อดีตผู้ว่าฯธปท.‘ชัยวัฒน์’ ชี้ฐานะการคลังน่าห่วง หลัง ‘ขาดดุลนาน-ภาระหนี้สูง’ รัฐทำคนเข้าใจ ‘ประชานิยม’ เป็นเรื่องธรรมดา ‘ปรีดิยาธร’ ฝาก ‘แบงก์ชาติ’ ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ ด้าน ‘ประสาร’ ระบุปัญหาใหญ่ตอนนี้เป็นเรื่อง ‘ปกครอง-ระบบยุติธรรม’
....................................
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานเสวนา ‘เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. ว่า เรื่องการเงินการคลังเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะนี้พบว่ามีจุดที่น่าเป็นห่วง เพราะหากมองอย่างเป็นกลางจะเห็นว่าฐานะของภาครัฐน่าเป็นห่วง มีการขาดดุลการคลังติดต่อกันมานาน ภาระหนี้ก็สูงขึ้นต่อเนื่อง และสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมานั้น ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา
“จริงอยู่ว่า ในปัจจุบัน เราอาจไม่ต้อง conservative เหมือนเดิม สมัยก่อนเราจะพูดถึงการคลังที่ยั่งยืนแล้ว หากเราขาดดุลการคลังมากไป เมื่อถึงจุดหนึ่งจะต้องรีบการแก้ไข ซึ่งแม้ว่าตอนนี้จะไม่มี Twin Deficits (ขาดดุลแฝด) เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล และเงินออมของส่วนรวมก็มี แต่ว่าสิ่งที่ภาครัฐได้ทำมานั้น ทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ และจริงๆแล้วฐานะการคลังตอนนี้ ก็ซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไปเยอะมาก
และเมื่อไหร่ก็ตามที่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเสริม ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายๆเรื่อง ต้นเหตุจะอยู่ที่เรียลเซ็กเตอร์ หรือคนอื่นเป็นคนทำ แต่พอเสร็จแล้ว มันก็มาโผล่ที่การเงินว่า ภาคการเงินไม่มีเสถียรภาพ เราอยู่ปลายเหตุ แต่ปรากฏว่า เราต้องเป็นคนที่รับภาระอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น ปัญหาคือ เราต้องออกแรงเหมือนในอดีต
ผู้ว่าฯธปท.ต้องพูดคุยกับรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลส่วนมากจะไม่ค่อยฟัง ยิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ผมคิดว่าเราจะเหนื่อยมาก แต่เราก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เมื่อไหร่ที่มีความชัดเจนว่า เราจะต้องทำนโยบายที่เข้มงวด ซึ่งคนอื่นเขาไม่ชอบ ผมคิดว่า เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้ายแล้ว ในที่สุดเราก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน” นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ ฝากถึงบทบาทของ ธปท. ว่า ธปท.จะต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้องในสิ่งที่จะทำ มีจุดยืน และกล้าทำนโยบายที่ยากและไม่เป็นที่นิยม แต่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และส่วนตัวยังเชื่อว่าการดำเนินนโยบายการเงินต้องมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความพอดีและความสมดุล ความคล่องตัว และความระมัดระวัง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้น่าจะเป็นหลักที่ยังใช้ได้อยู่ และเสริมกับสิ่งใหม่ที่ ธปท. กำลังจะคิดขึ้นมา
นอกจากนี้ ธปท.จะต้องสร้างองค์กรให้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีบุคลาการที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง และมีการสื่อสารที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงความท้าทายของ ธปท. ในอนาคต ว่า เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดโอกาสทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งก็มีข้อดี เพราะเป็นการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน และหลายๆเรื่องก็ใช้การได้ดี แต่ในฐานะที่เป็น ธปท. สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น และกระทบต่อสิ่งที่ ธปท.เป็นห่วงมากน้อยเพียงใด เช่น ทำให้ภูมิทัศน์ของสถาบันการเงิน และการตอบสนองต่อผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
