"...เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่างๆ มีการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนา แบ่งได้เป็น 2 ชุดนโยบาย คือ ชุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และชุดโครงการประกันรายได้ชาวนาควบคู่กับมาตรการคู่ขนานอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ซึ่งพบว่ามีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาไปทั้งสิ้น 1,276,290 ล้านบาท ในช่วง 7 ปี..."
................................................
ในห้วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566
นโยบาย ‘แจกเงินชาวนา’ ในลักษณะการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิต ค่าเก็บเกี่ยว และค่าเพาะปลูกข้าวนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้เป็นแคมเปญเรียกคะแนนเสียงจาก ‘ชาวนา’ กว่า 4.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ควบคู่กับนโยบายหลักอื่นๆ เช่น โครงการประกันรายได้ และพักหนี้เกษตรกร
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการจำนวนหนึ่งว่า นโยบายแจกเงินชาวนานั้น ไม่ได้ทำให้ ‘ชาวนาไทย’ มีความเข้มแข็งในระยะยาว และซ้ำร้ายกลับทำให้ชาวนาอ่อนแอลงในระยะยาว แต่ทว่านโยบายดังกล่าวกลับเป็นนโยบายที่ ‘ได้รับความนิยม’ ในหมู่ชาวนาไม่น้อยเลยทีเดียว
@‘พปชร.-รทสช.-ปชป.-ชาติไทยพัฒนา’ชูนโยบายแจกเงินชาวนา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ พบว่า มีพรรคการเมือง 4 พรรค จากทั้งหมด 9 พรรค มี 'นโยบายแจกชาวนา' ควบคู่กับนโยบายหลักอื่นๆ ได้แก่
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีนโยบาย ‘ลดต้นทุนค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ชาวนา’ ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท/ครัวเรือน และมีนโยบาย ‘ปุ๋ยคนละครึ่ง รัฐช่วย 50%’ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร ครอบคลุม 8 ล้านครัวเรือน เป็นต้น
พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีนโยบาย ‘ลดต้นทุนเกษตรกร ช่วยค่าเก็บเกี่ยว’ ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท/ครัวเรือน และมีนโยบาย ‘ปุ๋ย ไฟฟ้า น้ำมัน ราคาถูกสำหรับเกษตรกร’ รวมทั้งมีนโยบายตั้ง ‘กองทุนพยุงราคาสินค้าเกษตร’ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีนโยบาย ‘ชาวนารับ 30,000 บาทต่อครัวเรือน’ โดยให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 30,000 บาท/ครัวเรือน ควบคู่กับนโยบายหลัก คือ ‘การประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง’ พืช 5 ชนิด ซึ่งรวมถึงสินค้าข้าว และมีนโยบาย ‘3 ล้านบาท ต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่’ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน รวมทั้งให้กรรมสิทธิ์ทำกินกับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ เป็นต้น
พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบาย 'สนับสนุนเงินไร่ละ 1,000 บาท สำหรับข้าวและพืชเศรษฐกิจ' ควบคู่กับการแจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ และขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศ หน่วยละ 2 บาท ลดต้นทุนการใช้น้ำมันสูบน้ำเข้านา โดยส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ เป็นต้น
@‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-ไทยสร้างไทย’ประกาศดันราคาข้าวให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน มีพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ไม่มีนโยบายแจกเงินให้ชาวนา แต่เน้นไปที่นโยบายผลักดัน ‘ราคาข้าว’ ให้มีราคาสูงขึ้น หรือการสร้างหลักประกันด้านราคาข้าว เพื่อทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายอื่นๆ เช่น พักหนี้เกษตรกร 3 ปี และจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งได้แก่
พรรคเพื่อไทย (พท.) มีนโยบาย ‘เกษตรกรมีรายได้ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี’ และมีนโยบาย ‘3 ดี’ ได้แก่ ‘ดินดี น้ำดี’ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการเกษตร ‘เมล็ดพันธุ์ดี’ ช่วยทุ่นแรงในการหาเมล็ดพันธุ์ดีมาเพาะปลูก ‘ขายได้ราคาดี’ ราคาสินค้าเกษตรต้องขึ้นยกแพงภายใน 4 ปี พี่น้องเกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า
พร้อมทั้งมีนโยบาย ‘3 ปี พักหนี้เกษตร’ โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้พี่น้องเกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี และมีนโยบาย ‘50 ล้านไร่ ที่ดินทำกิน’ โดยการแก้ไขกฎหมายเพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้พี่น้องประชาชน เป็นต้น
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ประกาศในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า พรรคเพื่อไทยจะทำให้ราคาข้าวกลับมาดี
“สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ ราคาข้าวสูงมาก สูงกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน พี่น้องอยากให้ราคาข้าวกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ แน่นอนว่าราคาข้าวจะกลับมาดี ถ้าพี่น้องเลือกนายยุทธพงศ์ (จรัสเสถียร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 พรรคเพื่อไทย) ให้ชนะขาด
ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าเอาข้าวไปขายทั่วโลก มีอีกหลายประเทศยังไม่รู้จักข้าวไทย ถ้าหลายประเทศสนใจ มีออเดอร์สั่งซื้อเยอะ ราคาข้าวก็จะขึ้นสูงแน่นอน” เศรษฐา กล่าวบนเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประสานงานพรรคเพื่อไทย อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2566
(เศรษฐา ทวีสิน ที่มา : เพจพรรคเพื่อไทย)
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มีนโยบาย ‘เกษตรร่ำรวย’ Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน พร้อมทั้งระบุข้อความว่า “ข้าวขาว 12,000 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000/ตัน มันสำปะหลัง 4 บาท/กก. ปาล์มทลาย 5 บาท/กก. น้ำยางสด 62 บาท/กก. ยางแผ่น 65 บาท/กก.”
