“…ต่อไปนี้เราจะดูเรื่องดอกเบี้ย (เงินกู้) ที่ให้มีความเป็นธรรมกับผู้กู้ เราจะพยายามควบคุมดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งดอกเบี้ยที่เหมาะสมนั้น เราเห็นว่าต้องไม่เกิน 5% และตอนนี้หลายๆสหกรณ์ ลดดอกเบี้ยลงมา 4 บาทกว่าๆแล้ว…”
.................................
เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการแก้ปัญหา ‘หนี้สินครู’
เมื่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถเจรจาให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.25-1% ซึ่งช่วยให้ครูลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยทั้งระบบได้ 1,750 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย)
แต่ทว่ายังมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากกว่า 20 แห่ง ที่ยังไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมา และปรากฏข้อมูลว่า มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากกว่า 10 แห่ง ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่สูงถึง 7-9% ต่อปี ทั้งๆที่ ‘สินเชื่อหักเงินเดือนข้าราชการ’ เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสร้างภาระให้กับครูหลายแสนคน
@สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแค่ 13 แห่ง คิดดบ.เงินกู้ไม่เกิน 5%
ข้อมูลจาก คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ พบว่า ปัจจุบันครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีประมาณ 9 แสนคน มียอดหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ข้อมูล ณ เดือน ก.พ.2565 พบว่ามีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเพียง 13 แห่ง จาก 108 แห่ง ที่กำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกิน 5% ต่อปี เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตร ดอกเบี้ยเงินกู้ 4.5% ,สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสระบุรี ดอกเบี้ยเงินกู้ 4.5% และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอ่างทอง ดอกเบี้ยเงินกู้ 4.5% เป็นต้น
ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอย่างน้อย 13 แห่ง ที่กำหนดดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7-9% ต่อปี เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย ดอกเบี้ยเงินกู้ 7.4% ,สหกรณ์ออมทรัพย์สามัญศึกษาจังหวัดชัยภูมิ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 7.5% และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเทคโนโลยีชนะพลขันธ์นครราชสีมา ดอกเบี้ยเงินกู้ 9% เป็นต้น (อ่านข้อมูลประกอบ)
ที่สำคัญในช่วงปี 2564 มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3 แห่ง ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูง สามารถสร้างผลกำไรจากการปล่อยกู้ได้ถึง 670 ล้านบาท ไปจนถึง 1,350 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินโบนัสให้กับคณะกรรมการและพนักงาน เป็นเงินตั้งแต่ 9-29 ล้านบาท
เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครูแห่งหนึ่ง มีการจ่ายค่าตอบแทนและโบนัสให้ คณะกรรมการสหกรณ์ฯ 22 คน รวมแล้วเป็นเงิน 27.39 ล้านบาท อาทิ เงินโบนัสคนละ 1,402,400 บาท ค่าพาหนะ 6,000-137,000 บาท ,ค่าเบี้ยประชุม 5,000-90,000 บาท และค่าเบี้ยเลี้ยง 1,500-7,500 บาท เป็นต้น
จึงทำให้เกิดคำถามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 'ครู-บุคลากรทางการศึกษา' ที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ จึงจะไม่สร้างภาระให้กับครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ มากเกินไป
@เดินสาย 4 ภาค 70 สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หั่นดบ.กู้ 0.25-1%
“ต่อไปนี้เราจะดูเรื่องดอกเบี้ย (เงินกู้) ที่ให้มีความเป็นธรรมกับผู้กู้ เราจะพยายามควบคุมดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งดอกเบี้ยที่เหมาะสมนั้น เราเห็นว่าต้องไม่เกิน 5% และตอนนี้หลายๆสหกรณ์ ลดดอกเบี้ยลงมา 4 บาทกว่าๆแล้ว” สุทธิชัย จรูญเนตร ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
สุทธิชัย กล่าวต่อว่า หลังจากคณะกรรมการฯเดินสายลงพื้นที่ 4 ภาค เพื่อพูดคุยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ ปรากฏว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ให้ความร่วมมือลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาลงในอัตรา 0.25-1% ต่อปี ส่วนสหกรณ์อีกกว่า 20 แห่ง ที่ยังไม่ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลงมานั้น เป็นเพราะติดขัดปัญหาภายใน
“เราเดินสาย 4 ภาค ไปขอความร่วมมือแบบนี้ และมีสหกรณ์ 20 แห่งที่ยังไม่ลดดอกเบี้ยลงมา เพราะเขาติดปัญหาภายในอยู่ เพราะบางเรื่อง เช่น เรื่องการลดดอกเบี้ย จะต้องไปขอมติจากที่ประชุม หรือบางแห่งกำลังอยู่ในช่วงเลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ฯ ทำให้กรรมการที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้” สุทธิชัย กล่าว
สุทธิชัย มองว่า การที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา จะเป็นแรงกดดันและสร้างแรงกระเพื่อมให้สหกรณ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร ต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา เพราะสมาชิกจะไปกดดันผู้บริหารของตัวเองว่า จะต้องลดดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกับสหกรณ์ฯทั้ง 70 แห่ง
@‘ออมสิน’ อัดฉีดซอฟท์โลนให้ ‘สหกรณ์ฯ’ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยถูกลง
สุทธิชัย กล่าวถึงปัญหาดอกเบี้ยสหกรณ์ออมทรัพย์ครูว่า ปัจจุบันสหกรณ์ฯจำนวนหนึ่งคิดดอกเบี้ยเงินกู้ 6-9% ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่หักบัญชีเงินเดือนครูที่แทบไม่มีความเสี่ยง และเราถือว่าสินเชื่อครูเป็นเรื่องของสวัสดิการ ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินกู้ต้องค่อยๆลดลงมาให้อยู่ในระดับไม่เกิน 5% แต่คงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะสหกรณ์ฯแต่ละแห่งมีต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกัน
“บางที่ดอกเบี้ย 7 บาท อยู่ๆเราจะให้เขาลดลงมา 5 บาทเลยนั้น คงยาก แต่เราจะต้องค่อยๆลดลงมา เพราะเงินกู้ครู เราตัดเงินเดือนให้สหกรณ์ฯเลย จึงแทบไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย และเราเองก็ถือว่าเงินกู้ครู เป็นเรื่องของสวัสดิการ ดังนั้น ดอกเบี้ยต้องลดลงกว่านี้แล้ว” สุทธิชัย กล่าว
สุทธิชัย ระบุว่า เนื่องจาก ศธ. ไม่มีอำนาจสั่งการโดยตรงให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ นอกจากการขอความร่วมมือเท่านั้น ดังนั้น ศธ.จึงร่วมมือกับธนาคารออมสินปล่อยกู้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อให้สหกรณ์ฯนำไปปล่อยกู้สมาชิก โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 5%
“วิธีที่เราจะช่วยเขา คือ เราจะหาซอฟท์โลน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำๆ ไปให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อที่จะได้มาปล่อยกู้ให้ครูในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งธนาคารออมสินยินดีจะสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับสหกรณ์ฯ” สุทธิชัย กล่าว
(สุทธิชัย จรูญเนตร)
@แนะสมาชิกเปิดประชุมวิสามัญ-ร่วมคิดลดต้นทุนสหกรณ์ฯ
สุทธิชัย กล่าวว่า เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง ศธ.ได้ให้คำแนะนำกับสมาชิกสหกรณ์ฯ เข้าชื่อเพื่อจัดให้มีการประชุมวิสามัญ เพื่อพิจารณาว่า สหกรณ์ฯแต่ละแห่งจะลดต้นทุนการดำเนินการของสหกรณ์ฯได้อย่างไรบ้าง
เช่น จะลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง รวมถึงการปรับอัตราค่าตอบแทนและเงินโบนัสของกรรมการสหกรณ์ฯ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะกรรมการเหล่านี้ก็เป็นครูด้วยกัน และเป็นพวกเดียวกัน
“เขาต้องช่วยกันคิดว่า จะลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง รวมถึงผลตอบแทนและโบนัสกรรมการฯด้วย ซึ่งผมแนะนำว่า สมาชิกควรเข้าชื่อและเปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อพิจารณาว่า สหกรณ์จะตั้งกฎเกณฑ์อย่างไรที่จะลดต้นทุนลง เพราะต้นทุนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยสูง” สุทธิชัย ระบุ
สุทธิชัย กล่าวด้วยว่า เพื่อควบคุมดอกเบี้ยไม่ให้สูงเกินไป ในอนาคต ศธ.จะแก้ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยจะเปิดโอกาสให้ ผู้กู้ เลือกที่จะไปกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกว่าในพื้นที่อื่นๆได้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากสหกรณ์ฯที่อยู่ในจังหวัดเท่านั้น เพื่อทำให้เกิดการแข่งขัน
@ปรับโครงสร้างหนี้ฯช่วยเหลือครูที่มี ‘หนี้สินล้นพ้นตัว’
สุทธิชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาครูถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้จนเหลือเงินใช้น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน หรือบางคนถูกหักหนี้จนเหลือเงินใช้เพียง 1,000 บาท ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่มีมานาน เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้กู้กับข้อมูลเครดิตบูโร จึงไม่รู้ว่าผู้กู้แต่ละรายกู้เงินไปเท่าไหร่ ส่งผลให้ผู้กู้บางรายถูกหักเงินเกิน 70% เพื่อจ่ายหนี้
“เราจะแก้ปัญหานี้ โดยจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับเครดิตบูโร ใครที่จะมากู้เงินสหกรณ์ฯ จะต้องมีข้อมูลครบว่า กู้สหกรณ์ฯเท่าไหร่ กู้สถาบันการเงินหรืออื่นๆ ไปแล้วเท่าไหร่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถดูแลให้ผู้กู้มีเงินใช้หลังจากหักหนี้ไม่ต่ำกว่า 30% ของเงินเดือนได้ แต่ตรงนี้จะใช้กับเฉพาะผู้กู้รายใหม่เท่านั้น
ส่วนผู้กู้รายเดิม เราจะปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดเงินส่งหนี้ให้เหลือไม่เกิน 70% และดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นอีกแรงที่จะทำให้เงินส่งหนี้ลดด้วย แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีปัญหา เราจะใช้วิธียุบหนี้ เช่น ให้เขาเอาบำเหน็จตกทอด ซึ่งเป็นเงินอนาคต ไปค้ำประกันเงินกู้ดอกเบี้ย 2% จากออมสิน แล้วนำเงินมายุบยอดหนี้เดิม เพื่อทำให้การส่งต่อเดือนลดลง” สุทธิชัย กล่าว
สุทธิชัย ระบุว่า คณะกรรมการฯยังกำหนดแนวทางช่วยเหลือครูและอดีตครู 5-6 หมื่นคน ที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว รวมถึงครูอีกกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งมีทั้งครูที่เป็นผู้กู้เอง และครูที่เข้าไปค้ำประกันหนี้ให้คนอื่น ที่กำลังถูกฟ้องล้มละลายในขณะนี้ โดย ศธ. จะเข้าไปเป็นตัวกลางในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูเหล่านี้
“เราจะเชิญแบงก์ออมสิน และเจ้าหนี้มาคุยกันว่า จะลดอะไรลงมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้บ้าง ยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้เขาผ่อนชำระหนี้ได้ โดยจะดำเนินการภายใต้กติกา คือ การยุบยอดหนี้ลง ลดดอกเบี้ยลง และรีไฟแนนซ์หนี้ได้อย่างไร” สุทธิชัย ย้ำ
สุทธิชัย กล่าวทิ้งท้าย “เราไม่ได้หมายว่า ครูจะต้องหมดหนี้ ไม่มีหนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้ และเป็นธรรมชาติที่ว่าใครๆก็มีหนี้ แต่อย่างน้อยๆ เราจะทำให้ครูมีสภาพคล่องในการชำระหนี้ ให้เขาชำระหนี้ต่อไปได้ มีเงินเหลือใช้ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน นี่คือเป้าหมายของเรา”
อ่านประกอบ :
‘บอร์ดแก้หนี้ครูฯ’ กล่อมสหกรณ์ลดดอกเบี้ยกู้ คุมเพดานก่อหนี้-แก้ปมถูกฟ้องล้มละลาย
กางปัญหา 'หนี้สินครู' เจาะสาเหตุ 3 ประเด็นที่ทำให้เป็นเรื่องเรื้อรังแก้ไม่จบ