“หลายเรื่องเป็นความปวดหัวของคนที่ทำงานด้านนี้ เหมือนกับเราไล่ตามสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ซึ่ง ธปท.ต้องพยายามใช้สื่อต่างๆให้ความรู้ทางการเงิน และทำให้คนเท่าทันกับสิ่งใหม่ ความรู้ใหม่ๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งถือเป็นการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งว่า เมื่อมีอะไรใหม่ๆมา เขาควรบริหารอย่างไร ควรสนับสนุนการปรับของเขาอย่างไร และการทำงานของ ธปท. ในอนาคตจะยากลำบากมากขึ้น เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องมากขึ้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐ ว่า ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่เหมือนกับว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายการคลัง เพราะใช้เงินไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยคิดว่าจะขาดดุลการคลังเท่าไหร่ และจะขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนจึงจะเพียงพอ ดังนั้น ประเทศไทยในตอนนี้ จะต้องเน้นเรื่องการมีนโยบายการคลังที่จริงๆ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำของรัฐบาลว่า จะมีความคิดในเรื่องนี้หรือไม่
“นโยบายการเงินเอง ก็เดินเรื่อง inflation targeting ต่อไป ยังไม่มีอะไร แต่ยังต้องสนับสนุน growth (การเติบโต) พอสมควร เพราะถ้าไม่มี growth ภาษีที่จะเก็บได้ ก็จะไม่มี และขณะนี้คนที่ดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายการคลังในสิ่งที่ควรดำเนิน ซึ่งถ้าทำแล้ว การสนับสนุนทางการเงินก็หมดปัญหาไป ตรงนี้จึงอยู่ที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่า ว่าจะคิดเรื่องนี้ หรือไม่คิด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังฝาก ธปท. ว่า “ผมคิดว่า เป็นเรื่องของความเป็นอิสระมากกว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร อันนี้ต้องระวัง ต้องฟังความเห็นของผู้ที่ทำงานในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ และเอาความเห็นมาคิดประกอบการดำเนินการนโยบายของเรา ผมต้องติงอันนี้ว่า เพราะกลัวว่าทุกคนจะเป็นอิสระแล้วไม่ฟังใคร
ขณะที่นโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ (ธปท.) ต้องประสานกับ รมว.คลัง เพื่อให้เข้าใจกันเป็นอย่างดี ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงคลัง แต่ก็ไม่ใช่ทำตามเขาหมด ต้องฟังเขาให้เข้าใจ และหาทางที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ และอยากฝากท่านผู้ว่าฯ ว่า ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์ เป็นเสมือนลูกๆไม่ใช่ศัตรู ถ้าผิดก็ลงโทษเพื่อให้ปรับปรุงให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงความท้าทายของ ธปท. ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ว่า ทีมงานของ ธปท. ปัจจุบันมีความรู้ที่ทันสมัย และจัดการเรื่องเทคโนโลยีได้ค่อนข้างดี และส่วนตัวชอบทัศนคติของทีมงานแบงก์ชาติเกี่ยวกับเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี ที่ห้ามไม่ให้ใช้ซื้อขายสินค้าและอะไรหลายๆอย่าง และ ธปท.ควรจะพัฒนาดิจิทัลเคอร์เรนซีให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพราะการมีดิจิทัลเคอร์เรนซี จะเป็นตัวที่ป้องกันไม่ให้คริปโทเคอร์เรนซีขยายเข้าไปในวงการค้าได้
“รู้เลยว่า ทุกครั้งที่ตามข่าวเรื่องคริปโทเคอร์เรนซี ทีมงานแบงก์ชาติเข้าใจและรู้เรื่องดี ผมสบายใจว่าทีมงานรู้เรื่องดีมาก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ก่อนที่ตนเป็นเป็นผู้ว่าการ ธปท. ได้พูดเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญระหว่างบทบาทของนโยบายการเงินกับนโยบายการคลังไว้มาก และในช่วงที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. ตอนปลาย ก็เข้ามาจับเรื่องเรียลเซ็กเตอร์ การปรับโครงสร้าง และการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่พอมาถึงจุดนี้ ตนคิดว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทย อาจไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังพูดไปแล้วนั้น แต่เป็นเรื่องการปกครอง และระบบยุติธรรม
“คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า governance ของประเทศไม่ดี มันเกิด dis governance ตัวอย่างที่คลาสสิคมาก คือ ที่ถกเถียงกันว่าเมืองไทยขาดคนที่เก่ง STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เอาเข้าจริงเด็กรุ่นใหม่ๆเก่งมาก แต่ว่าไปทำงานที่ silicon valley บ้าง ทำงานนิวยอร์กบ้าง หลายคนก็ไปทำงานที่สิงคโปร์ เป็นต้น มันเป็นเรื่องที่กว้างกว่าเรื่องเรียลเซ็กเตอร์ แต่ต้องเป็นเรื่องการ re-think re-form governance ของประเทศด้วย”นายประสาร ระบุ
นายประสาร ฝากถึง ธปท. ว่า ธปท.เป็นสถาบัน ซึ่งการเป็นสถาบันจะต้องประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.มีกรอบนโยบายที่ยืดหยุ่น มีธรรมภิบาล มีเครื่องมือในการทำนโยบายที่เพียง และต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดอยู่ที่ไหน 2.มีบุคลากรที่มีความสามารถและมีระบบการทำงานในองค์กรที่ดี และ3.มีประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม มีระบบค่านิยมที่ดี แต่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญคนที่มาบริการจัดการต้องบริหารปัจจัยเหล่านี้อย่างเหมาะสม
นายประสาร ยังกล่าวถึงการพัฒนาเทคโนโลยีภาคการเงิน ว่า เป็นเรื่องปกติ และถ้ามองอดีต ก็มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่รู้จบ ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี หรือคอมพิวเตอร์ ก็จะไปถึงควอนตัมคอมพิวเตอร์ โดยเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งไม่รู้จบ แต่หลักน่าจะอยู่ที่ความเป็นผู้นำขององค์กร คือ อย่าไปอยู่กับความสำเร็จในอดีต ต้องปรับเปลี่ยนก่อนที่คนอื่นจะมาเปลี่ยนเรา และการใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ
“คริปโทเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัล บิทคอยน์ พวกนี้เป็นจุดเล็กๆในประวัติศาสตร์ แล้วจะมีจุดใหม่เข้ามาอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเราจับหลักได้ เราก็จะเผชิญกับความท้าทายเรื่องพวกนี้ได้” นายประสาร กล่าว
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2551 ซึ่งทำให้การทำหน้าที่ของ ธปท. มีความเป็นอิสระมากขึ้น ว่า ตอนแรกที่เสนอร่างกฎหมายไป ธปท.ต้องการให้อิสระเลย แต่พอไปถึงกฤษฎีกา ก็มีการแก้ไขร่างกฎหมายที่ให้ลดความเป็นอิสระลง คือ ให้ผู้ว่าการ ธปท. มีวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน แต่ยังให้อำนาจประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยไล่ออกได้ แต่ต้องมีเหตุผล
“ถามวันนี้ว่าดีไหม ก็ตอบว่าโอเคนะ ถ้าทุกคนอยากให้มันเวิร์ค มันก็เวิร์ค จึงอยู่ที่เจตนาดีของคน อย่างเรื่อง inflation targeting ก็เหมือนกัน ผมเขียนให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแบงก์ชาติ เขาก็ไม่เอา ก็เลยตกลงกันว่าให้เข้าครม.ทุกเดือน ธ.ค. และผมว่า 20 ปีที่ผ่านมา เวลาเข้า ครม. ครม.ไม่เคยพิจารณา เพราะสู้ผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ได้ ถ้าจะมาทะเลาะกัน และจริงๆแล้วผู้ว่าแบงก์ชาติ รมว.คลัง หรือนายกฯ ใครชนะใจประชาชน คนนั้นชนะเกม” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
ม.ร.ว.จัตุมงคล ระบุว่า แม้ว่ากฎหมายแบงก์ชาติที่แก้ไขในปี 2551 จะออกมาเป็นแบบลูกครึ่ง เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ คือ ธปท.ไม่ได้เป็นอิสระไปเลย แต่ก็มีอิสระระดับหนึ่ง นั้น ตนเห็นว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติบริหารได้ค่อนข้างดี เดินได้ดี ส่วนเรื่องหน้าที่นั้น ในขณะที่แบงก์ชาติมีหน้าที่ดูเสถียรภาพ รัฐบาลมีหน้าที่ลงทุน เอกชนมีหน้าที่ค้าขาย แต่หากรัฐบาลลงทุนมาก แบงก์ชาติก็ว่าได้ ไม่ใช่คนหนึ่งจะทำอะไรแล้วอีกคนหนึ่งช่างมัน แต่ต้องหารือกัน
ด้าน นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นเกี่ยวบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ว่า คุณค่าหลักของ ธปท. ซึ่ง ผู้ว่าการ ธปท. หลายคนได้พูดถึง นั่นก็คือ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ นั้น ยังคงเป็นหลักการที่สำคัญมาก เพียงแต่บริบทในการตีความ จะต้องปรับให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความท้าทายที่เผชิญ เช่น ยืนตรง ไม่ได้หมายถึงแค่ความซื่อสัตย์ คนแบงก์ชาติไม่โกง ตรงไปตรงมาแต่เพียงอย่างเดียว
แต่เรื่องสำคัญ คือ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ควรจะทำ โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแล ธปท.จะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง เช่น ความบิดเบือนหลายอย่าง และในสภาวะวิกฤตแม้บางเรื่องไม่ได้อยู่ภายในของเขตของ ธปท. โดยตรง แต่ถ้าไม่กล้าทำ ก็จะขว้างงูไม่พ้นคอ และผลเสียที่เกิดขึ้นจะมากกว่ามาก ดังนั้น คำว่ายืนตรง จึงต้องตีความให้สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นผู้กำกับดูแล
