“…ถ้าไม่มีปรับปรับนโยบาย สถานการณ์คลังของประเทศจะค่อยๆแย่ลง และวันนี้เราเห็นแล้วว่าโควิดไม่ยุติ แล้วยังมีสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาอีก ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น รายได้จากภาษีก็น้อย รัฐบาลก็ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก ต้องกู้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งถ้าคงนโยบายไว้อย่างนี้ ก็ยิ่งตาย ทั้งๆเป็นภาระที่ควรจะลดลงในช่วงแบบนี้…”
........................
หลังใช้เวลาหารือกันกว่า 3 สัปดาห์
ในที่สุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีมติอนุมัติจัดสรรวงเงิน ‘เพิ่มเติม’ 1.41 แสนล้านบาท สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 ,โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 3
‘แหล่งเงิน’ ที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการฯ โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ในโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา’ เพิ่มเติม 7.6 หมื่นล้านบาท จากวงเงินชดเชยส่วนต่างทั้งโครงการฯ 8.75 หมื่นล้านบาท และการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯ ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน วงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท นั้น
เป็นการ ‘กู้เงิน’ จาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปพรางก่อน
จากนั้นรัฐบาลจะตั้งงบปี 2566 และงบประมาณปีต่อๆไป เพื่อชำระคืนหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. ต่อไป (อ่านประกอบ : ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา , เปิดมติครม.! สั่ง ‘คลัง-พณ.-สำนักงบฯ’ หาเงินโป๊ะ ‘ประกันราคาข้าว’ อีก 7.6 หมื่นล.)
แต่ทว่าเพื่อให้ได้มา ซึ่ง ‘เงินกู้’ จาก ธ.ก.ส. ในครั้งนี้
รัฐบาลต้องตัดสินใจ ‘ขยายเพดาน’ อัตราส่วนภาระหนี้คงค้างที่ภาครัฐต้องชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เป็นไม่เกิน 35% ของงบประมาณประจำปี จากเดิมไม่เกิน 30% เป็นการชั่วคราวนาน 1 ปี (อ่านประกอบ : ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’)
เนื่องจากข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ย.2564 รัฐบาลมีกรอบวงเงิน ‘คงเหลือ’ ที่จะก่อหนี้ฯได้ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯอีกเพียง 5,360 ล้านบาท เท่านั้น
“ณ วันที่ 19 พ.ย.2564 มีวงเงินคงเหลืออยู่ที่ 5,360 ล้านบาท เมื่อเปิดวงเงินให้อีก 5% จะได้วงเงินมาอีก 155,000 ล้านบาท รวมเป็น 160,360 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอสำหรับจ่ายชดเชยในโครงการประกันรายได้” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา
อาคม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้นโยบายว่าจะต้องปรับ หรือทบทวนวิธีการเกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อลดภาระงบประมาณลง ซึ่งตรงนี้คงต้องดูวิธีการในเรื่องของการกำหนดราคา การลดต้นทุนการผลิต โดยจะมีการพิจารณากันในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)
(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง (กลาง) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล)
@จาก ‘จำนำ’ ถึง ‘ประกันรายได้’ รัฐติดหนี้ ธ.ก.ส. 5 แสนล้าน
นับตั้งแต่ รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินหน้าโครงการ ‘จำนำข้าวเปลือก’ และสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารา และมันสำปะหลัง ในปี 2554 จนกระทั่งผ่านยุครัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีโครงการ ‘ประกันรายได้เกษตรกร’ ในปัจจุบัน
แหล่งเงินทุนหลักที่รัฐบาล ‘กู้’ มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจำนำสินค้าเกษตร และโครงการประกันรายได้เกษตรกรนั้น ล้วนแล้วแต่มาจาก ธ.ก.ส.
