"...ในอนาคตจีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เพราะทุกวันนี้จีนผลิตข้าวได้เกินความต้องการในประเทศ และผลผลิตต่อไร่สูงมาก ส่งผลให้สต็อกเขาเพิ่มเป็น 120 ล้านตัน จนต้องระบายสต็อกออก และจีนจะเทขายข้าวเหล่านี้ไปตลาดแอฟริกาในราคาถูกๆ รวมถึงใช้ข้าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง คือ ‘ทั้งให้ทั้งแถม’ ยังได้เลย..."
เรียกได้ว่าเป็นอีก 1 ปี ที่สถานการณ์ข้าวไทยเข้าสู่ภาวะ ‘วิกฤติ’ ทั้งในแง่การผลิตและในแง่การส่งออก
ล่าสุด ‘กรมการค้าต่างประเทศ’ ประกาศเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2563 เหลือ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ที่ส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน ลดลงจาก 32.50% จากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 11.23 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 130,543 ล้านบาท หรือลดลง 28.31% (มูลค่าส่งออกข้าวปี 2561 อยู่ที่ 182,081 ล้านบาท)
“ปีนี้เราตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยสาเหตุที่ทำให้เราคาดว่าจะส่งออกข้าวได้น้อยลง เป็นเพราะค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า ภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวไทยลดลง และจีน ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออก ซึ่งขณะนี้จีนมีสต็อกข้าวเกือบ 120 ล้านตัน” กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
กีรติ กล่าวต่อว่า จากการที่ได้หารือกับประเทศผู้นำเข้าข้าว เช่น มาเลเซีย จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอิรัก ผู้นำเข้าส่วนใหญ่สะท้อนข้อมูลมาว่า ไทยไม่มีข้าวพันธุ์พื้นนุ่มไปขายให้เขาเลย และแม้ว่าปัจจุบันข้าวพันธุ์พื้นนุ่มจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคต่างประเทศ แต่ไทยกลับมีปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม เช่น พันธุ์ กข 79 กันไม่มากนัก
“ตอนนี้เราได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยเราจะต้องรีบหาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเราต้องลดต้นทุนการผลิตต่อไร่ ก็น่าจะแก้ปัญหาได้บ้าง” กีรติกล่าว
กีรติ ประเมินว่า “แม้ว่าปริมาณผลผลิตข้าวไทยที่ลดลงจากผลกระทบภัยแล้ง จะทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่นั่นก็ทำให้ราคาข้าวสารส่งออกแพงตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับราคาข้าวไทยกับคู่แข่ง จะพบว่าข้าวไทยมีราคาแพงกว่าเพื่อนบ้าน 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แล้วจะไปกันขายอย่างไร และราคาก็ลดไม่ได้ เพราะต้นทุนเราสูง
แต่ก็ยังโชคดีที่ผู้บริโภคต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย และการส่งมอบตรงต่อเวลา แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม กัมพูชา มีการผลิตข้าวที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี และเข้ามาแข่งกับข้าวไทยมากขึ้น ที่สำคัญต้นทุนการผลิตของเขาต่ำมากเมื่อเทียบกับเรา และผลผลิตต่อไร่เขาก็เยอะกว่าไทย”
กีรติ รัชโน
กีรติ ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้มีประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่ ‘น่ากลัว’ คือ พม่า โดยวันนี้พม่าส่งออกข้าวได้แล้ว 1-2 ล้านตัน แต่เมื่อใดก็ตามที่ระบบสาธารณูปโภคของพม่าพร้อม พม่าจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก เพราะปัจจุบันผลผลิตข้าวต่อไร่ของพม่าสูงมาก เนื่องจากดินเขาก็ยังอุดมสมบูรณ์ ส่วนต้นทุนการผลิตก็ต่ำมาก
ส่วนการฟื้นตลาดส่งออกข้าวไทยในอิรัก ซึ่งไทยเคยส่งออกข้าวได้ปีละ 2-3 แสนตันนั้น กิรติ ยอมรับว่า ไม่คืบหน้ามากนัก เพราะทันทีที่การเจรจาทุกอย่างทางอิรักได้ข้อยุติแล้ว แต่กลับเกิดสถานการณ์การชุมนุมประท้วงในอิรักเสียก่อน ทำให้ทุกอย่างหยุดลง ทำให้การฟื้นตลาดส่งออกข้าวไทยในอิรักยังคงต้องรอต่อไป
“การเข้าไปประมูลขายข้าวให้อิรักโดยภาคเอกชน มันต้องมีการเซ็น MOU ก็คุยกันมานานจนตกผลึก แต่เมื่อมีม็อบในอิรักและจนถึงวันนี้ 4 เดือนแล้ว เหตุการณ์ยังไม่สงบเลย สิ่งที่คุยๆกันไปจะเป็นอย่างไรต่อ อันนี้ถือเป็นความโชคร้ายของเราแล้วกัน” กีรติกล่าว
นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยไปฟิลิปปินส์ก็ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากฟิลิปปินส์ปรับเปลี่ยนวิธีการนำเข้าข้าวจากระบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นการเปิดนำเข้าเสรี ทำให้ข้าวเวียดนามเข้าไปแย่งตลาดได้มาก เพราะมีราคาถูกกว่าข้าวไทย ส่วนตลาดแอฟริกาที่ไทยเคยส่งออกข้าวได้มาก วันนี้ก็ถูกข้าวจากจีนเข้าไปแย่งตลาดไป
ด้าน ‘เจริญ เหล่าธรรมทัศน์’ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า สมาคมฯขอประเมินสถานการณ์ผลผลิตข้าวอีกระยะหนึ่ง ก่อนจะประเมินว่าเป้าหมายส่งออกข้าวในปี 2563 จะเป็นเท่าไหร่ เพราะตอนนี้มีหลายปัจจัยลบเข้ามากระทบการส่งออกข้าวไทย ทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่าเงินบาทแข็ง และสถานการณ์ภัยแล้ง
“ตอนนี้คงยึดเป้าส่งออกข้าวปีนี้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยเป็นระดับเดียวกับที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ แต่ขอเวลาทบทวนประเมินอีกระยะ โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบจากภัยแล้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังลดลงไปเยอะ และเราก็คิดว่าการส่งออกข้าวทั้งปีไม่น่าจะเกิน 7.5 ล้านตัน” เจริญกล่าว
เจริญ มองว่า ปีนี้เป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับการส่งออกข้าวไทย เพราะไม่เพียงแต่ไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากข้าวจีน และข้าวเวียดนามเท่านั้น แต่จะพบว่าพันธุ์ข้าวของไทยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อ เพราะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ไทยเรามุ่งผลิตข้าวแบบเดิมๆ เช่น ข้าวหอม ข้าวนึ่ง ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวเหนียว
ต่างจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทย ที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีพันธุ์ข้าวใหม่ออกมาเป็นจำนวนมาก และตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ST21 ST24 DG28 และ LT28 ที่สำคัญเวียดนามมีต้นทุนการผลิตข้าวที่ต่ำกว่าไทยมากในขณะที่ข้าวคุณภาพดีของกัมพูชาก็เริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น และมีราคาถูกกว่าข้าวไทย 200-300 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
เจริญ กล่าวว่า แม้ว่าในปัจจุบันข้าวหอมมะลิของไทยยังคงได้รับความนิยมจากผู้ซื้ออยู่ แต่ในอนาคตข้าวหอมมะลิไทย จะถูกแทนที่ด้วยข้าวหอมมะลิเวียดนามที่มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และมีราคาถูกกว่า โดยวันนี้เวียดนามส่งออกข้าว 7 ล้านตัน เป็นข้าวหอมมะลิ (จัสมิน 85) 2 ล้านตัน ข้าวเหนียว 1.5 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวพื้นนุ่ม และมีข้าวคุณภาพต่ำเหลืออยู่ไม่มากแล้ว
“เรามีปัญหาเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว และต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลดูแลแต่ราคาข้าวเปลือก แทบไม่มีการส่งเสริมการปลูกข้าวที่ผู้ซื้อต้องการเลย อย่างข้าวพื้นนุ่ม คนจีนเขาต้องการ และเมื่อก่อนคนไทยก็กินข้าวนุ่ม แต่ตอนนี้มันไม่มี เพราะเราไปปลูกข้าว กข.พื้นแข็งที่เหมาะกับการทำข้าวนึ่ง” เจริญกล่าว
เจริญ ระบุว่า ด้วยต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านมาก ส่งผลให้ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกเจ้าของไทยอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท/ตัน เทียบกับราคาข้าวเปลือกเวียดนามที่อยู่ที่ 6,000 บาท/ตัน แต่นั่นยังไม่น่ากลัวเท่ากับคู่แข่งรายใหม่อย่างเช่น พม่า โดยในปีที่แล้วพม่าส่งออกข้าวได้สูงถึง 3 ล้านตัน และราคาข้าวเปลือกของพม่ามีราคาเพียง 5,000 บาท/ตันเท่านั้น
“เมื่อราคาข้าวเราแพงกว่าเขา แน่นอนว่ามาร์เก็ตแชร์เราก็หายไป ผมจึงเสนอว่าอยากให้รัฐบาลมีนโยบายระยะยาวออกมารองรับ เพราะการพัฒนาข้าวแต่ละพันธุ์ กว่าจะทดลองพันธุ์ กว่าขยายการเพาะปลูก และส่งออกได้ต้องใช้เวลา 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย ถ้าไม่มีก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันทุกปี ถ้าไม่ประกันรายได้ ก็จำนำข้าว” เจริญกล่าว
อย่างไรก็ตาม เจริญ บอกว่า การสนับสนุนให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ เช่น ข้าวพื้นนุ่ม พันธุ์ กข 79 ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งๆที่ข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตเกิน 1 ตัน/ไร่ นิ่ม และต้านทานเพลี้ย เนื่องจากต้องใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 130 วัน แต่ชาวนาต้องการปลูกข้าวอายุไม่เกิน 110-115 วัน เพราะต้องการปลูกได้หลายรอบ และกลัวว่าจะเก็บเกี่ยวไม่ทันน้ำที่จะหลากมา
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ (กลาง) ขอบคุณภาพ : thaipost.net
เจริญ ยังประเมินด้วยว่า ในอนาคตจีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เพราะทุกวันนี้จีนผลิตข้าวได้เกินความต้องการในประเทศ และผลผลิตต่อไร่สูงมาก ส่งผลให้สต็อกเขาเพิ่มเป็น 120 ล้านตัน จนต้องระบายสต็อกออก และจีนจะเทขายข้าวเหล่านี้ไปตลาดแอฟริกาในราคาถูกๆ รวมถึงใช้ข้าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง คือ ‘ทั้งให้ทั้งแถม’ ยังได้เลย
“ปีที่แล้วจีนส่งออกข้าวได้ 3 ล้านตัน และการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะผลผลิตเขาเหลือ อย่างวันนี้เรามีสต็อกข้าว 120 ล้านตัน แต่ทั่วทั้งโลกมีการค้าข้าว 40-50 ล้านตัน/ปี ไม่ต่างจากอินเดียที่วันนี้เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ หลังจากใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆที่มีผลผลิตต่อไร่สูงๆออกมาต่อเนื่อง” เจริญกล่าว
เจริญ กล่าวว่า “ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าอนาคตข้าวไทยจะทำอย่างไร เพราะเราเป็นคนขาย แต่ก็เห็นว่าทุกฝ่ายตื่นตัวกัน มีการประชุมทุกวันศุกร์ว่าจะมีข้าวพันธุ์ใหม่ๆที่ Fast Track เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้นหรือไม่ แต่ดูแล้วเราก็เหนื่อย เมื่อก่อนเราปลูกข้าวอะไรก็ขายได้ ซึ่งวันนี้ไม่ใช่ เพียงแต่ตอนนี้เรายังมีบุญเก่า เพราะผู้ซื้อยังมั่นใจว่าซื้อข้าวไทยแล้วไม่มีปัญหา”
ในขณะที่ ‘ปราโมทย์ เจริญศิลป์’ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้การปลูกข้าวในหลายพื้นที่แทบจะหยุดลงสิ้นเชิง เพราะตั้งแต่ จ.พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาทและสิงห์บุรีลงมา ไม่น้ำเลย เมื่อไม่มีน้ำก็ไม่มีข้าว ดังนั้น การที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกข้าวปีนี้จะอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน จะไม่เป็นไปตามนั้น
“ข้าวนาปรังที่ปลูกไปแล้วมีไม่มาก จึงคาดว่าข้าวนาปรังล็อตสุดท้ายที่ออกสู่ตลาดจะหมดลงในเดือนก.พ.นี้ และถ้าจะทำต่อก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำ โดยตั้งแต่เดือนธ.ค.2562 น้ำในคลองเริ่มไม่มีแล้ว พอถึงตอนนี้น้ำทำนาไม่มีเลย โดยภาครัฐสั่งห้ามทำนา และตั้งแต่ชัยนาทลงมาไม่มีการส่งน้ำมาแล้ว เพราะเขาต้องเอาไปทำน้ำประปา” ปราโมทย์กล่าว
แต่เพื่อให้ชาวนายังมีอาชีพและรายได้ สมาคมฯได้แนะนำให้ชาวนาหันไปปลูกพืชหลังนาที่ใช้น้ำน้อย หรือใช้น้ำบาดาล และหวังว่าหน้าฝนปีนี้จะไม่ลากยาวออกไปจากเดือน มิ.ย.มากนัก
“รัฐบาลจะประกันรายได้ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ข้าวขาว 12,000-13,000 บาท ก็ทำได้ แต่ถ้าไม่มีข้าว ชาวนาก็ไม่มีรายได้อยู่ดี ส่วนการสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวที่ผู้ซื้อต่างประเทศต้องการนั้น เราพร้อมทำตามอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าวนุ่มหรือข้าวแข็ง แต่ขอให้ภาครัฐแนะนำหรือประชาสัมพันธ์มาว่าต้องการข้าวประเภทไหน” ปราโมทย์กล่าว
นี่เป็นสถานการณ์ล่าสุดของข้าวไทยที่รัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ต้องเข้ามากู้วิกฤตโดยด่วน
อ่านประกอบ :
ลดวูบ เป้าส่งออกข้าวปี 63 หดเหลือแค่ 7.5 ล้านตัน
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/