“…การที่ชาวนาทำนาแล้วได้กำไร โดยที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุน ทำให้ขณะนี้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยต่ำที่สุดในเอเชียแล้ว ต่ำกว่ากัมพูชา ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย เพราะในขณะที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยทรงตัว แต่ผลผลิตของประเทศอื่นเพิ่มขึ้นทุกปี…”
................................
ในห้วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินหน้า ‘โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว’ และ ‘โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ’ เพื่อดูแลชาวนา 4.5 ล้านครัวเรือนทั่วประทศ โดยในช่วง 3 ปีการผลิต รัฐบาลอนุมัติงบเพื่อสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ เป็นเงินกว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว
แต่ทว่าสิ่งที่ปรากฏ คือ ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในวังวน ‘หนี้สิน’ และชาวนายังคงต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เพื่อให้พอมี ‘กำไร’ จากอาชีพทำนาต่อไป
@รัฐทุ่มงบอุดหนุนชาวนาโดยตรง 3 ปีการผลิต 3.2 แสนล้าน
นับตั้งแต่ฤดูกาลผลิตข้าว ปีการผลิต 2562/63 จนถึงปีการผลิต 2564/65 รัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบอุดหนุนชาวนาโดยตรง (ไม่รวมมาตรการคู่ขนาน) ผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและโครงการสนับสนุนต้นทุนฯ รวมแล้ว 321,245 ล้านบาท ได้แก่
ปีการผลิต 2562/63 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 76,049 ล้านบาท
ปีการผลิต 2563/64 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 106,740 ล้านบาท
ปีการผลิต 2564/65 รัฐอนุมัติงบอุดหนุนทั้ง 2 โครงการ รวม 138,456 ล้านบาท
ที่สำคัญในขณะที่วงเงินที่รัฐบาลอนุมัติจัดสรรเพื่ออุดหนุนชาวนา 'เพิ่มขึ้น' ทุกปี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ ‘หนี้สินชาวนา’ ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลข ‘หนี้สินครัวเรือนเกษตรกร’ ลดลงเลย และหนี้สินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ครัวเรือนเกษตรกรไทยมีประมาณ 8 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนชาวนา 4.59 ล้านครัวเรือน)
เห็นได้จากข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยแพร่เมื่อต้นปี 2565 ซึ่งประเมินว่า หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2564 อยู่ที่เฉลี่ย 262,317 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 225,090 บาท/ครัวเรือน และเพิ่มขึ้น 18.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 มีครัวเรือนเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 221,490 บาท/ครัวเรือน
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานในพิธีมอบเงินตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปีการผลิต 2564/65 ณ ธ.ก.ส. สาขาตลาดกลางสินค้าเกษตรสุพรรณบุรี อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2564 ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
@ชาวนาโอดต้นทุนเพิ่ม-ค่าครองชีพพุ่งสวนทาง‘ราคาข้าว’
“ตอนนี้ทำนา 20 ไร่ เป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งต้นทุนทุกอย่าง เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง และค่าเก็บเกี่ยว ฯลฯ ตกไร่ละ 7,000-8,000 บาท และแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการประกันรายได้ฯ แต่ถ้าปีไหน เจอฝนแล้ง น้ำท่วม ก็ต้องปลูกใหม่ หนี้สินก็เพิ่มขึ้นๆ” ป้าจำนงค์ คำเอี่ยม ชาวนา จ.ชัยนาท กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ป้าจำนงค์ หนึ่งในชาวนาที่มาร่วมปักหลักชุมนุมที่บริเวณกระทรวงการคลัง เป็นวันที่ 26 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กลไกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) รับซื้อหนี้สินชาวนาไปบริหาร บอกว่า ขณะนี้ชาวนาส่วนใหญ่อยู่ในภาวะ ‘ชักหน้าไปถึงหลัง’ เพราะในขณะที่ราคาข้าวเปลือกไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตทุกอย่างแพงขึ้นหมด
“น้ำมันก็ขึ้น ปุ๋ย เมื่อก่อนลูกหนึ่งแค่ 600-700 บาท แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ค่ายาเมื่อก่อนห่อละ 100 กว่าบาท ตอนนี้เพิ่มเป็นห่อละ 300 กว่าบาท ขณะที่ค่าแรงและค่าเก็บเกี่ยว ก็ขึ้นเหมือนกัน เพราะค่าน้ำมันขึ้น แต่ยังขึ้นน้อยกว่าค่าปุ๋ย ค่ายา” ป้าจำนงค์ กล่าว
ป้าจำนงค์ ซึ่งทำนาโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ยังระบุว่า อาชีพทำนา มีความไม่แน่นอนสูง บางปีผลผลิตดี ก็มีเงินพอใช้หนี้ใช้สินธนาคาร มีเงินเหลือไปลงทุนปลูกข้าวในรอบถัดไป แต่ถ้าปีไหนนาเสียหาย เพราะฝนแล้ง น้ำท่วม ก็ต้องไปกู้หนี้ยืนสินมาทำนาใหม่ หรือหากแย่สุดก็ไม่มีเงินหมุนส่งหนี้ธนาคาร
“ปีที่แล้ว พอหว่านเสร็จ น้ำท่วมเลย เราต้องไถ่ แล้วหว่านใหม่ แต่ก็เกิดน้ำท่วมอีก ผลผลิตก็ไม่ได้เท่าที่ควร ได้แค่เอาข้าวไว้กิน บางส่วนก็ขาย เอาไปใช้หนี้ค่ารถ ค่าเกี่ยว ไม่มีเงินส่งธนาคาร” ป้าจำนงค์ ซึ่งเป็นหนี้ธนาคารแห่งหนึ่ง 3 แสนบาท และเพิ่งได้การรับอนุมัติจาก กฟก. ในการรับซื้อหนี้สินเมื่อปลายปีที่แล้ว กล่าว
ป้าจำนงค์ ยืนยันว่า โครงการประกันรายได้ฯ และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตฯ เป็นโครงการที่ชาวนาได้ประโยชน์ เพราะชาวนาจะได้เงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หากมี 20 ไร่ ก็ได้ 20,000 บาท แล้วยังมีการชดเชยส่วนต่างให้อีก เพียงแต่ว่าเงินที่รัฐบาลอุดหนุนนั้น ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
“แม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการช่วยเหลือชาวนาในเรื่องต่างๆ แต่ทุกวันนี้รายได้ที่ชาวนาได้ แทบจะไม่พอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งชาวนาต้องมีภาระอื่นๆ เช่น ค่าส่งลูกเรียน ค่าใช้จ่ายในครอบครัว ชาวนาบางคนส่งหนี้ไม่ได้ ก็จะเจอดอกเบี้ยปรับสูงถึง 18-19% ต่อปี ถ้านำเงินมาส่ง ธนาคารก็จะนำไปตัดดอกเบี้ยก่อน ไม่ได้ตัดต้นเลย” ป้าจำนงค์ กล่าว
(จำนงค์ คำเอี่ยม)
@'ชาวนา'พอใจประกันราคาข้าวฯ-เร่งปรับตัวลดต้นทุนผลิต
ด้าน ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า ในช่วง 2-3 ที่ผ่านมา โครงการประกันรายได้ฯของรัฐบาล สามารถช่วยลดปัญหาหนี้สินของชาวนาได้ระดับหนึ่ง และถ้าไม่มีโครงการนี้ ชาวนาคงแย่ เพราะทุกวันนี้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำมาก แต่มีต้นทุนการผลิตสูงทุกปี
“ในมุมมองชาวนา ชาวนาเขาพอใจ และเขาก็อยากให้มีโครงการแบบนี้ในระยะยาว เพราะเงินไปถึงมือชาวนาโดยตรง” ปราโมทย์ กล่าวและว่า “หากเป็นไปได้การปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2565/66 รัฐบาลควรปรับขึ้นราคาประกันข้าวด้วย เพราะตอนนี้ข้าวของ อาหารการกินทุกอย่างแพงขึ้นหมด น้ำมันก็ขึ้น ปุ๋ยก็ขึ้น ราคาข้าวก็น่าจะปรับขึ้นตามนั้น” ปราโมทย์ กล่าว
