“…สัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 52.12 ในปีงบประมาณ 2555 เป็นร้อยละ 57.34 และ 57.86 ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งในส่วนของบุคลากรภาครัฐ และสำหรับประชาชนทั่วไปที่เพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง…”
...............................
เป็นสัญญาณเตือนที่รัฐบาลต้องรับฟัง
เมื่อ ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งเสียงเตือนว่า ฐานะการคลังของภาครัฐอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการขาดดุลการคลังติดต่อกันมานาน และภาระหนี้ก็สูงขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมานั้น ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา
“จริงอยู่ว่า ในปัจจุบัน เราอาจไม่ต้อง conservative (อนุรักษ์นิยม) เหมือนเดิม สมัยก่อนเมื่อเราพูดถึงการคลังที่ยั่งยืนแล้ว หากเราขาดดุลการคลังมากไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องรีบการแก้ไข ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มี Twin Deficits (ขาดดุลแฝด) เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล และเงินออมของส่วนรวมก็มี
แต่ว่าสิ่งที่ภาครัฐได้ทำมานั้น ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ และจริงๆแล้ว ฐานะการคลังตอนนี้ ก็ซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไปเยอะมาก และเมื่อไหร่ก็ตามที่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน...
ผู้ว่าฯธปท.ต้องพูดคุยกับรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลส่วนมากจะไม่ค่อยฟัง ยิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่เราก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เมื่อไหร่ที่มีความชัดเจนว่า เราจะต้องทำนโยบายที่เข้มงวด ซึ่งคนอื่นเขาไม่ชอบ ผมคิดว่า เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ
เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้ายแล้ว ในที่สุดเราก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน” ชัยวัฒน์ กล่าวในงานเสวนา ‘เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2565 (อ่านประกอบ : 'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ)
(ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์)
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพรวม ‘ความเสี่ยงทางการคลัง’ ภาครัฐ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำเสนอรายละเอียด 'รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564' ซึ่งเป็นรายงานความเสี่ยงทางการคลังฉบับล่าสุด ที่ กระทรวงการคลัง รายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ดังนี้
@แนวโน้มการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ลดลงต่อเนื่อง
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้
แนวโน้มผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ
สัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 14.64 ลดลงจากร้อยละ 15.21 ในปีงบประมาณ 2563 และหากพิจารณาในรูปค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) 3 ปี พบว่า สัดส่วนดังกล่าวแสดงแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 16.51 ในช่วงปีงบประมาณ 2554-2556 เหลือร้อยละ 15.01 ในช่วงปีงบประมาณ 2562–2564
โดยรายละเอียดแนวโน้มรายได้รัฐบาลแยกตามประเภท สามารถสรุปได้ ดังนี้
(1) กลุ่มรายได้รัฐบาลที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจสูง (ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่รวมการนำเข้าน้ำมัน) ภาษีรถยนต์ และภาษีรถจักรยานยนต์) มีผลการจัดเก็บในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.66 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน
ทำให้กลุ่มรายได้รัฐบาลที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจสูงมีสัดส่วนต่อ GDP ในปีงบประมาณ 2564 ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 9.24 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาแนวโน้มในระยะปานกลางแล้ว มีสัดส่วนต่อ GDP ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีเงินได้การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ รวมไปถึงแนวโน้มของธุรกิจออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
(2) กลุ่มรายได้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าน้ำมัน ภาษีน้ำมัน และสัมปทานปิโตรเลียม) ในปีงบประมาณ 2564 มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 2.19 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.24 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำในปีก่อนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มในระยะปานกลางแล้ว สัดส่วนรายได้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพลังงานต่อ GDP มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบค่อนข้างสูง
(3) กลุ่มรายได้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ (อากรขาเข้า อากรขาออก และรายได้อื่นๆ ของกรมศุลกากร) ในปีงบประมาณ 2564 มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.82 ตามมูลค่าการนำเข้าที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนตามเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ หากพิจารณาแนวโน้มในระยะปานกลางแล้ว สัดส่วนรายได้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP มีแนวโน้มลดลงจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า
(4) กลุ่มภาษีสรรพสามิตที่มีผลกระทบด้านสุขภาพ (ภาษีเบียร์ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเครื่องดื่ม) ในปีงบประมาณ 2564 มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 1.41 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 0.62 ทั้งนี้ รายได้รัฐบาลจากภาษีสรรพสามิตที่มีผลกระทบด้านสุขภาพมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ
สะท้อนได้จากในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีผลกระทบด้านสุขภาพได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับรายได้รัฐบาลจากแหล่งอื่นๆ
อย่างไรก็ดี สัดส่วนรายได้รัฐบาลจากภาษีสรรพสามิตที่มีผลกระทบด้านสุขภาพต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปีงบประมาณ 2561 จากโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการปรับตัวตามการปรับโครงสร้างภาษี
(5) รายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2564 มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 0.99 ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 15.24 จากผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจในกลุ่มพลังงาน และ ทอท. ที่ลดลง ประกอบกับฐานรายได้นำส่งที่สูงในปีก่อนเป็นสำคัญ โดยหากพิจารณาแนวโน้มในระยะปานกลางแล้ว สัดส่วนรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 และเป็นแหล่งรายได้ที่มีความยืดหยุ่นสำหรับการบริหารรายได้ของรัฐบาลที่สำคัญ
(6) รายได้รัฐบาลอื่นๆ (ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีการรับมรดก อากรแสตมป์ รายได้นำส่งของกรมธนารักษ์และส่วนราชการอื่น (ไม่รวมสัมปทานปิโตรเลียม) และอื่นๆ) ในปีงบประมาณ 2564 มีสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 1.15 และหากพิจารณาแนวโน้มในระยะปานกลางแล้ว สัดส่วนรายได้รัฐบาลอื่น ๆ ต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1–2
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมา รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่นความถี่ 4G เป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญหนึ่งที่เพิ่มขึ้นในฐานรายได้รัฐบาลอื่นๆ ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม VOA (Visa On Arrival) และค่าเช่าที่ราชพัสดุของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ลดลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
@การจัดเก็บภาษีเงินได้ ‘บุคคลธรรมดา’ ต่อ GDP อยู่ในระดับต่ำ
สถานการณ์การจัดเก็บภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินบุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นภาษีฐานรายได้หลักที่สำคัญของรัฐบาล แต่มีแนวโน้มสัดส่วนต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีเงินได้ การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุน และการเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ รวมไปถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทยมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20 อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 2564 ของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EMCs) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 21.83 และ 24.75 ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อ GDP ของประเทศไทย ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
โดยจากฐานข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ร้อยละ 4.34 ของ GDP สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่ม EMCs ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.08 และ 2.98 ตามลำดับ แต่แสดงแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมโครงการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศเพื่อเสียภาษีในอัตราต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting Project) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของประเทศไทยจะมีส่วนสำคัญในการรักษาฐานภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการติดตา มความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวต่อไป
(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยมีอัตราภาษีขั้นสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 35 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่ม EMCs ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 29 และ 31.34
อย่างไรก็ดี สัดส่วนการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อ GDP ของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากฐานข้อมูลปี 2562 ของ IMF พบว่า ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ร้อยละ 1.77 ของ GDP ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่ม EMCs อยู่ที่ร้อยละ 1.86 และ 3.03
(3) ภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยมีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 254011 โดยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่ม EMCs ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.83 และ 17.13 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ประเทศไทยได้เริ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (E-Service) ซึ่งถือเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยรักษาฐานภาษีของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรม และป้องกันการถูกกัดกร่อนของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากแนวโน้มการทำธุรกิจการค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นด้วย
@งบลงทุนยังมีสัดส่วนสูงกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่าย
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่าย
พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3,285,962 ล้านบาท ขยายตัวจากปีงบประมาณก่อน ร้อยละ 2.69 โดยมีการจัดสรรวงเงินสำหรับรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.01 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ในขณะที่มีการจัดสรรวงเงินสำหรับรายจ่ายลงทุน จำนวน 649,310 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.76 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สูงกว่าสัดส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล โดยขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อน แต่มีสัดส่วนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีลดลง
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณสำหรับงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 จำนวน 40,326 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2564 เพื่อเสนอต่อรัฐสภาไว้ที่ร้อยละ 20.45 แต่รัฐสภาได้มีการพิจารณาปรับลดรายจ่ายลงทุนบางส่วนลง รายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2564 จึงเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ กำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20
สำหรับสัดส่วนรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2564 ยังคงสูงกว่าช่วงปีงบประมาณ 2553-2558 (ก่อน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯบังคับใช้) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2553 ที่มีการตั้งวงเงินรายจ่ายลงทุนเพียงร้อยละ 12.61 ท่ามกลางวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่หดตัวจากผลกระทบของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์
@รายจ่ายสวัสดิการ ‘บุคลากรภาครัฐ-ประชาชน’ เพิ่มต่อเนื่อง
แนวโน้มรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน
รายจ่ายส่วนหนึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้ตามนโยบายของรัฐบาลและเป็นรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน โดยอาจเป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือสัญญาต่างๆ รวมไปถึงอาจเกิดจากแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปจัดการดูแล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) รายจ่ายดอกเบี้ย (รวมดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่รัฐบาลรัฐภาระทั้งหมด)
สัดส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 อยู่ที่ร้อยละ 5.72 และ 5.92 ตามลำดับ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนปีงบประมาณ 2555
อย่างไรก็ดี ภาระดอกเบี้ยของรัฐบาลคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากนี้ ตามระดับหนี้รัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง การกู้เงินตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19ฯ)
และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ เพิ่มเติม) รวมทั้งจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
(2) รายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน
รายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (ประกอบด้วย รายจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนของบุคลากรภาครัฐ , เงินสมทบของลูกจ้างประจำ และ เงินสมทบ/เงินชดเชยเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.) ในช่วง 7 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (2558–2564) ขยายตัวในระดับต่ำ เฉลี่ยร้อยละ 1.21
เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างในช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่กำลังคนภาครัฐมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สัดส่วนรายจ่ายค่าตอบแทนแรงงานต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 30.98 ในปีงบประมาณ 2558 เหลือร้อยละ 26.40 และ 26.04 ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ตามลำดับ
(3) รายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ
รายจ่ายสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ (ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการรักษา ,พยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ,เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ,เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และ เงินสำรองเข้า กบข.) มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
โดยสัดส่วนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 9.43 ในปีงบประมาณ 2557 เป็นร้อยละ 13.68 ในปีงบประมาณ 2564 (ขยายตัวในช่วงปีงบประมาณ 2558- 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 9.56)
(4) รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชน
รายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชน (ประกอบด้วย เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินเบี้ยยังชีพผู้พิการ เงินเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ ,เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ในโรงเรียน และเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้กับกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนประชารัฐฯ)) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2561 มีการจัดตั้งกองทุนประชารัฐฯ ขึ้นเพื่อดูแลสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย รวมถึงมีการขยายระยะเวลาและฐานกลุ่มเป้าหมายของเงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตร
ทำให้สัดส่วนรายจ่ายสวัสดิการสำหรับประชาชนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 9.78 ในปีงบประมาณ 2560 และเป็นร้อยละ 12.79 ในปีงบประมาณ 2561 และเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหลังจากนั้น โดยในปี 2564 มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 12.23
“ในภาพรวมแล้ว สัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอน 4 ประเภทข้างต้น ต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 52.12 ในปีงบประมาณ 2555 เป็นร้อยละ 57.34 และ 57.86 ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ตามลำดับ
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งในส่วนของบุคลากรภาครัฐ และสำหรับประชาชนทั่วไปที่เพิ่มขึ้นตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในขณะที่สัดส่วนรายจ่ายดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ในช่วง 9 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (2556–2564) แม้ว่าจะลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนปีงบประมาณ 2556 แต่จากความจำเป็นในการกู้เงินอย่างต่อเนื่อง รายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รายงานฯระบุ
