"...หากในอนาคตที่จะมีแผนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุมมากยิ่งขึ้น กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหากการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดสิ้นสุดลงแล้วหน่วยงานมีแผนการพัฒนาโครงการต่อไป ขอให้ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากระยะเวลาผ่านมานานแล้วโดยเฉพาะการประเมินศักยภาพปริมาณน้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ..."
โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทน หรือ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ที่หน่วยงานได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาข้อบกพร่องในการดำเนินงาน อาทิ การก่อสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาด เล็กบางแห่งไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด และการดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากบางแห่งไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงปี 2566 สตง.ได้เข้าตรวจสอบผลสัมฤทธิ์โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทน (โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ราษฎรที่อยู่ห่างไกลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบสายส่งของการไฟฟ้า และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมาก มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับราษฎรในชนบทห่างไกลเพื่อเป็นปัจจัยก่อให้เกิดผลผลิต รายได้ และยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรในชนบทให้ดีขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานได้รับเงินงบประมาณในการสนับสนุนจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 7,000.00 ล้านบาท (เฉพาะโครงการที่หน่วยงานมีการจัดเก็บข้อมูล) ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 127 โครงการ เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 28 แห่ง และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมาก 99 แห่ง
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้านพลังงานทดแทน (โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ) โดยตรวจสอบการดำเนินงานการก่อสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและขนาดเล็กมากตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของหน่วยงานส่วนกลาง และสุ่มตรวจสอบในพื้นที่โครงการนวน 23 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัด
จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้างและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กบางแห่งไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด
จากการตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จและมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาในพื้นที่จำนวน 3 แห่ง ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา พบว่า มีจำนวน 2 แห่งที่มีความล่าช้านานถึง 13 ปี และ 18 ปี โดยมีการขอขยายสัญญา การแก้ไขสัญญา การยกเลิกสัญญา รวมทั้งมีคดีความกรณีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ จึงส่งผลกระทบทำให้เสียโอกาสในการผลิตและการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อนำเงินจากการขายไฟฟ้าส่งเป็นรายได้แผ่นดิน มูลค่ารวมทั้งสิ้นจำนวน 562.30 ล้านบาท การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กยังขาดประสิทธิภาพและไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 3 แห่ง จำนวน 1,395.57 ล้านบาท
นอกจากนี้เครื่องกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ประกอบของโครงการที่จัดซื้อไว้ยังไม่สามารถนำมาติดตั้งได้ มีผลทำให้เกิดการชำรุดเสียหายและเสื่อมสภาพ โดยสาเหตุหลักเกิดจากการศึกษาความเป็นไปได้ยังขาดความรอบคอบและมีความล้าสมัย ปัญหาพื้นที่เกิดอุทกภัย และบริษัทผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง
ข้อตรวจพบที่ 2 การดำเนินงานโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากบางแห่งไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
2.1 การดำเนินงานโครงการบางแห่ง พัฒนาในพื้นที่ที่ระบบสายส่งไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว ทำให้โครงการไม่สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์โดยตรง เนื่องจากราษฎรในพื้นที่มีไฟฟ้าของรัฐวิสาหกิจใช้แล้ว ซึ่งพบว่า เป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนที่เชื่อมโยงสายส่งเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งหมดจำนวน 9 แห่ง และมีมูลค่าก่อสร้าง รวมจำนวน 168.15 ล้านบาท
2.2 การดำเนินงานโครงการที่ไม่เชื่อมโยงสายส่งเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าบางแห่งไม่สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ พบว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำระดับหมู่บ้าน จำนวน 3 แห่ง ไม่สามารถผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดความชำรุดหรือเสียหายที่ต้องได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ และมีโครงการที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เนื่องจากประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำให้ต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าชั่วคราว จำนวน 6 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงฤดูแล้ง
2.3 การดำเนินงานโครงการที่เชื่อมโยงสายส่งเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังไม่ได้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน จากการตรวจสอบ พบว่า หน่วยงานได้ดำเนินการพัฒนาโครงการฯ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเชื่อมโยงสายส่งเข้ากับระบบจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดจำนวน 26 แห่ง จากโครงการฯ ทั้งหมดจำนวน 99 แห่ง โดยมีโครงการฯ ที่สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้รัฐวิสาหกิจได้แล้ว จำนวน 2 แห่ง และมีโครงการฯ ที่ยังไม่สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรัฐวิสาหกิจได้อยู่ในช่วงระยะเวลา 9 - 32 ปี จำนวน 24 แห่ง โดยอยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงอุปกรณ์การเชื่อมต่อและระบบป้องกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและในด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ จากการสังเกตการณ์โครงการฯ ที่สุ่มตรวจสอบ ยังพบว่า มีโครงการบางแห่งที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์เกิดความชำรุดเสียหายในช่วงระยะเวลาที่รอการจำหน่ายไฟฟ้าหรือไม่มีการใช้ประโยชน์โครงการ
2.4 โครงการบางแห่งยังไม่สามารถส่งเสริมให้มีการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ท้องถิ่น จากการตรวจสอบ พบว่า หน่วยงานดำเนินการโอนโครงการบางแห่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้โอนกลับคืนหน่วยงาน เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตต้องจำหน่ายแก่การไฟฟ้า มิได้เป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นโดยตรงส่งผลกระทบทำให้เสียโอกาสในการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปพัฒนาหรือก่อสร้างโครงการในพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งยังส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนได้ตามที่คาดหวังไว้ และทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า สาเหตุที่สำคัญเกิดจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตามศักยภาพตลอดทั้งปี โครงการบางแห่งอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงและตรวจสอบอุปกรณ์การเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดประสิทธิผล รวมถึงขาดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่บันทึกข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วนถูกต้อง
นอกจากนั้น ยังขาดการศึกษาความเป็นไปได้และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์สินให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือชุมชนอย่างรอบคอบ รวมถึงขาดการบำรุงรักษาและซ่อมแซมทรัพย์สินของโครงการให้อยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งาน
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ เพื่อให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. หากในอนาคตที่จะมีแผนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการอย่างละเอียด รอบคอบ และรัดกุมมากยิ่งขึ้น กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำหากการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดสิ้นสุดลงแล้วหน่วยงานมีแผนการพัฒนาโครงการต่อไป ขอให้ทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากระยะเวลาผ่านมานานแล้วโดยเฉพาะการประเมินศักยภาพปริมาณน้ำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
2. ให้ศึกษาความเป็นไปได้ โดยเฉพาะการประเมินศักยภาพของแหล่งน้ำต้นทุน และสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านชุมชนเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสม
3. ทบทวนแผนการพัฒนาโครงการใหม่และการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการเดิม โดยให้จัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาโครงการในพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นลำดับแรก และควรวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์การขอรับสนับสนุนโครงการในระดับพื้นที่ และดำเนินการสำรวจพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ให้เป็นข้อมูลปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
4. ขอให้สำรวจทรัพย์สินในโครงการว่าเกิดความชำรุดเสียหายหรือไม่ เพื่อดำเนินการให้ทรัพย์สินได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือได้ใช้ประโยชน์ตามสมควรต่อไป และให้เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงอุปกรณ์เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมทั้งให้จัดทำคู่มือใช้งานเครื่องจักรและการบำรุงรักษาซ่อมแซมเครื่องจักรเบื้องต้นที่เข้าใจง่ายแก่ชุมชนและมีการซักซ้อมหรือให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ มีแผนการตรวจเยี่ยมตามระยะเวลาที่เหมาะสม ที่สำคัญควรพัฒนาช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย นอกจากนี้ ควรเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความรู้แก่ชุมชน เพื่อให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการ
5. กรณีเครื่องกังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ และสิ่งก่อสร้างที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และปล่อยทิ้งร้างทรุดโทรมนั้น ขอให้ดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์ตามความจำเป็น หรือพิจารณาหาแนวทางที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่นตามความเหมาะสมต่อไป สำหรับอุปกรณ์หรือโครงการใดที่ยุติการผลิตหรือเลิกโครงการแล้ว แต่อุปกรณ์ยังใช้งานได้ดีให้รื้อถอนเครื่องจักรไปเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสมเพื่อการบำรุงรักษา หรือนำไปใช้พัฒนาโครงการอื่นที่มีศักยภาพเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งให้สำรวจบริเวณพื้นที่ตั้งของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากทั้งหมดที่รัฐวิสาหกิจขยายสายส่งไฟฟ้าเข้าไปแล้ว เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการวางแผนในการบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างสมเหตุสมผลตามควรแก่กรณี และการวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต
6. ให้จัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วนถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานรวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามประเมินผลหรือการรายงานต่าง ๆ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์
7. การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ให้พิจารณาทบทวนข้อกำหนด TOR หรือการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การคัดเลือกบริษัทผู้เสนอราคา ควรให้ความสำคัญกับความพร้อมหรือศักยภาพของผู้เสนอราคา รวมถึงข้อเสนอโครงการ ความมั่นคงทางการเงิน (ทุน) และข้อเสนอด้านเทคนิคหรือขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน และให้กำชับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินการติดตาม และเร่งรัดการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่อง
ผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงาน หน่วยงานอยู่ระหว่างการปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยดำเนินการให้มีการใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นและวางแผนในการบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการให้เกิดประโยชน์อย่างสมเหตุสมผลตามควรแก่กรณี รวมทั้งจัดทำและพัฒนาระบบฐานข้อมูลของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานทดแทนอื่น ๆที่ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญที่ครบถ้วนถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
ผลสัมฤทธิ์จากการตรวจสอบ
สตง. ยังระบุด้วยว่า จากผลการตรวจสอบและการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยงาน ทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ สามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น โดยเน้นให้มีการพัฒนา ปรับปรุงการดำเนินโครงการให้ถูกต้องและชัดเจน และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการส่งเสริม สนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการในพื้นที่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการโครงการ และชุมชนผู้ใช้ไฟฟ้าจากพลังน้ำพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและนำไปพิจารณากำหนดแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพต่อไป ส่งผลต่อประชาชน ทำให้ประชาชนในชุมชนพื้นที่ห่างไกลได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าพลังน้ำที่ระบบสายส่งของรัฐวิสาหกิจเข้าไม่ถึงมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น และได้รับความรู้ ความเข้าใจในการช่วยควบคุมและบริหารการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า ตลอดจนบำรุงรักษาดูแลโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้น
***********
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป