"...นาปรังจะมีน้ำหรือไม่ หรือปลายปีจะมีฝนเท่าไหร่ ยังเป็นเรื่องที่พยากรณ์ยาก แต่ถ้ารัฐบาลจะทำให้ชาวนามีรายได้ ก็ต้องหาแหล่งน้ำให้เขา เพราะถ้าแล้ง เขาปลูกไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้อยู่ดี..."
.................
ปี 2564 นับเป็นอีกปีที่ชาวนาไทยกว่า 4.56 ล้านครัวเรือน ต่างก็คาดหวังว่า ‘ราคาข้าวเปลือก’ ในปีนี้ จะมีราคาดีเช่นเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งทำให้พวกเขามีรายได้มาจุนเจือครัวเรือนและจ่ายหนี้สิน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่าอาจยืดเยื้อ ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 จะกระจายตัวแพร่หลายเร็วสุดก็ในช่วงปลายปีไปแล้ว
แม้ว่าปัจจุบันการคาดการณ์ราคาข้าวเปลือกและราคาข้าวสารในตลาดโลกจะทำได้ยากลำบากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน เทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะส่งออกข้าวได้เพียง 5.7 ล้านตัน
EIC ประเมินว่า อุปทานข้าวเปลือกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากแรงจูงใจของโครงการประกันราคาข้าว การช่วยเหลือค่าบริหารจัดการไร่ละ 500 บาทของรัฐบาล และผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น แม้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนในภาคเหนือจะยังอยู่ในระดับต่ำมากในปัจจุบันก็ตาม
ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลงจากปี 2563 แต่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ มีแนวโน้มกลับมาปรับตัวดีขึ้น (อ่านประกอบ : ‘อีไอซี’ คาดปี 64 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน-เตือนจีนรุกหนักยึดตลาดแอฟริกา)
@สศก.มองราคาข้าวเปลือกปีหน้าอยู่ในเกณฑ์ดี
สวนทางกับรายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำ ณ เดือนพ.ย.2563 โดย สศก. มองว่า ภาพรวมราคาข้าวเปลือกในประเทศจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง
ขณะที่ในช่วง 11 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ย.2563) ข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8,645 บาท/ตัน เทียบกับปีช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 7,838 บาท/ตัน หรือเพิ่มขึ้น 10.3% ส่วนราคาข้าวนาปีหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,790 บาท/ตัน เทียบกับปีช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 14,634 บาท/ตัน หรือลดลง 26.27%
สศก.ประเมินด้วยว่า ในปี 2564 ประเทศไทยจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี 61.35 ล้านไร่ เพิ่มจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 61.28 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังคาดว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูก 6.1 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2563 ที่อยู่ที่ 7.32 ล้านไร่
@ปัจจับลบรุม-คาดส่งออกข้าวปีหน้าอาจไม่เกิน 6 ล้านตัน
ด้าน เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ราคาข้าวเปลือกนาปรังน่าจะในเกณฑ์ดี เนื่องจากน้ำในเขื่อนไม่ได้มากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยฉพาะน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ จึงคาดว่าข้าวเปลือกนาปรังที่เริ่มปลูกในช่วงนี้และเก็บเกี่ยวในช่วงมี.ค.-เม.ย.ปีหน้า ผลผลิตจะน้อยกว่าปีก่อน
“วันนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าราคายังดีมาก ราคาอยู่ที่ 9,500 บาทต่อตัน และน่าจะยังอยู่ในระดับนี้ แต่แน่นอนว่าราคาข้าวในประเทศระดับนี้ ทำให้การส่งออกเราลำบาก เพราะราคาแพง แข่งกับเพื่อนบ้านไม่ได้ เงินบาทก็แข็งค่ามาตลอด ตอนนี้น่าจะ 30 บาทต่อดอลลาร์แล้ว และยังมีปัญหาไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกอีก” เจริญ กล่าว