@ปีงบ 64 รัฐบาลกู้ 1.38 ล้านล้าน ‘ชดเชยขาดดุล-เยียวยาโควิด’
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านดุลการคลัง
จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล (สุทธิ) และผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ อยู่ที่ 780,454 และ 836,118 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งหากรวมรายจ่ายรัฐบาลที่มาจากเงินกู้ตามกฎหมายเฉพาะแล้ว ดุลรัฐบาลจะขาดดุลการคลังรวมอยู่ที่ 1,081,197 และ 1,516,007 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านดุลการคลัง สามารถแบ่งออกเป็น มุมมองด้านเศรษฐกิจ (ดุลการคลังเบื้องต้น) ด้านสภาพคล่อง และด้านหนี้โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
มุมมองด้านเศรษฐกิจ (ดุลการคลังเบื้องต้น)
หากพิจารณาดุลการคลัง โดยหักรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ (ได้แก่รายจ่ายชำระเงินต้น รายจ่ายชำระดอกเบี้ย และรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง) แล้ว พบว่า ดุลงบประมาณเบื้องต้น (Primary Balance) ซึ่งสะท้อนถึงดุลการคลังที่มาจากการดำเนินโยบายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 อยู่ที่ 531,708 และ 593,356 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.39 และ 3.66 ต่อ GDP ตามลำดับ
และหากรวมผลของการกู้เงินตามกฎหมายเฉพาะด้วย ดุลรัฐบาลเบื้องต้น อยู่ที่ 832,451 และ 1,273,245 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.30 และ 7.86 ต่อ GDP ตามล าดับ (ในช่วงสถานการณ์ปกติแนวโน้มดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาลขาดดุลอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อ GDP)
มุมมองด้านสภาพคล่อง (ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด)
ในปีงบประมาณ 2563 เงินคงคลังปลายงวดอยู่ที่ 572,104 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แม้ว่ารัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในระดับสูง แต่รัฐบาลมีการตั้งรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,710 ล้านบาท และรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล รวมทั้งสิ้น 784,115 ล้านบาท ทำให้ภาคงบประมาณเกินดุลเงินสด จำนวน 15,409 ล้านบาท
และหากรวมกับดุลเงินสดของบัญชีเงินกู้ตามกฎหมายเฉพาะ (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ) แล้ว ภาครัฐบาลเกินดุลเงินสด ทั้งสิ้น 55,243 ล้านบาท ในขณะที่ภาคอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณและเงินกู้ เกินดุลเล็กน้อยที่ 3,906 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้น ทั้งสิ้น 59,149 ล้านบาท
ในปีงบประมาณ 2564 เงินคงคลังเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16,643 ล้านบาท โดยภาคงบประมาณ ขาดดุลเงินสด 23,964 ล้านบาท แต่หากรวมกับผลของการเกินดุลเงินสดของบัญชีเงินกู้กฎหมายเฉพาะแล้ว ภาครัฐบาลเกินดุลเงินสด ทั้งสิ้น 9,607 ล้านบาท ในขณะที่ภาคอื่นที่ไม่ใช่งบประมาณและเงินกู้เกินดุลเงินสด 7,036 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 588,747 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ทุนสำรองจ่ายที่ได้ใช้ไปในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 24,979 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานะเงินคงคลังได้ส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและบริหารฐานะเงินคงคลังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ
มุมมองด้านหนี้
ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลมีการกู้ชดเชยขาดดุล จำนวน 784,115 ล้านบาท เต็มกรอบวงเงินกู้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19ฯ 340,577 ล้านบาท ในขณะที่มีการชำระคืนเงินต้น (เฉพาะหนี้รัฐบาล) อยู่ที่ 33,690 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีการกู้เงิน (สุทธิ) อยู่ที่ 1,091,002 ล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีการกู้ชดเชยขาดดุล 736,392 ล้านบาท เต็มกรอบวงเงินกู้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19ฯ และพ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19ฯ เพิ่มเติม รวม 714,246 ล้านบาท ในขณะที่มีการชำระคืนเงินต้น (เฉพาะหนี้รัฐบาล) 69,313 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีการกู้เงิน (สุทธิ) 1,381,325 ล้านบาท
@สิ้นปีงบ 64 หนี้สาธารณะ 58.31%-ยังบริหารจัดการได้
สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านหนี้
ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 9,337,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58.31 ต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 41.06 และ 49.47ต่อ GDP ตามลำดับ
โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐบาลเป็นสำคัญ จากร้อยละ 33.70 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 เป็นร้อยละ 42.46 และ 51.23 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19ฯ และ พ.ร.ก.กู้เงิน COVID-19ฯ เพิ่มเติม เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 70 และยังอยู่ในขอบเขตที่บริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์และติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ความเสี่ยงของโครงสร้างหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ โดย
(1) ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยมีสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 1.80 โดยเป็นหนี้ต่างประเทศที่ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้วเกือบทั้งหมด
(2) ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โดยมีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ยร้อยละ 2.43 ต่อปี ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 3.22 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562และ 2.78 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 นอกจากนี้ ร้อยละ 82.81 ของหนี้สาธารณะยังเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ และ
