“…กฎหมายกำหนดไว้ว่า ภาระหนี้คงค้างภายใต้มาตรการกึ่งกลางคลัง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ จะต้องไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่จากแนวโน้มภาระหนี้จากการดำเนินการโครงการประกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาตลอด ทำให้การดำเนินการโครงการภาครัฐอื่นๆที่ต้องใช้กรอบวงเงินตามมาตรา 28 ลดลง…”
..........................................
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดการประชุมนำเสนอผลการศึกษาโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน) และศึกษาทิศทางแนวทางการดำเนินการในอนาคต ประจำปีงบประมาณ 2564
ทั้งนี้ รศ.ดร.อิทธิพงศ์ มหาธนเศรษฐ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะวิจัย ได้นำเสนอผลการศึกษา 'โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน)' มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@3 ปี ประกันรายได้พืช 4 ชนิด ก่อภาระการคลัง 2.57 แสนล้าน
รศ.ดร.อิทธิพงศ์ ระบุว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็น ‘กิจกรรมกึ่งการคลัง’ ภายใต้มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 นั้น ได้ก่อให้เกิดภาระคงค้างตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ รวมแล้ว 2.57 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย ปีงบ 2563 จำนวน 70,062 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.21% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ,ปีงบ 2564 จำนวน 79,896 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.34% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และปีงบ 2565 จำนวน 107,348 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.38% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
“กฎหมายกำหนดไว้ว่า ภาระหนี้คงค้างภายใต้มาตรการกึ่งกลางคลัง ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ จะต้องไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่จากแนวโน้มภาระหนี้จากการดำเนินการโครงการประกันรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาตลอด ทำให้การดำเนินการโครงการภาครัฐอื่นๆที่ต้องใช้กรอบวงเงินตามมาตรา 28 ลดลง
เช่น เงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งเป็นภาระคงค้างตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ เช่นกันนั้น ถ้าโครงการประกันรายได้ฯ มีการใช้กรอบวงเงินไปเยอะๆ ก็จะไปกีดกัน และทำให้ภาครัฐทำโครงการรัฐอื่นๆได้น้อยลง” รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีงบ 2563 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนหนี้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 89,820 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.81% ของงบฯรายจ่ายประจำปี , ปีงบ 2564 จัดสรร 82,038 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.50% ของงบฯรายจ่ายประจำปี และปีงบ 2565 จัดสรร 69,466 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.24% ของงบฯรายจ่ายประจำปี
ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจ ‘รายได้-รายจ่าย’ กลุ่มตัวอย่างเกษตรกร 1,008 ราย พบว่า เงินที่รัฐบาลจ่ายชดเชยประกันรายได้สินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด นั้น เกษตรกรนำไปใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุนประมาณ 60% ของเงินที่ได้จากโครงการฯ และทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า ส่วนที่เหลือ 40% ถูกนำไปใช้หนี้และเก็บออม
@แนะหักเงินช่วยเหลือไร่ละ 1 พันบาท ออกจากต้นทุนการผลิตข้าว
รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยฯ ได้ ‘สัมภาษณ์เชิงลึก’ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในหน่วยงานรัฐ สมาคมผู้ประกอบการ สมาคมเกษตรกร และนักวิชาการ พบว่า ผู้เชี่ยวชาญทุกคนให้ความเห็นว่า การกำหนด ‘ราคาเป้าหมายประกันรายได้’ โดยวิธี Cost-Plus หรือการนำต้นทุนมาบวกกับค่าขนส่งและอัตรากำไรที่เหมาะสม 20-30% นั้น เป็นวิธีที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ควรหักเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ออกจากต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เช่น หากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คิดต้นทุนปลูกข้าวได้ไร่ละ 8,000 บาท แต่เมื่อรัฐบาลช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทแล้ว ต้นทุนการผลิตที่นำมาคำนวณเป็นราคาประกันรายได้ ควรอยู่ที่ไร่ละ 7,000 บาท
ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่า การกำหนดต้นทุนการผลิตของ สศก. มีปัญหาอื่นๆ เช่น มีการรวมค่าเสียโอกาส อาทิ ค่าตอบแทนแรงงานของตัวเอง ไว้ในต้นทุนการผลิตด้วย ซึ่งทำให้เกิดการบวกกำไร 2 ครั้ง ขณะที่ข้อมูลต้นทุนการผลิตที่สำรวจจากไร่นาของเกษตรกรที่ปลูกจริง ซึ่งมีความแปรปรวนสูง ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยที่ สศก.ได้มา อาจไม่ใช่ตัวแทนที่ดีได้นัก
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการกำหนด ‘ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง’ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการจ่ายชดเชยประกันรายได้ฯ ควรใช้ราคาข้าวส่งออกหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังส่งออก มากำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงด้วย เพื่อป้องกันพ่อค้ากดราคารับซื้อ และควรประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกความชื้น 25% อีกอัตราหนึ่ง
“มีข้อเสนอให้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือกความชื้น 25% อีกอัตราหนึ่ง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ขายข้าวเปลือกความชื้น 15% แต่ขายเป็นข้าวสด โดยเฉพาะในภาคกลาง” รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอแนะว่า ในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ภาครัฐควรกำหนดกลไกการตรวจสอบที่มีมาตรฐาน และควรให้มีระบบตรวจสอบว่า เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจริงหรือไม่ และมีการจ่ายเงินชดเชยตามโครงการรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติหรือไม่ เพื่อป้องกันการจ่ายเงินซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมีข้อเสนอว่า เมื่อโครงการประกันรายได้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และดำเนินการต่อเนื่องทุกปี ดังนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการ ควรพิจารณาจัดทำโครงการประกันรายได้ โดยการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนปกติ เพื่อไม่ให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น รายจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส.
ส่วนผลกระทบด้านสังคมนั้น แม้ว่าโครงการประกันรายได้ฯจะสร้างหลักประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจ และมีกำลังใจในการประกอบอาชีพเกษตรกร แต่ไม่น่าจะมีผลจูงใจให้แรงงานย้ายกลับภาคเกษตร เนื่องจากแรงงานจากชนบทที่เข้ามาทำงานในเมือง คุ้นเคยกับวิธีชีวิตในเมืองและสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอกว่า
@‘เกษตรกร’ โอดถูกกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรจาก ‘พ่อค้า’
รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนผลการสำรวจที่ได้จากการประชุมระดมความคิดเห็น (Focus Group) ซึ่งมีการประชุม 25 ครั้ง ในพื้นที่ 24 จังหวัด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 1,004 คน พบว่า เกษตรกรทุกพื้นที่ต้องการให้รัฐบาลปรับราคาเป้าหมายประกันรายได้ให้สูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก
ขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคาประกันรายได้สำหรับพืชเฉพาะ เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าว GI และข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เป็น รวมทั้งไม่ควรแยกราคาประกันรายได้ระหว่างข้าวหอมมะลิในพื้นที่กับข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ เพราะไม่เป็นธรรม อีกทั้งข้าวหอมมะลิ ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกพื้นที่ เมื่อโรงสีซื้อไปแล้ว โรงสีก็เอามารวมกันอยู่ดี
จากข้อมูลการประชุม Focus Group ยังพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สนใจติดตามประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง จึงไม่ทราบว่าราคาที่ตนขายได้ใกล้เคียงกับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงหรือไม่ แต่สนใจว่าตนจะได้รับเงินชดเชยส่วนต่างประกันรายได้เท่าไหร่มากกว่า และพบว่าเกษตรกรขายสินค้าเกษตรได้ต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยเฉพาะกลุ่มที่ขายสินค้าผ่านพ่อค้าและถูกกดราคา
“ถ้ารัฐบาลประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาประกันรายได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลจะไม่จ่ายชดเชย แต่ปรากฏว่าเวลาเกษตรกรไปขายจริง ขายได้ในราคาต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง จึงทำให้เกษตรกรขายสินค้าเกษตรได้ในราคาต่ำแล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูแลไม่ให้พ่อค้าเอาเปรียบ หรือตั้งจุดรับซื้อผลผลิตตามราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง
นอกจากนี้ เกษตรกรยังต้องการให้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง ให้สอดคล้องกับการซื้อขายจริงของเกษตรกร เช่น ข้าวเปลือก ทุกวันนี้เขาบอกว่าเขาขายเป็นข้าวสด (ความชื้น 25-30%) ไม่ได้ขายข้าวเปลือกความชื้น 15% เขาจึงไม่สนใจราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง” รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าว
@เสนอทบทวน ‘ราคาประกันรายได้’ ทุกปี อ้างอิง ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’
รศ.ดร.อิทธิพงศ์ ระบุว่า คณะผู้วิจัยฯ ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรในอนาคต เช่น กรณีการกำหนดราคาประกันรายได้สินค้าเกษตร ภาครัฐต้องทบทวนราคาประกันรายได้ทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและต้นทุนการผลิต จาก 3 ปีที่ผ่านมา ที่ภาครัฐกำหนดราคาประกันรายได้เท่ากันทุกปี
ขณะเดียวกัน การคำนวณต้นทุนการผลิตของ สศก. จะต้องหักเงินอุดหนุนโดยตรงจากมาตรการอื่นของรัฐ เพื่อไม่ให้มีการบวกซ้ำซ้อน เช่น หักเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ออกจากต้นทุนการผลิตข้าว และการกำหนดอัตรากำไรที่เหมาะสมที่เกษตรกรจะได้รับให้เทียบเคียงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเฉลี่ยทั่วประเทศ และผลตอบแทนของพืชแข่งขัน
“ถ้าเป็นเกษตรกรเต็มเวลาจะต้องมีรายได้เท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานที่ไปทำงานนอกภาคเกษตร และอัตรากำไรที่เหมาะสม ไม่ควรต้องไม่สูงกว่าผลตอบแทนของพืชแข่งขัน เช่น มันสำปะหลังกับอ้อย ถ้ากำหนดอัตราผลตอบแทนของมันฯสูงๆ เกษตรกรก็จะหันมาปลูกมันฯแทนที่จะปลูกอ้อย ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด” รศ.ดร.อิทธิพงศ์ ระบุ
ส่วนกรณีการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง นั้น คณะผู้วิจัยฯ เสนอว่า ควรมีการประกาศข้อมูลราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงสำหรับสินค้าที่เกษตรกรซื้อขายจริง เช่น ข้าวเปลือกความชื้น 25% หรือแสดงข้อมูลเกณฑ์การปรับราคาเพิ่มลดตามคุณภาพ ควบคู่กับการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในรูป Infographics เป็นต้น
สำหรับปัญหากรณีครัวเรือนที่ครอบครองที่ดินจำนวนมาก มีการแตกครัวเรือนและที่ดิน เพื่อให้สามารถรับสิทธิประกันรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้รัฐมีภาระการจ่ายเงินชดเชยมากเกินความจำเป็น คณะผู้วิจัยฯ มีข้อเสนอแนะว่า ต้องมีการทบทวนปริมาณสิทธิประกันรายได้สูงสุดต่อครัวเรือนทุกปี
และเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นนิติบุคคล มีสิทธิได้รับเงินชดเชยประกันรายได้ และเพิ่มปริมาณสิทธิประกันรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรอีก 20% จากจำนวนปริมาณสิทธิขั้นสูงสุดที่สมาชิกกลุ่มทุกครอบครัวรวมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่ม และสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม
รศ.ดร.อิทธิพงศ์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ปัญหาการขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ตรงกับความเป็นจริง คณะผู้วิจัยฯเสนอว่า ให้ทุกจังหวัดตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจัดสรรงบจ้างหน่วยงานภายนอกเพื่อทบทวนสอบ (audit) การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และกำหนดบบลงโทษเกษตรกรที่แจ้งข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นเท็จโดยทุจริต
@ย้ำไม่มีการ ‘หักเงิน’ ชดเชยประกันรายได้ ชำระหนี้ ธ.ก.ส.
ด้าน ไพฑูรย์ มานะกิจสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ ธ.ก.ส. กล่าวในการวิพากษ์ผลการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด และมีเม็ดเงินลงไปสู่เกษตรกรประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจมหภาค
“ธ.ก.ส.เราได้ย้ำว่า โครงการประกันรายได้ 5 พืช เมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกครั้ง เราจะมีหนังสือจากส่วนกลางลงไปสาขาของธนาคาร 1,200 สาขาทั่วประเทศ ว่า ห้ามสาขานำเงินดังกล่าวหักชำระหนี้ หรือไปขายผลิตภัณฑ์ที่ผู้ซื้อโดยไม่สมัครใจ และเมื่อเกษตรกรมีรายได้ก็จะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อม” ไพฑูรย์ กล่าว
ไพฑูรย์ ยังกล่าวถึงภาระหนี้ของรัฐบาลต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้กำหนดว่า ภาระหนี้ที่รัฐบาลกู้จากสถาบันการเงินต่างๆเพื่อดำเนินนโยบายของภาครัฐ จะต้องไม่เกิน 35% ของงบประมาณฯ ซึ่งปัจจุบันภาระหนี้ดังกล่าวยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 35%
อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามว่าในปีงบประมาณ 2566 ภาระหนี้ของรัฐบาลต่องบประมาณรายจ่ายประจำปี จะมีสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งหากภาระหนี้ยังสูง ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอื่นๆได้
“ในเรื่องการควบคุมวงเงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ไม่ว่าตัวเลขจะเป็น 30% หรือ 35% ก็ตาม ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.เอง เราคุยกับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษากฎระเบียบเรื่องนี้ ทุกๆเดือนว่า โครงการไหนที่จบไปแล้ว หรือจะปิดโครงการ เพื่อให้รัฐบาลรู้ว่ามีช่องว่างที่จะทำโครงการได้อีกเท่าไหร่” ไพฑูรย์ กล่าว
ขณะที่ เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า การใช้งบประมาณในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 3 ปีของโครงการประกันรายได้ ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ของไทยลดลงต่อเนื่องทุกปี (ดูข้อมูลประกอบ)
เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตนไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เสนอให้ยกเลิกมาตรการคู่ขนาน เนื่องจากมาตรการคู่ขนานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำข้าวยุ้งฉาง และการชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเก็บข้าวเปลือก เป็นต้น จะช่วยชะลอข้าวเปลือกไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำในช่วงผลผลิตออกมามากๆได้
เหล่านี้เป็นผลการศึกษา ‘โครงการโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร’ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะสร้าง ‘ภาระการคลัง’ เพิ่มขึ้นทุกปี และอาจทำให้การก่อหนี้ของภาครัฐในปีงบ 2566 ถึงทางตันหรือไม่?
อ่านประกอบ :
‘นบข.’ไฟเขียว'ประกันรายได้ชาวนาปี 4-มาตรการคู่ขนาน-ช่วยค่าบริหารข้าว' วงเงิน 1.5 แสนล.
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?
'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ชดเชยส่วนต่าง'ประกันรายได้ชาวนา-ช่วยต้นทุนปลูกข้าวแล้ว 1.36 แสนล้าน
เหลือแค่หมื่นล.! 'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ประกันรายได้ชาวนา' งวด 3-7 รวดเดียว 6.4 หมื่นล้าน
‘บอร์ด ธ.ก.ส.’เคาะโอนเงินประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยเหลือต้นทุนชาวนา เริ่ม 9 ธ.ค.นี้
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?
ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา
ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’