‘กยศ.’ แจงสาเหตุต้องเรียก ‘เบี้ยปรับ’ กรณีลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายหนี้ เพราะต้องการสร้างวินัยการเงินให้ลูกหนี้ ระบุหากไม่มีรายได้-รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ร้องขอผ่อนผันได้ พร้อมเปิดทางปรับโครงสร้างหนี้ให้ผ่อนได้นาน 30 ปี
..............................
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’ โดยได้รับข้อมูลการร้องเรียนของลูกหนี้ กยศ.รายหนึ่ง ซึ่งผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ กยศ. เนื่องจากตกงาน กระทั่งถูก กยศ.ฟ้องดำเนินคดี ต่อมาลูกหนี้รายนี้ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ กยศ. โดยทยอยผ่อนชำระหนี้เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี 1 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 480,421.86 บาท
แต่ปรากฏว่าจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ กยศ. รายนี้ ต้องชำระคืน กยศ.เป็นเงินทั้งสิ้น 480,421.86 บาท นั้น เป็นหนี้เงินต้น 216,758.52 บาท หนี้ดอกเบี้ย 33,084.35 บาท และมีเบี้ยปรับสูงถึง 230,578.69 บาท ซึ่งมากกว่าเงินต้น และที่ผ่านมาลูกหนี้ กยศ.รายดังกล่าว ไปผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมให้กับ กยศ. ตั้งแต่ พ.ย.2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 34 งวด รวมเป็นเงิน 170,000 บาท แต่เงินที่ลูกหนี้ กยศ. รายนี้ ชำระให้ กยศ. นั้น ไม่ได้นำไปตัดเงินต้นแม้แต่บาทเดียว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา โดยระบุตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่กองทุน กยศ. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระจะต้องเสียเบี้ยปรับนั้น เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตรงตามกำหนดเท่านั้น อีกทั้งกองทุนยังเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมขอผ่อนผันชำระหนี้ในกรณีที่ยังไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท หรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ หรือเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการอีกด้วย
“หากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระจะมีเบี้ยปรับเฉพาะงวดที่ค้างชำระเท่านั้น โดยคิดเบี้ยปรับ 12% ในปีแรก และคิดเบี้ยปรับ 18% ในปีถัดไป ทั้งนี้ กองทุนได้ปรับลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 7.5% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นมา และในปี 2564 กองทุนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 1.5% จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564” หนังสือของนายชัยณรงค์ ระบุ
สำหรับหนังสือของ กยศ. มีรายละเอียดว่า ตามที่สำนักข่าวอิสราได้เผยแพร่สกู๊ปบทความเกี่ยวกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ผ่านสื่อเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 หัวข้อเรื่อง ‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลมาจาก ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงปัญหาในการชำระหนี้ กยศ.
และแสดงความเห็นว่า “กรณีลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายหนี้ ดอกเบี้ยปรับแพงมาก 18% จึงเกิดกรณีลูกหนี้ กยศ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดมากกว่าเงินต้น แต่ตรงนี้เจ้าหนี้ (กยศ.) สามารถผ่อนปรนได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะไม่ผ่อนปรน”
โดยได้ยกตัวอย่างผู้กู้ยืมรายหนึ่งที่ได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน ระหว่างปีการศึกษา 2539-2545 เป็นเงิน 216,758.52 บาท โดยครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกในปี 2548 แต่ได้เริ่มผ่อนชำระหนี้ กยศ. ในช่วงปี 2552-2554 เดือนละ 500 บาท ชำระหนี้รวม 11 ครั้ง และถูกฟ้องดำเนินคดีเดือนตุลาคม 2560 จากนั้นผู้กู้ยืมได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อชำระเงินต้น 216,758.52 บาท ดอกเบี้ย 33,084.35 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 230,578.69 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 480,421.86 บาท โดยตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดระยะเวลา 9 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ นั้น
กองทุนขอเรียนชี้แจงว่า กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลังดำเนินการในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนที่มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีของประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ปัจจุบันกองทุนได้นำเงินที่ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ชำระคืนกองทุนกลับมาหมุนเวียนในการปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง โดยไม่ต้องขอใช้งบประมาณแผ่นดิน
โดยตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุน จำนวนทั้งสิ้น 5,975,487 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและปลอดหนี้ 823,281 ราย ผู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,476,988 ราย ผู้ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,610,135 ราย ผู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 65,083 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2564)
