันที่ 3 ก.ย. 2556 โดยกรอบวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้หมุนเวียนในโครงการสำหรับปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 ต้องไม่เกิน 410,000 ล้านบาท และเงินทุนของ ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท
ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือที่ คสช (สล)/1 ลงวันที่ 24 พ.ค.2557 ให้ ธ.ก.ส. กู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ในวงเงินไม่เกิน 92,431 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันจนกว่าจะมีการชำระต้นเงินกู้เสร็จสิ้น และรัฐบาลรับภาระชำระคืนต้นเงิน ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงิน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งหมด
ส่วนการบริหารจัดการหนี้ และการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐนั้น ครม.ได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงการคลังบริหารจัดการหนี้เงินกู้ร่วมกับ ธ.ก.ส. ด้วยการ Refinance หรือ Roll over หรือ Prepayment โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันจนกว่าจะมีการชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้น โดย ธ.ก.ส. มิได้รวมบัญชีและงบการเงินของโครงการไว้ในการดำเนินงานปกติ แต่ได้จัดทำเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (PSA) และบันทึกเป็นภาระผูกพันนอกงบประมาณ
รายงานประจำปี ธ.ก.ส. ยังระบุด้วยว่า ณ วันที่ 31 มี.ค.2563 ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์ตามธุรกรรมนโยบายรัฐ จำนวน 99 โครงการ โดยเป็นหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 361,815 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่รอการชดเชยตามนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยที่ 2 หรือตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 11 โครงการ จำนวนเงิน 93,676 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 จำนวน 19,529.71 ล้านบาท
2.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 26,418.45 ล้านบาท
3.โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/2563 จำนวน 22,864.38 ล้านบาท
4.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2562/2563 จำนวน 68.82 ล้านบาท
5.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จำนวน 20,135.15 ล้านบาท
6.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 จำนวน 2,800.38 ล้านบาท
7.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 จำนวน 1,424.29 ล้านบาท
8.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/2563 จำนวน 0.14 ล้านบาท
9.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2562/2563 จำนวน 0.60 ล้านบาท
10.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/2563 จำนวน 434.03 ล้านบาท
11.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2562/2563 จำนวน 0.11 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/