“…เรื่องรายงานคณะกรรมาธิการฯที่อ้างถึงคุณสมบัติของผม จัดทำโดยผู้ที่มีอคติ ยึดโยงอยู่กับกลุ่มอำนาจ เป็นการให้ร้าย มีความลำเอียง ไม่โปร่งใส บิดเบือน ไม่เป็นกลาง ทำแบบรวบรัดตัดตอน ทำให้เสร็จภายใน 1 อาทิตย์ เร่งร้อน ลวกๆ ขู่กรรโชก เพื่อให้ได้ข้อความหรือข้อมูลที่ต้องการ แต่ไม่ได้ข้อเท็จจริง…”
......................................
ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุม ‘วุฒิสภา’ อีกครั้ง
สำหรับประเด็น ‘คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม’ ในการดำรงตำแหน่ง 'ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ’ ของ ‘ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์’
เมื่อ รศ.คลินิก พล.อ.สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ตามมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมวุฒิสภา ‘ชุดใหม่’ รับทราบ กรณีคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ชุดที่แล้ว มีข้อสรุปว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ อาจขาดคุณสมบัติประธาน กสทช.
“เรื่องอื่นๆ ที่คิดว่าควรจะชี้แจงให้สภาฯทราบ คือ เรื่องที่คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา (คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชุดที่แล้ว ที่มี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ ) ได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของ ประธาน กสทช.
โดยข้อที่ 3.4 ได้ทำหนังสือกราบเรียนประธานวุฒิสภา รายงานผลการพิจารณา พร้อมกับรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นและข้อเสนอแนวทางการดำเนินการ กรณีขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ซึ่งสรุปว่า จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว
คณะกรรมาธิการฯไอซีที เห็นว่า ตัวประธาน กสทช. อาจจะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายและตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 7 (ข.) (12) มาตรา 8 และมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 20 และนำกราบเรียนประธานวุฒิสภา (พรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานวุฒิสภา) เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2567
ในขณะนี้กำลังรออยู่ว่าประธานวุฒิสภาชุดที่แล้ว จะต้องนำเรียนท่านประธานวุฒิสภา (มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภาคนปัจจุบัน) ให้พิจารณาต่อไป” รศ.คลินิก พล.อ.สายัณห์ กล่าวรายงานการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช.ฯ ประจำปี 2566 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567
@สว.เรียกร้อง‘ปธ.วุฒิสภา’ส่งเรื่องถอด‘ประธาน กสทช.’
จากนั้น เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา โดยเรียกร้องให้ มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เร่งพิจารณารายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประธาน กสทช. ของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชุดที่มี พล.อ.อนันตพร เป็นประธาน และส่งเรื่องไปให้นายกฯ
“คณะกรรมาธิการฯที่มีท่าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานฯ และกรรมาธิการฯอีก 10 กว่าท่าน เขาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. และในข้อสรุปเป็นรายงานฯ 95 หน้า ลงท้ายความเห็นว่า จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ มีลักษณะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.องค์การจัดสรรฯ ซึ่ง พล.อ.อนันตพร ได้ทำหนังสือตามขั้นตอน ส่งไปยังประธานวุฒิสภาตอนนั้น คือ ท่านพรเพชร วิชิตชลชัย แต่บังเอิญเป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายของวุฒิสภา และช่วงนั้นก็มีคำถามหลายอย่าง ทำให้ท่านประธาน (พรเพชร) ไม่ได้เซ็นหนังสือส่งต่อไปยังนายกฯตามขั้นตอน
เรื่องจึงอยู่ที่ประธานวุฒิสภา มงคล (สุระสัจจะ) ว่า ท่านจะดำเนินการอย่างไร เพราะผลสอบนี้ เป็นผลการสอบของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งนั้น เป็นองค์กรนิติบัญญัติ คือ คณะกรรมาธิการของวุฒิสภา
ส่วนที่ท่านประธาน กสทช. (ศ.คลินิก นพ.สรณ) โต้แย้งมา ถ้าเราไม่สามารถตรวจสอบ กสทช.ได้ แล้วประชาชนจะพึ่งใคร ดังนั้น จึงขอให้ท่านประธานวุฒิสภาลองดูเรื่องนี้ใหม่ว่า มาถึงท่านหรือยัง และถ้าเห็นว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการฯมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ท่านก็ส่งเรื่องไปยังนายกฯท่านใหม่ ท่านแพทองธาร ชินวัตร” เปรมศักดิ์ ระบุ
เปรมศักดิ์ ย้ำว่า “ท่าน (ประธานวุฒิสภา) จะกล้าลงดาบอะไรหรือไม่ เพราะผลการสอบมันชัดเจน และชัดยิ่งกว่าชัด และผมอยากกราบเรียนว่า ทำไมเรื่องนี้ความรู้สึกเหมือนกับว่า มันคาราคาซังเหลือเกิน”
ด้าน ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า จากรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ประธาน กสทช. ของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชุดที่แล้ว ที่สรุปว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. วุฒิสภาจึงมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาถอดถอน ศ.คลินิก นพ.สรณ ออกจากตำแหน่ง ประธาน กสทช.
“รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีหลักฐานมากมาย ทั้งเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล หรือโรงพยาบาลรามาฯเอง ที่มีการยืนยันว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ มีการปฏิบัติหน้าที่ มีเวลาการนัดหมาย ทำงานอยู่ในองค์กรต่างๆ และมีหลักฐานการรับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างอื่นๆที่มาจากองค์กรภายนอก...
เรามองว่า วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาหรือแม้กระทั่งยื่นถอดถอนได้ และอยากให้ประเด็นนี้ เป็นประเด็นที่วุฒิสภาของเรา มีการตรวจสอบอีกครั้งว่า การได้มาซึ่งองค์กรอิสระนี้ถูกต้อง หรือมีคุณสมบัติครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน” ปริญญา กล่าว
ขณะที่ ยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายโดยตอกย้ำว่า วุฒิสภามีอำนาจในการตรวจสอบคณะกรรมการ กสทช. โดยหากพบว่า กสทช. เข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้องแล้ว วุฒิสภาก็มีอำนาจยับยั้งได้ และส่วนตัวไม่สบายใจที่เห็น ประธาน กสทช. ทำหนังสือโต้ตอบ สว. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ว่า สภาฯไม่มีอำนาจตรวจสอบ กสทช.
“วุฒิสภาในฐานะองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ ย่อมมีหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่านบริหาร เมื่อวิเคราะห์ถึงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. แล้ว ถือว่าท่านเป็นองค์กรของรัฐ ไม่ใช่ของบริษัท และไม่ใช่ของส่วนตัว” ยุคล กล่าว
@เปิดไทม์ไลน์ปมตรวจสอบคุณสมบัติ‘ปธ.กสทช.’
ย้อนกลับไปในเดือน ก.ย.2566 ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์สิริ รองเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ สทช. 2300/33940 ลงวันที่ 28 ก.ย.2566 ถึงประธานวุฒิสภา ขอให้ประธานวุฒิสภา ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ว่า เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯหรือไม่ (อ่านประกอบ : ‘ภูมิศิษฐ์’ร้อง‘ปธ.วุฒิ’ตรวจสอบคุณสมบัติ‘ประธาน กสทช.’-‘โฆษกฯ’ชี้แจงไม่มีลักษณะต้องห้าม)
ต่อมา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ชุดที่มี พล.อ.อนันตพร เป็นประธานกรรมาธิการฯ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.
กระทั่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ มีความเห็นว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ มีลักษณะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“การที่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยังคงมีสถานะเป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกช่องรามาชาแนล (Rama Channel) ก่อนเข้ารับสมัครเป็นกรรมการ กสทช.
จึงมีผลให้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ข. (12) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 เนื่องจากมิได้ลาออกจากการเป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงานของหาวิทยาลัยมหิดล ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนที่จะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.
แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นดังกล่าวนี้ แม้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ได้เคยวินิจฉัยแล้วว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเป็นที่สุด ตามมาตรา 7 ข. (12) ประกอบมาตรา 15/1 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิของผู้ส่วนได้เสียในการใช้สิทธิทางศาล โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสรรหา หรือฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ภายในเวลาที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
ดังนั้น จากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ประกอบกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้ว
เห็นว่า ศ.คลินิก นพ.สรณฯ มีลักษณะเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 และมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 18 มาตรา 20” รายงานบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการฯไอซีที วุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ระบุ (อ่านประกอบ : ‘กมธ.ไอซีที’วุฒิฯ แพร่บันทึกประชุม ชี้‘นพ.สรณ’มีลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติเป็น‘กสทช.’)
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ วุฒิสภา นั้น ศ.คลินิก นพ.สรณฯ ได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา (พรเพชร วิชิตชลชัย) โดยขอให้ประธานวุฒิสภา พิจารณายับยั้งและตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ที่มี พล.อ.อนันตพร เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ กรณีการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ว่า เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ก่อนที่ในวันที่ 5 ก.ค.2567 นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. โดยแจ้งว่า คณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กสทช. และกรรมการ กสทช. ได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 129 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ หรือคณะกรรมาธิการร่วมกันตามมาตรา 137 เพื่อกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ และรายงานให้สภาทราบตามระยะเวลาที่สภากำหนด”
ประกอบกับข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 77 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า “วุฒิสภามีอำนาจตั้งคณะกรรมาธิการให้มีหน้าที่และอำนาจ...พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา” และข้อ 78 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า “ให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาขึ้นเพื่อ...พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง...หรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภา....”
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น จึงย่อมมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ กสทช. และกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาดังกล่าวในข้อ 1 ได้
และข้อ 78 วรรคสอง (17) กำหนดให้มี “คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม” เป็นคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา มีหน้าที่และอำนาจ
“กระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะและการโทรคมนาคม... และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ของคณะกรรมการ กสทช. ย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การสื่อสารสาธารณะ และการโทรคมนาคม โดยตรง
ดังนั้น คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสาร และการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. ได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาฯ ดังกล่าว” หนังสือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระบุ
แหล่งข่าวจากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดที่แล้ว กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การพิจารณาว่า ศ.คลินิก นพ.สรณ จะขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. หรือไม่ นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สว.ชุดใหม่
“เรื่องนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบมาให้ท่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาคนก่อน ซึ่งตอนนั้น สว.ใกล้จะหมดวาระแล้ว และเนื่องจากในช่วงที่ส่งมา เป็นช่วงปิดสมัยประชุมพอดี เปิดสมัยประชุมได้ไม่กี่วัน สว.ก็หมดวาระ ทำให้เรื่องนี้ยังค้างอยู่ ยังไม่ได้เสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา” แหล่งข่าวจาก สว. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
@โต้ผลสอบ‘กมธ.ไอซีที’ยึดโยงกลุ่มอำนาจ-มีอคติ
อย่างไรก็ดี ศ.คลินิก นพ.สรณ ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ซ้ำอีกครั้งนั้น ไม่ได้มีการกำหนดว่าให้เป็นอำนาจของหน่วยงานใด ขณะที่คณะกรรมาธิการฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช. นั้น มีความไม่เป็นกลาง และมีอคติ
“ประเด็นสุดท้ายเรื่องคุณสมบัติของผม เรื่องหนังสือที่ผมมีไปถึงประธานวุฒิสภาท่านที่แล้ว ผมไม่ได้แย้งอำนาจและหน้าที่ของวุฒิสภา ซึ่งทางวุฒิสภาก็ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผมไปแล้ว ก่อนที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ และการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำใหม่ ไม่ได้เป็นอำนาจของหน่วยงานใด คณะกรรมาธิการฯที่ตรวจสอบ ก็ไม่ได้เป็นกรรมการฯที่เป็นกลาง และไม่มีกฎหมายใดที่บอกว่า ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอ
เรื่องรายงานคณะกรรมาธิการฯที่อ้างถึงคุณสมบัติของผม จัดทำโดยผู้ที่มีอคติ ยึดโยงอยู่กับกลุ่มอำนาจ เป็นการให้ร้าย มีความลำเอียง ไม่โปร่งใส บิดเบือน ไม่เป็นกลาง ทำแบบรวบรัดตัดตอน ทำให้เสร็จภายใน 1 อาทิตย์ เร่งร้อน ลวกๆ ขู่กรรโชก เพื่อให้ได้ข้อความหรือข้อมูลที่ต้องการ แต่ไม่ได้ข้อเท็จจริง
รายงานนี้ จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความสุจริต ยุติธรรม สอดคล้องกับท่านวุฒิสมาชิกบางท่านที่นี้เคยกล่าวไว้ว่า “แล้วเราเองในฐานะวุฒิสมาชิกชุดใหม่ ก็ไม่สามารถเป็นกลุ่มหรือองค์กรที่จะต้องรับมรดกจากใครในอดีต” ท่านประธานวุฒิสภาท่านที่แล้ว เมื่อท่านได้รับรายงาน ท่านก็ไม่ได้เห็นด้วยกับรายงานฉบับนั้น และก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