ปราโมทย์ ยังระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวนามีการปรับตัวมาตลอด โดยเฉพาะการปลูกข้าว เช่น ลดใช้สารเคมีและค่อยๆปรับมาทำนาอินทรีย์ ทำให้ต้นทุนค่าปุ๋ยเหลือไร่ละ 1,700-1,800 บาท จากนาเคมีที่มีค่าปุ๋ยไร่ละ 4,000-5,000 บาท รวมทั้งส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม เช่น ข้าวพันธุ์ กข 79 , กข 87 และ กข 43 ซึ่งตอนนี้มีการปลูกเพิ่มขึ้นและเริ่มติดตลาดแล้ว
นอกจากนี้ การที่ชาวนาเปลี่ยมาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่งบางพันธุ์ให้ผลผลิตไปถึง 1 ตัน/ไร่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้ระยะการเก็บเกี่ยว 120-130 วัน และหากน้ำไม่พอ ก็ต้องสูบน้ำมาเติมบ้าง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้ชาวนายังปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆไม่ได้มากนัก เพราะพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ยังผลิตได้น้อย ซึ่งทราบว่ากรมการข้าวได้สั่งศูนย์ข้าวชุมชนให้มีการผลิตพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้นแล้ว
“เราส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มในหลายพื้นที่แล้ว เช่น กำแพงเพชร เราปลูก 3 หมื่นไร่ แล้วยังมีพื้นที่อื่นๆอีก เช่น อยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และเขตหนอกจอก กรุงเทพฯ ซึ่งมีการปลูกข้าวพันธุ์ กข 79 และ กข 87 กันเยอะ ส่วนข้าวพันธุ์ กข 85 ก็ปลูกกันที่พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ และพิจิตร หลายหมื่นไร่แล้ว ซึ่งข้าวเหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาด” ปราโมทย์ กล่าว
(ปราโมทย์ เจริญศิลป์)
ปราโมทย์ ย้ำว่า "ต่อไปนี้ ชาวนาจะต้องเลือกแล้วว่า จะปลูกข้าวพันธุ์ใด แต่แน่นอนว่าต้องเป็นข้าวคุณภาพ เพราะถ้าไม่ทำข้าวคุณภาพ ราคาตกแน่ และที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้ประสานงานกับโรงสีว่า ต้องการข้าวประเภทใด ชาวนาก็ปลูกให้เขา จากในอดีตที่ชาวนาปลูกข้าวกันอย่างสะเปะสะปะมาตลอด"
ปราโมทย์ เสนอว่า ในขณะที่ประเทศไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ แต่ทำไมรัฐบาลจึงไม่ส่งเสริมให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ หันมาใช้ปลายข้าวในประเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร เพราะนอกจากจะมีต้นทุนอยู่ที่ 12-13 บาท/กก.แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการใช้ข้าวไทยในประเทศด้วย
@‘ผู้ส่งออกข้าว’แนะเร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพิ่มผลผลิตเป็นไร่ละ 1 ตัน
ขณะที่ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้ความเห็นว่า แม้ว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาจะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ปัญหา คือ โครงการฯนี้ ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาปรับตัว ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชาวนาก็ยังปลูกข้าวแบบเดิม ที่ให้ผลผลิตเพียง 400-500 กิโลกรัม (กก.)/ไร่ ส่งผลให้ข้าวไทยแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้
“โครงการประกันรายได้ฯ ทำให้รายรับกับชาวนาเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ถามว่ารัฐบาลมีอะไรจูงใจให้เขาปรับปรุงตัวเองหรือเปล่า ซึ่งในความเป็นจริง คือ ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจเลยว่า เราจะต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ เพราะข้าวที่เราปลูกได้ 400-500 กก./ไร่ มันไม่มีทางรอดแล้ว เราแข่งขันกับเขาไม่ได้
