"...ถ้าถามว่าน่ากลัวขนาดไหน ก็ขอบอกว่าเราต้องส่งออกข้าวครึ่งหนึ่งของข้าวที่ผลิตได้ แล้วถ้าส่งออกไม่ได้ ข้าวก็เหลืออยู่ในประเทศ แล้วจะทำอย่างไร จะให้ชาวนาหยุดปลูกได้หรือไม่ ถ้าชาวนาไม่หยุดปลูก ราคาข้าวก็ถูกลง ชาวนาก็ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมากขึ้น เพราะฉะนั้น งบประมาณของประเทศ ก็ต้องเทมาตรงนี้เยอะขึ้น เพื่อช่วยเหลือราคาให้ชาวนา..."
เป็นสถานการณ์ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับการส่งออกข้าวของไทย
หลังจาก 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 2.57 ล้านตัน ลดลง 31.88% (ม.ค.-พ.ค.62 ปริมาณส่งออก 3.78 ล้านตัน) และมีมูลค่าส่งออก 1,732 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 13.22% (ม.ค.-พ.ค.62 มูลค่าส่งออก 1,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ส่งผลให้ไทยตกเป็น 'เบอร์ 3' ในทำเนียบผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
ส่วนเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญของไทย ก้าวขึ้นมาประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) เวียดนามส่งออกข้าว 3.09 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 1.3 ล้านตัน ไปยังฟิลิปปินส์
แม้ว่าการที่เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก อาจเป็นสถานการณ์ ‘ชั่วคราว’
เพราะหากย้อนไปดูสถิติการส่งออกข้าวในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ จะพบว่าเวียดนามส่งออกข้าวปีละไม่ถึง 7 ล้านตัน เทียบกับไทยที่ส่งออกข้าวได้เกิน 11 ล้านตันในปี 61 ส่วนปี 62 ที่ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 7.58 ล้านตันนั้น มีสาเหตุหลักจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมในประเทศ ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวของไทยลดลง
แต่ทว่าคนในวงการค้าข้าวมองว่า ตลาดส่งออกข้าวของไทยกำลังถูกประเทศคู่แข่ง ‘แย่งยึด’ ไปทีละน้อย
“การค้าข้าวโลกอยู่ที่ 40 ล้านตันทุกปี เพียงแต่ว่าเดิมเรามีส่วนแบ่ง 9-10 ล้านตัน ซึ่งปีที่แล้วเราส่งออก 7.5 ล้านตัน แต่ไม่มีนัยยะให้เห็นเลยว่าข้าวขาด เพราะมีข้าวที่อื่นมาเติม เราจึงต้องมองให้ออกว่า ตลาดข้าวที่เสียไปนั้น เป็นข้าวอะไร เสียให้ใคร” เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
เกรียงศักดิ์ ยังย้ำว่า วันนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า การส่งออกข้าวไทยลดลงเกือบทุกชนิด ทั้งในกลุ่มข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเข้าไปศึกษาตลาดอย่างจริงจังว่า เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่ เช่น ราคาข้าวไทยที่แพงกว่าประเทศคู่แข่งมากเกินไปหรือไม่ หรือพฤติกรรมของประเทศผู้บริโภคข้าวเปลี่ยนไปแล้ว
“เรารู้ว่าชาวนาของเรา คงจะหยุดปลูกข้าวไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้ชาวนาของเรา ผลิตข้าวพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด และตอบโจทย์ของชาวนาทั้งเรื่องผลผลิตและรายได้ ซึ่งเราต้องกลับทำยุทธศาสตร์ แล้วไปแก้ตรงนั้นให้กลับมา แต่ถ้าเรายังตีโจทย์ไม่ออก มันก็ยังเป็นปัญหาสำหรับเรา” เกรียงศักดิ์ระบุ
เกรียงศักดิ์ ยังประเมินว่า จากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวไทยที่แพงกว่าคู่แข่ง 50-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และค่าเงินบาทที่ผันผวน จึงคาดว่าปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ไม่เกิน 7 ล้านตัน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ หากปีนี้ผลผลิตข้าวภายในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวล้นตลาดได้
“วันนี้ราคาข้าวเราสูงกว่าเพื่อนบ้าน เวียดนามเสนอขายข้าวถูกกว่าเราตันละ 50 เหรียญ อินเดียถูกกว่าเรา 100 เหรียญ เพราะต่างคนต่างมีผลผลิต ก็ต้องหาตลาดระบาย อีกทั้งค่าเงินบาทแข็งที่ค่าขึ้น ยังทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าข้าวไทยแพง ส่วนคนขายข้าวเองก็ต้องระวังตัว ที่เคยขายกันเป็นล็อตใหญ่ๆ ก็ลดปริมาณลง
โดยในปี 62 เราส่งออกข้าวได้ 7.58 ล้านตัน แต่ปีนี้เราคาดว่าไม่น่าจะข้าม 7 ล้านตันไปได้ และถ้าผลผลิตข้าวของเราในปีนี้กลับสู่ภาวะปกติ แล้งไม่มี น้ำท่วมไม่มี จะทำให้เรามีผลผลิตข้าวเปลือก 30 ล้านตัน สีแปรเป็นข้าวสารได้ 19 ล้านตัน เราบริโภค 8 ล้าน จะเหลือข้าว 11 ล้านตัน ถ้าส่งออกไม่ถึง 7 ล้านตัน แล้วข้าวตรงนี้จะไปอยู่ไหน” เกรียงศักดิ์กล่าว
เกรียงศักดิ์ ระบุว่า แม้ว่าในปีนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ และการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและค่าปัจจัยการผลิตต่างๆแล้ว แต่การรักษาและสนับสนุนตลาดส่งออกข้าวไทยให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ
เกรียงศักดิ์ มีข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐว่า “วันนี้ค่าเงินบาทควรจะนิ่งและมีเสถียรภาพ เพราะถ้าปล่อยให้ค่าเงินบาทแกว่งมากๆ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะคำนวณอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าราคาวันพรุ่งนี้จะถูกกว่าวันนี้หรือเปล่า ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะเดี๋ยวถูก เดี๋ยวแพง ดังนั้น ค่าเงินบาทควรมีเสถียรภาพมากกว่านี้”
ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า และพันธุ์ข้าวของไทยบางชนิดไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
“อย่างที่เราพูดกันมานานแล้ว คือ เรามีปัญหาในเรื่องพันธุ์ข้าว พูดง่ายๆ คือ ข้าวบางอย่างของเราไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว อีกทั้งราคาข้าวของเราก็สูงกว่าคู่แข่งเยอะ อย่างข้าวขาว 5% เราขาย 480-490 เหรียญ แต่อินเดียขายเพียง 360 เหรียญ ส่วนเวียดนามขาย 440 เหรียญ เราแพงกว่าเขาเยอะมาก
และเรายังมีปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้อีก อย่างปีที่แล้ว เงินบาทเราแข็งกว่าคู่แข่ง 10% ทำให้ราคาข้าวของเราแพงกว่าเขา ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมข้าวไทยที่ต้องมีการแก้ไข ถ้าไม่แก้ไข จะทำให้เราส่งออกน้อยลงทุกที” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
(ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ขอบคุณภาพ : ไทยโพสต์)
ส่วนสถานการณ์ส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกแทนไทยนั้น ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า "ถ้าถามว่าน่ากลัวขนาดไหน ก็ขอบอกว่าเราต้องส่งออกข้าวครึ่งหนึ่งของข้าวที่ผลิตได้ แล้วถ้าส่งออกไม่ได้ ข้าวก็เหลืออยู่ในประเทศ
แล้วจะทำอย่างไร จะให้ชาวนาหยุดปลูกได้หรือไม่ ถ้าชาวนาไม่หยุดปลูก ราคาข้าวก็ถูกลง ชาวนาก็ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือมากขึ้น เพราะฉะนั้น งบประมาณของประเทศ ก็ต้องเทมาตรงนี้เยอะขึ้น เพื่อช่วยเหลือราคาให้ชาวนา
ร.ต.ท.เจริญ ย้ำว่า วันนี้รัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาว และต้องมีการผลักดันกันอย่างจริงจังว่า ยุทธศาสตร์ข้าวไทยจะเดินไปอย่างไร โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป
“เรากำลังพูดถึงการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวว่า นโยบายจะเป็นแบบไหน เพราะข้าวแต่ละพันธุ์ กว่าจะเข้ามาใหม่ต้องใช้เวลา 5-7 ปี แต่ถ้ารัฐบาลเราไม่มั่นคง รัฐบาลเปลี่ยนบ่อยๆ ผมคิดว่าเราทำได้ยาก และถ้าเราคิดว่าเราปลูกข้าวมากไป ก็ต้องลดพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งก็ต้องคิดต่อว่าจะให้ชาวนาไปปลูกพืชอะไร มันจึงเป็นปัญหาที่ต้องทำกันโดยเร่งด่วน”
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวปีนี้ว่า เดิมสมาคมฯประเมินว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตันเท่ากับปีที่แล้ว แต่ล่าสุดน่าไม่น่าถึงแล้ว และดีที่สุดน่าจะได้ที่ 6.5 ล้านตัน เพราะเดือนหนึ่งเราส่งออกข้าวได้ไม่ถึง 5 แสนตัน เทียบกับปีก่อนๆที่ส่งออกได้เดือนละ 8-9 แสนตัน โดยเฉพาะเดือนก.ค.-ก.ย. เป็นเดือนที่เงียบมาก คำสั่งซื้อข้าวไม่ค่อยมีเข้ามา
“ตอนที่มีโควิดแล้วต่างประเทศสั่งข้าว ผมก็บอกว่าอย่าไปตื่นเต้น เพราะคนที่สั่งซื้อข้าวก็มีเท่านี้ เมื่อเขาซื้อมากขึ้น เพื่อนำไปเก็บไว้ แต่เมื่อสถานการณ์มันดีขึ้น เขาก็เอาที่เก็บไว้มากิน และจะสังเกตได้ว่าคำสั่งซื้อข้าวใน 1-2 เดือนที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ เพราะเขามีของในสต็อก” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีประเทศคู่แข่งตัดราคาขายข้าวลงมา จะทำให้เกิดสงครามราคาหรือไม่ ร.ต.ท.เจริญ บอกว่า “เรา (ไทย) จะไปทำสงครามราคาอะไรกับเขาได้ เพราะวันนี้ข้าวของเราแพงกว่าอินเดีย 100 เหรียญอยู่แล้ว แพงกว่าเวียดนาม 50 เหรียญ ในอนาคตยังมีพม่า และข้าวพม่าถูกกว่าอินเดียอีก ต่อไปมีเขมรอีก เราจะสู้อะไรกับเขาได้
และชาวนาเราเองก็เรียกร้องให้ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น ซึ่งวันนี้ราคาข้าวเปลือกของเราสูงที่สุดในอาเซียน แล้วเราจะเอาอะไรไปสู้กับเขา ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน เราเรียกร้องกันมานานว่า ขอให้สู้กับเพื่อนบ้านได้หรือไม่ แต่ก็กลายเป็นว่าในช่วง 1-2 เดือน ค่าเงินสวิง 3% ทำให้เราทำงานไม่ได้ จะขายล่วงหน้าก็ไม่กล้าขาย เพราะมาร์จิ้นของข้าวมันต่ำมาก”
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้ว่าคุณจะทำนโยบายที่ทำให้ส่งออกข้าวมีปัญหา แต่ยังไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีคู่แข่ง แต่ตอนนี้คู่แข่งรอบบ้านเลย
อย่างเวียดนามเขาตั้งเป้าตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้วว่า จะผลิตและส่งออกข้าวทดแทนเรา แล้วเขาก็พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีออกมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้เขาทำสำเร็จแล้ว แต่เรายังขายเหมือนเดิม ขายไม่กี่อย่าง ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง แล้วเราก็ทำอย่างนี้มากว่า 30 ปีแล้ว”
ด้าน สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ให้ความเห็นว่า แม้ว่า 5 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามจะส่งออกข้าวมากกว่าไทย แต่ทั้งปี 63 ยังเชื่อว่าไทยจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกได้ เพราะเวียดนามมีความต้องการบริโภคข้าวในประเทศอยู่สูงมาก จึงทำให้มีข้อจำกัดในการส่งออก
“ผมยังเชื่อว่าไทยจะยังส่งออกข้าวได้อันดับ 2 ของโลก เพราะแม้เวียดนามจะผลิตข้าวได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่ม แต่เขาน่าจะส่งออกได้ไม่เกินไปกว่า 6 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศยังมีสูง ส่วนเรา ถ้ายังส่งออกได้ 7 ล้านตัน เราเป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว แต่อาจต้องลดราคาข้าวขาว 5% ลงมา” สมพรกล่าว
(สมพร อิศวิลานนท์)
