“…ณ สิ้นปีงบฯ 2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็น 33.35% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565 แบ่งเป็นภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,049 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท…”
........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลัง’ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอ โดยได้รายงานความเสี่ยงทางการคลังในด้านต่างๆ นั้น (อ่านประกอบ : รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ภายใต้รายงานความเสี่ยงทางการคลังฉบับดังกล่าว ได้มีการนำเสนอประเด็นความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของภาคอื่นๆ ที่ควรติดตามทั้งสิ้น 11 ด้าน รวมถึงหนี้ที่เป็นภาระผูกพันของรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
@รัฐบาลค้างหนี้ ‘กองทุนประกันสังคม’ 7.9 หมื่นล้าน
1 เงินกองทุนประกันสังคมปรับตัวลดลงจากปีก่อน
ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 เงินกองทุนประกันสังคม มีจำนวนอยู่ที่ 2,327,350 ล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2564 จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(Mark to market) ของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมที่ลดลง
ประกอบกับรายได้จากเงินสมทบลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 จากมาตรการการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 39 และ 40 ในขณะที่รายจ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีป่วยยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19
ปัญหาสังคมผู้สูงอายุยังเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกองทุนในอนาคต ปัจจุบันกระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ... โดยมีสาระสำคัญในการปรับฐานค่าจ้างขั้นสูงจาก 15,000 บาท อย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม จำนวน 79,077 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565) ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย
2.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของรัฐบาล โดย (1) ปรับเพิ่มจำนวนเงินสะสมของสมาชิกเข้ากองทุน จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท สำหรับปีปฏิทินนั้นปรับใหม่เป็นสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับปีปฏิทินนั้น และ (2) ปรับเพิ่มจำนวนเงินสมทบของรัฐบาลทุกช่วงอายุของสมาชิก แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาท สำหรับปีปฏิทินนั้น
ส่งผลให้ภาระทางการคลังในการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2570
นอกจากนี้ กอช.จะเริ่มจ่ายเงินบ่านาญชราภาพให้แก่สมาชิกที่เข้าเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลอาจมีความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนต่างผลตอบแทน หาก กอช. ไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนตามที่รับประกันไว้
@หนี้กองทุนน้ำมัน 1.2 แสนล้าน-รสก.นำส่งรายได้ลดลง
3.ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ
ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 ติดลบจำนวน 124,280 ล้านบาท (ฐานะกองทุนของก๊าซ LPG ติดลบ จำนวน 42,234 ล้านบาท และฐานะกองทุนของน้ำมัน ติดลบ จำนวน 82,046 ล้านบาท) จากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนต้องจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยราคาก๊าซ LPG และราคาขายปลีกดีเซล เพื่อพยุงราคาพลังงานในประเทศไม่ให้สูงเกินไป
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มีการกู้เงินโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน (แต่ไม่รับภาระ) จำนวน 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2566 การติดลบของฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคาดว่าจะคลี่คลายลงและกองทุนจะสามารถชำระหนี้คืนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต
4.ภาพรวมผลประกอบการและเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 ยังคงมีปัจจัยกดดันที่ต้องติดตาม
โดยกำไรสุทธิของรัฐวิสาหกิจมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 201,180 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.22% ส่งผลให้เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจลดลงจากปีก่อน 10.25% อยู่ที่ 143,658 ล้านบาท
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าที่มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินในระดับสูงในอดีต ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงจำเป็นต้องดำรงสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอที่จะรองรับต้นทุนผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่ยังมีราคาสูง ประกอบกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งยังมีผลประกอบการขาดทุน
ทั้งนี้ คาดว่าเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจจะกลับมาขยายตัวได้ในอนาคตตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และสถานการณ์ราคาพลังงานที่คลี่คลายลง
@‘รฟท.-ขสมก.’ยังคงมีปัญหา-สร้างภาระการคลังอย่างต่อเนื่อง
5.ผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังคงมีปัญหา และเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
จากการที่ไม่สามารถหารายได้ให้ครอบคลุมต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการสาธารณะได้เป็นระยะยาวนาน เนื่องจากเป็นกิจการที่รัฐควบคุมราคาเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยที่ผ่านมารัฐบาลมีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี
เพื่อ (1) อุดหนุนการดำเนินการของ รฟท. สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาล (2) ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับ ขสมก. ภายใต้โครงการชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมไปถึง (3) ชดเชยโครงการอุดหนุนการบริการสาธารณะ (PSO)
ทั้งนี้ หน่วยงานด้านการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ได้มีการติดตามการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูองค์กร (แผนฟื้นฟูฯ) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือแผนการดำเนินการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และผลักดันให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวสามารถดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
6.การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.86% คิดเป็น 1.87% ต่อ GDP
โดยมีเม็ดเงินเบิกจ่ายอยู่ที่ 325,175 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.59 ของกรอบงบลงทุน (รัฐวิสาหกิจที่มีกรอบงบลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ปตท. กฟภ. และ รฟท. จำนวน 85,684 , 44,732 และ 43,700 ล้านบาท ตามลำดับ) โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องจากปีบัญชี 2564
ทั้งนี้ มีโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ,โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการติดตามและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะสามารถกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
@ภาระผูกพันก่อหนี้ตามนโยบายรัฐแตะ 1.03 ล้านล้าน
7.ภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ณ สิ้นปีงบฯ 2565 ภาระผูกพันดังกล่าวมีจำนวนรวมอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท คิดเป็น 33.35% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565 แบ่งเป็นภาระผูกพันที่นับรวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,049 ล้านบาท ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล จำนวน 601,512 ล้านบาท และประมาณการภาระผูกพันที่ยังไม่มีการรับรู้ จำนวน 232,359 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปีงบฯ 2565 รัฐบาลมีการอนุมัติโครงการใหม่ตามมาตรา 28 จำนวนทั้งสิ้น 210,039 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย จำนวน 186,217 ,16,764 และ 7,059 ล้านบาทตามลำดับ (คิดเป็น 88.66% , 7.98% และ 3.36% ของยอดอนุมัติทั้งหมดในปีงบประมาณ 2565 ตามลำดับ)
การดำเนินโครงการตามมาตรา 28 อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการคลังในอนาคตและสร้างภาระให้กับหน่วยงานของรัฐเนื่องจากหน่วยงานจากรัฐต้องสำรองจ่ายเงินตนเองไปก่อน
รัฐบาลจึงควรดำเนินโครงการตามมาตรา 28 เท่าที่จำเป็น และจัดลำดับความสำคัญโครงการโดยโครงการใดที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปี และวางแผนล่วงหน้าได้ ก็ควรพิจารณาบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายฯ นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาปรับลดกรอบอัตราดังกล่าวให้กลับสู่ระดับ 30% ในโอกาสแรกที่กระทำได้ด้วย
@3 แบงก์รัฐยังมีปัญหา-พบ ‘ธ.ก.ส.’ หนี้เสียพุ่ง 12.45%
8.ฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ในภาพรวมยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ
แต่ควรติดตามฐานะการเงินของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ยังคงมีปัญหา รวมไปถึงระดับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นของ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 12.45% ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 จากการด้อยคุณภาพลงของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ประกอบกับมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่สิ้นสุดลงในปี 2565
นอกจากนี้ ควรติดตามการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standards 9: TFRS 9) SFIs ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2568
สำหรับยอดเงินคงค้างของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2565 อยู่ที่ 33,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 28,129 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.34% ของเงินกองทุนรวมของภาค SFIs
9.ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมอยู่ในระดับแข็งแกร่ง
โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2565 BIS Ratio ของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม อยู่ที่ 19.40% (สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 11%) มีสัดส่วนลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) อยู่ที่ 2.72% ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน
สำหรับความสามารถจากการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์พบว่า อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.01%
และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.62% จากการขยายตัวของสินเชื่อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองลดลง หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยกันสำรองในระดับสูงตลอดช่วง Covid-19
10.อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ของบริษัทประกันวินาศภัยลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 177% ลดลงจาก 324% ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ ในปี 2564-2565 มีบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจำนวน 4 บริษัท ส่งผลให้กองทุนประกันวินาศภัยมีภาระที่จะต้องคุ้มครองเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อไป
โดยยอดเงินขอรับชำระหนี้ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินกองทุน ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 6,178 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย จึงทำให้กองทุนยังสามารถบริหารจัดการยอดขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้และเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด
@รายได้ ‘อปท.’ เสี่ยงลดลงจากมาตรการลดภาษีที่ดินฯ
11.รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปรับตัวดีขึ้นในปีงบฯ 2565 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ในปีงบฯ 2566 จากมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
โดยรายได้รวมของ อปท. ปีงบฯ 2565 มีจำนวน 696,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.82% เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งผลให้รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเอง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 106.23%
ประกอบกับรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้และรายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.47% และ 14.54% ตามลำดับ ตามความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ดีขึ้น ในขณะที่รายได้จากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.26 ตามวงเงินงบประมาณรายจ่ายฯ ที่ลดลง
ทั้งนี้ จากมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลในปี 2563 และ 2564 ส่งผลให้ อปท. สูญเสียรายได้ จำนวนประมาณ 32,049 ล้านบาท และ 30,891 ล้านบาท ตามลำดับ โดย อปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภาษีที่ดินฯ) ในปีภาษี 2563 แล้ว จำนวน 12,037.72 ล้านบาท
สำหรับปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีที่ดินฯ ให้แก่ผู้เสียภาษีการจัดเก็บภาษีที่ดินของปีภาษี พ.ศ.2566 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและลดภาระให้กับประชาชนจากการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปี 2566
ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้อปท. สูญเสียรายได้ภาษีที่ดินฯประมาณ 6,288 ล้านบาท จากประมาณการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินฯในปี 2566 จำนวน 43,670 ล้านบาท
นอกจากนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานะการคลังของ อปท. ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป รัฐบาลควรสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และขยายฐานรายได้ภาษีของ อปท. ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บรายได้ของ อปท.
เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับกรมที่ดินเพื่อให้ อปท. ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในการถือครองที่ดินและสามารถจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินของ อปท. ในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีฐานข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครบถ้วนสมบูรณ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ อปท. สามารถบริหารจัดการทรัพย์สิน และจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้าน เงินสะสมของ อปท. ณ สิ้นปีงบฯ 2565 ลดลงจากปีก่อน อยู่ที่ 282,913 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) เงินสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 24,904 ล้านบาท 2) เงินสะสมของเทศบาลมีจำนวน 132,577 ล้านบาท และ 3) เงินสะสมขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีจำนวน 125,432 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินสะสมของ อปท. หากมีน้อยเกินไปอาจส่งผลให้ความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในแต่ละท้องถิ่นลดลง ในทางตรงกันข้าม หากเงินสะสมของ อปท. มากเกินไป อปท. ควรนำเงินสะสมส่วนเกินมาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ แล้ว ยังช่วยลดภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลด้วย
@หนี้จากการดำเนินนโยบายรัฐ 1.03 ล้านล้าน-มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้านภาระผูกพันของรัฐบาล
ภาระผูกพันที่สำคัญของรัฐบาล ณ สิ้นปีงบ 2565 มีรายละเอียด ดังนี้
ภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities)
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลรับภาระโดยตรง มีจำนวนทั้งสิ้น 8,693,789.64 ล้านบาท คิดเป็น 50.63% ของ GDP (ร้อยละ 83.80 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด) แนวโน้มเพิ่มขึ้น
แบ่งเป็น (1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 8,131,552 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกู้ให้กู้ต่อและรับภาระ 320,948 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น และ (3) หนี้รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลค้ำประกันและรับภาระ 241,289 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน
2.ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ 601,512 ล้านบาท แนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประมาณการภาระผูกพันที่มาจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ จำ นวนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1,039,920 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) ส่วนที่รวมอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 206,048 ล้านบาท (2) ลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล 601,512 ล้านบาท และ (3) ประมาณการภาระผูกพันส่วนที่ยังไม่รับรู้ 232,360 ล้านบาท
3.ภาระค้างจ่ายเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคม 70,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
4.ภาระผูกพันในการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ประมาณการเบื้องต้นอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท
5.ภาระผูกพันจากการชดเชยค่าใช้จ่ายและความเสียหายตาม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟู) รวมสูงสุดไม่เกิน 67,520 ล้านบาท
@‘กองทุนประกันวินาศภัย’ มียอดเงินขอรับชำระหนี้ 6 หมื่นล้าน
ภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities)
1.หนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่ได้รับภาระ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,680,147.95 ล้านบาท คิดเป็น 9.78% ของ GDP (16.20% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด) แบ่งเป็น
1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 672,614 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินในการชำระหนี้หลักมาจากเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน ตาม พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
1.2 หนี้เงินกู้ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลให้กู้ต่อ/ค้ำประกัน แต่รัฐบาลไม่รับภาระ จำนวน 458,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะการเงินและ/หรืออยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูฯ อาทิ รฟท. ขสมก. ธพว.
1.3 หนี้รัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน) และหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน 548,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีฐานะการเงินที่มั่นคงอาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กฟผ. กฟภ. การไฟฟ้านครหลวง และหน่วยงานของรัฐ อาทิ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
2.การพิจารณาชดเชยการสูญเสียรายได้จากการดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ให้กับ อปท. ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ประมาณการการสูญเสียรายได้ในปี 2563 2564 และ 2566 อยู่ที่ 32,049 , 30,891 และ 6,288 ล้านบาท ตามลำดับ
3.การพิจารณาดูแลคุ้มครองเจ้าหนี้ที่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการปิดบริษัทประกันวินาศภัย หากกองทุนประกันวินาศภัยไม่สามารถบริหารจัดการได้ ทั้งนี้ ยอดเงินขอรับชำระหนี้ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท
เหล่านี้เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของ ‘รายงานความเสี่ยงทางการคลัง’ ฉบับล่าสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพความเสี่ยงทางการคลังของประเทศไทยที่ต้องติดตาม
ที่สำคัญมีข้อน่าสังเกตว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีภาระหนี้ผูกพันจากการชดเชยโครงการต่างๆ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ สูงถึง 1.03 ล้านล้านบาท และเป็นหนี้ที่ไม่ได้นับรวมอยู่ใน ‘หนี้สาธารณะ’ สูงถึง 8.3 แสนล้าน แบ่งเป็นภาระหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาล 6 แสนล้านบาท และภาระผูกพันส่วนที่ยังไม่รับรู้อีก 2.32 แสนล้านบาท!
อ่านประกอบ :
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
ครม.ไฟเขียวรายละเอียดงบปี 67 ‘มหาดไทย’ ได้มากสุด 3.51 แสนล.-‘กลาโหม’ เพิ่มเป็น 1.98 แสนล้าน
6 ปี 2.57 แสนล.! ส่องงบ'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ก่อน'พปชร.'ชูจ่าย 700 บาท สู้ศึกเลือกตั้ง
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