"...มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วง 6 ปีงบประมาณ หรือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2566 พบว่า รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 257,618.47 ล้านบาท..."
....................................
“ในวันนี้ (17 ม.ค.) ผมขอเปิดนโยบายแรก ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคที่ได้ริเริ่มไว้ และทำให้เกิดความจริงขึ้นมา ด้วยการสานต่อนโยบาย ‘บัตรประชารัฐ’ โดยเพิ่มเงินเป็น 700 บาท/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ในทันทีที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐพร้อมลงมือทำทันที”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งได้แถลงเปิดนโยบายหลักของพรรคฯ และนโยบายบัตรประชารัฐ เพื่อรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 2566 ท่ามกลางคณะผู้บริหารพรรค ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส. ที่เข้าร่วมงานเปิดตัวนโยบายของพรรคกันอย่างพร้อมเพียง เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา
ก่อนที่ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกรรมการบริหารพรรค พปชร. จะออกมากล่าวเสริมว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มวงเงินในบัตรประชารัฐ จะนำมาจากงบประมาณในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของงบปี 2566 หลังจากได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้หากมีผู้ได้รับสิทธิ์ 18 ล้านคน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือปีละ 1.5 แสนล้านบาท
“พปชร.ได้ดำเนินการบัตรประชารัฐมาเป็นระยะเวลา 4 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากและกลุ่มเปราะบาง โดยในปี 2566 จะมีประมาณ 18 ล้านคน ถือเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ โดย พล.อ.ประวิตร มองว่าจำนวนเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น
และยังไม่ครอบคลุมค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน...ทำให้ประเมินว่า ควรมีการเพิ่มเงินช่วยเหลืออีกประมาณ 500 บาท เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าเงินที่ได้รับอาจจะไม่เพียงพอที่จะนำไปแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมในทุกด้านก็ตาม” สันติ ย้ำ
(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แถลงเปิดตัวนโยบายบัตรประชารัฐ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2566 ที่มา : พรรคพลังประชารัฐ)
อย่างไรก็ดี หากจะว่าไปแล้ว ‘บัตรประชารัฐ’ ที่พรรค พปชร. เอ่ยอ้างถึงนั้น ก็คือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบ 2561 (1.ต.ค.2560) ในสมัยรัฐบาล คสช. นั่นเอง
และมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในช่วง 6 ปีงบประมาณ หรือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2566 พบว่า รัฐบาล คสช. ต่อเนื่องถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่าน 'กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม' เป็นจำนวนทั้งสิ้น 257,618.47 ล้านบาท
ได้แก่ ช่วงเริ่มจัดตั้งปีงบ 2561-2562 วงเงิน 102,603.01 ล้านบาท ,ปีงบ 2563 วงเงิน 40,000 ล้านบาท ,ปีงบ 2564 วงเงิน 49,500.83 ล้านบาท ,ปีงบ 2565 วงเงิน 30,000 ล้านบาท และปีงบ 2566 วงเงิน 35,514.62 ล้านบาท
(การใช้จ่ายงบประมาณ 'กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม' ที่มา : เอกสารงบประมาณรายจ่ายฉบับปรับปรุง ตาม พ.ร.บ.บประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566เล่มที่ 20 สำนักงบประมาณ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ 'ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ผ่านกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ดังนี้
@เปิดตัว‘บัตรสวัสดิการฯ’ให้เงินซื้อสินค้า 200-300 บาท/ด.