เจริญ ยังบอกว่า แม้ว่าราคาข้าวเปลือกนาปรังจะมีราคาดี แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวนาทุกคนจะได้ประโยชน์ เพราะหากปลูกข้าวไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้ จึงต้องดูด้วยว่าชาวนาอยู่ในพื้นที่ชลประทานหรือไม่ แต่หากไม่มีน้ำจริงๆ และต้องเจาะน้ำบาลมาทำนา ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น กำไรที่ได้ก็ลดน้อยลง
ส่วนแนวโน้มผลผลิตข้าวเปลือกนาปีในปีหน้า (ปีการผลิต 2564/65) คงไม่สามารถคาดการณ์ไปไกลขนาดนั้นได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนว่าจะมีมากหรือน้อย หากฝนฟ้าดี ผลผลิตในประเทศมีมาก ราคาในประเทศอ่อนตัวลง ค่าเงินบาทอ่อนลง การส่งออกน่าจะดีขึ้น แต่เบื้องต้นก็คาดว่าปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 6 ล้านตัน
“แรกๆเราก็ดูว่าปี 2564 เราจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน แต่ตอนนี้คิดว่าไม่จะถึง เพราะยังมีปัญหาโควิดอยู่ ค่าขนส่งก็มีปัญหา เพราะไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ แล้วก็เราก็ไม่รู้ว่าฝนฟ้าจะดีไหม จึงขอดูเป็นรายไตรมาสดีกว่า” เจริญกล่าว
เจริญ ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า การพยากรณ์พื้นที่ปลูกข้าวและปริมาณข้าวเปลือกของหน่วยงานรัฐ อาจไม่มีความแม่นยำ เช่นปีที่แล้ว (ปีการผลิต 2563/64) หน่วยงานภาครัฐคาดว่าผลผลิตจะออกมาสูง แต่กลายเป็นว่าราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพราะไม่มีข้าวออกสู่ตลาด
“ผมพูดมาตลอดว่า เราไม่มีข้อมูล พวกเราทำกันแบบหลับตา ต้องใช้ประสบการณ์ เดาเอา เอาความรู้สึกว่ากัน เพราะเราไม่มีตัวเลขแท้จริงอะไรเลย โดยเฉพาะตัวเลขพื้นที่ปลูกข้าวจริงของแต่ละหน่วยงานไม่เท่ากัน และจะสังเกตได้ว่าผลผลิตข้าวของไทยจะขึ้นลงตามการเมืองด้วย ถ้าการเมืองชี้นำไปทางไหน ก็ไปทางนั้น” เจริญกล่าว
@โรงสีปรับกลยุทธ์รับมือราคาข้าวผันผวน
ด้าน เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องยากจะคาดการณ์ว่าราคาข้าวเปลือกปี 2564 จะเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรมีหลายตัว เช่น พื้นที่ปลูกข้าว ปริมาณฝน และความต้องการซื้อจากตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต่างประเทศ และโจทย์ที่จะมีผลกระทบต่อเรื่องราคาก็เปลี่ยนไปทุกที
“เดี๋ยวนี้เราไม่กล้าประเมิน เพราะประเมินทีไร มีปัญหาทุกที และแม้ว่าเราจะประเมินได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวของเรามีเท่าไหร่ แต่ไม่สำคัญเท่ากับความต้องการของตลาด ซึ่งวันนี้ปริมาณการค้าข้าวโลกก็ยังอยู่ที่ปีละ 40 ล้านตัน ถ้าเขาไม่ซื้อเรา เขาก็ไปซื้อที่อื่น เขามีทางเลือกมา เราจึงไม่กล้าคาดเดา เพราะอาจเป็นการชี้นำที่ผิดได้” เกรียงศักดิ์ กล่าว
เกรียงศักดิ์ ย้ำว่า “นาปรังจะมีน้ำหรือไม่ หรือปลายปีจะมีฝนเท่าไหร่ ยังเป็นเรื่องที่พยากรณ์ยาก แต่ถ้ารัฐบาลจะทำให้ชาวนามีรายได้ ก็ต้องหาแหล่งน้ำให้เขา เพราะถ้าแล้ง เขาปลูกไม่ได้ ก็ไม่มีรายได้อยู่ดี”
เกรียงศักดิ์ ยังบอกว่า จากสถานการณ์ราคาข้าวที่ผันผวน โรงสีเองต้องปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ เช่นโรงสีที่เป็นประเภทซื้อมาขายไป หรือโรงสีประเภทที่ซื้อมาแล้วขายไม่ได้ ต้องถือครองรอราคา หลายปีที่ผ่านมาได้เพิ่มช่องทางการขายใหม่ จากเดิมที่พึ่งผู้ส่งออกและผู้ค้าในประเทศอย่างเดียว ตอนนี้ก็ส่งออกและทำตลาดในประเทศเองบางส่วน
“การแข่งขันของโรงสีค่อนข้างสูง ตอนนี้ไม่ตำรา ตำราเผาทิ้งไปนานแล้ว โดยต้องดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และแต่ละคนกำลังเงินไม่เท่ากัน จะไปวิเคราะห์แบบตลาดหุ้นไม่ได้” เกรียงศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ เกรียงศักดิ์ ประเมินว่า ปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน จากปี 2563 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ไม่เกิน 6 ล้านตัน เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่า และลูกค้ามีทางเลือกในการซื้อข้าวจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวอยู่ตลอดเวลา
