ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบปี 67 ‘ก.มหาดไทย’ ได้รับจัดสรรงบมากสุด 3.51 แสนล้าน รองลงมา ‘ก.ศึกษาฯ’ 3.3 แสนล้าน ขณะที่ ‘กลาโหม’ 1.98 แสนล้าน เผยตั้งบกว่า 5.3 หมื่นล้าน จ่ายค่าป่วยการ ‘อสม.-อสส.’-เพิ่มค่าตอบแทน ‘กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน’
..........................................
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
สำหรับงบประมาณรายจ่าย ปีงบฯ 2567 ที่มีวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ วงเงิน 2,490,860.5 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง วงเงิน 33,759.1 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน วงเงิน 717,199.6 ล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ วงเงิน 117,250.0 ล้านบาท และวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล วงเงิน 593,000.0 ล้านบาท
ขณะที่งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีวงเงิน 93,000 ล้านบาท งบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ (เฉพาะเงินต้น) วงเงิน 117,250 ล้านบาท และรายจ่ายผูกพันข้ามปีงบประมาณ (รายการผูกพันใหม่) มีวงเงิน 333,674.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกงบประมาณตามกลุ่มงบประมาณ งบกลาง มีวงเงิน 601,745.0 ล้านบาท หรือ 17.96% ของงบทั้งหมด รายจ่ายของหน่วยรัฐงบประมาณ 1,148,298.1 ล้านบาท หรือ 34.28% รายจ่ายบูรณาการ 210,249.0 ล้านบาท หรือ 6.28% รายจ่ายบุคลากร 790,029.5 ล้านบาท หรือ 23.58% ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท หรือ 6.84% ชำระหนี้ภาครัฐ 336,807.0 ล้านบาท หรือ 10.05% และชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท หรือ 1.01%
เมื่อจำแนกงบประมาณตามจำแนกตามกระทรวง ได้แก่
1.งบกลาง (11 รายการ) มีวงเงิน 601,745.0 ล้านบาท (ปีงบ 2566 ได้รับจัดสรร 590,470 ล้านบาท)
2.กระทรวงมหาดไทย 351,985.3 ล้านบาท
3.กระทรวงศึกษาธิการ 330,512.3 ล้านบาท
4.กระทรวงการคลัง 313,822.0 ล้านบาท
5.กระทรวงกลาโหม 198,562.9 ล้านบาท (ปีงบ 2566 ได้รับจัดสรร 194,498 ล้านบาท)
6.กระทรวงคมนาคม 183,950.0 ล้านบาท
7.กระทรวงสาธารณสุข 170,369.2 ล้านบาท
8.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 127,669.8 ล้านบาท
9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142.9 ล้านบาท
10.กระทรวงแรงงาน 61,841.1 ล้านบาท
11.สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423.3 ล้านบาท
12.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31,977.4 ล้านบาท
13.กระทรวงยุติธรรม 26,048.0 ล้านบาท
14.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 25,261.4 ล้านบาท
15.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639.9 ล้านบาท
16.กระทรวงการต่างประเทศ 7,555.9 ล้านบาท
17.กระทรวงวัฒนธรรม 7,004.6 ล้านบาท
18.กระทรวงพาณิชย์ 6,680.9 ล้านบาท
19.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,764.7 ล้านบาท
20.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,645.0 ล้านบาท
21.กระทรวงพลังงาน 3,026.7 ล้านบาท
22.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฯ 128,444.2 ล้านบาท 23.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 22,628.4 ล้านบาท 24.รัฐวิสาหกิจ 149,382.7 ล้านบาท 25.หน่วยงานของรัฐสภา 7,499.3 ล้านบาท 26.หน่วยงานของศาล 24,914.6 ล้านบาท 27.หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 23,054.4 ล้านบาท 28.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 93,647.6 ล้านบาท 29.หน่วยงานอื่นของรัฐ 583.2 ล้านบาท 30.สภากาชาดไทย 8,867.5 ล้านบาท
31.ส่วนราชการในพระองค์ 8,478.4 ล้านบาท 32.ทุนหมุนเวียน 229,112.3 ล้านบาท และ 33.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท
เมื่อจำแนกงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ เป็นด้านความมั่นคงฯ 391,495.8 ล้านบาท หรือ 11.69% ด้านการแข่งขันฯ 374,547.5 ล้านบาท หรือ 11.18% ด้านทรัพยากรมนุษย์ฯ 565,073.8 ล้านบาท หรือ 16.87% ด้านความเสมอภาคทางสังคมฯ 821,736.7 ล้านบาท หรือ 24.53% ด้านสิ่งแวดล้อมฯ 129,870.9 ล้านบาท หรือ 3.88% ด้านพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐฯ 603,209.3 ล้านบาท หรือ 18.00% และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 464,066.0 ล้านบาท หรือ 13.85%
ขณะเดียวกัน งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท ยังเชื่อมโยงแผนแม่บท 23 ประเด็น (แผนย่อย 85 ประเด็น) วงเงิน 1,521,757 ล้านบาท ,แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ใน 13 หมุดหมาย วงเงิน 1,121,375 ล้านบาท และโครงการสำคัญประจำปีงบ 2567 ทั้งหมด 1,026 โครงการ
ทั้งนี้ มีรายการสำคัญที่เสนอตั้งงบ 2567 ได้แก่ งบอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) วงเงิน 25,967 ล้านบาท เพื่อให้ค่าป่วยการ อสม.และ อสส. เหมาะสมกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และการเพิ่มค่าตอบแทนให้กำนันและผู้ใหญ่บ้าน วงเงิน 27,555 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและค่าครองชีพ
นอกจากนี้ ครม.ได้มติเห็นชอบการยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ให้รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้นๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด และเมื่อ ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว สำนักงบประมาณจะนำเสนอการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2567 ต่อไป
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้ฯ’ปีงบ 66 ก่อหนี้ใหม่ 8 หมื่นล.เพิ่มสภาพคล่อง‘กองทุนน้ำมัน’
เพิ่มขึ้น 5.18%! ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบปี 2567 แตะ 3.35 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล.
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน