‘สมาคมส่งออกข้าวฯ-สมาคมโรงสีฯ’ ประเมินโค้งสุดท้ายส่งออกข้าวไทยปี 63 คาดทั้งปีส่งออกได้ 6 ล้านตัน มองปีหน้าดีขึ้นแต่ยังต้องเหนื่อยในการชิง ‘ส่วนแบ่งตลาด’ คืนมา ขณะที่ ‘สมาคมชาวนาฯ’ ห่วงโรงสีขาดสภาพคล่อง กดดันราคาข้าวเปลือกในประเทศถูกลง กระตุ้นรัฐจัดการ ‘โรงสี-พ่อค้า’ ฉวยโอกาสกดราคาซื้อข้าวจากชาวนา บางพื้นที่ราคาเหลือไม่ถึง 7 พันบาท/ตัน
.................
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในปี 2563 โดยย้ำว่า ในปีนี้คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้เพียง 6 ล้านตัน จากปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยมีสาเหตุจากผลผลิตข้าวไทยลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากสถานการณ์ภัยแล้ง ประกอบกับค่าเงินบาทของไทยยังคงแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง
“ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาน้อยกว่าปกติ เพราะไม่มีน้ำมาเลย เราเจอแล้งมา 2 ปีแล้ว ผลผลิตของเราจึงน้อยลง และจะสังเกตได้ว่าราคาข้าวในประเทศสูงกว่าปกติมาแล้ว 2 ปี เมื่อราคาข้าวในประเทศของเราสูง ราคาที่ส่งออกก็สูงขึ้นไปด้วย ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวส่งออกของเราสูงกว่าคู่แข่งมากถึงตันละ 100 เหรียญ ตัวเลขส่งออกข้าวของเราจึงต่ำ เพราะเราแพงกว่าเขา อีกทั้งค่าเงินของเราก็แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่าการส่งออกข้าวในปี 2563 จะอยู่ที่ 6.5 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน และในการลงพื้นที่ติดตามผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่าง 5-7 พ.ย.2563 สมาคมฯลดคาดการณ์การส่งออกข้าวปีนี้เหลือ 6 ล้านตัน ขณะที่ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2563) ไทยส่งออกข้าว 4,04 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 31.89% โดยมีมูลค่า 84,480.9 ล้านบาท (2,702.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 15.53%
ร.ต.ท.เจริญ ยังกล่าวว่า ด้วยปริมาณการส่งออกข้าวของไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งผู้ส่งออกและโรงสีบางส่วนต้องเลิกกิจการ หรือหันไปทำธุรกิจอย่างอื่น เช่นเดียวกับผู้ส่งออกข้าวที่อยู่ในตลาดมาเป็นเวลายาวนาน ก็ยังต้องมีการปรับโมเดลการทำธุรกิจเพื่อประคับประคองให้ตัวเองอยู่รอด แต่หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้เรื่อยไป เชื่อว่าจะมีผู้ส่งออกข้าวหรือโรงสีข้าวต้องเลิกกิจการเพิ่มขึ้น
“ถ้าสถานการณ์ตลาดบีบบังคับไปเรื่อยๆ แบบนี้ โวลุ่มเราน้อย ค่า Overhead เราก็สูง กำไรก็ยิ่งน้อย ก็มีโอกาสที่จะมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้น ส่วนโรงสีเอง หลังโครงการรับจำนำข้าวจบ หลายๆโรงมีการขยายกิจการมากเกินไป เพราะเอาข้าวมาสี แล้วเก็บไว้ในคลัง ไม่ได้ค้าขายจริงจัง พอเลิกจำนำข้าว หลายๆโรงก็มีกำลังการผลิตล้น ซึ่งบ้านเรามันโตแบบเสรีเกินไป อย่างโรงสีเรามีกำลังสีข้าวได้ปีละ 120 ล้านตัน แต่เรามีข้าวเปลือกแค่ 32 ล้านตันเท่านั้นเอง” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
(ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์)
ร.ต.ท.เจริญ ประเมินแนวโน้มส่งออกข้าวในปี 2564 ว่า หลังจากในปี 2563 เรามีพายุเข้ามา 3-4 ลูก ทำให้มีน้ำทำนา และเมื่อผลผลิตข้าวเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาข้าวไทยกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าในปี 2564 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทด้วย อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้วค่าเงินบาทแข็งค่าไป 3% โดยผู้ส่งออกอยากเห็นค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ขึ้นๆลงๆแบบนี้
“เมื่อข้าวของเรามีราคาแพงเกินไป ตลาดของเราก็ถูกแย่งชิงไป และการที่เราจะชิงคืนมา ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และยังต้องเหนื่อยอยู่ เพราะลูกค้าชินกับการหุงและรสชาติแล้ว ทำให้ปีหน้าเราต้องทำงานหนัก และก็ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมข้าวไทยไม่ได้รับการเหลียวแลในด้านการพัฒนาจากรัฐบาล รัฐบาลดูแลแต่เรื่องราคาข้าวเปลือกให้ชาวนา ส่วนการพัฒนาพันธุ์ ทำได้ช้ามาก งบประมาณไม่พอ คนก็ไม่มี แล้วยังมีกฎเกณฑ์เก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2490 กว่าๆอีก” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า สมาคมฯประเมินว่า การส่งออกข้าวของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 6 ล้านตัน และในขณะที่ไทยมีการส่งออกข้าวลดลงต่อเนื่องจะพบว่ามีข้าวจากประเทศอื่นๆเข้ามาแทนที่ข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นนี้ต่อไป จะมีทำให้มีสต็อกข้าวสะสมอยู่ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศในอนาคต
“เวียดนามและพม่าส่งออกข้าวได้มากขึ้น สะท้อนว่าเขามีการปรับขีดความสามารถในการเพาะปลูก ในการผลิต ดีขึ้นกว่าเก่า ถ้าเขาไม่ดีกว่าเก่าไทยเราคงไม่อยู่อันดับ 3 ซึ่งการส่งออกข้าวปีนี้เราคาดว่าจะอยู่ใกล้เคียง 6 ล้านตัน และไม่น่าจะเกิน 6.5 ล้านตัน เพราะตอนนี้ก็เข้าช่วงปลายปีแล้ว ส่วนการส่งออกปีหน้า เราขอเวลาประเมินอีกระยะหนึ่ง เพราะเรายังไม่รู้ว่าฤดูนาปรังปี 2564 เราจะมีน้ำพอหรือไม่”นายเกรียงศักดิ์กล่าว
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศว่า ตอนนี้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารในประเทศมีราคาถูกลงจริง เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ภัยแล้ง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าราคาข้าวเปลือกและข้าวสารปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ชาวนาไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ หากราคาข้าวเปลือกต่ำกว่าราคาประกัน ชาวนาจะได้เงินชดเชยส่วนต่าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ (ความชื้นไม่เกิน 15%) อยู่ที่ 1.2-1.5 หมื่นบาทต่อตัน เทียบกับช่วงต้นฤดูที่อยู่ที่ 1.6 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนข้าวสารหอมมะลิราคาอยู่ที่ 2.1 หมื่นบาทต่อตัน เทียบกับช่วงต้นฤดูที่อยู่ที่ 3.3 หมื่นบาท และราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้นไม่เกิน 15%) อยู่ที่ 8,500-9,000 บาทต่อตัน เทียบกับช่วงกลางปีที่มีนราคา 1-1.1 หมื่นบาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวสารขาว 5% อยู่ที่ 1.3-1.35 หมื่นบาทต่อตัน จากที่เคยขึ้นไปถึง 1.6-1.7 หมื่นบาทต่อตัน
(เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ขอบคุณภาพ : สมาคมโรงสีข้าวสุพรรณบุรี)
ส่วนปัญหาโรงสีขาดสภาพคล่องนั้น นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า โรงสีมีปัญหาขาดสภาพคล่องมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็นตอนนี้ แต่ผลของการขาดสภาพคล่อง ทำให้กำลังซื้อของโรงสีในการเข้าไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาลดลง ทางสมาคมฯ ในฐานะตัวแทนของโรงสี จึงมีข้อเสนอไปถึงกระทรวงพาณิชย์ว่า ให้ช่วยเจรจากับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า สามารถปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับโรงสีได้หรือไม่ ซึ่งวงเงินที่ต้องการเบื้องต้นอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท
“เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะปล่อยเงินกู้ซอฟท์โลนตรงนี้ให้กลุ่มข้าว โดยเฉพาะโรงสี ซึ่งเราเองไม่ค่อยคาดหวังมากนัก เพราะเราไม่รู้ว่าโรงสีแต่ละโรงจะผ่านเงื่อนไขหรือไม่ แต่เราจะพยายามช่วยโรงสีให้มีสภาพคล่องมากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินเองก็มองว่าธุรกิจโรงสีเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงจึงปรับลดวงเงินสินเชื่อลง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีโรงสีส่วนหนึ่งที่พอไปได้ และส่วนหนึ่งมีปัญหาต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือต้องหยุดกิจการไป” นายเกรียงศักดิ์กล่าว
ขณะที่นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลอนุมัติโครงการประกันรายได้ชาวนาในช่วงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าราคาข้าวเปลือกในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสาเหตุน่าจะมีจากพ่อค้าและโรงสีซื้อข้าวน้อยลง เพราะโรงมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ประกอบกับราคาข้าวไทยอยู่ในระดับสูงและเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้ปีนี้ไทยมีการส่งออกข้าวได้ในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสด (ความชื้นเกิน 30%) ชาวนาขายได้อยู่ที่ 7,800-7,900 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานี เกี่ยวสด (ความชื้นเกิน 30%) ขายได้ราคา 8,000 กว่าต่อตัน ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 เกี่ยวสด (ความชื้นเกิน 30%) ขายได้ 9,000-10,000 บาทต่อตัน และข้าวเปลือกเหนียว เกี่ยวสด (ความชื้นเกิน 30%) อยู่ที่ 7,000 บาทปลายๆ แต่ชาวนาไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐบาลประกาศโครงการประกันรายได้ออกมาแล้ว
“ตอนนี้เราผลิตข้าวออกมาเยอะ เมื่อผลผลิตเยอะ แต่ส่งออกไม่ได้ จึงมีความกังวลว่าราคาข้าวเปลือกในประเทศจะลดลงกว่านี้หรือไม่ เพราะโรงสีหรือพ่อค้าเขาไม่ตุนอยู่แล้ว และซื้อไม่แพง เพราะไม่รู้ว่าจะส่งออกได้ไหม นอกจากนี้ โรงสีหลายร้อยโรงที่เคยซื้อข้าวมีการปิดตัวลง เพราะธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือปล่อยไม่เกิน 70% บางธนาคารเรียกเงินจากโรงสีคืนแล้วไม่ปล่อยเงินกลับ ทำให้โรงสีไม่มีเงินไปซื้อข้าวจากชาวนา ราคาข้าวจะถูกลงไปอีก” นายปราโมทย์กล่าว
(ปราโมทย์ เจริญศิลป์)
นายปราโมทย์ ยังระบุว่า อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าไปกวดขันบรรดาโรงสีและพ่อค้า เพราะบางพื้นที่พบว่ามีการฉวยโอกาสกดราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดเหลือเพียง 6,700-6,800 บาทต่อตัน โดยอ้างเรื่องความชื้น โดยเฉพาะชาวนาที่ไม่มีลานตากข้าว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องส่งขายพ่อค้าหรือโรงสีทันที ขณะที่สมาคมฯเตรียมเสนอรัฐบาลสนับสนุนงบเพื่อสร้างลานตากข้าวเปลือกในแต่ละตำบลๆละ 5-10 ไร่ และยังช่วยแก้ปัญหาชาวนานำข้าวเปลือกมาตากบนถนนด้วย
นายปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ชาวนาฤดูกาลผลิต 2563/64 เป็นงวดแรก ซึ่งต้องขอบคุณรัฐบาลและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ที่ช่วยผลักดันโครงการประกันรายได้ออกมา เพราะหากไม่มีโครงการประกันรายได้ ชาวนาคงไม่สามารถอยู่ได้
อ่านประกอบ :
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.
จับชาวนาขังอยู่กับที่! ‘นักวิชาการ’ ห่วงโครงการ ‘ประกันรายได้’ ไม่กระตุ้นภาคเกษตรปรับตัว
ต่ำสุดในรอบ 20 ปี! เอกชนหั่นเป้าส่งออกข้าวไทยเหลือ 6.5 ล้านตัน เสียตลาดให้ 'จีน-เวียดนาม'
ไฟเขียวประกันรายได้ชาวนา! นบข.เคาะราคาเท่าปีที่แล้ว-ครึ่งทางไทยส่งออกข้าว 3.15 ล้านตัน
ปัจจัยลบรุมเร้า-พ่ายแพ้ยุทธศาสตร์ ส่งออก ‘ข้าวไทย’ ใกล้ถึงทางตัน?
หมดเวลากินบุญเก่า! ส่งออกข้าวไทย ‘ระส่ำหนัก’ จีน-เวียดนาม-พม่า รุกแย่งตลาด
ส่องงบรบ.เชียงกง บิ๊กตู่ 2/1 ซื้อใจ‘ชาวนา’ แจกสะบัด 8 หมื่นล. แต่ฟันเฟืองศก. ‘ไม่หมุน’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/