ปี 2560
4 ก.ค.2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จำนวน 1,581.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 ในส่วนค่าทำบัตรและบริหารจัดการ
29 ส.ค.2560 ครม. มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ และการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (จำนวนผู้ถือบัตรฯ 11.46 ล้านคน) วงเงิน 46,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย
(1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยให้วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
(2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาท/คน/ 3 เดือน
(3) วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาท/คน/เดือน
(4) วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาท/คน/เดือน และ
(5) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาท/คน/เดือน
ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว ให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 ต.ค.2560-30 ก.ย.2561 (ปีงบ 2561) ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฯนั้น ให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2561 ภายใต้ 'กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก' ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม’
@เติมเงินให้ผู้ถือบัตรฯ กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี 61
ปี 2561
9 ม.ค.2561 ครม.มีมติเห็นชอบหลักการ ‘มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ โดยหนึ่งในมาตรการที่สำคัญของมาตรการนี้ คือ มาตรการส่งเสริมให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐพัฒนาตนเอง โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคฯ เพิ่ม 100-200 บาท/คน/เดือน ดังนี้
1.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในปี 2559 จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพิ่มเติมเป็นจำนวน 200 บาท/คน/เดือน
2.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท ในปี 2559 จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ เพิ่มเติม จำนวน 100 บาท/คน/เดือน
ขณะที่มาตรการดังกล่าว มีกรอบวงเงิน 13,872 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายภายใต้กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
28 พ.ค.2561 ครม.รับทราบแนวทางการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการ 'ไทยนิยม ยั่งยืน' ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ซึ่งผลการลงทะเบียนฯ ปรากฎว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติฯ 3.1 ล้านคน
18 ก.ย.2561 ครม.เห็นชอบมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นฯ ผ่านเครื่อง EDC ที่มีการเชื่อมต่อระบบเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยชดเชยเงินไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน
ทั้งนี้ ให้กรมบัญชีกลางจ่ายเงินชดเชยดังกล่าว โดยใช้จ่ายจากเงินกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
20 พ.ย.2561 ครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้ถือบัตรฯ 14.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนฯ ปี 2560 จำนวน 11.4 ล้านคน และผู้ผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนฯ เพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน 3.1 ล้านคน) รวม 4 มาตรการ วงเงิน 38,730 ล้านบาท ได้แก่
(1) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วย/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน หากเกิน 50 หน่วย/เดือน ให้ใช้สิทธิตามวงเงินในมาตรการนี้ แต่ต้องไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน ส่วนกรณีน้ำประปา ให้ใช้วงเงินไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน วงเงิน 27,060 ล้านบาท
(2) มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาท/คน (ได้รับครั้งเดียว) เพื่อลดภาระค่าใช้ของผู้มีรายได้น้อยในช่วงปลายปี 2561 วงเงิน 7,250 ล้านบาท
(3) มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย จำนวน 1,000 บาท/คน (ได้รับครั้งเดียว) วงเงิน 2,200 ล้านบาท และ
(4) มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เป็นจำนวน 400 บาท/คน/เดือน ระหว่างเดือน ธ.ค.2561-ก.ย.2562 วงเงิน 920 ล้านบาท
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการฯ วงเงินรวมทั้งสิ้น 38,730 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยปรับมาตรการที่ใช้จ่ายจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 แล้ว จำนวน 40,000 ล้านบาท
@เพิ่มเบี้ยคนพิการ-ช่วยค่าปุ๋ยเกษตรกร-แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปี 2562
30 เม.ย.2562 ครม.เห็นชอบหลักการและการดำเนินการของมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนผ่านการดำเนินการ 4 มาตรการ วงเงินทั้งสิ้น 13,210 ล้านบาท ได้แก่
(1) มาตรการเพิ่มเบี้ยคนพิการ จำนวน 200 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 5 เดือน (พ.ค.2562-ก.ย.2562) โดยใช้เงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม วงเงิน 1,160 ล้านบาท
(2) มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร โดยจ่ายเงินช่วยเหลือค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆที่จำเป็น แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกร เป็นเงิน 1,000 บาท/คน (ได้รับครั้งเดียว) วงเงิน 4,100 ล้านบาท
(3) มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา โดยช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาในช่วงเปิดปีการศึกษา จำนวน 500 บาท/บุตร 1 คน (ได้รับครั้งเดียว) วงเงิน 1,350 ล้านบาท และ
(4) มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย โดยช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐเป็น 500 บาท/คน/เดือน เท่ากันทุกคน (เดิมได้ 300 บาท ให้เพิ่มเป็น 200 หรือเดิมได้ 200 บาท ให้เพิ่มอีก 300 บาท) เป็นเวลา 6 เดือน (จำนวน 14.6 ล้านคน) วงเงิน 6,600 ล้านบาท
20 ส.ค.2562 ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 โดยเห็นชอบมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 มาตรการ วงเงินทั้งสิ้น 20,102 ล้านบาท โดยให้เบิกจ่ายจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (เดิม คือ กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ) ประกอบด้วย
(1) มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) วงเงิน 14,607 ล้านบาท
(2) มาตรการมอบเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มเติม 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) วงเงิน 5,000 ล้านบาท และ
(3) มาตรการช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตรอายุ 0-6 ปีเพิ่มเติม จำนวน 300 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.2562) วงเงิน 494.8 ล้านบาท
24 ก.ย.2562 ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เพื่อให้การดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ มีรายจ่ายประจำ ได้แก่ สวัสดิการพื้นฐานเพื่อลดค่าครองชีพ และการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นประจำทุกเดือน
1 ต.ค.2562 ครม.มีมติเห็นชอบการขยายเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้จ่ายเงินจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม รวมทั้งสิ้น 1,869.3 ล้านบาท ประกอบด้วย
(1) ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ (ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และช่วยเหลือค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน) เป็นระยะเวลา 1 ปี (ต.ค.2562-ก.ย.2563) วงเงิน 1,770 ล้านบาท และ
(2) มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระฯ ไม่เกิน 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 11 เดือน (พ.ย.2562-ก.ย.2563) วงเงิน 99.30 ล้านบาท
@จัดสรรงบอุดหนุนสวัสดิการฯ ‘แบบไม่กำหนดเวลา’ ให้ผู้ถือบัตรฯ
ปี 2563
22 ก.ย.2563 ครม.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา โดยขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ (ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และช่วยเหลือค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน) เป็นระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.2563-ก.ย.2564)
ทั้งนี้ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,423.5 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำหรับการดำเนินมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานดังกล่าว
นอกจากนี้ ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ เพื่อให้มีงบประมาณรองรับการจัดสรรสวัสดิการที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ปี 2564
21 ก.ย.2564 ครม.เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงินรวม 27,005.65 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ได้แก่
(1) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา โดยขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ (ช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน และช่วยเหลือค่าน้ำประปาไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน) เป็นระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.2564-ก.ย.2565) วงเงิน 2,018 ล้านบาท
(2) การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 (ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ,ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยคนพิการที่ถือบัตรฯ) เป็นระยะเวลา 12 เดือน (ต.ค.2564-ก.ย.2565) วงเงินงบประมาณ 18,815 ล้านบาท
(3) การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) วงเงิน 1,642 ล้านบาท และ
(4) การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) วงเงิน 4,530.65 ล้านบาท
28 ก.ย.2564 ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1,008 ล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน (วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคฯ 200-300 บาท/คน/เดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มฯ 45 บาท/คน/ 3 เดือน) ,ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (ค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.หรือรถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน ,ค่ารถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน และค่ารถไฟ 500 บาท/คน/เดือน) และการเพิ่มเบี้ยคนพิการที่ถือบัตรฯ 200 บาท/คน/เดือน
27 ธ.ค.2565 ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำเดือน ม.ค.2566 และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 2,642.08 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการฯ
โดยช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เพิ่มเติมอีก 200 บาท/คน/เดือน ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือน ธ.ค.2565) ได้แก่
1.ผู้มีบัตรฯที่เดิมได้รับวงเงิน 200 บาท/คน/เดือน (จำนวน 3.54 ล้านคน) จะได้รับเงินเพิ่มอีก 200 บาท เป็น 400 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ม.ค.2566)
2.ผู้มีบัตรฯที่เดิมได้รับวงเงิน 300 บาท/คน/เดือน (จำนวน 9.68 ล้านคน) จะได้รับเงินเพิ่มอีก 200 บาท เป็น 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ม.ค.2566)
ทั้งนี้ ระหว่างปีงบประมาณ 2562-2566 รัฐบาลได้มีการจัดสวัสดิการ ‘แบบไม่กำหนดระยะเวลา’ ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้จ่ายเงินจากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ ขณะที่รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.สนับสนุนวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคฯ 200-300 บาท/เดือน/ ,ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/ 3 เดือน ,ค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ระบบ e-Ticket หรือค่าโดยสารรถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน ,ค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน ซึ่งเป็นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560
2.ปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน ในเบื้องต้นเฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563
เหล่านี้ คือ รายละเอียดการจัดสรรเงินงบประมาณให้แก่ ‘กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ’ เพื่อนำไปสนับสนุน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ซึ่งใช้เงินไปแล้ว 2.57 แสนล้านบาท ในห้วงเวลา 6 ปีงบประมาณ ก่อนที่ พรรค พปชร. จะประกาศนโยบายเพิ่มวงเงิน ‘บัตรประชารัฐ’ เป็นเดือนละ 700 บาท เพื่อเรียกคะแนนเสียงในศึกเลือกตั้งปี 2566