วันนี้ข้าวที่ให้ผลผลิต 400-500 กก./ไร่ ต้องหมดไปแล้ว มันต้องปลูกได้ 1 ตันกว่าๆแล้ว และต้นทุนต้องต่ำที่สุด จึงจะแข่งกับเขาได้ เพราะทุกประเทศเขาไปถึงขนาดนั้นแล้ว อย่างข้าวหอมมะลิ เราปลูกได้ 350 กก./ไร่ แม้ว่าจะให้ราคาประกัน 20,000 บาท/ตัน แต่ก็สู้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆที่ปลูกได้ 1 ตันกว่าๆ แต่ขายกันที่ 5,000-6,000 บาท/ตัน ไม่ได้เลย" เจริญ กล่าว
เจริญ ยังยกตัวอย่างว่า เมื่อก่อนอินเดียส่งออกน้อย สู้ไทยไม่ได้ เพราะปลูกข้าวบาสมาติ ซึ่งให้ผลผลิต 300 กก./ไร่ แต่เมื่ออินเดียหันไปมุ่งเน้นการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว 'ปูซา-บาสมาตี' รวมถึงปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ ซึ่งให้ผลผลิตไร่ละ 1 ตันกว่าๆ ทำให้อินเดียส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยปีที่แล้วอินเดียส่งออกข้าวได้ถึง 20 ล้านตัน แต่ของเรายังไม่ไปไหนเลย
นอกจากนี้ ในขณะที่เวียดนามทุ่มงบวิจัยพันธุ์ข้าวอย่างเดียว ปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,000-9,000 ล้านบาท แต่กรมการข้าวของไทยกลับได้รับอนุมัติจัดสรรงบเพียงปีละ 400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งงบดังกล่าวส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นเงินเดือนและงบประจำ เหลือเป็นงบวิจัยพันธุ์ข้าวไม่เท่าไหร่ และทุกวันนี้ไทยแทบไม่มีนักวิจัยพันธุ์ข้าวรุ่นใหม่เลย
เจริญ ยังกล่าวถึงปัญหาหนี้ของชาวนาว่า “ถ้ามีน้ำ ชาวนาก็ทำนา เพราะถ้าชาวนาไม่ได้ทำนา ก็จะไปเอาเงินกู้จากธนาคารไม่ได้ ข้าวจึงเป็นสิ่งที่เดียวที่ปลูกแล้ว ชาวนาจะไปขอเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ได้ และไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เขา (ชาวนา) ก็ปลูกข้าว เพราะเขาเป็นหนี้ เขาต้องหมุนเงินของเขา”
(เจริญ เหล่าธรรมทัศน์)
@‘นักวิชาการ’ชี้‘ประกันรายได้ชาวนา’ไม่ได้ออกแบบมาแก้‘หนี้สิน’
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งติดตามนโยบายการให้ช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาลชุดต่างๆ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เจตนาของโครงการประกันรายได้ชาวนา คือ ทำให้ชาวนาไม่ขาดทุนจากการลงทุนปลูกข้าว และรัฐบาลยังบวกกำไรอีก 25% ให้ชาวนา
แต่ทั้งโครงการประกันรายได้ฯ ซึ่งรวมถึงโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท นั้น ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนาแต่อย่างใด
“โครงการประกันรายได้ฯถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ชาวนาไม่ขาดทุนในตอนต้น คือ ถ้าไปยืม ธ.ก.ส. หรือกองทุนหมู่บ้านมาทำนา เขาจะไม่ขาดทุนจากปลูกข้าว แต่โครงการเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา ขณะที่หนี้สินชาวนาก็เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้เงินสิ้นเปลือง รายจ่ายมากกว่ารายได้” ดร.นิพนธ์ ระบุ
(ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ที่มาภาพ TDRI)
ดร.นิพนธ์ ระบุว่า แนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา ก็ไม่ต่างจากการแก้ปัญหาหนี้สินของกลุ่มคนอาชีพอื่นๆ นั่นก็คือการให้ความรู้ในเรื่องการเงิน (Financial Literacy) ไม่ใช่ว่าเห็นอะไรแล้วต้องซื้อ หรือเล่นพนัน ติดเหล้าจนเป็นหนี้สิน และที่ผ่านมาภาครัฐเองก็มีเครื่องมือใที่ลดภาระให้ชาวนา ทั้งเรื่องส่งลูกเรียน และเรื่องการเจ็บป่วยอยู่แล้ว
“Financial Literacy เป็นเรื่องใหญ่ และวันนี้ภาครัฐก็มีกลไกที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายเกษตรกรในหลายเรื่อง เช่น ถ้าส่งลูกเรียน ก็มีกองทุน กยศ. หรือถ้าเจ็บป่วย ก็มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีกองทุนหมู่บ้านที่จะให้ชาวนาได้กู้ยืมในยามฉุกเฉินด้วย” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.นิพนธ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. อาจจะเป็นหนึ่งกลไกที่ทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้นก็ได้ เพราะมีหลายกรณีที่ ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างหนี้ให้กับชาวนา แล้วให้กู้หนี้ต่อ แต่กลับไม่เคยแนวทางส่งเสริมการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้ชาวนา และเมื่อชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็ต้องเสียที่ดินของตัวเองไป
@นโยบายอุดหนุนราคา ทำ'ผลผลิต/ไร่’ ข้าวไทยต่ำสุดในเอเชีย
ดร.นิพนธ์ เสนอว่า ในระยะต่อไป รัฐบาลจะต้องลดจำนวนเงินอุดหนุนชาวนาลง ทั้งในโครงการประกันรายได้ฯ และโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ลดการอุดหนุนการทำนาให้เหลือเพียง ‘เท่าทุน’ แล้วนำเงินที่รัฐประหยัดได้ไปสร้างจูงใจให้ชาวนาเพิ่มผลผลิต/ไร่ เพื่อทำให้มีรายได้สูงขึ้น ลดการใช้น้ำ และลดการใช้สารเคมี
“เราต้องเอาเงินอุดหนุนชาวนาที่ประหยัดได้ ไปใช้ในการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ ถ้าทำได้อย่างนี้ ชาวนาจะมีดีขึ้นกว่าเดิม และมีความยั่งยืนขึ้น” ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ชาวนาทำนาแล้วได้กำไร โดยที่ไม่ต้องทำอะไร เพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนนั้น ทำให้ขณะนี้ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยต่ำที่สุดในเอเชียแล้ว ต่ำกว่ากัมพูชา ศรีลังกา เนปาล บังกลาเทศ และอินเดีย เนื่องจากในขณะที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศไทยทรงตัว แต่ผลผลิตของประเทศอื่นเพิ่มขึ้นทุกปี
“นี่คือปัญหาใหญ่ของเมืองไทย และเราใช้น้ำเปลืองกว่าเพื่อน” ดร.นิพนธ์ ย้ำ
(กลุ่มชาวนาปักหลักชุมชน บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) รับซื้อหนี้สินชาวนาไปบริหาร เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
@รัฐอุดหนุนชาวนาแค่พอ ‘ประทัง’ ชีวิต-แต่ไม่ส่งเสริมให้เข็มแข็ง
ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวมากว่า 30 ปีและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนโยบายข้าวไทย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะอุดหนุนชาวนาผ่านโครงการประกันรายได้ฯและโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิต แต่อาจไม่ช่วยลดภาระหนี้สินชาวนาได้เท่าไหร่ หากชาวนายังมีรายได้จากการทำนาอย่างเดียว
“ลูกค้า ธ.ก.ส. 99% จะกู้เงินไปทำนา ถ้าเขานำเงินที่ได้จากการชดเชยประกันรายได้ฯ และค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งเฉลี่ยแล้วจะได้รายละ 45,000-50,000 บาท ไปจ่ายหนี้ หนี้ก็จะค่อยๆลด แต่ประเด็น คือ ชาวนาส่วนมากมีรายได้ทางเดียว โอกาสที่จะเอาเงินตรงนี้ไปใช้หนี้แทบไม่มี เพราะต้องเอาเงินไปใช้ในชีวิตประจำวัน” รศ.สมพร กล่าว
รศ.สมพร ย้ำว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าทุกรัฐบาลจะมีโครงการช่วยเหลือชาวนา แต่หนี้สินชาวนาไม่ได้ลดลง และยังขนาดหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าการประกันรายได้ชาวนา และการสนับสนุนเงินปรับปรุงคุณภาพข้าว (สนับสนุนต้นทุนการผลิต) เป็นเพียงการ ‘ประทัง’ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา แต่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา
(รศ.สมพร อิศวิลานนท์)
@เสนอ‘ถอยห่าง’นโยบายอุดหนุนชาวนา-จูงใจปลูกพืชผสมผสาน
รศ.สมพร กล่าวว่า “วันนี้นโยบายอุดหนุนชาวนา เหมือนสิ่งที่เสพติดไปแล้ว เพราะให้มานาน ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ จะมี 2 ขั้วที่เกทับกัน คือ ประกันรายได้ชาวนา แต่จะมีการปรับราคาประกันสูงขึ้นไป และโครงการจำนำข้าวเปลือกในราคาสูง ซึ่งผมคิดพรรคเพื่อไทยจะใช้สโลแกนนี้ในการหาเสียง แต่ทั้ง 2 นโยบายนี้ เป็นการแช่แข็งชาวนา”
รศ.สมพร เสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกรัฐบาล จะต้องเริ่มใช้นโยบาย ‘ถอยห่าง’ จากโครงการอุดหนุนชาวนาอย่างจริงจัง และหากรัฐบาลข้างหน้ายังจำเป็นชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ราคาข้าวเปลือก หรือมีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ราคาที่ให้กับชาวนาควรจะสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย และจัดสรรงบไปสนับสนุนให้ชาวนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต
“ต้องจูงใจให้ชาวนาหันไปทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา ปลูกพืชบนคันดิน ชาวนาจะมีรายได้หลายทาง หรือจูงใจให้ชาวนาหันไปทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่นว่า ต่อไปนี้ ถ้าใครทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลูกข้าว เลี้ยงปลา รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ในยุโรป เขาก็ใช้วิธีนี้” รศ.สมพร ระบุ
รศ.สมพร ยังมองว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีการปลูกข้าวมากเกินไป และใช้น้ำในระดับที่สูงมาก ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายปรับโครงสร้างการปลูกพืชอย่างจริงจัง เช่น ตอนนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาแพงมาก ทำอย่างไร จึงจะจูงใจให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวโพดให้มากขึ้น แทนที่ว่าฤดูแล้งจะปลูกข้าว ก็จูงใจให้มาปลูกข้าวโพดหรือพืชอื่นๆที่มีมูลค่าสูง
“วันนี้นโยบายทุกรัฐบาล เน้นแต่เรื่องราคา (price policy) แต่เรื่อง non-price policy แทบจะไม่เห็นเลย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเปลี่ยน mind set (กรอบความคิด) ของชาวนาใหม่ ว่า ถ้าอยู่อย่างเดิม สู้เขาไม่ได้แล้ว สู้อินเดีย สู้เวียดนาม ไม่ได้แน่นอน ข้าวอินเดียตอนนี้ 370 เหรียญ และถ้าจะพูดให้แรงๆ วันนี้นักการเมือง เอาแต่ได้” รศ.สมพร ย้ำ
อ่านประกอบ :
57 วัน 'ม็อบชาวนา' ปักหลักชุมนุม เรียกร้องรัฐโอนหนี้ 4 ธนาคารเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ
‘ต่างประเทศ’ สั่งซื้อข้าวไทยคึกคัก หวั่น 'ค่าขนส่ง' พุ่งไม่หยุด จากวิกฤติน้ำมันแพง
'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ชดเชยส่วนต่าง'ประกันรายได้ชาวนา-ช่วยต้นทุนปลูกข้าวแล้ว 1.36 แสนล้าน
เหลือแค่หมื่นล.! 'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ประกันรายได้ชาวนา' งวด 3-7 รวดเดียว 6.4 หมื่นล้าน
‘บอร์ด ธ.ก.ส.’เคาะโอนเงินประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยเหลือต้นทุนชาวนา เริ่ม 9 ธ.ค.นี้
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?
ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา
ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’
'บิ๊กตู่'เผยคิดวิธีหาเงินจ่ายชดเชย‘ประกันราคาข้าว’ได้แล้ว-'คลัง'เร่งเคลียร์หนี้คงค้าง
เปิดมติครม.! สั่ง ‘คลัง-พณ.-สำนักงบฯ’ หาเงินโป๊ะ ‘ประกันราคาข้าว’ อีก 7.6 หมื่นล.