อีกทั้งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นวาระในวันนี้ แต่อย่างใด ส่วนสิ่งที่ กตป. แถลง ก็เป็นการดำเนินการของ กตป. ท่านนั้นเอง ท่านย่อมไม่ทราบข้อเท็จจริงครบถ้วน การนำเรื่องของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา มาแจ้งต่อวุฒิสภาครั้งนี้ โดย กตป.ท่านนั้น โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อน จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่และในวาระการประชุมครั้งนี้ และ กตป. ไม่ใช่วุฒิสมาชิก ที่จะมีสิทธิ์อภิปรายกล่าวหาคนอื่นให้ได้รับความเสียหาย ถือเป็นการใช้โอกาสในการชี้แจงผลงานต่อวุฒิสภาโดยมิชอบ
ในความเป็นจริง ผมได้ลาออกจากพนักงานมหาวิทยาลัยมหิดลมาตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.2565 และได้แสดงหลักฐานว่าได้ลาออกแล้วต่อท่านประธานวุฒิสภาเรียบร้อยแล้วตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และตั้งแต่ผมได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งประธาน กสทช. ผมไม่เคยขาดคุณสมบัติ
ผมทำงานเต็มเวลา ไม่เคยเป็นกรรมการของบริษัทเอกชน หรือองค์กรไหนเลย ตลอดชีวิตการเป็นแพทย์ อาจารย์แพทย์ การประกอบวิชาชีพในการช่วยชีวิต และลดการเจ็บป่วยเป็นไปตามมาตรฐาน ตามจริยธรรมวิชาชีพ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ได้เบียดเบียนเวลาปฏิบัติงานในตำแหน่งประธาน กสทช.” ศ.คลินิก นพ.สรณ กล่าว
ขณะที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วน เรียกร้องให้ประธานวุฒิสภา นำรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภา ว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาชุดใหม่ว่า จะพิจารณากันอย่างไร
“หากวุฒิสภาคิดว่ามีอำนาจหน้าที่ก็ทำไป ข้อเท็จจริง ก็คือข้อเท็จจริงที่ได้ชี้แจงไปแล้ว จะไปบิดเบือนอะไรคงไม่ได้ ข้อกฎหมายก็คือข้อกฎหมาย แต่ถ้าพิจารณากันด้วยความเที่ยงธรรม ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องดี จะได้ยุติจบ ไม่ต้องมาพูดกันอีก” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ประธาน กสทช. ไม่เคยบอกว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. เพียงแต่กระบวนการขั้นตอนไม่ถูกต้องตามข้อบังคับฯ เพราะตามข้อบังคับแล้ว การรับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลภายนอกนั้น จะมีคณะกรรมาธิการฯชุดหนึ่ง ที่ประธานวุฒิสภา เป็นประธานฯ และมีประธานคณะกรรมาธิการฯชุดต่างๆ เป็นกรรมการ พิจารณาว่า เมื่อรับเรื่องแล้ว จะส่งให้คณะกรรมาธิการฯชุดใดพิจารณา
“มันต้องผ่านกระบวนการนี้ก่อน แต่บังเอิญว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีกระบวนการนี้เลย ทางท่านประธาน กสทช. จึงติงไปว่าการดำเนินการ โดยการรวบรัดจากผู้ยื่น ที่ไปยื่นกับคณะกรรมาธิการฯโดยตรง แล้วคณะกรรมาธิการฯรับเรื่องมาโดยตรง ไม่ผ่านคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่มีอำนาจตามข้อบังคับ” พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าว
พ.ต.อ.ประเวศน์ ระบุด้วยว่า “จริงๆแล้ว อำนาจในการวินิจฉัยว่าท่านประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติหรือไม่ เป็นอำนาจของ สว.หรือเปล่า เพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ และกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สว.ในการถอดถอนประธาน กสทช. อยากจะตรวจสอบก็ตรวจสอบไป แต่ถามว่าตรวจสอบแล้วส่งไปไหน
ไม่ใช่ว่าพอตรวจสอบเสร็จแล้ว ส่งขึ้นไปให้โปรดเกล้าฯเลย อันนี้ทำไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งกรณีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ สส. หรือองค์กรอิสระอื่น อันนั้นกำหนดว่าเป็นอำนาจของ สว.ในการถอดถอน แต่บางเรื่องต้องเสนอไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วแต่กรณีไป
แต่กรณี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พ.ร.บ.กสทช. ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ ฉะนั้น อยู่ดีๆ สว.จะมาตีความเอาเองว่า สว.ตัดสินได้เลย หรือชี้ผิดชี้ถูกได้เลย คงไม่ใช่ และการที่คณะกรรมาธิการฯชุดเดิม ตั้งตนเป็นองค์คณะในการพิจารณา พอเสร็จแล้ว ก็ส่งให้ประธานวุฒิสภายื่นให้ถอดถอน อันนั้นกฎหมายมันไม่ให้”
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ประเวศน์ ยังให้ความเห็นกรณีที่เลขาธิการวุฒิสภา แจ้งประธาน กสทช. ว่า คณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้น มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบคุณสมบัติของประธาน กสทช. ว่า แม้ว่าวุฒิสภาจะมีอำนาจและหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องต่างๆได้ แต่ตรวจสอบในเรื่องใดๆนั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและบังคับด้วย
จากนี้จึงต้องติดตามกันต่อไปว่า ประธานวุฒิสภา ‘มงคล สุระสัจจะ’ จะนำรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ ‘ประธาน กสทช.’ ของคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ชุดที่แล้ว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม ‘วุฒิสภา’ หรือไม่ และบทสรุปในเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร ?
อ่านประกอบ :
‘สนง.วุฒิสภา’ชี้‘กมธ.ไอซีที’มีอำนาจตรวจคุณสมบัติ ‘ปธ.กสทช.’โดยชอบด้วย‘รธน.-ข้อบังคับฯ’
‘กมธ.ไอซีที’วุฒิฯ แพร่บันทึกประชุม ชี้‘นพ.สรณ’มีลักษณะต้องห้าม-ขาดคุณสมบัติเป็น‘กสทช.’
ส่ง'ปธ.ศ.อุทธรณ์'วินิจฉัยเขตอำนาจศาลฯ หลังรับฟ้องคดี‘4 กสทช.’เปลี่ยน‘รักษาการเลขาฯ’มิชอบ
‘กมธ.ไอซีที-นักกฎหมาย’ชี้‘สรณ’ขาดคุณสมบัติ‘กสทช.’-‘สภาผู้บริโภค’โชว์หนังสือรับค่าตอบแทน
‘กมธ.ไอซีที’จ่อสรุปผลสอบฯลักษณะต้องห้าม‘ปธ.กสทช.’-'สรณ'ยันคุณสมบัติถูกต้องก่อนทูลเกล้าฯ
'ครป.-สภาผู้บริโภค'ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเปิด'หลักฐาน'คุณสมบัติต้องห้าม‘ประธานฯกสทช.’
เลขาฯโชว์คำสั่ง‘สรณ’ลาออก‘รพ.รามาฯ’มีผล 8 ม.ค.65 ตอกย้ำ‘ปธ.กสทช.’ไม่มีลักษณะต้องห้าม
เลขาฯยัน‘สรณ’ไม่มีลักษณะต้องห้าม-'ม.มหิดล’แจงเป็น‘พนง.มหาวิทยาลัย’ก่อนเป็น'ปธ.กสทช.'1 วัน
‘วุฒิสภา’มีมติส่งผลศึกษาฯปมสรรหา‘เลขาฯกสทช.’ช้า ให้‘ป.ป.ช.’-สว.เผย‘นพ.สรณ’ส่อพ้นเก้าอี้
'นพ.สรณ' ร้อง ‘ปธ.วุฒิสภา’ ตรวจสอบ ‘กมธ.เทคโนโลยีฯ’ ก้าวก่าย-แทรกแซงหน้าที่ ‘ปธ.กสทช.’
ชง‘วุฒิสภา’ 1 เม.ย.ถกผลศึกษาฯปมแต่งตั้ง‘เลขาธิการ กสทช.’ล่าช้า-เสนอ‘ป.ป.ช.’เปิดไต่สวนฯ
จับตาถกบอร์ด กสทช.เคาะชื่อ‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ ส่อวุ่น-พบชงหนังสือ‘ไตรรัตน์’ค้าน 4 กก.โหวต
บรรจุเป็นวาระพิเศษ! ‘ประธาน กสทช.’นัด‘กรรมการ’ถกแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่ 17 ม.ค.นี้
ไม่ได้ขัดแย้งส่วนตัว! 4 กสทช. แถลงร่วมยก 6 พฤติกรรม‘ปธ.’ทำภารกิจบอร์ดฯติดขัด-งานไม่เดิน