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 พบว่า ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐทั้งสิ้น 546,889 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ 433,749 ล้านบาท (อ่านข้อมูลประกอบ)
(ที่มา : รายงานกิจการประจำปีบัญชี 2563 ธ.ก.ส. สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2564)
@หนี้ค้าง ‘ธ.ก.ส.’ ส่วนใหญ่มาจาก ‘จำนำ-ประกันรายได้-ช่วยต้นทุน’
เมื่อพิจารณารายการ/โครงการที่ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามธุรกรรมนโยบายรัฐ ซึ่งมีจำนวน 113 โครงการ ปรากฏว่า หนี้สินส่วนใหญ่ที่รัฐบาลค้างกับ ธ.ก.ส. นั้น เป็นหนี้สินจากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร , หนี้สินจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร และโครงการช่วยเหลือต้นทุนให้เกษตรกร ยกตัวอย่าง เช่น
สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ อาทิ โครงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 2554/55 หนี้รอการชดเชยฯ 6,026 ล้านบาท ,โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2554/55 หนี้รอการชดเชยฯ 5,460 ล้านบาท ,โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 หนี้รอการชดเชยฯ 11,761 ล้านบาท ,โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ปี 2555/56 หนี้รอการชดเชยฯ 5,778 ล้านบาท
โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 รอบที่ 2 หนี้รอการชดเชยฯ 9,845 ล้านบาท และโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 หนี้รอการชดเชยฯ 43,241 ล้านบาท เป็นต้น
สมัยรัฐบาล คสช. (พล.อ.ประยุทธ์) อาทิ โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง (จ่ายเงินชาวสวนยางไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) หนี้รอการชดเชยฯ 1,620 ล้านบาท ,โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 หนี้รอการชดเชยฯ 4,701 ล้านบาท
โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2560/61 หนี้รอการชดเชยฯ 29,512 ล้านบาท ,โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 หนี้รอการชดเชยฯ 52,221 ล้านบาท
โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน (จ่ายเงินชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) หนี้รอการชดเชยฯ 2,578 ล้านบาท และโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง พ.ศ.2561-62 หนี้รอการชดเชยฯ 10,529 ล้านบาท เป็นต้น
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 หนี้รอการชดเชยฯ 23,993 ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 หนี้รอการชดเชยฯ 18,272 ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-63 หนี้รอการชดเชยฯ 6,949 ล้านบาท
โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 หนี้รอการชดเชยฯ 23,996 ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2562/63 หนี้รอการชดเชยฯ 7,546 ล้านบาท ,โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 หนี้รอการชดเชยฯ 21,806 ล้านบาท
โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูการผลิต 2562/63 หนี้รอการชดเชยฯ 9,943ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 หนี้รอการชดเชยฯ 1,229 ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2563/64 หนี้รอการชดเชยฯ 1,381 ล้านบาท
โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 (จ่ายเงินชาวสวนลำไยไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 25 ไร่) หนี้รอการชดเชยฯ 2,883 ล้านบาท ,โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 หนี้รอการชดเชยฯ 48,430 ล้านบาท
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 (ชดเชยไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่) หนี้รอการชดเชยฯ 54,009 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 หนี้รอการชดเชยฯ 7,281 ล้านบาท เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติม : รายงานกิจการประจำปีบัญชี 2563 ธ.ก.ส.)
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงข่าวหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564)
@พบ 11 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีหนี้รอจ่ายชดเชย ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 3.4 เท่า
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนหนี้ที่ ธ.ก.ส. รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ ในปี 2563 (สิ้นสุด 31 มี.ค.2564) ซึ่งมีจำนวน 433,749 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เทียบกับหนี้ที่ ธ.ก.ส. รอการชดเชยจากรัฐบาลตามธุรกรรมนโยบายรัฐ ในช่วงก่อนที่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ จะมีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ในปี 2554
พบว่า หนี้ที่ ธ.ก.ส. รอการชดเชยจากรัฐบาล เพิ่มขึ้น 3.4 เท่าตัว ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา
หรือเพิ่มจาก 126,048 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มี.ค.2554 (หนี้สินส่วนใหญ่มาจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรและประกันรายได้เกษตรกร) เป็น 433,749 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มี.ค.2564 ขณะที่หนี้สินที่รัฐบาลค้างกับ ธ.ก.ส. ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรรอบใหม่ และการช่วยเหลือต้นทุนให้เกษตรกร
(ที่มา : รายงานกิจการประจำปีบัญชี 2554 ธ.ก.ส. สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.2555)
@มอง ‘ชดเชยส่วนต่าง-อุดหนุนต้นทุน’ เป็นการช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน
“น่ากังวลสิ เพราะตอนนี้ รัฐบาลขยายเพดานภาระหนี้คงค้างฯจาก 30% เป็น 35% อันนี้แปลว่างบประมาณที่จะเอาไปทำอย่างอื่น เอาไปสร้างถนน สร้างโรงเรียน จะลดลงไป 5% และยิ่งงบประมาณที่ต้องเอาไปจ่ายภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น งบด้านพัฒนาอื่นๆก็ลดลง ตรงนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เห็นชัดเจน”
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อดีตประธาน TDRI ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ต่อกรณีที่ ครม. มีมติอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม 1.4 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวฯ ซึ่งใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ ธ.ก.ส. จ่ายไปพรางก่อน
นิพนธ์ กล่าวต่อว่า เฉพาะโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมี 3 โครงการใหญ่ 5 โครงการย่อย ที่ต้องใช้วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การประกันรายได้ชาวนา, การช่วยเหลือต้นทุนไร่ละ 1,000 บาท, การจำนำยุ้งฉาง ,การให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมเข้าเปลือก และการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีซื้อข้าวเปลือก นั้น
โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นว่า มี 2 โครงการ ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือชาวนาซ้ำซ้อนกัน คือ การชดเชยส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ให้ชาวนา และการช่วยเหลือต้นทุนให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระมากเกินไป (อ่านประกอบ : เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก)
“มันช่วยเหลือช้ำซ้อนกัน ทำไมต้องช่วยเหลือซ้ำซ้อนล่ะ ในเมื่อราคาประกันฯในโครงการประกันรายได้ชาวนา เป็นราคาที่คำนวณจากต้นทุนบวกกำไรให้ 15% แล้ว แต่ทำไมยังต้องมีการช่วยเหลือต้นทุนอีก ซึ่งผมเคยค้านในที่ประชุม นบข. ว่าควรจ่ายอันเดียว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลมากเกินไป” นิพนธ์ กล่าว
@แนะอุดหนุนแบบ ‘มีเงื่อนไข’ ให้เกษตรปรับตัว-เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
นิพนธ์ กล่าวถึงจุดอ่อนของโครงการประกันรายได้ฯ ว่า โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะการประกันรายได้ให้กับชาวนาในขณะนี้ ไม่สนับสนุนให้ชาวนาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ดังนั้น ในระยะต่อไป รัฐบาลควรกำหนดแนวทางการอุดหนุนที่มีเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องปรับตัว
“มันเป็นแรงจูงใจว่า รับเงินแล้วก็ปลูกข้าว ไม่ต้องสนใจประสิทธิภาพ ไม่ต้องปรับตัว ซึ่งเมื่อหลายปีก่อนเคยมีโครงการคู่ขนานให้ชาวนาปรับตัวไปปลูกพืชอื่น แต่คนไม่ค่อยชอบทำ เพราะเป็นเงินกู้ และแรงจูงใจไม่มากเท่ากับรับเงินตรงนี้ ทำให้เกษตรกรบางคนที่เข้าโครงการปรับตัวแล้ว ต่อมาขอเปลี่ยนเข้าโครงการช่วยเหลือต้นทุน เพราะไม่ต้องทำอะไร
ดังนั้น ตราบใดที่มีเงินช่วยเหลือแบบนี้ จะไม่มีการปรับตัว ฉะนั้น ระบบการอุดหนุนในระยะต่อไป จะต้องเป็นระบบการอุดหนุนที่มีเงื่อนไขในเรื่องการปรับตัว เมื่อปรับตัวขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะสูงขึ้น