(3) ความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 โดยอายุคงเหลือเฉลี่ยจนกว่าจะครบกำหนด (ATM) ของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 9 ปี 1 เดือน ปรับตัวสั้นลงจาก 9 ปี 10 เดือน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 และ 10 ปี 5 เดือน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562
ทั้งนี้ เป็นผลจากการใช้เครื่องมือการกู้เงินระยะสั้นเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาดการเงินในปัจจุบัน และมีข้อดีในการช่วยให้ต้นทุนในการกู้เงินเฉลี่ยต่ำลง
หนี้สาธารณะในส่วนที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง มีจำนวน 7,854,524 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84.12 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 49.05 ต่อ GDP ส่วนอีกร้อยละ 15.88 ของหนี้สาธารณะ เป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระโดยตรง
ตลาดตราสารหนี้รัฐบาล
ความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยยังคงอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่มีการปรับมุมมอง (Outlook) ลงจากเชิงบวก (Positive) เป็นมีเสถียรภาพ (Stable) ในช่วงปี 2563 ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ในปีงบประมาณ 2564 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.61 แสดงแนวโน้มขาขึ้นเมื่อเทียบกับในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.38 แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะปานกลางถึงยาวจะมีแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่องไปในปีงบประมาณ 2565 ตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังจากนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
รวมไปถึงผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) และส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นจะยังอยู่ในระดับต่ำตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(ณ เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 0.50)
@แนะลดรายจ่ายไม่จำเป็น-คุมขาดดุลงบฯไม่เกิน 3% ต่อ GDP
ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบมองไปข้างหน้าและข้อเสนอแนะ
หากนำผลการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงทางการคลังในภาคงบประมาณและภาระผูกพันจากการด าเนินงานของหน่วยงานของรัฐต่างๆ มาวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบ Forward-looking ควบคู่กับ MTFF 2566–2569 FEWS รวมไปถึงการวิเคราะห์ Scenario Analysis สามารถสรุปประเด็นความเสี่ยง และข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.Creating Fiscal Space ‘เพิ่มพื้นที่ทางการคลังอย่างระมัดระวัง’
(1) คณะกรรมการฯ ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ขยายกรอบสัดส่วน หนี้สาธารณะต่อ GDP จากเดิมไม่เกินร้อยละ 60 เป็นไม่เกินร้อยละ 70 ส่งผลให้รัฐบาลจะมีพื้นที่ทางการคลัง เพื่อรองรับการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตได้อีกประมาณร้อยละ 10 ของ GDP
(2) ค่าดัชนีรวมฯ ภายใต้ FEWS ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ยังอยู่ในระดับปกติ แต่มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 สะท้อนถึงพื้นที่การคลังของรัฐบาลสำหรับดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล ที่ยังมีอยู่ในกรณีที่จำเป็นภายใต้การดำเนินการอย่างความระมัดระวัง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการลดทอนรายจ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นลง ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับที่เอื้อต่อการควบคุมสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ลดลงในระยะยาว
(3) แม้ว่าระดับเงินคงคลังจะเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังคงมีแรงกดดันจากภาคงบประมาณ หากรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามประมาณการ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการจัดทำประมาณการรายได้ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ปฏิบัติได้จริง (Realistic) รวมถึงจัดสรรรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในโอกาสแรกที่กระทำได้ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของฐานะเงินคงคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
@ดอกเบี้ย ‘ขาขึ้น’ เพิ่มรายจ่าย-คาดปี 69 หนี้สาธารณะ 67.15%
2.Assuring Debt Sustainability “บริหารจัดการหนี้อย่างมีภูมิคุ้มกัน”
(1) ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังคงเพิ่มขึ้นขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี งบประมาณ 2569 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 67.15 ยังคงอยู่ภายใต้เพดานร้อยละ 70 ตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด
(2) ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 พบว่า ยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
อย่างไรก็ดี ประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากเม็ดเงินของภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามระดับหนี้ และจากความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยสูงกว่าที่ประมาณการไว้ได้
ในขณะที่ในระยะยาวรัฐบาล จำเป็นต้องเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างจริงจัง เพื่อให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาล และต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายการชำระหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของรายจ่ายดอกเบี้ย อย่างพอเพียงตามที่ก าหนดไว้ใน พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ด้วย
