“…แต่โครงการก็มีจุดบกพร่อง คือ ราคาข้าวในตลาดไม่เคยสูงกว่าราคาเป้าหมายเลย เพราะตลาดรู้ว่าไม่ว่าราคาข้าวจะต่ำอย่างไร รัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่าง แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว คือ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ผมเรียกว่าเป็นนโยบายแช่แข็งเกษตรกร เพราะเกษตรกรจะไม่ปรับตัวอะไรเลย พอทำนาแล้วก็จะรอเงิน 4 หมื่น จนทำให้ศักยภาพการผลิตข้าวเราสู้เขาไม่ได้…”
.......................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2565 โดย รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าว กล่าวในหัวข้อ ‘นโยบายข้าวไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน’ โดยระบุว่า หลังจากพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมเกทับกันในเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำ และการประกันรายได้ ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่างๆใช้เงินอุดหนุนราคาข้าวให้ชาวนารวม 1.2 ล้านล้านบาท
“ข้าวจากพืชเศรษฐกิจดีๆ วันนี้ถูกลากจูงเข้าไปสู่พืชการเมือง มีการใช้ระบบประชานิยมเป็นตัวจับ และมีการเกทับทางการเมือง จนส่งผลให้เกิดปัญหาร้ายแรง คือ เศรษฐกิจข้าวไทยทั้งระบบ แม้ไม่ถึงกับพัง แต่มันเสื่อมลงไปเลย แล้ววันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราดูแล้ว รัฐบาลใส่เงินเข้าอุดหนุนในเรื่องข้าว ทั้งโครงการรับจำนำ และโครงการประกันรายได้ฯ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท” รศ.สมพร กล่าว
(รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
@ย้อนอดีต ‘จำนำทุกเมล็ด’ ทำลายอุตสาหกรรมข้าว
รศ.สมพร กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในยุคเริ่มแรกเป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต่อมาในปี 2529 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ได้เข้าไปแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกในปริมาณ 2 ล้านตัน จากนั้นในช่วงปี 2530-40 ตลาดกลางค้าข้าวเริ่มมีบทบาทในการเป็นแหล่งอ้างอิงราคาข้าว ทำให้ตลาดข้าวในยุคนั้นทำงานได้ดี เพราะปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยมีโครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวเสริม
เมื่อมาถึงปี 2544 นโยบายทางการเมืองได้ให้ความสนใจกับนโยบายแทรกแซงราคาข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่สิ่งที่แตกต่างจากโครงการฯในอดีต คือ รัฐบาลได้ขยายวงเงินจำนำข้าวให้ชาวนาแต่ละรายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่อยู่ที่รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ก็ขยายเป็นรายละ 3.5 แสนบาท และขยายวงเงินเป็นรายละ 5 แสนบาท ในปี 2551 รวมทั้งขยายปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือกเป็น 9 ล้านตันในปี 2546
“แรกๆเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฯอยู่ที่ปีละ 1 หมื่นล้าน ก่อนจะวงเงินที่ใช้จะขยายไปเป็น 7 หมื่นล้านบาท ในปี 2546-47 จนทำให้เรา (รัฐบาล) เก็บข้าวเกินครึ่งหนึ่งของข้าวที่อยู่ในตลาด” รศ.สมพร กล่าว
แต่ที่ร้ายที่สุด คือ เมื่อปี 2554 พรรคการเมืองใช้ข้าวเป็นโยบายทางการเมืองเต็มตัว กระทั่งในปี 2554-57 รัฐบาลในสมัยนั้นได้ทำโครงการ ‘จำนำข้าวทุกเมล็ด’ และกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาด 50% ทำให้ตลาดข้าวถูกรวบมาเป็นของรัฐ เอกชนไม่มีสิทธิ์ซื้อข้าวได้ หากจะซื้อต้องซื้อจากรัฐ เพราะรัฐเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวกลายๆนั่นเอง ขณะที่รัฐต้องใช้เงินในโครงการฯเพิ่มปีละเป็นแสนล้านบาท จากในช่วงปี 2547-51 ที่ใช้เงินเฉลี่ยปีละ 3 หมื่นล้าน
ส่วนข้าวเปลือกที่รับจำนำมานั้น เมื่อเกษตรกรไม่มาไถ่ถอน เพราะรัฐตั้งราคาจำนำไว้สูงกว่าตลาด 50% จึงเป็นภาระรัฐบาลที่ต้องระบายข้าวออก และระบายข้าวออกมาในราคาต่ำ เนื่องจากผู้ซื้อรู้ว่ารัฐบาลเดือดร้อนในการระบายข้าวออก เพราะมีข้าวในสต็อกมาก ซึ่งภาพที่ในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ที่รัฐบาลใช้นโยบายจำนำข้าวในราคาสูง และเมื่อเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนข้าวออกไป ทำให้รัฐมีภาระคงค้างจากโครงการรับจำนำฯในขณะนั้นกว่า 1 แสนล้านบาท
“เราเสียเงินในการแทรกแซงราคาข้าวผ่านโครงการรับจำนำในช่วง 2 ปีครึ่ง หรือ 5 ฤดูกาลผลิต (2554-57) เป็นเงิน 8 แสนล้าน แล้วเงินที่เราใช้แทรกแซงไป 8 แสนล้านนั้น เราขายข้าวได้เงินกลับมาเพียง 2 แสนล้านบาท และมีข้าวสารในสต็อกเหลือ 16-17 ล้านตัน ในช่วงที่ คสช. เข้ามา จากนั้น คสช.ก็ขายข้าว 16 ล้านตัน ได้เป็นเงินมาอีก 1 แสนล้านบาท ดันนั้น การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในครั้งนั้น เราขาดทุน คือ งบประมาณหายไป 5 แสนล้าน” รศ.สมพร ระบุ
รศ.สมพร กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า โครงการรับจำนำข้าวฯ เป็นโครงการที่ยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนานั้น อันนี้ไม่เถียง แต่การทำให้อุปทานข้าวมาอยู่ในการควบคุมของรัฐ หรือรัฐเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวไว้เสียเองนั้น ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมตามมา ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งคดีมีปัญหาจนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบอุตสาหกรรมข้าวไทยในระยะยาว
“พฤติกรรมชาวนาเปลี่ยนไป จากเดิมที่เลือกปลูกข้าวที่มีคุณภาพ อายุยาวหน่อย เมล็ดสวย กินอร่อย ก็หันไปหาข้าวพันธุ์อายุสั้นเข้ามา เก็บเกี่ยวเร็ว เพื่อทำรอบเร็ว ตลาดกลางค้าข้าวที่เคยทำงานได้ เช่น ท่าข้าวกำนันทรงก็เจ๊ง ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าก็เจ๊ง และถูกยุบไป เราสูญเสียตลาดส่งออกข้าวไปจนวันนี้เรายังไม่ฟื้น ข้าวที่เราเคยส่งออกได้ปีละ 10 ล้านตัน วันนี้ลงมาเหลือ 7 ล้านตัน ข้าวที่ยังอยู่ในสต็อกอีก 2 แสนตัน ก็จะต้องขายเป็นข้าวเป็ด” รศ.สมพร กล่าว
@ชี้ ‘ประกันรายได้’ เป็นนโยบาย ‘แช่แข็ง’ ชาวนาไม่ให้ปรับตัว
รศ.สมพร กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวนานั้น เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2552 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยรัฐบาลจะกำหนดราคาประกันรายได้ข้าวเอาไว้ หากราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมาย รัฐจะจ่ายส่วนต่างให้ชาวนา ซึ่งวิธีการนี้รัฐไม่ต้องเก็บข้าวไว้เหมือนโครงการรับจำนำฯ โดยในปีการผลิต 2552/53 และปีการผลิต 2553/54 รัฐบาลจ่ายเงินส่วนต่างให้ชาวนาไปรวม 1.15 แสนล้าน แบ่งเป็นปีแรก 4 หมื่นล้านบาท และปีที่สอง 7 หมื่นล้านบาท
ต่อมาในปี 2562 โครงการประกันรายได้ฯถูกนำกลับมาใหม่ หลังพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง และนอกจากโครงการประกันรายได้ฯแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการคู่ขนานด้วย เช่น ช่วยเหลือค่าบริหารจัดการข้าวฯไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ,สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ,สินเชื่อรวบรวมข้าวเปลือก และการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีเก็บข้าว ซึ่งในช่วง 3 ปีการผลิต คือ ปี 2562/63 ถึงปี 2564/65 รัฐจ่ายเงินชดเชยไป 3.21 แสนล้านบาท
“แม้ว่าโครงการประกันรายได้ฯจะเป็นเพียงการจ่ายส่วนต่างฯแล้วให้ตลาดทำงานไป แต่โครงการก็มีจุดบกพร่อง คือ ราคาข้าวในตลาดไม่เคยสูงกว่าราคาเป้าหมายเลย เพราะตลาดรู้ว่าไม่ว่าราคาข้าวจะต่ำอย่างไร รัฐก็ต้องจ่ายส่วนต่าง แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาว คือ นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ผมเรียกว่าเป็นนโยบายแช่แข็งเกษตรกร เพราะเกษตรกรจะไม่ปรับตัวอะไรเลย พอทำนาแล้วก็จะรอเงิน 4 หมื่น จนทำให้ศักยภาพการผลิตข้าวเราสู้เขาไม่ได้” รศ.สมพร กล่าว
รศ.สมพร เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมุ่งเน้นการใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกร โดยมีหมุดหมายว่าไทยจะต้องก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูงให้ได้ รวมทั้งมีนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการเข้าสู่เป้าหมายความเป็นทางคาร์บอน ดังนั้น รัฐบาลผลักดันนโยบายเหล่านี้มาใช้กับเรื่องข้าว เช่น สนับสนุนการผลิตข้าวอินทรีย์ รวมทั้งสร้างช่องทางการทำตลาดใหม่ๆ เป็นต้น
ส่วนการอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น รัฐบาลยังทำได้ แต่ต้องช่วยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนจริงๆ หรือเกษตรกรกลุ่มเปราะบาง และเห็นว่ารัฐบาลควรต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยข้าวแบบมีพลวัตร การเพิ่มงบลงทุนวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว เพราะจากข้อมูลพบว่าในช่วงปี 2551-58 รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อการวิจัยข้าวเพียงปีละ 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเงินประกันรายได้ที่รัฐจ่ายไปปีละ 1 แสนล้านบาท
“ถ้าเราจะหักมุมให้ข้าวไทยกลับมาเข้มแข็ง ไม่ทรุดลงไปอีก เราต้องปรับนโยบาย ต้องลดทอนการอุดหนุนราคาข้าว แล้วเปลี่ยนมาเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต” รศ.สมพร กล่าว
@ชี้การให้ ‘เงินอุดหนุน’ ทำให้ชาวนาขาดแรงจูงใจปรับตัว
ด้าน นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในหัวข้อ ‘นโยบายข้าวไทยในกระแสของโลกยุคใหม่’ ว่า ที่ผ่านมาไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก มานาน 2 ทศวรรษ และสามารถขายข้าวได้ในราคาสูงกว่าคู่แข่ง เพราะข้าวมีคุณภาพดี และยอดขายข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวมูลค่าสูง ข้าว 5% ข้าว 100% หรือแม้แต่ข้าวนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้าวไทยเริ่มหยุดชะงัก เพราะแรงงานภาคเกษตรหยุดเคลื่อนย้ายออก และแรงงานสูงอายุอพยพกลับภูมิลำเนาหลังมีโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้ภาคเกษตรมีการจ้างงาน 25-28% ของแรงงานทั้งหมด แต่มีรายได้เพียง 8-9% ของจีดีพีเท่านั้น ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรต่างกันถึง 4.5 เท่า เทียบกับมาเลเซียและจีนที่ความเหลื่อมล้ำรายได้อยู่ที่เพียง 1 เท่าเศษ
“ความชะงักงันจากปัญหาภายในของอุตสาหกรรมข้าวไทย ทำให้ไทยสูญเสียตลาดข้าวทุกประเภทให้คู่แข่ง โดยเสียตลาดข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวให้เวียดนาม เสียตลาดข้าวขาวและข้าวนึ่งให้อินเดีย ขณะที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ทรงตัวและต่ำกว่าคู่แข่ง แพ้แม้กระทั่งบังคลาเทศ ศรีลังกา และเนปาล เพราะเราไม่ได้ลงทุนวิจัย แต่คนอื่นลงทุนวิจัย อีกทั้งการที่เกษตรกรแก่ตัว ทำให้ขาดแรงจูงใจในการปรับตัว กระทั่งเราติดอยู่ในกับดักวัฏจักรผลิตภาพต่ำ” นิพนธ์ ระบุ
นิพนธ์ กล่าวต่อว่า อีกปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย คือ นโยบายอุดหนุนราคาข้าวของภาครัฐ ซึ่งกำลังทำลายแรงจูงใจการปรับตัวของชาวนาลงอย่างสิ้นเชิง โดยผลศึกษาพฤติกรรมชาวนาที่ จ.อุบลราชธานี และสุพรรณบุรี พบว่านโยบายอุดหนุนดังกล่าว ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจใช้เทคโนโลยีใหม่ชัดเจน ในขณะที่การอุดหนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการประกันรายได้และการอุดหนุนต้นทุนผ่านโครงการปรับปรุงคุณภาพฯมีความซ้ำซ้อนกัน
“มาตรการประกันรายได้ฯได้คำนวณต้นทุนปลูกข้าวเอาไว้แล้ว และบวกกำไรให้ด้วย แต่เนื่องจากมีนโยบายที่ 2 พรรครัฐบาลหาเสียงไว้ ก็เลยต้องมี 2 นโยบายซ้ำซ้อนกัน คือ ให้ทั้งเงินประกันรายได้ และเงินอุดหนุนต้นทุน ซึ่งในปีการผลิต 2564/65 มีการอุดหนุนชาวนา กลุ่มสหกรณ์ และโรงสี 1.8 แสนล้าน แต่เฉพาะเงินประกันรายได้และเงินช่วยเหลือต้นทุนฯ พบว่ามีสูงถึงเกือบ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินนอกงบ และสูงกว่างบกระทรวงเกษตรฯทั้งกระทรวง” นิพนธ์ ย้ำ
(นิพนธ์ พัวพงศกร)
@เสนอเลิก ‘อุดหนุนต้นทุน’ โยกงบไปสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพ
นิพนธ์ ระบุว่า จากผลศึกษาเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมข้าวไทย พบว่ามีฉากทัศน์ที่พึงปรารถนา 2 ฉากทัศน์ จากทั้งหมด 4 ฉากทัศน์ ได้แก่ ฉากทัศน์ที่ 2 คือ ชาวนาไฮเทครายใหญ่ และเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ซึ่งผลิตข้าวมวลชนที่มีคุณภาพสูง โดยใช้สมาร์ทเทคโนโลยี และฉากทัศน์ที่ 4 พันธมิตรกลุ่มชาวนา ธุรกิจ และนักวิชาการ รวมตัวผลิตข้าวที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด เช่น ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวที่ผู้บริโภคต้องการ และข้าวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
“ฉากทัศน์ที่ 2 และฉากทัศน์ที่ 4 เป็นฉากทัศน์พึงปรารถนา แต่ที่ดีที่สุด คือ ฉากทัศน์ที่ 4 และแม้ว่าฉากทัศน์ที่ 4 จะทำให้การส่งออกข้าวลดลง แต่มูลค่าจะสูงขึ้น มีความเป็นธรรมและสอดคล้องกับชาวนารายเล็ก ดังนั้น การรวมกลุ่มจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม แต่การจะเปลี่ยนจากชาวนามือถือไปเป็นชาวนาตามฉากทัศน์ 2 หรือฉากทัศน์ 4 นั้น ต้องยกเครื่องสถาบันและนโยบายข้าวไทย โดยมีเป้าหมายไปที่การเพิ่มรายได้สุทธิเกษตรกร และเพิ่มผลผลิตต่อไร่” นิพนธ์ กล่าว
นิพนธ์ เสนอว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปวัตถุประสงค์ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร โดยเฉพาะนโยบายอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการปรับตัวรับมือกับช็อกต่างๆ และต้องตัดเงินอุดหนุนที่ซ้ำซ้อนกัน คือ มาตรการประกันรายได้ และมาตรการช่วยเหลือเรื่องต้นทุนฯ โดยยกเลิกมาตรการช่วยเหลือต้นทุนฯปีละ 5.5 หมื่นล้านบาท แล้วโยกเงินไปส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ต้องยกเครื่องนโยบายและสถาบันด้านการวิจัย โดยต้องเพิ่มงบวิจัยข้าวเป็น 1% ของจีดีพีข้าว หรือคิดเป็น 3,000-3,500 ล้านบาท/ปี เป็นเวลา 5 ปี ,สร้างแรงจูงใจในการผลิตนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว ,เพิ่มงบวิจัยข้าวในระดับมหาวิทยาลัย โดยเน้นไปที่การวิจัยแบบพุ่งเป้า ,ยกเลิกนโยบายสนับสนุนแบบเหมาโหลเป็นนโยบาย 4 ประสาน ,ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการปฏิรูปสถาบันรับรอง ผลิตเมล็ดพันธุ์และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น
เหล่านี้เป็นมุมมองของ 2 นักวิชาการ ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับโครงการอุดหนุน 'ราคาข้าวเปลือก' ของรัฐบาลในอดีตและปัจจุบัน คงต้องติดตามต่อไปว่าในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า บรรดาพรรคการเมืองต่างๆจะใช้ 'นโยบายประชานิยมข้าว' เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากชาวนากันอย่างไรบ้าง?
อ่านประกอบ :
โอนแล้ว 1.4 หมื่นล.! ‘บิ๊กตู่’คิกออฟจ่าย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้ชาวนา-อุดหนุนไร่ละ 1 พัน
ครม.ควัก 8.1 หมื่นล้าน ถม ‘ประกันราคาข้าว เฟส 4’ คาดเงินถึงมือชาวนา 22 พ.ย. 65
ชำแหละ‘ประกันรายได้’ 4 พืช 3 ปี‘ภาระการคลัง’พุ่ง 2.57 แสนล. งบฯ 66 ก่อหนี้รัฐถึงทางตัน?
‘นบข.’ไฟเขียว'ประกันรายได้ชาวนาปี 4-มาตรการคู่ขนาน-ช่วยค่าบริหารข้าว' วงเงิน 1.5 แสนล.
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?