‘อีไอซี’ คาดปี 64 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน จากปี 63 ที่คาดว่าจะส่งออกได้เพียง 5.7 ล้านตัน เหตุราคาข้าวไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงจากผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังเป็นปัจจัยลบในปีหน้า
..............
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์ เรื่อง ‘อุตสาหกรรมข้าวไทยปี 2021 : โอกาสและความท้าทายหลัง COVID-19’ เขียนโดยน.ส.กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส EIC โดยประเมินว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 จะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน ขยายตัว 31% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 5.7 ล้านตัน
“ความต้องการนำเข้าข้าวในตลาดโลกในปี 2564 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญยังคงมีแนวโน้มต้องการเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวในประเทศ จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทย” EIC ประเมิน
EIC ระบุด้วยว่า ความต่อเนื่องของโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 2563/64 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินที่ 46,807 ล้านบาท รวมถึงมาตรการคู่ขนาน เช่น เงินสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิต 500 บาท/ไร่ จะยังจูงใจให้ชาวนายังคงเพาะปลูกข้าวต่อไป ขณะที่ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยในปีการผลิต 2563/64 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อุปทานที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปี 2563 แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ มีแนวโน้มกลับมาปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น การฟื้นตัวของการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 จึงเป็นการฟื้นตัวในแง่ปริมาณ แต่ถือเป็นระดับการส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อน โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบัน อาจเป็นข้อจำกัดในการเพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูการผลิตปี 2563/64 ส่วนแนวโน้มการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาทในปี 2564 ยังเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการส่งออกข้าวไทย เช่นเดียวกับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มที่ยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกพอสมควร ส่งผลให้ข้าวไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคข้าวในตลาดโลกได้ทันท่วงที
EIC ประเมินว่า หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวสำรองในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศในระยะเวลายาวนานขึ้น และให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพในภาคการเกษตร
โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ ทั้งอินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และกัมพูชา ที่จะยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตข้าวมากเพียงพอ ทั้งสำหรับการบริโภคในประเทศ และเหลือสำหรับส่งออก หากเกิดความไม่แน่นอนหรือวิกฤติเช่นเดียวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างรายได้เข้าประเทศ
ทั้งนี้ มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับต้นๆ ของโลก ที่พยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวในประเทศมานานแล้ว ด้วยการพัฒนาพื้นที่การเกษตรมาตรฐานสูง (High-standard farmland) อีกทั้งยังพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนทานต่อโรคและแมลงต่างๆ และใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทันสมัยมาช่วยในการเพาะปลูก
“การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้จีนให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจีนระบุว่า จะเร่งผลักดันการพัฒนาพื้นที่ High-standard farmland ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีอาหารเพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ และแม้ว่าจะมีการระบาดของ COVID-19 ในจีน แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 จีนสามารถพัฒนาพื้นที่ High-standard farmland ได้เพิ่มเติมอีก 2.9 ล้านเฮกตาร์ หรือ 55% ของพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2564” EIC ระบุ
(กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์)
EIC ยังระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ปริมาณการนำเข้าข้าวโดยรวมของจีนลดลงต่อเนื่อง และเป็นความท้าทายในการส่งออกข้าวไทย ที่อาจสูญเสียตลาดส่งออกข้าวสำคัญอย่างจีนในอนาคต อีกทั้งแนวโน้มว่าการส่งออกข้าวของจีนยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2562 ปริมาณการส่งออกข้าวของจีนอยู่ที่ 2.7 ล้านตัน ขยายตัว 32% จากปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังอียิปต์ รวมถึงตลาดแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย
EIC มองว่า ในระยะต่อไป ไทยต้องเร่งวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลก โดยจะต้องเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มให้มีคุณภาพ แข็งแรงทนทาน มีอายุการเก็บเกี่ยวที่สั้นลง และยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้มีปริมาณผลผลิตมากเพียงพอสำหรับการส่งออก ในระดับต้นทุนการเพาะปลูกที่ต่ำ เพื่อให้ข้าวพื้นนิ่มไทยสามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆได้
นอกจากนี้ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการบริโภคอย่างใส่ใจสุขภาพ และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น ดังนั้น EIC มองว่า เป็นโอกาสขยายตลาดการส่งออกข้าวพรีเมียมของไทย ซึ่งนอกจากการนำเสนอข้าวทางเลือกเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวออร์แกนิค ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำแล้ว ผู้ส่งออกข้าวไทยอาจพิจารณานำระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
อ่านประกอบ :
ทวงแชมป์สำเร็จ! ‘หอมมะลิ 105’ ชนะเลิศประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 63 หลังพ่าย 2 ปีซ้อน
‘บิ๊กตู่’ สั่งศึกษาตั้ง ‘กองเรือพาณิชย์’-ครม.ไฟเขียวเพิ่มเงินประกันราคาข้าว 4.68 หมื่นล.
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/