‘นายกฯ’ นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วม 4 หน่วยงาน หารือกรอบวงเงินงบประมาณปี 67 แต่ยังไม่มีข้อสรุปกรอบวงเงิน เหตุต้องมีการ 'ปรับตัวเลข' ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ
.....................................
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหล เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีหน่วยงานภาครัฐด้านเศรษฐกิจ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้าร่วมประชุม
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงรายละเอียดผลการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2567 และให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ชี้แจงในเรื่องนี้
ขณะที่ นายอนุชา ระบุว่า ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 เนื่องจากต้องมีการปรับตัวเลข และจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณปี 2567 จะเป็นการจัดงบประมาณแบบขาดดุล โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณสูงกว่าปีงบ 2566 ที่มีกรอบวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมฯ นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 จะเป็นไปตามมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2565 ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) ขณะที่แผนดังกล่าวกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท พร้อมทั้งมีการกำหนดเพดานการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ไม่เกิน 3%
อ่านประกอบ :
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%