ส่วนคำว่ามองไกลนั้น จะต้องทั้งมองไกลและมองกว้าง เพราะระบบเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่ มีความเชื่อมโยงสูงมาก และมีองค์ประกอบหลายปัจจัย รวมทั้งต้องมองไกลไปถึงทางออกและแนวทางการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งหลายครั้งเราอาจมองไกล ประมาณการเก่ง มองฉากทัศน์ต่างๆเก่ง แต่จะทำแค่นั้นไม่ได้ เพราะในภาวะที่เราเจอปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญไปถึงการมองไกลไปสู่ทางออก
สำหรับการยื่นมือ และติดดิน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไม่ว่าจะมีกรอบกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าจะชนะใจประชาชนได้หรือไม่ โดยเฉพาะความเป็นอิสระของ ธปท.ในการดำเนินงาน นั้น การที่ ธปท. จะทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อของ ธปท. และ ธปท.จะมีความน่าเชื่อถือได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนเห็นประโยชน์ และเห็นผลงานที่ ธปท.ทำ รวมทั้งสิ่งที่ทำต้องตอบโจทย์ประชาชน
“เราต้องยื่นเข้าไป และหาทางที่จะแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ ทำอย่างไรที่เราจะรับฟังแล้วได้ยิน และนำไปสู่การคิดเรื่องทางออก ซึ่งจะกลับไปที่ฐานใจ คือ เราต้องกล้าเปิดใจในการรับกรอบที่ต่างไปจากเดิม จากมุมมองที่ต่างไปจากเดิม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนเรื่องติดดินนั้น สิ่งที่ทำต้องเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายปัญหาที่เราเผชิญอยู่เป็นปัญหาใหญ่ๆทั้งนั้น เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน การขาดความรู้ความเข้าใจทางการเงิน ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจไทย ถ้าไม่ทำจะกลับมาเป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพที่หนีไม่พ้น” นายวิรไท กล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าบทบาทหน้าที่ของ ธปท. จะเป็นเรื่องนโยบายการเงิน การดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงิน แต่พันธกิจของ ธปท. ก็คือ การพัฒนาความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน ดังนั้น หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. จึงไม่ใช่แค่นโยบายการเงินกับเสถียรภาพทางการเงินเท่านั้น และในช่วงหลังๆเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆใช้นโยบายกันน้อยมาก และจะไปอิงนโยบายการเงินเป็นส่วนใหญ่
“มีการปั๊มเงินเข้าไปในระบบเยอะมาก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ผลพวงความเสียหายก็โยงมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะการที่มีเครื่องจักรบางตัว ทำงานเพียงบางช่วง ช่วงนี้อาจจะส่งออกดี ช่วงนั้นการบริโภคดี แต่ถามว่ามีทางหรือไม่ ที่เราจะช่วยกัน ทำให้เครื่องจักรทุกตัวเดินหน้าอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเราแต่ผู้เดียว เรามีฐานะเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของประเทศ และในแง่กฎหมายเราสามารถประสานกับอีก 3 สายงานได้
คือ สภาพัฒน์ กระทรวงคลัง สำนักงบประมาณ มาทำเรื่องพวกนี้ได้หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เพราะปัญหาเดิมๆก็มีมากอยู่แล้ว เช่น หนี้ครัวเรือน เรื่องการติดกับดักรายได้ปานกลาง เรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยังมีโจทย์ใหม่อีก เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเทคนิค เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจ รวมถึงเรื่อง ESG ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่า ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ควรต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น” นางธาริษา กล่าว
นางธาริษา ย้ำว่า สิ่งที่ ธปท. ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การบริหารความเสี่ยง เช่น เมื่อผ่านช่วงที่ดีไปแล้วหรือก่อนกำลังจะเปลี่ยนไป จะต้องมาเริ่มดูว่าปัญหาที่จะตามมามีอะไรบ้าง ต้องเตรียมการอะไร สถาบันการเงินจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครทราบ แต่คาดการณ์ได้ เมื่อสถาบันการเงินยังแข็งแรงอยู่ หากจะแก้ไขปัญหาให้เข้มแข็งยั่งยืน ก็ให้ทำระหว่างที่ยังมีกำลังอยู่ ไม่ใช่มีกำไรมากแล้วแจกปันผลหมด แต่เมื่อต้องกันสำรองฯเพิ่ม เงินกลับหมดหน้าตักแล้ว
“ในโลกที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงเร็ว การระมัดระวัง และดูแลความเสี่ยงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” นางธาริษา กล่าว