(3) ทั้งนี้ ภายใต้ความต้องการกู้เงินของรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield curve) ของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับตัวชันขึ้น กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะพิจารณา กำหนดกลยุทธ์การกู้เงินเพื่อให้ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและการปรับโครงสร้างหนี้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ รวมถึงหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งสภาพคล่อง
(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ที่มาภาพ : กระทรวงการคลัง)
@เสนอฟื้นฟูจัดเก็บรายได้-ทบทวนมาตรการ ‘ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี’
3 Revenue Recovering “ฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้”
(1) สัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP ยังคงลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 14.64 ในปีงบประมาณ 2564 เหลือร้อยละ 13.31 ในปีงบประมาณ 2569
โดยมีปัจจัยที่กดดันต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่สำคัญ อาทิ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ฐานรายได้รัฐบาลที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจขยายตัวได้ในระดับต่ำกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ,ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้รายได้รัฐบาลจากอากรนำเข้าลดลง
รายได้จากจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต คลื่นความถี่ 4G ที่จะทยอยหมดลง ในขณะที่การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 5G ยังไม่มีความชัดเจน และประมาณการรายได้นำส่งคลังของรัฐวิสาหกิจที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 รวมไปถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปฏิบัติตาม TFRS 9 ของรัฐวิสาหกิจสาขาการเงิน
(2) รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาทบทวนมาตรการยกเว้นภาษี และมาตรการลดหย่อนต่าง ๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ให้มีเท่าที่จำเป็น ควบคู่ไปกับพิจารณาผลักดันแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
ทั้งในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงขยายการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมถึงฐานภาษีใหม่ๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี E-Service รวมถึงจากการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล การพิจารณาจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax: FTT) เป็นต้น
(3) ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับกรมจัดเก็บ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะวิเคราะห์และติดตามการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดเพื่อบริหาร ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
พร้อมทั้งผลักดันมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้รัฐบาลให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยจะคำนึงและพิจารณาถึงช่วงเวลาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชน และผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจจนเกินควร
@ชง ‘ปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐ-ปฏิรูปสวัสดิการประชาชน’
4.Expenditure Reprioritizing “ปรับการจัดสรรงบประมาณ”
(1) จากความพยายามในการลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP จึงมีการกำหนดให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีขยายตัวในระดับต่ำเฉลี่ยอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.07 ต่อปี โดยหดตัวลงร้อยละ 5.66 ในปีงบประมาณ 2565 ก่อนจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.67 ตามความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ในขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังและเงินทุนสำรองจ่าย รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ รายจ่ายด้านสวัสดิการต่างๆ รายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และจากการดำเนินกิจกรรม มาตรการ และโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงิน การคลังฯ ในระดับสูงขึ้น
(2) ดังนั้น นอกเหนือจากการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้มากขึ้นแล้ว รัฐบาลควรพิจารณาปรับลดรายจ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นลง ผ่านการพิจารณา ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การปฏิรูประบบสวัสดิการสำหรับประชาชนผ่านการบูรณาการข้อมูลและการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าด้วยกัน การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เท่าที่จำเป็น โดยควรมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการและผลักดันโครงการที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปี
การกำหนดแนวทางหรือเกณฑ์ กำกับดูแลต่างๆ ที่จะช่วยลดการพึ่งพางบประมาณเกินความจำเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และปรับลดสัดส่วนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น
(3) นอกจากนี้ เพื่อรองรับข้อจำกัดด้านพื้นที่ทางการคลังสำหรับรายจ่ายลงทุน รัฐบาล จำเป็นต้องพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐนอกเหนือจากภาคงบประมาณ อาทิ งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ, การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF)
การกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 รวมไปถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐยังสามารถเป็น กลไก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564’ ที่กระทรวงการคลังรายงานให้ ครม.รับทราบ ซึ่งมีหลายประเด็นที่เป็นความเสี่ยงต่อ ‘ภาระการคลัง’ ของประเทศไทยในอนาคต และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเร่งสะสาง ก่อนที่ความเสี่ยงเหล่านี้จะลุกลามจนยากจะจัดการ
อ่านประกอบ :
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน