‘สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย’ เตือนรัฐบาลใหม่อย่าทำนโยบาย ‘จำนำราคาสูง’ ชี้เป็นการบิดเบือนราคาตลาด ตั้งเป้าปี 66 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน จับตา 6 ปัจจัย กระทบส่งออกฯ
......................................
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มและทิศทางการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 ว่า สมาคมฯตั้งเป้าหมายว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ 7.5 ล้านตัน เทียบกับปี 2565 ที่ส่งออกได้ 7.69 ล้านตัน และยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่าการส่งออกข้าวไทยจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่ เนื่องจากการส่งออกข้าวในเดือน ม.ค.2566 ออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยไทยส่งออกได้เพียง 7 แสนตัน โดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิที่ลดลงมาก เนื่องจากสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ของไทย ยังมีสต๊อกค้างอยู่
“ตลาดหลายๆประเทศยังมีสินค้าค้างอยู่ เพราะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเรื่อง panic buying (การซื้ออย่างตื่นตระหนก) จึงมีสต๊อกเหลือ ซึ่งต้องให้เวลาเขาสะสางของที่สั่งซื้อเกินไป ก่อนจะเริ่มต้นสั่งสินค้าใหม่” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวด้วยว่า อยากฝากพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ ให้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวไทย โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์ข้าวและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อให้ข้าวไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพราะหากยังใช้นโยบายประกันรายได้และนโยบายรับจำนำอยู่อย่างนี้ ข้าวไทยก็จะไปได้เพียงเท่านี้
“ถ้าจะเล่นแบบง่ายๆ คือ จำนำข้าวกับประกันรายได้ชาวนา เราก็ไปได้เท่านี้ แล้วต้องเอางบประมาณมาช่วยชาวนาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปัจจุบันเราใช้เงินปีละ 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนนโยบายประชาชนนิยมนี้ เทียบกับรายได้ที่เราส่งออกข้าวได้ปีละ 1.3 แสนล้าน เราคิดหรือไม่ว่า เราน่าเอาเงิน 1 แสนล้าน มาพัฒนาพันธุ์ข้าว ระบบการขนส่ง พัฒนาโรงงานปุ๋ย ระบบน้ำและชลประทาน ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา เราใช้เงินไป 1 ล้านล้าน ถ้าเอามาใช้ตรงนี้ การส่งออกข้าวจะดีกว่านี้ รวมทั้งประชาชนและชาวนาได้ผลประโยชน์มากกว่านี้เยอะ” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวต่อว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายช่วยเหลือชาวนาอย่างไร เช่น ใช้นโยบายประกันรายได้ฯหรือใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือก หรือจะนโยบายอะไรก็ตามแต่ แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลต้องไม่ทำนโยบายอะไรที่ไปบิดเบือนกลไกตลาด และต้องเน้นการพัฒนาข้าวไทยให้แข่งขันให้ได้ รวมทั้งอยากฝากไปยังรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนจนเกินไป
“ค่าเงินเป็นปัจจัยที่สำคัญ จึงอยากฝากรัฐบาล แบงก์ชาติ ต้องมาดูแลตรงนี้ ไม่ให้มันแกว่ง เราไม่ได้ต้องการให้เงินบาทอ่อนหรือแข็ง เราต้องการให้ไม่แกว่ง เราถึงจะทำงานได้ ถ้ารัฐบาลใหม่มา เราอยากให้ช่วยดูแลตรงนี้ด้วย ลองไปดูอินเดีย 81-82 รูปี/ดอลลาร์ ตลอดทั้งปี เวียดนามก็เคลื่อนไหวนิดเดียว แต่ของพี่ไทย 38 บาท ลงมา 33 บาท แล้วจะไป 38 บาทอีก ค่าเงินแกว่ง 10-20% ไม่มีประเทศไหนเป็นแบบนี้” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ขณะที่ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่สมาคมฯตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2566 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 1.38 แสนล้านบาท หรือประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น เป็นการตั้งเป้าหมายแบบอนุรักษ์นิยมมากๆ ซึ่งประเทศไทยอาจส่งออกข้าวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตันก็ได้ ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในปี 2566 จะมีอย่างน้อย 6 ปัจจัย ได้แก่
1.เสถียรภาพของค่าเงินบาท โดยค่าเงินที่มีความผันผวนมากอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยนัก และสร้างความลำบากในการส่งออก รวมทั้งเกิดความไม่แน่นอนในการส่งมอบข้าวด้วย เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าหรืออ่อนค่าลง 1 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะมีผลทำให้ราคาส่งออกข้าวขาวเปลี่ยนไป 15 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และหากเป็นข้าวหอมมะลิราคาจะขึ้นลงได้มากถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
“ในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าจาก 32 บาท มาอยู่ที่เกือบ 34 บาท ตรงนี้ทำให้ลูกค้าที่ซื้อข้าวไปก่อนหน้านี้ เริ่มปวดหัวแล้ว เพราะถือว่าซื้อแพงไป ตอนนี้ก็ออกมาเรียกร้องโวยวาย เนื่องจากแต่ละบาทที่ค่าเงินผันผวน จะส่งผลต่อราคาข้าวขาว 15 เหรียญ ถ้าบาทอ่อนลง 1 บาท ราคาจะลดลงได้ 15 เหรียญ ถ้าบาทแข็งขึ้นมา 1 บาท ราคาก็จะเพิ่มขึ้น 15-16 เหรียญ และถ้าเป็นข้าวหอมมะลิจะแพงกว่านั้น” นายชูเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯมองว่าในปี 2566 ค่าเงินบาทจะมีทิศทางอ่อนค่าลง เนื่องจากคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2-3 ครั้ง เพื่อกดเงินเฟ้อในสหรัฐให้ลดลงให้ได้ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของข้าวไทยดีขึ้น
2.ปริมาณผลผลิตข้าวไทยในปีนี้ โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตข้าวไทยในปี 2566 จะออกมาดี เนื่องจากฝนฟ้าดี และมีน้ำในเขื่อนดีมาก เมื่อผลผลิตข้าวออกมาดี ก็จะทำให้ไทยมีซัพพลายข้าวที่จะส่งออกได้ดี และในราคาที่ไม่สูงเกินไป ซึ่งต่างจากในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ที่ประเทศไทยเจอปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย ทำให้ราคาข้าวภายในประเทศสูง ส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวได้ยากขึ้น
3.ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและความต้องการบริโภคในประเทศ ซึ่งหากเศรษฐกิจปีนี้ดีขึ้น จะส่งผลให้ราคาในประเทศแพงขึ้น แต่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกด้วย เพราะจะทำให้ราคาข้าวไทยสูงขึ้น 4.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกำลังซื้อในสหรัฐและยุโรป
5.ภาวะการผลิตและการส่งออกข้าวของอินเดีย โดยปี 2564-65 อินเดียส่งออกข้าวได้สูงถึงปีละ 21-22 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6 ล้านตัน เมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีก่อน ซึ่งอินเดียส่งออกข้าวได้ประมาณ 15 ล้านตัน ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้อินเดียส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นดังกล่าว มาจากการที่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 รัฐบาลอินเดียมีนโยบายเพิ่มการแจกข้าวฟรีให้ประชาชน 80-100 ล้านครัวเรือน จาก 5 กิโลกรัม/ครัวเรือน เป็น 10 กิโลกรัม/ครัวเรือน
แต่ข้าวสารที่รัฐบาลอินเดียแจกไปนั้น ประชาชนได้ขายข้าวส่วนหนึ่งให้พ่อค้าคนกลาง และพ่อค้าคนกลางนำไปขายต่อให้ผู้ส่งออกในราคาถูกกว่าราคาตลาดปกติ ทำให้การส่งออกข้าวอินเดียเพิ่มขึ้นมหาศาล บางช่วงราคาข้าวอินเดียต่ำกว่าไทย 100 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ทั้งๆที่ราคาข้าวเปลือกในอินเดียไม่ได้ต่ำกว่าไทยขนาดนั้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลอินเดียลดการแจกข้าวลงมาเหลือ 5 กิโลกรัม/ครัวเรือนแล้ว จึงคาดอินเดียจะส่งออกข้าวลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกข้าวไทย
และ 6.ภาวะการผลิตและการส่งออกข้าวของเวียดนาม ซึ่งในปีที่แล้วเวียดนามส่งออกข้าว 7.1 ล้านตัน แต่คาดว่าปีนี้เวียดนามน่าจะส่งออกข้าวเหลือ 6 ล้านตัน เพราะในปีที่แล้ว เวียดนามนำเข้าปลายข้าวจากอินเดียกว่า 1 ล้านตัน เพื่อใช้ในประเทศ หากอินเดียยังมีการสั่งห้ามการส่งออกปลายข้าว เวียดนามต้องใช้ผลผลิตของตัวเองเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวของเวียดนามที่จะส่งออกมีปริมาณลดลง ส่วนข้าวเปลือกจากกัมพูชาไปไหลเข้าไปเวียดนามแล้วนำไปส่งออกนั้น ปีนี้น่าจะในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว คือ 1 ล้านตันข้าวเปลือก
