"...โดยความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบ 2566-2570) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,771,405 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (878,693 ล้านบาท) และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (3,569,000 ล้านบาท)..."
.......................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) โดยแผนฯดังกล่าวมีเป้าหมายปรับลดขนาดการขาดดุล เพื่อมุ่งสู่การจัดงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
โดยจะมีการปรับลดขนาดการขาดดุลงบประมาณให้เหลือไม่เกิน 3% ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง (อ่านประกอบ : คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ แนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ ภาระผูกพันทางการคลังของรัฐบาลและความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ และเป้าหมายการคลังของแผนฯ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบ 65 อยู่ที่ 10.37 ล้านล้าน
หนี้สาธารณะ
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 (30 ก.ย.2565) มีจำนวน 10,373,938 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ของ GDP โดยเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 8,491,060 ล้านบาท หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 672,614 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 955,633 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 248,108 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 6,523 ล้านบาท
โดยหนี้สาธารณะคงค้าง 10,373,938 ล้านบาท ดังกล่าว แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 10,196,869 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.29 และหนี้ต่างประเทศ 177,069 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.71 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ จะเป็นหนี้ระยะยาว 8,868,262 ล้านบาท หรือร้อยละ 85.49 และหนี้ระยะสั้น 1.505.676 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.51 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ทั้งนี้ จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจ รายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย และแผนความต้องการกู้เงินระยะปานกลาง (ปีงบ 2566-2570) คาดว่าในปีงบ 2566 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 11,161,778 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.64 ต่อ GDP
ปีงบ 2567 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 11,879,863 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.35 ต่อ GDP ,ปีงบ 2568 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 12,573,606 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.78 ต่อ GDP ,ปีงบ 2569 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 13,209,264 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.69 ต่อ GDP
ปีงบ 2570 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 13,796,678 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.25 ต่อ GDP และปีงบ 2571 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 14,484,714 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 61.78 ต่อ GDP
@เผยรัฐบาลมีความต้องการกู้เงิน ‘ระยะปานกลาง’ 5 ปี 4.7 ล้านล้าน
แนวทางการบริหารหนี้สาธารณะ
แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการกู้เงินในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มขึ้น
โดยความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง (ปีงบ 2566-2570) มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,771,405 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (878,693 ล้านบาท) และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ (3,569,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีภารกิจที่สำคัญในการกู้เงินให้ครบตามความต้องการในแต่ละปีเพื่อตอบสนองนโยบายการคลังดังกล่าว และกำกับติดตามให้หนี้สาธารณะมีความยั่งยืนภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้กำกับและติดตามต้นทุนการกู้เงินอันได้แก่ ภาระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระ ซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณในส่วนงบรายจ่ายประจำ ไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณในหมวดอื่นๆ เช่น งบลงทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ สบน. ได้กำหนดเกณฑ์ภายในโดยกำหนดให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งอ้างอิงจากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยสถานะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 8.29 ซึ่งยังอยู่ภายใต้เกณฑ์ภายในที่กำหนด
@ภาระผูกพันดำเนินนโยบายรัฐพุ่ง 1.03 ล้านล. คิดเป็น 33.55%
ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาลและความเสี่ยงทางการคลังที่สำคัญ
ภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities) เป็นภาระผูกพันของรัฐบาลที่มีกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลงที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณให้อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระ (ในการชำระเงินต้น และ/หรือดอกเบี้ย) ประกอบด้วย (1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 8,131,552 ล้านบาท (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ จำนวน 320,948 ล้านบาท และ (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ จำนวน 241,289 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบ 2566 สัดส่วนรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่ที่ร้อยละ 6.03 โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามประมาณการหนี้ที่เพิ่มขึ้นตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567- 2570)
2.ภาระผูกพันที่มาจากสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญ ในปีงบ 2566 รัฐบาลมีภาระในการจัดสรรงบประมาณส่วนดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 754,984 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.70 ของงบรายจ่ายประจำปี ขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปีงบ 2562-2566) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม จำนวน 79,077 ล้านบาท
3.ภาระผูกพันที่มาจากรายจ่ายบุคลากร ในปีงบ 2566 รัฐบาลมีภาระงบประมาณในส่วนดังกล่าว 768,109 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.12 ของงบรายจ่ายประจำปี 2566 และมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
4.ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ณ สิ้นปีงบ 2565 ยอดคงค้างดังกล่าวมีจำนวน 1,039,920 ล้านบาท (โดยเป็นยอดคงค้างที่ถูกนับรวมอยู่ในหนี้สารารณะด้วย จำนวน 206,048 ล้านบาท) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 33.55 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565
โดยยังอยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 35 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565
ทั้งนี้ ในปีงบ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนภาระยอดคงค้างตามมาตรา 28 จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.28 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities) เป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลอาจต้องจ่ายหรือชำระหนี้แทนตามกฎหมาย สัญญา หรือข้อตกลง รวมไปถึงความคาดหวังจากสังคม หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ประกอบด้วย
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ใด้รับภาระ ประกอบด้วย
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 672.614 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีแหล่งเงินในการชำระหนี้มาจากเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ตาม พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555
(2) หนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่รัฐบาลไม่รับภาระ จำนวน 458,856 ล้านบาท ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงินและอยู่ภายใต้แผนพื้นฟูกิจการภายใต้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (แผนฟื้นฟูฯ) อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ
(3) หนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐ) ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 548,679 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
2.ภาระผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) มีภาระผูกพันรวมสูงสุดไม่เกิน 3,500 ล้านบาท
3.ภาระผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) มีภาระผูกพันรวมสูงสุดไม่เกิน 67,520 ล้านบาท
@ตั้งเป้าลดขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ต่อ GDP เริ่มปีงบ 67
เป้าหมายการคลัง
เป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ (พ.ศ.2567-2570) จะเป็นการมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุล เพื่อมุ่งสู่การจัดทำางบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยในระยะปานกลางจะมุ่งปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อ GOP ตั้งแต่งบประมาณ 2567 และจะปรับการขาดดุลลงเรื่อยๆในระยะปานกลาง โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
ปีงบ 2567 งบประมาณรายจ่าย 3,350,000 ล้านบาท รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,757,000 ล้านบาท และขาดดุลการคลัง 593,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ต่อ GDP
ปีงบ 2568 งบประมาณรายจ่าย 3,457,000 ล้านบาท รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,867,000 ล้านบาท และขาดดุลการคลัง 590,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.84 ต่อ GDP
ปีงบ 2569 งบประมาณรายจ่าย 3,568,000 ล้านบาท รายได้รัฐบาลสุทธิ 2,953,000 ล้านบาท และขาดดุลการคลัง 615,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.81 ต่อ GDP
ปีงบ 2570 งบประมาณรายจ่าย 3,682,000 ล้านบาท รายได้รัฐบาลสุทธิ 3,041,000 ล้านบาท และขาดดุลการคลัง 641,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.79 ต่อ GDP
ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ ขณะที่เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม
@เดินหน้าปรับโครงสร้าง-เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
นโยบายและมาตรการระยะปานกลาง
ด้านการจัดเก็บรายได้
เพื่อให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในระยะปานกลางเป็นไปตามประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ รวมถึงนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
กระทรวงการคลังจะผลักดันการทำงานของหน่วยงานจัดเก็บรายได้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี ปรับปรุงโครงสร้างภาษี เพื่อให้เหมาะสมกับการแข่งขัน และส่งเสริมความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียภาษี ดังนี้
1.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ผลักดันการดำเนินการตามแผนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารการจัดเก็บภาษีของกรมจัดเก็บภาษีภายใต้กระทรวงการคลังที่เป็นแผนสำหรับการดำเนินงานในปีงบ 2565 - 2570 โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการป้องกัน ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการชำระภาษี
(2) การส่งเสริมความร่วมมือในการชำระภาษีระหว่างประเทศ (3) ด้านการอำนวยความสะดวกในการชำระภาษี และ (4) ด้านการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ มาใช้ในการจัดเก็บภาษีซึ่งมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
กรมสรรพากร : ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น แผนการบริหารงานตรวจสอบเชิงรุก โดยจัดลำดับรายการเม็ดเงินที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ แผนจัดทำข้อตกลงการกำหนดราคาเป็นการล่วงหน้า (Advance Pricing Agreement: APA) กับประเทศคู่เจรจา แผนการขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนอกระบบหรือผู้ประกอบการรายใหม่ โดยนำเครื่องมือ Data Analytics มาใช้ เป็นต้น
รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบภาษีเข้าสู่ระบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางภาษี รวมทั้งดำเนินการสำรวจติดตามบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษีผ่านระบบหนังสือร้องเรียนและระบบแจ้งเบาะแสการหลีกเลี่ยงภาษี
เร่งรัดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บภาษี เช่น กำหนดหน้าที่ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำต้องนำส่งรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reporting: CbCR) ตามกรอบความร่วมมือของ OECD ว่าด้วยการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS)
กรมสรรพสามิต : ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Stamp และ Direct Coding) มาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ แผนการนำระบบมาตรวัดและระบบคอมพิวเตอร์สื่อสารทางไกลมาใช้กับสินค้าเครื่องดื่ม เป็นต้น
กรมศุลกากร : ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น โครงการรับชำระภาษีอากรเพิ่ม ณ จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่ชำระค่าอากรและค่าภาษีอื่นๆ ไว้ไม่ครบถ้วน ได้ชำระชำระค่าอากรและค่าภาษีดังกล่าว ณ จุดเดียว แผนการนำ Digital Big Data มาใช้เพื่อพัฒนาระบบประเมินราคาศุลกากรให้สอดคล้องกับระบบราคาแกตต์ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยได้มีต่อองค์การค้าโลก เป็นต้น
2.การปรับปรุงโครงสร้างจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ผลักดันการปรับปรุงนโยบายภาษี เพื่อบรรลุป้าหมาย 4 ประการ ครอบคลุมปีงบประมาณ 2565-2570 โดยสามารถสรุปได้ ดังนี้
2.1 สนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังและโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) : โดยมีแผนการปรับปรุงนโยบายภาษี เช่น การขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมกลุ่มผู้เสียภาษีทุกกลุ่มและการศึกษา แนวทางการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เป็นต้น
2.2 ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทย : โดยมีแผนการปรับปรุงนโยบายภาษี เช่น การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) เป็นต้น
2.3 สร้างความเป็นธรรมต่อประชาชน : โดยมีแผนการปรับปรุงนโยบายภาษี เช่น การปรับเงื่อนไขการชำระภาษีเงินได้ให้มีความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
2.4 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวและคุณภาพชีวิตที่ดี : โดยมีแผนการปรับปรุงนโยบายภาษี เช่น การปรับโครงสร้างภาษีให้คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการตระหนักถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการบริโภคสินค้าดังกล่าว เป็นต้น
เหล่านี้เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) ขณะที่แผนฉบับดังกล่าวจะถูกใช้กรอบในการจัดทำและกำหนดกรอบเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่จะมีเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 10 ม.ค.ที่จะถึงนี้ด้วย
อ่านประกอบ :
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%