“…วันนี้ดอกเบี้ย กยศ. เป็น 0% และเบี้ยปรับเป็น 0% ภายใน 2 ปีข้างหน้า กยศ. จะมีตัวเลขติดลบ เพราะทุกปี กยศ.ให้เงินกู้ยืมปีละ 4 หมื่นล้าน เรามีรายรับจากเงินรับชำระหนี้ปีละ 2 หมื่นล้าน แต่ถ้าเราไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายได้ตรงนี้จะหายไปทันที 6,000 ล้านบาท หากเป็นอย่างนี้ เราจะต้องกลับไปใช้งบประมาณแผ่นดินในปี 2568 ซึ่งหากมีการให้กู้ยืมมากและได้รับชำระหนี้น้อย เราจำเป็นต้องใช้งบแผ่นดินปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท…”
.....................................
หลังจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่…. พ.ศ.... (ร่าง พ.ร.บ.กยศ.) ในวาระที่ 3 โดยมีสาระสำคัญ เช่น ให้การกู้ยืมเงิน กยศ. ปลอดภาระดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ย 0% และไม่มีเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงให้ยกเลิกการมีผู้ค้ำประกันฯ เป็นต้น ก่อนจัดส่งร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับดังกล่าว ให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาตามขั้นตอน นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค. คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา จัดงานสัมมนาเรื่อง ‘หนี้ กยศ. : แก้กฎหมาย...แก้หนี้ แก้ถูกที่หรือยัง?’ โดยวิทยากรที่เข้าร่วมการสัมมนาฯ ต่างแสดงความเห็นว่า การกู้เงิน กยศ. ควรจะต้องคิดดอกเบี้ย เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของกองทุน กยศ. ได้ และเห็นว่ากรณีมีการผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กยศ. ก็ควรจะต้องมีการเรียกเบี้ยปรับ สรุปได้ดังนี้
@ห่วงไม่มี ‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’ กระทบวินัยการเงินของ ‘ลูกหนี้’
วรุณ กาญจนภู รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน กยศ. คือ การทำให้กองทุนยืนและเลี้ยงตัวเองได้ รวมทั้งเป็นภาระงบประมาณน้อยที่สุด และแม้ว่าเงินกู้ยืม กยศ. จะถือว่าเป็นสวัสดิการที่รัฐให้แก่ประชาชน ซึ่งไม่ใช่การให้สินเชื่อทั่วไป แต่ก็ควรมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องของวินัยการเงิน เพราะเมื่อกองทุนฯได้รับคืนเงินต้นและดอกผล ก็จะนำไปหมุนเวียนปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ กยศ. ต่อในอนาคต
“ถามว่ากองทุนฯ หรือสวัสดิการ ควรมีดอกเบี้ยหรือไม่ ทุกสิ่งทุกอย่าง มีคำว่าวินัยการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่บอกว่าดอกเบี้ย 0% ไม่มีค่าปรับ ไม่มีอะไรเลย ก็เหมือนเป็นการไปกู้ยืม โดยไม่มีการสร้างอุปนิสัยในการคืนหนี้ จะคืนหนี้เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่มีเบี้ยปรับ เช่น เงินกู้ 15 ปี ผมขอไปคืนปีที่ 15 ก็แล้วกัน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ และสุดท้ายกองทุนนี้ ก็ต้องล้มหายตายจากไปเอง เพราะงบประมาณที่จะเอามาอุดหนุนน้องๆที่เพิ่มขึ้นทุกปี คงไม่ไหวเหมือนกัน” วรุณ กล่าว
วรุณ ย้ำว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ.กยศ. ที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ กยศ. ในการช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น หากลูกหนี้ตกงานก็ให้ขยายระยะเวลาปลอดหนี้ได้ เป็นต้น พร้อมทั้งเสนอว่าภาครัฐควรพิจารณานำสถานะหนี้ กยศ. เข้าไปอยู่ในข้อมูลเครดิตบูโร เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ลูกหนี้ กยศ. ชำระหนี้ เนื่องจากหากลูกหนี้มีประวัติไม่ชำระคืนหนี้ กยศ. ก็จะเกรงว่าจะไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ก็ต้องนำเงินมาชำระหนี้ไม่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นเท่าใดก็ตาม
@‘TDRI-ธปท.’ ชี้ไม่เก็บ ‘ดบ.-เบี้ยปรับ’ กระทบความยั่งยืนกองทุน
ด้าน พงษ์ทัศน์ วนิชานันท์ นักวิจัยด้านการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ที่สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบนั้น แก้ปัญหาหนี้ กยศ. ถูกจุดบางส่วน คือ กรณีที่กำหนดไม่ให้มีผู้ค้ำประกัน ส่วนที่แก้ไม่ถูกจุด คือ การยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เงินกู้ กยศ. เพราะจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของกองทุน กยศ. และรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเข้ามาอุดหนุนกองทุนฯอีกในอนาคต
“การไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ จะทำให้ความยั่งยืนของกองทุนฯมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยที่ผ่านมา กยศ.พยายามและมีความสามารถในการบริหารกองทุนฯ โดยที่ยังไม่ต้องเพิ่มงบประมาณแผ่นดินเข้ามาในกองทุนมาหลายปีแล้ว แต่ถ้าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ผมคิดว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด” พงษ์ทัศน์ กล่าว
พงษ์ทัศน์ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกรณีที่มีกระแสให้ยกหนี้ กยศ. เพราะการยกหนี้ หมายถึงการทำให้เงินกู้กลายเป็นเงินให้เปล่า ซึ่งเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของสังคม ขณะที่ปัจจุบันกองทุน กยศ.เอง มีความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะการที่ กยศ.เก็บดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปลอดภาระหนี้ 2 ปี และให้ผ่อนชำระหนี้นาน 15 ปี นั้น จะพบว่าเงินที่ปล่อยกู้ 100 บาทในวันนี้ แม้ว่าลูกหนี้จะใช้หนี้ทั้งหมด แต่หากหักเงินเฟ้อแล้ว เงินจะเหลือจริงๆเพียง 34 บาทเท่านั้น
“เราเก็บ 1% ปลอดหนี้ 2 ปี ผ่อนนาน 15 ปี ถ้าปล่อยกู้ 100 บาท แม้ทุกคนจะใช้หนี้ ไม่เบี้ยว เมื่อมันมีเรื่องเงินเฟ้อ พอเก็บจริง เงินในอนาคตจะเหลือแค่ 34 บาท” พงษ์ทัศน์ กล่าว
ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่ากองทุน กยศ. จะไม่ใช่กองทุนฯที่มุ่งเน้นเรื่องกำไร แต่กองทุนฯเองก็ต้องมีความยั่งยืน และไม่สร้างภาระงบประมาณ ซึ่งการที่ กยศ. ต้องคิดดอกเบี้ยที่ 1% นั้น ไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไร แต่เป็นการเก็บดอกเบี้ยเพื่อชดเชยเงินเฟ้อ ในขณะที่การคิดอัตราดอกเบี้ย กยศ. ที่อัตรา 1% ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้ลูกหนี้ กยศ. ชำระหนี้ไม่ได้แต่อย่างใด
“ประเด็นที่อยากจะเน้น คือ ดอกเบี้ย 1% ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้เขาจ่ายหนี้ไม่ได้ แต่อุปสรรคจริงๆ คือ เบี้ยปรับที่สูงถึง 18% และปัจจุบันเงินเฟ้อของเราสูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งตอนที่ตั้ง กยศ. หากเขามีเงิน 1 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่มีการคิดดอกเบี้ยเลย เงินเขาจะเหลือแค่ 5,000 ล้าน เพราะผลจากเงินเฟ้อ แต่ถ้าคิดดอกเบี้ยที่ 1% เงินจะเหลือ 7,000 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่า กยศ. เองไม่ได้กำไรอะไรเลย” ขจร กล่าว
@คาดของบรัฐปีละ 2-3 หมื่นล้าน หากยกเลิก ‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’
ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ระบุว่า ปัจจุบัน กยศ. ให้เงินกู้แก่ลูกหนี้ กยศ. ทั้งสิ้น 6.41 ล้านราย เป็นเงิน 7.06 แสนล้านบาท โดยมีผู้ปิดบัญชีไปแล้ว 1.68 ล้านราย ยอดหนี้ 1.3 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างปลอดชำระหนี้ 1.11 ล้านราย 1.18 แสนล้านบาท และอยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.54 ล้านราย 4.51 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ 2.2 ล้านราย โดยมียอดเงินต้นที่ผิดนัดฯ 9.08 หมื่นล้านบาท
“แม้ว่าอัตราชำระหนี้ของเราจะดีขึ้นตามลำดับ โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การชำระหนี้อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท พอมาปี 2564 การชำระหนี้เพิ่มเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปี 2565 การชำระหนี้อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้าน แต่มีเรื่องน่าตกใจ คือ หลังมีข่าวเรื่องสภาผู้แทนฯผ่านร่าง พ.ร.บ.กยศ. ว่าจะไม่ให้มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ อัตราการชำระหนี้ลดลงกว่า 20% ซึ่งถ้ารูปการณ์ยังเป็นอย่างนี้อัตราการชำระหนี้ กยศ. ในปีหน้า จะลดลง 1 ใน 3” ชัยณรงค์ กล่าว
ชัยณรงค์ ระบุว่า ตั้งแต่ตั้งกองทุน กยศ. มา กยศ. ไม่เคยคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 1% เลย โดย กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% มาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงเกิดโควิด กยศ. ลดดอกเบี้ยเหลือ 0.01% สำหรับลูกหนี้ชั้นดี ส่วนเบี้ยปรับ แต่เดิม กยศ.คิดเบี้ยปรับที่ 18% ก่อนจะลดลงมาเหลือ 7.5% ตามกฎหมาย และในช่วงที่เกิดโควิด กยศ. ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ฯ โดยลดเบี้ยปรับลดลงเหลือ 0.5%
อย่างไรก็ตาม หากมีการยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. และยกเลิกเบี้ยปรับ จะทำให้เงินสดคงเหลือปลายงวดของ กยศ. จะเริ่มติดลบตั้งแต่ปี 2567 และติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 2.13 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ทำให้ กยศ. จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณจากรัฐตั้งแต่ปีงบ 2568 เป็นต้นไป ประมาณปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท
“ถ้าวันนี้ดอกเบี้ย กยศ. เป็น 0% และเบี้ยปรับเป็น 0% ภายใน 2 ปีข้างหน้า กยศ. จะมีตัวเลขติดลบ เพราะทุกปี กยศ.ให้เงินกู้ยืมปีละ 4 หมื่นล้าน เรามีรายรับจากเงินรับชำระหนี้ปีละ 2 หมื่นล้าน แต่ถ้าเราไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รายได้ตรงนี้จะหายไปทันที 6,000 ล้านบาท หากเป็นอย่างนี้ เราจะต้องกลับไปใช้งบประมาณแผ่นดินในปี 2568 ซึ่งหากมีการให้กู้ยืมมากและได้รับชำระหนี้น้อย เราจำเป็นต้องใช้งบแผ่นดินปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท” ชัยณรงค์ กล่าว
@หนุนยกเลิก ‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’-อัดจ้างทนาย ‘หมื่นล.’ ฟ้องลูกหนี้
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมงานฯ ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมสัมมนาอย่างน้อย 3 ราย ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของวิทยากรเสนอให้กลับไปเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. และเบี้ยปรับ เพราะเมื่อผู้กู้เงิน กยศ. จบการศึกษาและมีงานทำ ลูกหนี้ กยศ.เหล่านี้ จะเป็นผู้จ่ายภาษีให้กับภาครัฐ
ไชยพล เดชตระกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จากการลงไปทำงานกับลูกหนี้ กยศ. ในพื้นที่จริง พบว่าปัจจุบันมีลูกหนี้ กยศ. เป็นจำนวนมากที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ และสถานการณ์ในลักษณะนี้ก็เป็นมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 อีก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหามานานแล้ว
ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับที่สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ โดยเฉพาะในประเด็นการยกเลิกการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. และเบี้ยปรับ จึงไม่ใช่การแก้กฎหมายเพื่อไปหาเสียงอะไร แต่เป็นการแก้ไขกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งมีการหยุดหนี้ให้กับลูกหนี้ มีการแขวนดอกเบี้ยไว้ และให้ลูกหนี้จ่ายเฉพาะเงินต้นเมื่อมีรายได้ เป็นต้น
“อยากให้ท่าน ส.ว. เปลี่ยน Mindset ที่ผ่านมาประเทศไทยอยู่ภายใต้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและแข่งขันกันมาตลอด แต่วันนี้เราต้องเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน คิดถึงสังคมให้มาก โดย กยศ. คือ กองทุนเพื่อสวัสดิการตามรัฐธรรมนูญ การทำให้เด็กที่ยากไร้ที่สุดได้เรียน จะทำให้เข้ามีโอกาสได้ยกระดับ และสิ่งที่สังคมจะได้ คือ รายได้จากภาษี ดอกเบี้ย กยศ. ไม่ต้องไปเอา เพราะเมื่อเขามีงาน เขาก็เสียภาษีอยู่แล้ว” ไชยพล กล่าว
ไชยพล ระบุด้วยว่า คนไทยเกิดมาต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐขยายเป็น 12 ปีแล้ว แต่วันนี้เราต้องผลักดันให้คนไทยทุกคนได้เรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีตามศักยภาพ ส่วนที่บอกว่าหากไม่เก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเงินกู้ กยศ. จะทำให้กองทุนไม่ยั่งยืน นั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องประสิทธิภาพการบริหารมากกว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องรุ่นพี่ไม่เอาเงินมาคืนรุ่นน้อง เพราะ กยศ.สามารถนำเงินที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผลได้ เช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล
“เงินที่ กยศ.มีอยู่ เอาไปฝากแบงก์อย่างเดียว ได้ดอกเบี้ยไม่กี่สลึง แต่มาเอาดอกเบี้ยจากเด็ก 2%” ไชยพล กล่าวและว่า “สำหรับแบงก์แล้ว การจ้างทนายเก็บหนี้บัตรเครดิต มันเปลือง ถ้าลูกหนี้มาคุยกับแบงก์ ก็ไม่ต้องไปเสียเงินให้ใคร แต่วันนี้คุณ (กยศ.) ไปจ้างทนายฟ้องลูกหนี้เป็นเงินเกือบหมื่นล้านแล้ว พอไม่ได้ใช้งบจากรัฐ ก็ไม่เคยตรวจสอบ กยศ.เลย สภาฯควรมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ กยศ. ว่า มีวินัยการเงินคลังหรือไม่”
@‘นศ.ธรรมศาสตร์’ ตั้งคำถาม ‘กยศ.’ เพิ่มตั้งงบ 500 ล้าน ฟ้องลูกหนี้
กิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ นักศึกษาจากวิทยาลัยสหวิทยาการ สาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานของ กยศ. โดยเฉพาะการฟ้องลูกหนี้ กยศ. เป็นจำนวนมาก ทั้งๆที่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.กยศ. กำหนดว่าในการชำระเงินคืนกองทุนฯ นั้น กยศ. มีสิทธิ์ในการเข้าไปดูข้อมูลของลูกหนี้ แต่เหตุใด กยศ.จึงไม่ไปดูตรงนั้นก่อน แต่กลับไปดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้เลย
กิตติวัฒน์ ยังตั้งคำถามว่า กรณีที่มีการบอกว่า หาก กยศ. ไม่มีการเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจากลูกหนี้ กยศ. แล้ว จะทำให้กองทุนฯอยู่ไม่ได้นั้น อยากถามว่าใครที่อยู่ไม่ได้
“การที่มีการบอกว่า กยศ. จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่ หากปลอดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ สิ่งที่ผมสงสัย คือ ที่บอกว่าอยู่ไม่ได้นั้น ใครอยู่ไม่ได้ และที่อยู่ไม่ได้เพราะว่า กยศ. นำเงินเช่าพื้นที่อาคารปีละ 200 ล้านบาทใช่หรือไม่ หรือที่อยู่ไม่ได้ เพราะ กยศ. ใช้เงินอย่างไม่มีคุณภาพ กล่าวคือในปี 2563-64 กยศ. ใช้เงินในการทวงหนี้ลูกหนี้ไป 600 กว่าล้านบาท และเมื่อปรับใหม่แล้วก็ยังอยู่ 513 ล้านบาท แต่กลับทวงหนี้คืนมาได้ 69 ล้านบาท
จึงต้องมาดูว่าใครกันแน่ที่ไม่มีศักยภาพในการบริหารจัดการเงิน หรือเป็นเพราะว่าผู้จัดการฯ เคยทำงานที่ krungthai law มาก่อนหรือเปล่า จึงชอบไปฟ้องร้องไล่บี้ เพราะตั้งแต่ผู้จัดการฯคนนี้ ดำรงตำแหน่งมา ท่านเพิ่มงบฟ้องร้องจากปีละ 8-9 ล้านบาท มาเป็นปีละ 500 ล้านบาท และอยากถามว่าทำไมท่านต้องไปเช่าตึกที่มีค่าเช่า 200 ล้าน/ปี มันเยอะมาก หรือเรากำลังเอาเบี้ยปรับจากคนที่จนที่สุดในประเทศมาสำเริงสำราญกันหรือไม่” กิตติวัฒน์ ระบุ
(กิตติวัฒน์ อึ้งเจริญ (ยืน))
ขณะที่ ชนินทร์ วงษ์ศรี นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สาขาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ตอนนี้ทุกคนบอกว่าจะทำอย่างไรให้กองทุน กยศ. มีความยืดหยุ่น หรือทำอย่างไรให้กองทุน กยศ. อยู่ต่อไป แต่จริงๆแล้ว ตนอยากให้กองทุนฯทำให้คนอยู่ได้มากกว่า เพราะลูกหนี้ กยศ. บางคนทำงานได้เงินน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำอีก ในขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกปี
“ที่บอกว่าการไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ ในที่สุดจะทำให้ต้องไปใช้งบประมาณของรัฐ แต่เท่าที่ดูจะเห็นงบที่เอาไปใช้อย่างอื่น สูงกว่างบที่จะนำไปให้ กยศ.เยอะเลย จึงอยากถามว่าในเรื่องการศึกษา ทำไมรัฐถึงลงทุนไม่ได้ และอยากฝากผู้มีอำนาจว่า การศึกษาควรเป็นสิทธิ์ และเราควรจะไปไกลกว่าเรื่องดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เราควรจะไปไกลถึงการเรียนฟรี หรือยกหนี้ให้หากเป็นประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาเราก็เคยยกหนี้ให้ธนาคารพาณิชย์ในปี 2540 มาแล้ว” ชนินทร์ กล่าว
@ผู้จัดการ ‘กยศ.’ แจงปมเช่าตึก-ยกเหตุผลต้องฟ้องลูกหนี้ผิดนัดฯ
จากนั้น ชัยณรงค์ ชี้แจงว่า กรณีที่มีการแนะนำว่า เงินกู้ กยศ. ไม่ควรมีดอกเบี้ย และควรให้เรียนฟรีไปจนถึงระดับปริญญาตรีนั้น ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นด้วยกับการให้ เพราะการให้เป็นสิ่งที่ดี แต่คำถาม คือ ประเทศเราพร้อมหรือยัง ซึ่งตนเชื่อว่าขณะนี้ประเทศเรายังไม่มีความพร้อมที่จะให้เรียนฟรีไปมากกว่าระดับในปัจจุบันนี้
“วันนี้ผมเชื่อว่าประเทศเราไม่พร้อมที่จะให้เรียนฟรีถึงระดับมากไปกว่านี้ ในเวลานี้ แม้ผมจะเห็นด้วยกับการให้ แต่จริงๆแล้วเรายังทำไม่ได้” ชัยณรงค์ กล่าวและว่า หาก พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ บังคับใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ กยศ. สามารถให้เงินกู้เพื่อการศึกษาในลักษณะพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และเพิ่มเติมทักษะใหม่ (Reskill) ได้ เช่น คนที่เป็นช่างเชื่อม หาก Upskill เป็นช่างเชื่อมใต้น้ำ ซึ่งใช้เวลาไม่กี่เดือน รายได้จะเพิ่มจากวันละ 500 บาท เป็นวันละ 2,000 บาท
ชัยณรงค์ กล่าวยังกล่าวถึงกรณีที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กยศ. ว่า ข้อมูลที่กล่าวมานั้น คลาดเคลื่อนทั้งหมด ที่มีตรงอย่างเดียว คือ เงินรายได้ของตน ซึ่งต้องเปิดเผยในการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว และ กยศ. ไม่เคยเช่าอาคารที่มีราคาแพงตามที่พูดมา แม้ว่าค่าเช่าจะมีราคาแพงพอสมควร เพราะมีคุณภาพที่ดี แต่ไม่ได้มีราคาสูงขนาดนั้น ส่วนเรื่องการฟ้องคดีนั้น เป็นหน้าที่ที่ กยศ. จะต้องฟ้องคดีก่อนหมดอายุความ
“การฟ้องคดี ถ้าน้องๆที่จบนิติศาสตร์จะทราบว่า อายุความในคดีมีอยู่ ถ้าเราไม่ฟ้องคดี หนี้จะตกน้ำไปปีละ 8 พันล้าน เราใช้เงินฟ้องคดี เรื่องหนึ่งไม่กี่บาท แต่จำเป็นต้องฟ้อง เพื่อรักษาสิทธิ์ของรัฐเอาไว้ การบังคับคดีก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องบังคับคดี ถ้าไม่บังคับคดีก็จะมีความผิด เราเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงกฎระเบียบ แต่การแก้กฎหมายครั้งนี้ จะเป็นการปลดพันธนาการทั้งแผ่นดิน ช่วยให้ลูกหนี้กลับเข้ามาในระบบได้อีกครั้งหนึ่ง” ชัยณรงค์ กล่าว
ส่วนที่บอกว่า กยศ. ใช้เงินในฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก แต่ได้เงินกลับมาน้อยนั้น ชัยณรงค์ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่ตนเข้ามาทำงานในปี 2560 กยศ. ได้รับการชำระหนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท และได้รับการชำระหนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปีงบ 2561 กยศ.ไม่เคยของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเลย โดยวันนี้ กยศ.สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอที่เสนอมานั้น หากอะไรทำได้ กยศ. ก็จะทำ
ขณะที่ พบพริษฐ์ พงศ์โชติสาคร อดีตลูกหนี้ กยศ. ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven กล่าวว่า ในฐานะอดีตลูกหนี้ กยศ. ส่วนตัวแล้วตนไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับเงินกู้ กยศ. เพราะไม่เช่นนั้นแล้วลูกหนี้ กยศ.ที่ชำระหนี้ดีตลอดมา จะชำระหนี้ดีไปเพื่ออะไร
เหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนกรณีการแก้ไข ‘พ.ร.บ.กยศ.’ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะในประเด็นการยกเลิก ‘ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ’ ที่มีทั้งเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุน!
อ่านประกอบ :
นิด้าโพลเผย ปชช.เห็นด้วยกับการยกเลิกเก็บดอกเบี้ย-ไม่มีเบี้ยปรับ ของ กยศ.
มติสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุน กยศ. กู้ยืมเงินไม่มีดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ
เปิดงบ'กยศ.'ล่าสุด! ปี 64 รายได้ 6.89 พันล้าน ก่อน'กมธ.วิสามัญฯ'หั่น'ดบ.-เบี้ยปรับ'
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน
รัฐบาลรุกแก้หนี้ กยศ.ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกลุ่มผิดนัดชำระ-ถูกเลิกสัญญา 1.7 แสนคน
เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน
ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ
ต่อคิวเข้าครม.!‘สนง.กฤษฎีกา’เผยส่งร่างแก้ไข ‘พ.ร.บ.กยศ.’ให้ ‘สลค.’ตั้งแต่ 9 ก.ย.แล้ว
ทวี สอดส่อง : ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง 'กยศ.' กับ การไร้วินัยการเงินการคลัง!
ชงแก้ พ.ร.บ. ‘กยศ.’! เปิดทาง ‘ลูกหนี้’ ตามคำพิพากษา ปรับโครงสร้างหนี้-แปลงหนี้ใหม่
กางงบ'กยศ.'ย้อนหลัง 3 ปี! ฟันเบี้ยปรับ 7.4 พันล.-จ่ายค่าคดี 4 พันล. จ่อฟ้องอีกล้านคน
6 เดือน ลูกหนี้ ‘กยศ.’ ที่ผิดนัดชำระฯ 2.47 หมื่นราย ใช้สิทธิฯปิดบัญชี-ลดเบี้ยปรับ 100%
ผ่อนจนตายก็ไม่หมด! ลูกหนี้'กยศ.'จ่ายค่างวดนับปี‘เงินต้น’ไม่ลด-‘เบี้ยปรับ’เดินรายวัน
กยศ.เพิ่มวงเงินเป็น 4 หมื่นล้าน รองรับผู้กู้ 7 แสนราย ขยายเวลายื่นถึง 31 ต.ค.
อดีตลูกหนี้ กยศ. ร้องโดน‘เบี้ยปรับ’เกือบเท่าเงินต้น-กลัวถูกยึดบ้าน กู้สหกรณ์ฯปิดยอด
เจออีกราย! ลูกหนี้ กยศ.โดน ‘เบี้ยปรับ'โหด ท่วม‘เงินต้น’-ผ่อนหนี้ไม่ไหวขอ ‘ลดค่างวด’
สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