ซึ่งตอนนี้การชดเชยยังคงต้องมีอยู่ เช่น ในปีที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐจะต้องชดเชยส่วนต่างราคาที่ลดลงไปให้เกษตรกร ถ้าทำอย่างนี้ คนที่อยู่ในภาคเกษตรก็จะมีรายได้เท่ากับผู้อยู่นอกภาคเกษตร เช่น ถ้าราคาข้าวหรือพืชชนิดอื่นตกต่ำ ก็ได้รับชดเชยเป็นเงินขั้นต่ำ แต่หลังจากนั้น ต้องมีนโยบายว่า ถ้าจะเอาเงินต้องปรับตัว” นิพนธ์ กล่าว
(นิพนธ์ พัวพงศกร)
@ห่วงรัฐไม่ปรับนโยบายช่วยเหลือฯ เป็นระเบิดเวลา ‘วิกฤตการคลัง’
นิพนธ์ บอกว่า แม้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้งบประมาณ ‘น้อยกว่า’ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลชุดก่อนๆ เพราะรัฐบาลไม่ต้องลงมาซื้อขายข้าวเอง ไม่มีค่าเก็บ ไม่ต้องมีภาระขาดทุนหรือปัญหาการทุจริต แต่โครงการประกันรายได้ฯจะสร้างภาระการคลังให้รัฐบาลจนเกิดเป็นวิกฤตการคลังได้
“ถ้าไม่มีปรับปรับนโยบาย สถานการณ์คลังของประเทศจะค่อยๆแย่ลง และวันนี้เราเห็นแล้วว่าโควิดไม่ยุติ แล้วยังมีสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามาอีก ถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้น รายได้จากภาษีก็น้อย รัฐบาลก็ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก ต้องกู้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งถ้าคงนโยบายไว้อย่างนี้ ก็ยิ่งตาย ทั้งๆเป็นภาระที่ควรจะลดลงในช่วงแบบนี้
ซึ่งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ มีหลายประเทศที่ทำอย่างนี้ แล้วเกิดวิกฤติทางการคลังหลายประเทศในโลก เช่น เกิดวิกฤติทางการคลังในตุรกี ออสเตรเลีย และในอียูบางประเทศ ในที่สุดเขาก็ปรับนโยบายเรื่องการปรับตัวของภาคเกษตรใหม่ เพราะมันเห็นอยู่แล้วว่า จะเกิดระเบิดเวลาในอนาคต” นิพนธ์ ระบุ
นิพนธ์ ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองต่างก็ใช้นโยบายระยะสั้น เพื่อพยายามเอาชนะและให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากเกษตรกรเพียงอย่างเดียว ซึ่งตนเห็นว่านักการเมืองต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศด้วย อยากให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อประชาชนคนอื่นด้วย รับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศ เพราะเงินพวกนี้เป็นเงินของผู้เสียภาษีทั้งนั้น
“การเมืองควรจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในระยะยาว เพราะถ้าขืนคุณยังก่อหนี้ขนาดนี้ ในที่สุดตอนที่เกิดวิกฤตการคลังในอนาคต นักเมืองชุดนี้รับผิดชอบหรือเปล่า” นิพนธ์ ย้ำ
อ่านประกอบ :
ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา
ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’
'บิ๊กตู่'เผยคิดวิธีหาเงินจ่ายชดเชย‘ประกันราคาข้าว’ได้แล้ว-'คลัง'เร่งเคลียร์หนี้คงค้าง
เปิดมติครม.! สั่ง ‘คลัง-พณ.-สำนักงบฯ’ หาเงินโป๊ะ ‘ประกันราคาข้าว’ อีก 7.6 หมื่นล.
ธ.ก.ส.โอนเงินชดเชย ‘ประกันราคาข้าว’ ถึงมือชาวนาแล้ว 5.3 แสนครัวเรือน 1.12 หมื่นล้าน
'นายกฯ'สั่งแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ-‘ธ.ก.ส.’โอนเงินชดเชย'ประกันราคา'งวดแรก 9 พ.ย.นี้
‘พาณิชย์’เผย ‘ธ.ก.ส.’ทยอยโอนเงินชดเชย ‘ส่วนต่าง’ ประกันราคาข้าว‘งวดแรก’สัปดาห์หน้า
ภาระหนี้ชนเพดาน! เบื้องหลังโยก'ประกันราคาข้าว'ใช้งบ 65-รัฐหมุนเงินอุ้มอีก 1.2 แสนล.
ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน ‘ข้าว-มันฯ-ข้าวโพด’ อัดฉีดงบ-สินเชื่อ 1.38 แสนล.
เท 1.87 แสนล้านอุ้มชาวนา! ‘นบข.’ เคาะประกันรายได้-ช่วยต้นทุน-มาตรการพยุงข้าวเปลือก
จับสัญญาณข้าวไทย! ส่งออกฟื้น-ราคาในประเทศร่วง เทงบประกันรายได้พุ่ง 1.4 แสนล.
เทียบนโยบาย! ย่างเข้าปีที่ 3 ประกันรายได้ชาวนา งบบาน-อุดหนุนน้อยกว่า ‘จำนำข้าว’
ข้าวเปลือกดิ่งรัฐจ่ายเพิ่ม! นบข.เคาะขยายวงเงินประกันรายได้ชาวนาเป็น 4.68 หมื่นล้าน
ยุคข้าวไทย‘โรยรา’! ส่องงบประกันรายได้ 'รบ.บิ๊กตู่' 2 ปี 2.2 แสนล.-‘นักการเมือง..ชาวนาชอบ’
ข้าวไทยแพง! 2 สมาคมฯคาดปีนี้ส่งออก 6 ล้านตัน-ชาวนาปลื้ม 'ประกันรายได้' แต่ห่วงถูกกดราคา
เท 6.1 หมื่นล้าน! ครม.เคาะประกันรายได้ ‘ชาวนา-สวนยาง’-ช่วยค่าจัดการข้าวครัวละ 1 หมื่นบาท
อุ้ม ‘มันฯ-ข้าวโพด-ยาง’! ครม.เคาะประกันรายได้-มาตรการคู่ขนาน 1.44 หมื่นล้าน
รัฐค้างเงิน ธ.ก.ส.เพียบ! หนี้จำนำข้าวเหลือ 3.37 แสนล้าน-พบ 1 ปี ‘บิ๊กตู่’ เพิ่มอีก 9.3 หมื่นล.