"…มีการปรับเพิ่มการขาดดุลการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.67 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 67.98 โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 68.92 ในปี 2570 ทำให้พื้นที่ทางการคลังมีความเสี่ยงในการรองรับผลกระทบ…”
.........................................
ในห้วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ตลอด 9 เดือนเศษ ที่ผ่านมา
การผลักดัน 'โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet' ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม นับหนึ่งในภารกิจที่ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ (อ่านประกอบ : ‘บอร์ดนโยบายฯ’แจงแนวทางป้องกันทุจริต‘ดิจิทัลวอลเลตฯ’-ย้ำแจก‘เงินหมื่น’มุ่งกระตุ้น ศก.)
อย่างไรก็ดี การเดินหน้าโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเลต’ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘ระยะสั้น’ โดยการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ให้ประชาชน 50 ล้านคน เพื่อนำไปจับจ่ายใช้สอยนั้น จะส่งผลให้ระดับ 'หนี้สาธารณะต่อจีดีพี' ของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และใกล้ชน ‘เพดาน’ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา เข้าทำหน้าที่บริหารประเทศ หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2666 รัฐบาลได้มีการทบทวนแผน ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ มาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อเปิดทางให้มีการ ‘กู้เงิน’ เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ครม.มีมติเห็นชอบ 'แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 1' โดยปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2568 เป็น 3.752 ล้านล้านบาท จากเดิม 3.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.527 แสนล้านบาท โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น 1.527 แสนล้านบาท จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2568 เป็น 3.752 ล้านล้านบาท ในขณะที่ประมาณรายได้ของรัฐบาลสุทธิยังคงเท่าเดิม คือ มีรายได้สุทธิ 2.887 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลการคลังในปีงบ 2568 จำนวน 8.65 แสนล้านบาท จากเดิมแผนการคลังฯ ฉบับเดิมที่ขาดดุลการคลัง จำนวน 7.13 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน เนื่องจากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปี 2568 เหลือ 19.57 ล้านล้านบาท (คาดว่าจีดีพีปี 2567 ขยายตัว 2.7% และปี 2568 ขยายตัว 3.2%) เทียบกับแผนการคลังฯฉบับเดิมที่คาดว่ามูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 20.049 ล้านล้านบาท (คาดว่าจีดีพีปี 2567 ขยายตัว 3.2% และปี 2568 ขยายตัว 3.6%)
ส่งผลให้ ณ สิ้นปีงบ 2568 คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 66.93% โดยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 12.84 ล้านล้านบาท เทียบกับแผนการคลังฯฉบับเดิม ที่คาดว่า ณ สิ้นปีงบ 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 63.73% โดยมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 12.66 ล้านล้านบาท
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) และแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 : สำนักข่าวอิศรารวบรวม)
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ครม.มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 โดยปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 เป็น 3.602 ล้านล้านบาท จากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 ที่งบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 อยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่าย ปีงบ 2567 ที่เพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตเช่นกัน โดยจะมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และเสนอให้ ครม.เห็นชอบในเร็วๆนี้ ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ดี เนื่องจากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ได้ปรับเพิ่มประมาณรายได้ของรัฐบาลสุทธิในปีงบ 2567 เป็น 2.797 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 แสนล้านบาท (แผนการคลังฯฉบับทบทวน ครั้งที่ 1 ประมาณรายได้ของรัฐบาลสุทธิในปีงบ 2567 ไว้ที่ 2.787 ล้านล้านบาท) ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายฯ เพิ่มขึ้น 1.22 แสนล้านบาท
ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลการคลังในปีงบ 2567 เพิ่มขึ้นอีก 1.12 แสนล้านบาท โดยมีการขาดดุลการคลังอยู่ที่ 8.05 แสนล้านบาท จากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 ที่ปีงบ 2567 มีการขาดดุลการคลัง 6.93 แสนล้านบาท และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีอยู่ที่ 65.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2567 ลงเหลือ 2.5%
ที่สำคัญการที่รัฐบาลได้ตั้งความหวังว่า การใช้จ่ายเม็ดเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลต จะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น แต่ในข้อเท็จจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นที่หวังไว้
เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า ในแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังภาครัฐ ได้ปรับลดขนาดจีดีพีของประเทศไทย ในปี 2568-71 ลงจากแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 ได้แก่
ปีงบ 2568 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 19.289 ล้านล้านบาท จากเดิม 19.570 ล้านล้านบาท ,ปีงบ 2569 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 20.178 ล้านล้านบาท จากเดิม 20.568 ล้านล้านบาท ,ปีงบ 2570 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 21.154 ล้านล้านบาท จากเดิม 21.596 ล้านล้านบาท และปีงบ 2571 ปรับลดขนาดจีดีพีเหลือ 22.175 ล้านล้านบาท จากเดิม 22.719 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ แผนการคลังฯ ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 ยังปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2568 เป็น 67.9% (เดิม 66.93%) , ปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2569 เป็น 68.8% (เดิม 67.53%) ,ปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2570 เป็น 68.9% (เดิม 67.57%) และปรับเพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพี ปีงบ 2571 เป็น 68.6% (เดิม 67.05%)
