เปิดรายงานความเสี่ยงการคลังปีงบ 64 พบหน่วยงานรัฐมีภาระหนี้ที่ไม่ได้อยู่ใน ‘หนี้สาธารณะ’ และรอรัฐบาลตั้งงบประมาณชดใช้กว่า 1.01 ล้านล้านบาท ‘คลัง’ ห่วงมาตรการช่วยเหลือ 'เกษตรกร' สร้างภาระการคลังเพิ่มต่อเนื่อง
............................
สืบเนื่องจากกรณีกระทรวงการคลังนำเสนอรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา นั้น (อ่านประกอบ : ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ภายใต้รายงานความเสี่ยงทางการคลังฯ ฉบับดังกล่าว กระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้ว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะ จำนวน 9,337,543 ล้านบาท โดยเป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาลมีภาระในการชำระหนี้โดยตรง คิดเป็น 84.12% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ในขณะที่อีก 15.88% เป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้มีภาระในการชำระหนี้โดยตรง
แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขภาระผูกพันจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่ไม่รวมอยู่ในหนี้สาธารณะ ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา พบว่าหน่วยงานของภาครัฐมีภาระผูกพันที่ไม่รวมอยู่ในหนี้สาธารณะ และรัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณเข้าไปชดเชยภาระหนี้ดังกล่าวในอนาคต เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,016,489 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งภาระผูกพันในส่วนนี้เป็นภาระผูกพันที่มาจากการที่รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐนั้นให้ในอนาคต โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ยอดคงค้างดังกล่าว 953,378 ล้านบาท คิดเป็น 29.01% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564
อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นโครงการตามมาตรา 28 ที่มีแนวโน้มในการก่อให้เกิดภาระทางการคลังเป็นจำนวนสูงขึ้นทุกปี โดยในช่วงปี 2562 และ 2563 ภาระทางการคลังของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมีจำนวนใกล้เคียงกันเท่ากับ 97,134 ล้านบาท และ 99,177 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่ในปี 2564 โครงการตามมาตรา 28 ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมีจำนวนเท่ากับ 136,986 ล้านบาท คิดเป็น 76.30% ของภาระทางการคลัง จากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ทั้งหมดในปี 2564 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ประชุมมีมติขยายกรอบยอดคงค้างตามมาตรา 28 จากเดิมต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอาจส่งผลให้ภาระงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ในอนาคตเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาระงบประมาณที่จัดสรรให้ SFIs อยู่ที่ประมาณ 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ดังนั้น รัฐบาลควรมีการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 และดำเนินโครงการเท่าที่จำเป็น โดยโครงการใดที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปี และสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรพิจารณาบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตราดังกล่าวให้กลับสู่ระดับ 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในโอกาสแรกที่กระทำได้
2.ภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม 61,327 ล้านบาท มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มีผลบังคับใช้ โดยมาตรา 20 (4) กำหนดให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับภาระทางการเงินที่มีกฎหมายบัญญัติให้รัฐบาลต้องส่งเงินเข้าสมทบหรือชดเชยเพื่อการใด ๆ ตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
3.ภาระผูกพันในการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) จากประมาณการเบื้องต้นโดย ธปท. ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 คาดว่า รัฐบาลจะมีภาระผูกพันรวมทั้งสิ้น ประมาณ 1,784 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ประมาณการภาระผูกพันดังกล่าวอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้สิ้นสุดลง
4.ภาระผูกพันจากการชดเชยความเสียหายให้กับ ธปท. ตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. BSF) ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลจะต้องชดเชยความเสียหายให้แก่ ธปท. ในวงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2564 ยังไม่มีการขอความช่วยเหลือภายใต้ พ.ร.ก. BSF
5.ภาระผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟู) มีภาระผูกพันรวมสูงสุดไม่เกิน 67,520 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน