ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้ ‘มันฯ-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ พร้อมมาตการคู่ขนาน วงเงินกว่า 1.21 หมื่นล้านบาท ไฟเขียวเพิ่มงบชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้ ‘ยาง’ ระยะที่ 1 อีก 2.34 พันล้าน คาดมีเกษตรกรได้ประโยชน์ 9.8 แสนครัวเรือน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 63/64 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 63/64 และมาตรการคู่ขนาดเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งเพิ่มวงเงินชดเชยส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 (ต.ค.62-ก.ย.63) ซึ่งมีกรอบวงเงินสนับสนุนรวม 14,449.99 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับเงินที่นำมาใช้ในโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท จะมาจากแหล่งเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้คืนให้กับธ.ก.ส.ต่อไป ขณะที่ ณ สิ้นปีงบ 62 (มี.ค.63) รัฐบาลมีหนี้สินค้างชำระกับธ.ก.ส. จำนวน 99 โครงการ 361,815 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 63/64 วงเงินรวม 9,789.98 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง และจะเริ่มจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 1 ธ.ค.63 และจ่ายทุกๆวันที่ 1 ของเดือน
พร้อมกันนั้น ครม.มีมติอนุมัติมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 63/64 จำนวน 4 โครงการ ใช้งบประมาณและเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) รวม 339 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง โดยธ.ก.ส. เป็นผู้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกร วงเงินสินเชื่อรวม 1,150 ล้านบาท ให้เกษตรกรกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท จำนวน 5,000 ราย ชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ ดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี เกษตรกรผู้กู้จ่ายดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 3% ต่อปี รัฐชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน หรือเป็นวงเงิน 69 ล้านบาท
2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส.จะเป็นผู้ออกสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรฯ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท ดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ย 1% ต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 3% ต่อปี รัฐเป็นผู้ชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน หรือคิดเป็นเงินชดเชยรวม 45 ล้านบาท
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง (ลานมัน/โรงแป้ง) ที่เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อก เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งเป้าหมายวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ตั้งแต่ 60 - 180 วัน คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 225 ล้านบาท โดยใช้เงินจาก คชก.
4.มาตรการบริหารจัดการการนำเข้าและส่งออก โดยให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ด้วยการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่ราคาตกต่ำดังกล่าว จะครอบคลุมเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกว่า 5.3 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า ครม.ยังมีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 63/64 วงเงินรวม 1,913.11 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้นร้อยละ 14.5 ราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง ซึ่งจะเริ่มจ่ายในวันที่ 20 พ.ย.63 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงวันสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือนต.ค.64
ขณะเดียวกัน ครม.มีมติอนุมัติมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 63/64 รวม 5 มาตรการ ใช้เงินงบประมาณและเงิน คชก. รวม 60 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 63/64 โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ 1% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 45 ล้านบาท
2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 63/64 โดยสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการและผู้รวบรวมที่ซื้อข้าวโพดเก็บสต๊อก วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ 60-120 วัน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 15 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
3.การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป การควบคุมการขนย้ายในพื้นที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 : 3 และการตรวจสอบการรับรอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน
4.การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้ผู้รับซื้อแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้นร้อยละ 14.5 และร้อยละ 30 พร้อมแสดงตารางการเพิ่ม-ลด ราคาตามร้อยละความชื้น และกำหนดให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความชื้นที่มีมาตรฐาน
5.การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บและการตรวจสอบสต๊อก
สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 63/64 และมาตรการคู่ขนานดังกล่าว จะมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.5 แสนราย มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งจะครอบคลุมต้นทุนและค่าขนส่งในช่วงที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ
นอกจากนี้ ครม.มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ปี 62/63 (ต.ค.62-ก.ย.63) อีก 2,347.90 ล้านบาท จากเดิมที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 อนุมัติวงเงินที่ 24,000 ล้านบาท สำหรับใช้ในการชดเชยส่วนต่างในโครงการฯ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ความต้องการการใช้ยางพารางในตลาดโลกลดลงอย่างมาก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคายางพาราในประเทศไทย
“นายกฯติดตามราคายางในตลาดโลกและราคาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคายางในประเทศมีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง และภายใต้ภาวะความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยให้ส่วนราชการเป็นตัวขับเคลื่อน และออกมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ชาวสวนยางและลดปริมาณยางพาราที่จะออกสู่ตลาด” น.ส.รัชดาระบุ
อ่านประกอบ :
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/