อย่างไรก็ดี สมพร ระบุว่า แม้ปริมาณและอันดับการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดโลกจะร่วงลงเป็นเบอร์ 3 แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนักในขณะนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือ กลยุทธ์ในการบริหารจัดการข้าวของไทยอยู่ในสภาวะที่ 'ล้าหลัง' และตามไม่ทันคู่แข่ง
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามเร่งปรับปรุงโครงสร้างการผลิตข้าว จนวันนี้เขาส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มได้ปีละ 2 ล้านตัน และขายข้าวได้สูงถึงตันละ 500 เหรียญ จากเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เขาส่งออกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มได้ไม่ถึง 8 หมื่นตัน และข้าวเหล่านี้กำลังเข้ามาแทนที่ข้าวหอมมะลิของไทยในตลาดจีน และแอฟฟริกา
ซึ่งเป็นความสำเร็จเชิงกลยุทธ์ที่เขาได้เริ่มไว้ หลังจากเมื่อก่อนคนไปดูถูกเวียดนามว่า ผลิตแต่ข้าวด้อยคุณภาพราคาถูก ส่วนวิธีการที่เวียดนามนำมาใช้ คือ การร่วมกับบริษัทเอกชนใหญ่ๆ ผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างข้าวสายพันธุ์ ST ซึ่งได้ราคาดีกว่าข้าวขาว แล้วกระจายพันธุ์ข้าวไปให้ชาวนาเวียดนามปลูกเพื่อส่งออก”
สมพร ยังเปรียบเทียบว่า ในขณะที่การพัฒนาพันธุ์และการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนาม เดินหน้าอย่างมีกลยุทธ์และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แต่การพัฒนาพันธุ์และการกระจายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มของไทยเต็มได้ข้อจำกัด ขณะที่เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้บางส่วนไม่ได้มาตรฐาน มีการปลอมปนเมล็ดพันธุ์ ทำให้มันพังกันไปหมด
“เราจะพบว่าการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มในไทยมีการกระจายตัวในขอบเขตจำกัด และมีต้นทุนสูง โดยภาครัฐผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ 8 หมื่นตัน ส่วนศูนย์ข้าวชุมชนก็ผลิตได้อีก 8 หมื่นตัน เทียบกับความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่มีมากถึง 1.4 ล้านตัน ซึ่งสะท้อนว่าโครงสร้างและกลยุทธ์ของเราไม่ทันคู่แข่ง เรายังทำไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นคลื่นกระทบฝั่ง ทำให้เราไม่มีจุดขาย” สมพรกล่าว
สมพร กล่าวด้วยว่า วันนี้ตลาดข้าวหอมมะลิ 4 ล้านตัน ที่ไทยภูมิใจกำลังหดตัวลงเรื่อย เพราะถูกแทนที่ด้วยข้าวพันธุ์พื้นนุ่มที่มีราคาถูกกว่า เช่นเดียวกับตลาดข้าวขาว 5% และข้าวขาว 10% ต่างก็ค่อยๆสูญเสียให้กับอินเดีย และพม่าที่มีราคาถูกกว่า ส่วนการเพิ่มการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ไทยก็ทำช้าเกินไป และวิธีการเดิน ก็ไม่ชัดเจนว่าจะเดินไปอย่างไร
“ก่อนหน้านี้ เรางมงายกับโครงการจำนำ และวันนี้เราก็มามุ่งเน้นที่การยกระดับราคา โดยไม่ได้สนใจการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆมากนัก แม้แต่ข้าวหอมมะลิ ทุกวันนี้ความหอมก็ลดลง ดังนั้น เราต้องมีกลไกใหม่ๆที่เข้ามาแทนที่กลไกเดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว เพื่อรักษาผู้บริโภคของเราเอาไว้" สมพรย้ำ
ในขณะที่การส่งออกข้าวไทยกำลังเผชิญกับมรสุมรุมเร้ารอบด้าน อีกทั้งนโยบาย กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ที่ไม่ชัดเจนและไม่มีการผลักดันอย่างจริงจัง ทำให้ไทยตกอยู่ในสถานะที่ ‘เพลี่ยงพล้ำ’ ให้กับประเทศคู่มากขึ้นทุกที
นี่จึงเป็นโจทย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วน
อ่านประกอบ :
เปิดตลาดนำเข้าข้าวเพื่อแปรรูป! พณ.ชี้เป็นไปตามกรอบ AFTA-อนุญาตเฉพาะอุตฯอาหาร
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ลดวูบ เป้าส่งออกข้าวปี 63 หดเหลือแค่ 7.5 ล้านตัน
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/