พรรคไทยสร้างไทย มีนโยบาย ‘สินค้าเกษตรราคาดี’ โดยรับซื้อและประกันราคาพืชเศรษกิจหลัก โดยเฉพาะข้าว มีการกำหนดราคาข้าว ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ,ข้าวหอมจังหวัด 13,000 บาท/ตัน ,ข้าวเหนียว 14,000 บาท/ตัน และข้าวสารขาว 11,000 บาท/ตัน
รวมถึงมีนโยบายเกษตรอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้างการผลิต โดยบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร (Zoning) ,การพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ขุดบ่อน้ำ 1 ล้านบ่อ และขุดน้ำบาดาล 1 แสนบ่อ เป็นต้น รวมถึงมีนโยบาย 'ขจัดข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ' เช่น ที่ดิน สปก. ที่ดิน คทช. และที่ดิน ภบท.5 เป็นต้น
@‘ก้าวไกล-ชาติพัฒนากล้า’ไม่มีนโยบายแจกเงิน-เน้นแก้ภาพใหญ่
อย่างไรก็ดี มีพรรคการเมือง 2 พรรค ที่ไม่ได้มีทั้งนโยบายแจกเงินให้กับชาวนา และไม่มีนโยบายที่จะผลักดันราคาข้าวให้สูงขึ้นด้วย แต่มุ่งเน้นไปในเรื่องแก้ปัญหาของชาวนาในภาพใหญ่ เช่น ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน การส่งเสริมการลดต้นทุน และการแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น ได้แก่
พรรคก้าวไกล ที่มีนโยบาย ‘เกษตรก้าวหน้า’ ซึ่งมีนโยบายย่อย ได้แก่ ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบคืนที่ดินให้ประชาชน 10 ล้านไร่ ,ปลดหนี้เกษตรกรมีหลายวิธีให้เลือก อาทิ ปลดหนี้ ธ.ก.ส. เกษตรกรสูงวัยจ่ายหนี้ถึงครึ่ง รัฐยกอีกครึ่งให้ทันที ,ลดต้นทุนน้ำ-ปุ๋ย เครื่องจักร ,ส่งเสริมแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และหารายได้ใหม่เพื่อเกษตรกรก้าวหน้า เป็นต้น
พรรคชาติพัฒนากล้า มีนโยบาย 'เกษตรสร้างชาติ' เพิ่มมูลค่าด้วย เทคโนโลยี-อุตสาหกรรมเน้น ‘เพิ่มมูลค่า เพิ่มราคา เพิ่มคุณภาพ เพิ่มรายได้เกษตรกร’ ซึ่งมีรายละเอียดของนโยบาย ได้แก่
-เพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยการขยายตลาดเกษตรพรีเมี่ยม เพิ่มราคาขาย ปรับปรุงพันธุ์ ขั้นตอนการปลูก ระบบน้ำ ปุ๋ยที่ใช้ การเก็บเกี่ยว บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง
-ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร ทุก segment สร้าง Cloud Factory ในอำเภอ
-เกษตรขายตรงออนไลน์ ให้ความรู้ สนับสนุน Platform ขายของการเกษตรของไทย รัฐช่วยออกค่าขนส่งให้เกษตรกร ทั้งสินค้าเกษตร และแปรรูป ลงทะเบียนรับเงินสนับสนุนค่าขนส่งจากไปรษณีย์ไทย หรือขนส่งเอกชนรายอื่นที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐ รถร้อน รถเย็น ได้ 10,000 บาทต่อรายต่อปี
-พลิกบทบาทสหกรณ์เกษตรด้วยการยกระดับเป็นวิสาหกิจเกษตรแยกตามผลผลิต เช่น วิสาหกิจข้าวหอมมะลิ วิสาหกิจยางพารา ฯลฯ เกษตรกรเป็นผู้ถือหุ้น มีมืออาชีพเป็นผู้บริหารทุกวิสาหกิจมีหน้าที่รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร แปรรูป หาตลาด และลงทุน R&D เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต และตั้งวิสาหกิจเกษตรไทย
(ที่มา : เว็บไซต์พรรคชาติพัฒนากล้า)
@รัฐบาล‘ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์’อนุมัติงบช่วยชาวนากว่า 1.27 ล้านล้าน
ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายแจกเงินช่วยเหลือชาวนา เช่น การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวไม่เกิน 10,000-30,000 บาทต่อครัวเรือน จะสร้างภาระงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท แต่มีอย่างน้อย 2 นโยบายที่พรรคการเมือง ‘ไม่ระบุวงเงิน’ ที่จะต้องใช้จ่ายในอนาคตว่าเป็นเท่าไหร่ ได้แก่ โครงการประกันรายได้ฯ และการยกระดับราคาข้าว
ในขณะที่เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่างๆ มีการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือชาวนา แบ่งได้เป็น 2 ชุดนโยบาย คือ ชุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือก และชุดโครงการประกันรายได้ชาวนาควบคู่กับมาตรการคู่ขนานอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว ซึ่งพบว่ามีการจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือชาวนาไปทั้งสิ้น 1,276,290 ล้านบาท ในช่วง 7 ปี ได้แก่
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554-2557) มีนโยบาย ‘รับจำนำข้าวทุกเม็ด’ ซึ่งกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท โดยพบว่าในช่วงปีงบ 2555-2557 รัฐบาลมีการใช้งบประมาณในโครงการฯทั้งสิ้น 881,262 ล้านบาท ประกอบด้วย
-โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 วงเงิน 118,656 ล้านบาท
-โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปรัง ปี 2555 วงเงิน 218,670 ล้านบาท
-โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/2556 ครั้งที่ 2 วงเงิน 352,278 ล้านบาท
-โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 วงเงิน 191,658 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีรายได้จากการระบายผลผลิตและการไถ่ถอนฯ ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในช่วง 3 ปีการผลิต (ปีการผลิต 2554/2555 ปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557) เป็นเงินทั้งสิ้น 357,795 ลัานบาท ส่งผลให้โครงการฯมีผลขาดทุน 523,467 ล้านบาท
(ที่มา : รายงานทางการเงินประจำปี ปีบัญชี 2564 ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 มี.ค.2565)
ส่วน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (2562-มี.ค.2566) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุน 'โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว' (ประกันรายได้ชาวนา) และ 'โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ' เช่น การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวฯ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 395,028 ล้านบาท ประกอบด้วย
ปีการผลิต 2562/2563 รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนรวม 76,049 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ฯ 21,495 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ 54,553 ล้านบาท
ปีการผลิต 2563/2564 รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนรวม 106,740 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ฯ 50,646 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ 56,063 ล้านบาท
ปีการผลิต 2564/2565 รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนรวม 138,456 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ฯ 83,483 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ 55,567.36 ล้านบาท
(สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ 3 ปีการผลิต ที่มา : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี)
ปีการผลิต 2565/2566 รัฐบาลจัดสรรงบสนับสนุนรวม 73,783 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ฯ 18,700 ล้านบาท (ณ 29 มี.ค.2566 จ่ายชดเชย 7,861 ล้านบาท) และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตฯไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่) 55,364.75 ล้านบาท
“การจำนำข้าวทุกเม็ด ซึ่งล้มเหลว แต่ในแง่เกษตรกร ชอบมาก และชอบมากกว่าประกันรายได้ฯ เพราะเป็นความเป็นธรรมว่า ทุกคน ทุกที่ ขายข้าวได้เงินราคาเท่ากัน มันสะกดและดึงดูดใจคนได้” รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวหัวข้อ ‘ประชานิยมในการเมืองไทย’ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
ในขณะที่ผลพวงจากการที่รัฐบาลแต่ละชุดได้อนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งใช้ ‘เงินกู้’ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหลัก นั้น ส่งผลให้ขณะนี้ภาระผูกพันจากโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.03 ล้านล้านบาทแล้ว
“ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีงบฯ 2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็น 33.35% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565
แบ่งเป็นภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,049 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปีงบฯ 2565 รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 ทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย...” รายงานความเสี่ยงทางการคลัง ประจำปีงบ 2565 ระบุ (อ่านประกอบ : ชำแหละ 11 ความเสี่ยงทางการคลัง ปี 65 หนี้นโยบายรัฐแตะ 1.03 ล้านล.-‘ธ.ก.ส.’NPLพุ่ง 12.45%)
@อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ทำให้ชาวนา ‘จนลง-มีหนี้สินเพิ่มขึ้น’
“ผมว่าเขาไปผิดทาง อย่างที่เคยบอกไว้ ใน 10 ปีที่ผ่านมา เราแช่แข็งเกษตรให้อยู่กับที่ โดยการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด เสียเงินไป 5-6 แสนล้าน ส่วนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามา ก็มีนโยบายที่ผสมกับพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐในยุคนั้น
คือ ประชาธิปัตย์ มีประกันรายได้ ส่วน พลังประชารัฐ มีเรื่องปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งรวมแล้ว 1 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อุดหนุนเรื่องข้าวไปปีละ 1 แสนล้านบาท ถ้า 5 ปี ก็ 5-6 แสนล้านบาทอยู่ดี เราหมดไปกว่า 1.2 ล้านล้านบาทแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยที่เกษตรกรไม่ได้รวยขึ้นเลย มีแต่จนลง และมีหนี้สินมากขึ้น
เพราะฉะนั้น นโยบายที่ทำมาในอดีต โดยเฉพาะการอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ที่ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน กลับทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดข้าวโลกหดตัวตลอดเวลา ซึ่งนักการเมืองไม่ได้มองเห็นประเด็นนี้” รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
รศ.สมพร ระบุด้วยว่า นโยบายแจกเงินชาวนา และนโยบายอุดหนุนชาวนาแบบไม่มีเงื่อนไขที่นักการเมืองนำมาใช้หาเสียงเลือกตั้งนั้น แน่นอนว่านักการเมืองได้ประโยชน์จากคะแนนเสียงที่ได้รับ แต่ประเทศชาติและโครงสร้างของภาคเกษตรไทยที่ได้รับเสียหาย ถามว่าตรงนี้ใครรับผิดชอบ แล้วสุดท้ายเกษตรกรก็ไม่ได้มีความมั่นคงแต่อย่างใด
“นักการเมืองเอาแต่ได้ เอาให้ได้เสียง ให้ได้ชนะเท่านั้น แต่ผมเห็นมีพรรคหนึ่ง คือ ก้าวไกล ที่ไม่ได้พูดเรื่องประกันรายได้ ประกันราคา แต่พูดถึงแหล่งน้ำ เรื่องถือครองที่ดิน ซึ่งมาถูกทาง เพราะเป็นนโยบาย ‘non-price policy’ ที่จะต้องมา และผมก็เห็นว่านโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำ คือ เรื่อง BCG (Bio-Circular-Green) ควรเอามาเดินขับเคลื่อนต่อ
เพราะเกษตร BCG จะเป็นตัวปรับฐานภาคเกษตร โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ บวกกับใช้ความหลากหลายเข้าไปขับเคลื่อน ซึ่งจะเปลี่ยนภาคเกษตรไทยไปสู่ฐานใหม่ คือ พัฒนาพันธุ์ข้าวให้เป็นพรีเมี่ยม ต่อด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต ลดคาร์บอน แต่กลับไม่มีนักการเมืองคนไหน ทำต่อในระยะยาว” รศ.สมพร ระบุ
รศ.สมพร เชื่อว่า ณ วันนี้ ตนคงไม่มีพรรคการเมืองใด แม้แต่พรรคเพื่อไทยนำนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกกลับมาใช้อีก เพราะกลัวติดคุก และสถานการณ์ตลาดข้าวโลกในปัจจุบันเป็นไปได้ยากมาก ที่จะทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกเจ้าได้ในราคา 15,000 บาท/ตัน และขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้ในราคา 20,000 บาท/ตัน