ที่ผ่านมากองทุนได้มีการติดตามหนี้จากผู้กู้ยืม โดยขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชน โดยมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าสถาบันการเงินอื่นเป็นอย่างมาก
ได้แก่ การให้ระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี หลังจากสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษา การให้ผ่อนชำระรายปีได้ถึง 15 ปี (ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระเป็นไม่เกิน 30 ปี) การคิดอัตราผ่อนชำระเงินต้นจากน้อยไปมากแบบขั้นบันได การคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ของเงินต้นคงเหลือ และเริ่มคิดดอกเบี้ยในงวดชำระปีที่ 2 เป็นต้นไป
หากผู้กู้ยืมผิดนัดชำระจะมีเบี้ยปรับเฉพาะงวดที่ค้างชำระเท่านั้น โดยคิดเบี้ยปรับ 12% ในปีแรก และคิดเบี้ยปรับ 18% ในปีถัดไป (กองทุนได้ปรับลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 7.5% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นมา และในปี 2564 กองทุนได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 1.5% จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564)
สำหรับผู้กู้ยืมกรณีตัวอย่างดังกล่าว ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 216,758.52 บาท ในงวดปีแรกมียอดชำระเงินต้นเพียง 3,251 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 271 บาทต่อเดือน โดยไม่เสียดอกเบี้ย ในงวดปีที่ 2 ต้องชำระ 7,554 บาทต่อปี หรือคิดเป็น 630 บาทต่อเดือน (เงินต้น 5,419 บาท ดอกเบี้ย 2,135 บาท) หากผู้กู้ยืมสามารถชำระหนี้ได้ตรงตามกำหนดทุกปีต่อเนื่องตลอด 15 ปี ก็จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ และมียอดรวมที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ยเพียง 236,862 บาทเท่านั้น (เงินต้น 216,758 บาท ดอกเบี้ย 20,104 บาท)
ซึ่งสาเหตุที่กองทุนกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระจะต้องเสียเบี้ยปรับนั้น เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตรงตามกำหนดเท่านั้น อีกทั้งกองทุนยังเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมขอผ่อนผันชำระหนี้ในกรณีที่ยังไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท หรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ หรือเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการอีกด้วย
ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมค้างชำระหนี้หลายงวดจนถึงขั้นถูกบอกเลิกสัญญาและถูกดำเนินคดี ยังสามารถไปขอไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาล เพื่อขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้อีก 9 ปี หรือแม้ว่าไม่ได้ไปศาล และศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ทั้งหมด กองทุนยังได้ให้เวลาผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาอีกระยะหนึ่ง แต่หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กองทุนมีความจำเป็นต้องสืบทรัพย์บังคับคดีตามกฎหมายต่อไป
โดยในขณะนี้ กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564 และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564
นอกจากนั้น กองทุนได้มีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้และเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระ สำหรับผู้กู้ยืมกลุ่มก่อนฟ้องคดี เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ค้างชำระและลดปัญหาหนี้ค้างชำระของกองทุน ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี หากไม่สามารถผ่อนชำระเงินคืนตามสัญญา กองทุนจะให้ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้โดยขยายระยะเวลาผ่อน และเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้มีระยะเวลาในการผ่อนชำระมากขึ้น สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี และมีส่วนลดเบี้ยปรับโดยให้ชำระในงวดสุดท้าย
การปรับเปลี่ยนลำดับตัดชำระหนี้ สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินคืนกองทุนที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี จากเดิมที่ใช้วิธีการตัดเบี้ยปรับ ดอกเบี้ย และเงินต้น กองทุนจะปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ โดยจะนำเงินที่ได้รับชำระไปตัดเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ
การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการผ่อนชำระเงินคืน สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างปลอดหนี้และยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้จากเดิมที่ผ่อนชำระเป็นรายปี กองทุนจะปรับให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน และเพิ่มระยะเวลาการผ่อนชำระจากเดิมไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่เกิน 30 ปี
ทั้งนี้ กองทุนขอยืนยันว่ากองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐที่ให้โอกาสทางการศึกษาเพื่อสร้างทุนมนุษย์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กู้ยืมเงินที่ขาดโอกาสมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินชำระหนี้ของผู้กู้ยืมที่มีความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องต่อไป
อ่านประกอบ :
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/