ป.ป.ช. ลงมติ 5 ต่อ 1 เสียง ตีตกคดี 'สไลเกษ วัฒนพันธุ์' อดีตประธานศาลฎีกา/ปธ.ก.ต.-พวก รวม 'สราวุธ เบญจกุล' อดีตเลขาธิการสนง.ศาล ยธ.ร่วมกลั่นแกล้งมิให้ผู้กล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้บริหารศาล ทำให้เกิดความเสียหาย หลังพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนิน ก.ต. เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ เรื่องบริหารงานบุคคล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2567 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 5 ต่อ 1 เสียง ตีตกกรณีกล่าวหา นายสไลเกษ วัฒนพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กับพวก ร่วมกันกลั่นแกล้งมิให้ผู้กล่าวหาได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารศาล เป็นเหตุผู้กล่าวหาเกิดความเสียหาย
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างมากเห็นว่า การดำเนินการของ ก.ต.เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ก.ต.มีอำนาจบริหารงานบุคคล
รายงานข่าวแจ้งว่า คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย คือ
1. นายสไลเกษ วัฒนพันธุ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และประธาน ก.ต.
2. นายธีระพงศ์ จิระภาค เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และประธาน อ.ก.ต.
3. นายสราวุธ เบญจกุล เมื่อครั้งตำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรรม
สำหรับกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช.
รายงานข่าวจาก ป.ป.ช.แจ้งว่า กรณีกล่าวนี้เรื่องนี้ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหา ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบแล้ว เห็นว่า การแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารศาลในรายของนายสันติ วงศ์รัตนานนท์ ผู้กล่าวหา มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่ระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่งการโยกย้ายตำแหน่งเลื่อนเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2554 ข้อ 8 และข้อ 14 กำหนด โดยมิได้มีการประมวลเรื่องและจัดทำบัญชีเสนอว่าบุคคลใดสมควรไปดำรงตำแหน่งใดโดยเรียงตามลำดับอาวุโส ก่อนเสนอให้ที่ประชุม อ.ก.ต. และที่ประชุม ก.ต. เพื่อพิจารณาตามลำดับ
ทั้งยังปรากฎพฤติการณ์มีการกลั่นแกล้งเพื่อมิให้ผู้กล่าวหาได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาศาลอาญา ซึ่งมีมูลเหตุมาจากกรณีที่ผู้กล่าวหาได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของนายสไลเกษ วัฒนพันธ์ เมื่อครั้งตำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการตรวจรับการจ้างงานก่อสร้างอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ ซึ่งภายหลังจากตรวจรับการจ้างไปแล้ว ปรากฏว่าอาคารศาลฎีกาเกิดความชำรุดบกพร่องเป็นจำนวนมาก
คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ จึงเห็นว่าพฤติการณ์และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้ เห็นควรรับเรื่องไว้ดำเนินการไต่สวน พร้อมเสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งองค์คณะไต่สวนชุดใหญ่ โดยมีกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนเป็นองค์คณะฯ ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติตีตกข้อกล่าวหา ด้วยมติ 5 ต่อ 1 เสียง ดังกล่าวข้างต้น