“ถ้าจะยกราคาข้าวไป 15,000 บาท ไม่มีทางทำได้เลย ถ้าไม่โยนเงินลงไปแบบอุดหนุน เพราะผลผลิตข้าวเปลือกในเขตชลประทานอยู่แค่เพียง 700 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าจะยกระดับราคาขึ้นไป ถามว่าจะทำอย่างไร จะไปสร้างตลาดผูกขาดเหมือนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำเหรอ รวบทุกอย่างมาอยู่ในมือรัฐ และเสร็จแล้วเราเสียเงินไป 5-6 แสนล้าน” รศ.สมพร กล่าว
(รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
@ยกโมเดล ‘เวียดนาม’ มุ่ง‘3 ลด 3 เพิ่ม’-ทำเรื่อง ‘Land leveling’
รศ.สมพร ยังยกตัวอย่างว่า ในเวียดนาม เขามีนโยบาย ‘3 ลด 3 เพิ่ม’ โดยมุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพ ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามที่เคยส่งออกข้าวคุณภาพสูงได้ 2 แสนตัน แต่ในปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวคุณภาพสูงได้ 3.3 ล้านตัน เทียบกับไทยที่ส่งออกข้าวคุณภาพสูง (ข้าวหอมมะลิ) ได้ 2.2 ล้านตัน
นอกจากนี้ เมื่อก่อนเวียดนามเคยส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ตันละ 370 ดอลลาร์สหรัฐ แต่วันนี้เวียดนามส่งออกข้าวได้ในราคาตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง
“เขา (เวียดนาม) เขาไม่ได้เอาเรื่องการสนับสนุนรายได้มาเป็นตัวหลัก แต่เขาพูดถึงการทำให้ ‘มูลค่าต่อยูนิต’ สูงขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้กำไรสูงขึ้น และทำให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น โดยไปลดต้นทุนการผลิต คือ ลดค่าปุ๋ย ลดค่าเมล็ดพันธุ์ และลดค่าจัดการแปลงนา ส่วนที่เข้าไปเพิ่ม คือ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มกำไร” รศ.สมพร กล่าว
(ที่มา : รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
รศ.สมพร ระบุว่า อีกนโยบายด้านข้าวของเวียดนามที่น่าสนใจ คือ เรื่อง Land leveling หรือการปรับระดับพื้นที่ทำนาให้มีความราบเรียบสม่ำเสมอ ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนและประหยัดน้ำ ได้ผลผลิตสูงขึ้น แล้วเวียดนามก็หันไปเน้นลงทุนเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว ทำให้ที่ผ่านมาเวียดนามมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆออกมาต่อเนื่อง และน่าจะแซงไทยไปแล้วด้วยซ้ำ
ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า เท่าที่ติดตามการหาเสียงครั้งนี้ ตนเห็นว่าพรรคการเมืองพูดเรื่องข้าวกันน้อยมาก และในขณะที่บางพรรคการเมืองจะมีนโยบายแจกเงินให้ชาวนา ซึ่งรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการหาเสียงโดยใช้นโยบายประกันรายได้ฯ แต่มีพรรคการเมืองน้อยมากที่เน้นไปในเรื่องการพัฒนา
“จุดสำคัญ คือ ต้องเน้นเรื่องการพัฒนา และการลดต้นทุนมากกว่า แทนที่จะเน้นในเรื่องราคา เพราะหากไม่ทำเรื่องเหล่านี้ ก็ไม่น่าจะทำให้การพัฒนาข้าวไทยมีความยั่งยืน” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
อีกไม่ถึงสัปดาห์จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อว่า พรรคการเมืองใดจะได้ ส.ส.เข้าสภาฯมากพอ และรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ก่อนจะนำนโยบายช่วยเหลือชาวนาที่ได้หาเสียงไว้ ไปประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อไป
อ่านประกอบ :
เอกชนเตือน‘รัฐบาลใหม่’อย่าทำนโยบาย‘จำนำราคาสูง’-ตั้งเป้าปีนี้ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
10 ปี‘จำนำ-ประกันรายได้’รัฐเท 1.2 ล้านล. อุดหนุนประชานิยม‘ข้าว’-TDRIจี้เลิกชดเชยซ้ำซ้อน
โอนแล้ว 1.4 หมื่นล.! ‘บิ๊กตู่’คิกออฟจ่าย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้ชาวนา-อุดหนุนไร่ละ 1 พัน
ครม.ควัก 8.1 หมื่นล้าน ถม ‘ประกันราคาข้าว เฟส 4’ คาดเงินถึงมือชาวนา 22 พ.ย. 65
ชำแหละ‘ประกันรายได้’ 4 พืช 3 ปี‘ภาระการคลัง’พุ่ง 2.57 แสนล. งบฯ 66 ก่อหนี้รัฐถึงทางตัน?
‘นบข.’ไฟเขียว'ประกันรายได้ชาวนาปี 4-มาตรการคู่ขนาน-ช่วยค่าบริหารข้าว' วงเงิน 1.5 แสนล.
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?