ในขณะที่ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 ได้กำหนดว่า ‘สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบ (70)”
ไม่เพียงเท่านั้น แผนการกู้เงินฯ เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล ที่ปรากฏอยู่ในแผนการคลังฯ ฉบับทบทวนทั้ง 2 ครั้งดังกล่าว ยังไม่ได้รวมเงินที่ได้จากการดำเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ วงเงิน 1.72 แสนล้านบาท ที่มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะปรากฎเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต
จึงเท่ากับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หลังจาก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ พ้นวาระไปแล้วนั้น แทบจะไม่มี ‘พื้นที่ทางการคลัง’ หรือ ‘กระสุน’ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเหลืออยู่เลย และอาจมีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อขยาย ‘เพดาน’ การก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 1 และแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบฯ 2568-2571) ฉบับทบทวนครั้งที่ 2 : สำนักข่าวอิศรารวบรวม)
@‘ธปท.’ห่วง‘หนี้สาธารณะ’สูง กระทบความเชื่อมั่น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการพิจารณาแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ของ ครม. นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ ได้ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม. ที่น่าสนใจ ดังนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล) 10851 ลงวันที่ 27 พ.ค.2567 เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน (ครั้งที่ 2) โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
ธปท. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 2/2567
ทั้งนี้ รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลของการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณต่อเสถียรภาพการคลัง และจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและต้นทุนการระดมทุนของภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ พื้นที่ทางการคลัง (policy space) ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อาจลดลงจากรายได้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงไม่เป็นไปตามเป้า และรายจ่ายรัฐบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะเงินคงคลังและการบริหารกระแสเงินสดของรัฐบาลในระยะต่อไปได้
ในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายด้านการคลัง จึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเสถียรภาพการคลัง ผ่านการลดการขาดดุลงบประมาณ โดยการเพิ่มรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และใช้นโยบายภาษีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น
นอกจากนี้ ควรพิจารณาเพิ่มการชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า และดำเนินนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
@หนี้สาธารณะพุ่ง 68.92% ทำให้‘พื้นที่การคลัง’เสี่ยง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้ว มีข้อสังเกตว่า แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 มีการปรับเพิ่มการขาดดุลการคลังต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.67 ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 67.98
โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 68.92 ในปี 2570 ทำให้พื้นที่ทางการคลังมีความเสี่ยงในการรองรับผลกระทบ หากในระยะถัดไปเกิดความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ดังนั้น สำนักงาน จึงมีความเห็นว่า ในการจัดสรรงบประมาณประจำปีในช่วงถัดไป สำนักงบประมาณควรปรับเพิ่มการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ย ทั้งในส่วนของหนี้รัฐบาลและหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐให้ดำเนินโครงการของรัฐที่ครบกำหนดชำระในแต่ละปีงบประมาณ
รวมทั้งควรมีการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะที่เหมาะสม เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงต่อความยั่งยืนทางการคลัง
นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณส่วนราชการควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด ทั้งนี้ การปรับเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนเพื่อความรอบคอบในการดำเนินการ
@‘สำนักงบฯ’แนะต้องรักษาวินัยการคลังฯเคร่งครัด
สำนักงบประมาณ
สำนักงบประมาณพิจารณาแล้วขอเรียนว่า เพื่อเป็นการดำเนินการตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และเพื่อให้ประเทศมีแผนแม่บทหลัก สำหรับเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการดำเนินนโยบายด้านการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดเก็บหรือหารายได้
การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคสังในอนาคต รวมทั้งเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
จึงเห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีมติเห็นชอบในการประชุม ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567
ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยการลดการขาดดุลการคลังในระยะยาว รวมทั้งพิจารณาแนวทางการเพิ่มการจัดเก็บรายได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป
เหล่านี้เป็นสรุปสาระของ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571)’ ฉบับทบทวน ทั้ง 2 ครั้ง เพื่อเปิดทางให้รัฐบาล ‘กู้เงิน’ มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลต และแน่นอนว่าการกู้เงินดังกล่าว จะทำให้ทำให้รัฐบาลเศรษฐา รวมถึงรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามาบริหารประเทศ แทบจะไม่เหลือ ‘กระสุน’ สำหรับใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้ารอบด้าน!
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะรื้อ‘แผนการคลังฯ’รอบ 2 เพิ่มงบปี 67 เป็น 3.6 ล้านล. ดันหนี้สาธารณะ 65.7%ต่อGDP
เพิ่มรายจ่ายปีงบ 68 เป็น 3.75 ล้านล.! ครม.ไฟเขียว‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ฉบับใหม่
เปิด‘แผนการคลังฯ’ฉบับใหม่ แนวโน้มหนี้‘รัฐบาล-รสก.’เพิ่ม-คาดปีงบ 67-71 กู้ 4.26 ล้านล.
ครม.ไฟเขียว'แผนการคลังฯ'ฉบับใหม่ คาดปี 68 ตั้งงบรายจ่ายฯ 3.6 ล้านล้าน-ขาดดุล 7.13 แสนล.
ย้อนดู‘หนี้ประเทศ-ภาระผูกพัน’ ก่อน‘รบ.เศรษฐา’เร่งหาแหล่งเงิน 5.6 แสนล.โปะ‘ดิจิทัลวอลเลต’
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง