กำแพงเพชรนำร่องจังหวัดแรกแก้หนี้ครู ศธ.จ่อถอดบทเรียนขับเคลื่อนทั่วประเทศใน ต.ค.นี้ เผยปัจจุบันมีครูถูกชะลอฟ้อง 2.5 หมื่นราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู 'สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” พร้อมด้วยนายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. โดยมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ, นางสุรางค์ คัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์, ผู้แทนสถาบันการเงิน ตลอดจนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วม
นายณัฐวัฒน์ ธีรทัศน์ธำรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกชะลอการดำเนินการทางกฎหมายอยู่ประมาณ 25,000 ราย รวมถึงกลุ่มที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธนาคารออมสิน จำนวน 6,331 ราย และหากรวมผู้ค้ำประกันด้วย จะมีจำนวนมากถึง 20,000 ราย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมทั้งข้าราชการครูที่ลงทะเบียนผ่านระบบในรอบที่ 1 ที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้
ศธ.จึงมีมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนสูงทั่วประเทศ โดยการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติการบังคับคดี แก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สิทธิประโยชน์ของผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จะได้รับ เช่น การขยายเวลาการชำระหนี้, ลดเบี้ยปรับ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือน, ไม่ถูกฟ้อง ไม่ถูกบังคับคดี, งดยึดทรัพย์สิน งดขายทอดตลาด และการถอนจากการเป็นผู้ค้ำประกันโดยการยอมรับชำระหนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง การปิดสัญญาชำระหนี้ เป็นต้น
“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นพื้นที่แรกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสถาบันการเงินที่ลงลึกถึงปัญหาเป็นรายบุคคล และได้รับทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีความร่วมมือในการบูรณาการเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเข้มแข็ง มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นแบบอย่างที่ดี” นายณัฐวัฒน์ กล่าว
นายสุทิน แก้วพนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานมหกรรมครั้งนี้ต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้ครูโดยให้มีสถานีแก้หนี้จังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย มีสถาบันการเงินของรัฐ และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ได้เข้ามาร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เกิดข้อยุติในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 2 หมื่นคน พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อนำไปขยายผลในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้พร้อมกันทั้งประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้
นางมลชลีณา กิตติขจร ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชรไม่มีนโยบายกู้ยืมเงินหรือระดมทุนจากแหล่งทุนภายนอก เพราะการใช้เงินทุนจากแหล่งทุนภายนอกนั้นจะทำให้สหกรณ์ไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยให้กับสมาชิกได้ ดังนั้นเงินทุนทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงมาจากการบริหารทุนภายในของตัวสหกรณ์เอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงินฝาก และเงินปันผลให้กับสมาชิกได้อย่างเหมาะสม
ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้นั้น สหกรณ์ฯ จะพิจารณาความสามารถชำระหนี้ของสมาชิกที่ประสงค์จะกู้เงิน รวมถึงรายละเอียดต่าง ๆ ภายหลังจากมีการกู้เงินไปแล้วด้วย โดยมีนโยบายเรื่องหลักประกันความเสี่ยงที่ครอบคลุมวงเงินกู้ เมื่อสมาชิกผู้กู้รายใดเสียชีวิต จะมีเงินสวัสดิการเหลือมอบให้กับทายาทได้รับไป อีกทั้งสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในการที่สมาชิกสมัครมีความประสงค์จะเข้าร่วมสมาคมฯ ด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่ความสมัครใจไม่ได้เป็นการบังคับให้สมัคร แต่สมาชิกส่วนใหญ่นั้น เมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์แล้ว ก็จะสมัครสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ด้วย
“ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ที่เป็นข้อแตกต่างจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่อื่น ซึ่งเสียงสะท้อนสมาชิกทุกคนพอใจกับสิ่งที่สหกรณ์ฯ ดูแล ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ย สวัสดิการที่จะได้รับจากสหกรณ์อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม รวมถึงการดูแลให้ความรู้ในเรื่องของวิชาการ และบริการวางแผนการเงินให้อีกด้วย”
ครูสยาม ข้าราชการบำนาญ สังกัด สพป.กำแพงเพชร เขต 1 กล่าวว่า ผมประกอบอาชีพครูมาหลายสิบปี เป็นข้าราชการที่ทำความดี ด้วยการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าให้กับประเทศมาหลายรุ่น แต่กลับต้องมาทำผิดพลาดครั้งเดียว จากการไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับคนที่ไว้ใจ ทำให้ต้องมารับผิดชอบหนี้ที่ไม่ได้ก่อกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่ได้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ รู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากการที่หน่วยงานธนาคารต่าง ๆ ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโดยการปรับสภาพโครงสร้างหนี้ให้เหลือเงินเกิน 30% จากเดิมเงินบำนาญที่ได้รับต่อเดือนหลังชำระหนี้เหลือเพียงหลักร้อยบาท ถึงแม้อาจจะยังไม่ดีนัก แต่ก็พอช่วยทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้