@กระตุ้นรัฐหนุนชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มเพิ่มกำไร
ขณะที่ สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ นักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการข้าวมาไม่น้อยกว่า 30 ปี กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าในปี 2564 โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้านาปรังน่าจะมีราคาดีต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่ราคาอยู่ที่ระดับ 9,500 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวในพื้นที่ลุ่มภาคกลางที่จะมีไม่มากนัก
ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลินั้น จะเห็นได้ว่าราคาลดลงมาในช่วงปีการผลิต 2563/2564 เนื่องจากราคาข้าวสารหอมมะลิในตลาดโลกที่เคยอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตอนนี้ลดลงเหลือ 950-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน และหากไทยสามารถรักษาคุณภาพข้าวไว้ได้ เชื่อว่าราคาที่ระดับ 1,000 เหรียญต่อตันเป็นราคาที่ตลาดรับได้
“ข้าวหอมมะลิ ถ้าเรายังรักษาความนุ่ม ความหอมเอาไว้ได้ ความจำเพาะนี้จะทำให้ราคาข้าวหอมมะลิไม่ทรุดลงมาก และราคาที่ระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตันเป็นราคาที่ตลาดรับได้ แต่คงไม่ขึ้นไปถึงระดับ 1,200 เหรีญสหรัฐต่อตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีข้าวพันธุ์พื้นนุ่มเข้ามาทดแทนบางส่วน” สมพร กล่าว
สมพร ระบุว่า แม้ว่าราคาข้าวเปลือกของไทยในปี 2564 จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลและชาวนาต้องให้ความสำคัญ คือ การลดต้นทุนการผลิต และจากข้อมูลที่จัดทำขึ้น ณ ปี 2562 พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงถึง 7,452 บาทต่อตัน เทียบกับเวียดนามที่มีต้นทุนอยู่ที่ 5,651 บาทต่อตัน และพม่าที่มีต้นทุน 4,353 บาทต่อตัน
“ข้าวเปลือกนาปรังปี 2564 ราคาน่าจะอยู่ที่ตันละ 9,000-9,500 บาท เนื่องจากซัพพลายน้อยลง ส่วนนาปีก็ต้องดูว่าน้ำฝนจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าชาวนาหันมาปลูกข้าวพื้นนุ่มจะได้มาร์จินเพิ่มขึ้นมา เพียงแต่การส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มไม่รู้ว่าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งผมมองว่ารัฐยังล้มเหลวมากในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปให้ชาวนา” สมพร ระบุ
สมพร เสนอว่า รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาส่วนร่วมในการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีให้ชาวนา โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตโดยเอกชนมีเพียง 7 แสนตัน จากความต้องการเมล็ดพันธุ์แต่ละปีที่อยู่ที่ 1.4 ล้านตัน
“วันนี้งบวิจัยพันธุ์ข้าวของภาครัฐหดตัวลง นักวิชาการด้านข้าวเองก็หดตัวรุนแรง ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ให้มีการผสานกำลังระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้มากขึ้น และผู้ส่งออกอาจจะเข้ามาช่วยในบางเรื่อง เช่น ตอนนี้ผู้ส่งออกบางรายลงไปส่งเสริมการปลูกข้าว ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวที่ได้มีคุณภาพดีมาก” สมพรกล่าว
อ่านประกอบ :
‘อีไอซี’ คาดปี 64 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน-เตือนจีนรุกหนักยึดตลาดแอฟริกา
ทวงแชมป์สำเร็จ! ‘หอมมะลิ 105’ ชนะเลิศประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 63 หลังพ่าย 2 ปีซ้อน
‘บิ๊กตู่’ สั่งศึกษาตั้ง ‘กองเรือพาณิชย์’-ครม.ไฟเขียวเพิ่มเงินประกันราคาข้าว 4.68 หมื่นล.
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/