“ในปีนี้คู่แข่งเรา 2 ประเทศ คือ อินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มจะส่งออกข้าวได้น้อยลง ขณะที่ไทยเราค่อนข้างพร้อมในด้านซัพพลาย แต่จะมาติดขัดบ้างในเรื่องเสถียรภาพของค่าเงิน อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้ว คิดว่าในปีนี้เราน่าจะส่งออกข้าวได้ดี โดยตัวเลขที่ตั้งไว้ 7.5 ล้านตัน เป็นตัวเลขที่ conservative มาก และมีสิทธิ์จะไปได้มากกว่านี้ แต่เราจะค่อยๆดูไปในแต่ละไตรมาส” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับช่วยเหลือชาวนา ว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาทำในเรื่องที่เป็นการบิดเบือนราคาและบิดเบือนกลไกตลาด จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการทำให้ราคาข้าวสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นนั้น จะทำให้การส่งออกข้าวลดลง
“ถ้ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามา แล้วเข้ามาทำในเรื่องการบิดเบือนราคา กลไกตลาด ผมคิดว่าเกิดปัญหาแน่นอน เพราะการที่อยู่ดีๆมาทำให้ราคาสูงขึ้นไปกว่าสิ่งที่ควรจะเป็น จะมีผลทำให้การส่งออกลดลง แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาแล้ว ถึงแม้จะมาช่วยเหลือเกษตรกรในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันรายได้ ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว จิปาถะ ที่ไม่เกี่ยวกับการบิดเบือนราคา ผมคิดว่าจะไม่มีผลกระทบอะไรต่อการส่งออก” นายชูเกียรติ กล่าว
นายชูเกียรติ ย้ำว่า “โครงการประกันรายได้เป็นการชดเชยส่วนต่าง ราคาที่ชาวนาขายข้าวยังเป็นราคาตลาดที่เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ได้เป็นการบิดเบือน แต่ถ้าเป็นจำนำ ตั้งไว้ 15,000 บาท หรือ 20,000 บาท อันนี้บิดเบือน เพราะไม่มีคนมาซื้อแข่งได้ รัฐบาลจะซื้อไปหมด ทำให้ราคาจะถูกบิดเบือนไปทั้งหมด และจะทำให้การส่งออกมีผลกระทบแน่นอน เช่น รัฐบาลก่อนๆที่มีการจำนำ ตัวเลขส่งออกลดจาก 10 ล้านตัน ลงมาเหลือ 5 ล้านตันทันที”
ด้าน นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวได้เป็นอันดับ 2 ของโลกที่ 7.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนอันดับ 1 คือ อินเดีย ส่งออกข้าวได้สูงถึง 21.94 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.2% ขณะที่อันดับที่ 3 คือ เวียดนาม ส่งออกข้าวได้ 7.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.5% อันดับ 4 คือ ปากีสถาน ส่งออกข้าวได้ 4.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 7.6% และอันดับ 5 สหรัฐ ส่งออกข้าวได้ 2.12 ล้านตัน ลดลง 26.9%
“ตั้งแต่อินเดียเริ่มส่งออกข้าวมา ตอนนี้อินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 และมีปริมาณการส่งออกข้าวที่สูงกว่าผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆมาก โดยหากรวมปริมาณการส่งออกข้าวของผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 อันดับ 3 และอันดับ 4 คือ ไทย เวียดนาม และปากีสถาน พบว่ารวมกัน 3 ประเทศ ยังส่งออกสู้อินเดียไม่ได้เลย” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์การค้าข้าวโลกในปี 2566 นั้น จากการประเมินของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) ล่าสุด ณ เดือน ก.พ.2566 USDA คาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลกในปี 2566 จะอยู่ที่ 54.17 ล้านตัน ลดลง 3.7% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ปริมาณการค้าข้าวโลกอยู่ที่ 56.28 ล้านตัน อย่างไรก็ดี USDA มองว่า ในปี 2566 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 8.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.8% จากปีก่อน ส่วนอินเดีย และเวียดนาม คาดว่าจะส่งออกข้าวได้ลดลง
นายสมเกียรติ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.พ.2566 ไทยส่งออกข้าวได้ทั้งสิ้น 9.87 แสนตัน ลดลง 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกข้าวในเดือน ม.ค.2566 มีปริมาณ 7.06 แสนตัน และตั้งแต่วันที่ 1-13 ก.พ.2566 ปริมาณการส่งออกข้าวอยู่ที่ 2.81 แสนตัน
อ่านประกอบ :
ปี 65 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 22.2% สร้างรายได้เข้าประเทศ 1.38 แสนล้าน
เอกชนประเมินปี 66 ไทยส่งออกข้าวได้ 8 ล้านตัน ลุ้น‘ค่าเงินบาท’ไม่แข็งเกินไป
บาทแข็งแต่ยังแข่งได้! เอกชนคาด พ.ย. ไทยส่งออกข้าว 8 แสนตัน-ราคาเฉลี่ย ต.ค.ร่วง 32 ดอลล์ฯ
สัญญาณแผ่ว! ปริมาณส่งออกข้าวไทย ก.ย. หดตัว 0.3% รายได้โต 2.7%-ยอด 9 เดือน 5.41 ล้านตัน
'บาทอ่อน'หนุนแข่งขัน! ผู้ส่งออกฯคาด ก.ย.ไทยส่งออกข้าว 7 แสนตัน-ยอด 8 เดือน 4.77 ล.ตัน
ฝนตกต่อเนื่องกระทบส่งมอบ! คาดเดือน ส.ค.65 ไทยส่งออกข้าว 6-6.5 ล้านตัน-เวียดนามจ่อแซง
เอกชนขยับเป้าส่งออกข้าวปี 65 เป็น 7.5 ล้านตัน-7 เดือนโกยรายได้เข้าประเทศ 7.1 หมื่นล.
3 ปี อุดหนุน 3.2 แสนล้าน ประกันราคา 'ข้าว' แต่ทำไม 'ชาวนา' ยังอยู่ในวังวน 'หนี้สิน'?