“…เดิมลูกหนี้ถูกคิดเบี้ยปรับ 18% ก็จะลดเหลือไม่เกิน 1% ตามกฎหมายนี้ โดยจะให้มีการคำนวณเบี้ยปรับใหม่ทั้งหมด รวมถึงคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราใหม่ด้วย ส่วนคนที่ปิดหนี้ไปแล้วจะไม่ย้อนหลังให้ นอกจากนี้ จะให้มีการแฮร์คัทหนี้ได้ โดยให้เป็นอำนาจของบอร์ด กยศ. ที่สำคัญการกู้ยืมเงิน กยศ. จะไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป…"
................................
น่าจะพิจารณา ‘แล้วเสร็จ’ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... สภาผู้แทนราษฎร ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน)
โดยล่าสุดคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับใหม่ มาแล้ว 18 ครั้ง และคาดว่าจะมีการประชุมอีกไม่เกิน 3-4 ครั้ง ก่อนส่งร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ที่พิจารณาแล้วเสร็จ ไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
“เนื่องจากการพิจารณาใกล้จะจบแล้ว ที่ประชุมจึงมีมติว่าในวันพุธหน้า (22 มิ.ย.) จะให้กรรมาธิการฯทบทวน ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ทั้งหมด ซึ่งมติอะไรที่ลงไปแล้ว ก็อาจมีการนำมาทบทวนใหม่ได้ จากนั้นจะลงมติเพื่อปิดร่างฯ แล้วในวันพฤหัส (23 มิ.ย.) จะให้ ส.ส.มาแปรญัตติ ให้ ส.ส.มาเสนอกรรมธิการฯว่า ท่านใดจะปรับปรุงแก้ไขร่างมาตราใดบ้าง
ถ้ากรรมาธิการฯไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ ส.ส.มาแปรญัตติ ก็ให้ ส.ส.ท่านนั้น ไปสงวนคำแปรญัตติ แล้วไปอภิปรายในสภาฯใหญ่ แต่ถ้ากรรมาธิการฯเห็นด้วยกับไอเดียของ ส.ส.ที่เสนอแปรญัตติมา ก็จะมีการประชุมกรรมาธิการฯอีกครั้ง เพื่อแก้ไขร่าง พ.ร.บ. แล้วปิดร่างฯในการประชุมครั้งถัดไป แต่ถ้าไม่มีการแก้ไข กรรมาธิการฯจะรับรองร่าง และปิดร่างฯ
ต่อจากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.กยศ. ที่พิจารณาเสร็จแล้ว เสนอบรรจุเข้าวาระประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และหากสภาฯไม่มีอันเป็นไปเสียก่อน ก็คาดว่าร่าง พ.ร.บ.กยศ. จะผ่านวาระที่ 2 และ 3 ทันสมัยประชุมนี้” บัญญัติ เจตนจันทร์ โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
@‘กมธ.วิสามัญฯ’ลดดอกเบี้ยเงินกู้‘กยศ.’เหลือ 0.25%-เบี้ยปรับ 0%
บัญญัติ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ฉบับนี้ จะช่วยลดภาระให้กับผู้กู้ยืมเงิน กยศ. เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ลงมติปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. เหลือ 0.25% ต่อปี จากกฎหมายเดิมที่กำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 7.5% และลดเบี้ยปรับเหลือ 0% จากกฎหมายเดิมที่คิดเบี้ยปรับ 18% ต่อปี
“ถ้ากฎหมายนี้ประกาศใช้ ทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขทั้งหมดเลย เช่น กฎหมาย กยศ. เดิม ให้คิดดอกเบี้ยกับผู้กู้เงิน กยศ. ไม่เกิน 7.5% ต่อปี ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ของรัฐบาลเสนอให้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 2% ต่อปี นั้น แต่กรรมาธิการฯได้ลงมติปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. เหลือ 0.25% ต่อปี
ส่วนเบี้ยปรับที่เดิมคิดในอัตรา 18% ต่อปี กรรมาธิการฯมติเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ให้ลดเบี้ยปรับเป็น 0% คือ ไม่มีเบี้ยปรับเลย อย่างไรก็ดี ในการประชุมกรรมธิการฯครั้งหน้า (22 มิ.ย.) น่าจะมีการทบทวนให้มีการคิดเบี้ยปรับ แต่น่าจะไม่เกิน 1% ต่อปี เช่น อาจจะเป็น 0.25-0.5% ต่อปี เพราะการลงมติครั้งนั้นชนะกัน 12 เสียง ต่อ 11 เสียง ต่างกันแค่ 1 เสียง" บัญญัติ กล่าว
พร้อมทั้งระบุว่า "หากร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ นอกจากผู้กู้ในปัจจุบันและในอนาคตจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับใหม่แล้ว ยังให้มีผลครอบคลุมไปถึงลูกหนี้ กยศ. ที่ต้องคำพิพากษาไปแล้ว โดยจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงปรับวิธีคำนวณดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ และให้มีผลย้อนหลังด้วย
เช่น เดิมลูกหนี้ถูกคิดเบี้ยปรับ 18% ก็จะลดเหลือไม่เกิน 1% ตามกฎหมายนี้ โดยจะให้มีการคำนวณเบี้ยปรับใหม่ทั้งหมด รวมถึงคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราใหม่ด้วย ส่วนคนที่ปิดหนี้ไปแล้วจะไม่ย้อนหลังให้ นอกจากนี้ จะให้มีการแฮร์คัทหนี้ได้ โดยให้เป็นอำนาจของบอร์ด กยศ. ที่สำคัญการกู้ยืมเงิน กยศ. จะไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันอีกต่อไป”
(บัญญัติ เจตนจันทร์)
บัญญัติ ยังย้ำว่า กฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ จะเหมือนกับเป็นการนิรโทษกรรมให้กับลูกหนี้ กยศ. ที่เจอเบี้ยปรับสูงมาก จนกระทั่งใช้หนี้ กยศ.เท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด เพราะเงินที่ลูกหนี้จ่ายไปนั้น ถูกนำไปตัดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ แต่ไม่ได้ถูกนำไปตัดเงินต้นเลย และต้องยอมรับว่ามีคนที่กู้เงินไป จบมาแล้วไม่มีงานทำ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความล้มเหลวของรัฐด้วย
“ตอนนี้คนไม่อยากจ่าย จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่รอด เพราะเบี้ยปรับมันท่วมต้น ก็เลยช่างหัวมัน เขาจึงรู้สึกว่าท้อแท้มาก แต่ถ้าเราลดเบี้ยปรับลดลง เมื่อจ่ายหนี้แล้วมันลดต้น ทุกคนก็มีกำลังใจ ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงส่งเสริมให้ลูกหนี้มาชำระหนี้ และยังช่วยลดค่าทนายให้ กยศ. ด้วย เพราะดอกเบี้ยและค่าปรับที่ลดลง ทำให้คนมีกำลังจ่ายคืนหนี้” บัญญัติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
@เปิดงบ‘กยศ.’ ปี 64 รายได้ 6,799 ล้าน-เป็น‘เบี้ยปรับ’ 2,679 ล้าน
อย่างไรก็ดี หาก ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้
แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อผู้กู้ยืมเงิน กยศ. เนื่องจากมีการปรับลด ‘ดอกเบี้ยเงินกู้’ เหลือ 0.25% ต่อปี และลด ‘เบี้ยปรับ’ ลงเหลือไม่เกิน 1% หรือไม่มีเบี้ยปรับเลย นั้น จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ กยศ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากรายงานการเงินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ปีล่าสุด พบว่า
ปีงบ 2564 กยศ. มีรายได้รวม 6,899 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม 3,740.44 ล้านบาท ,รายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืม 2,679.98 ล้านบาท ,รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 400 ล้านบาท และรายได้อื่น 78.56 ล้านบาท
เทียบกับในช่วง 3 ปีงบประมาณก่อนหน้านี้ หรือ ปีงบ 2561-2563 ที่พบว่า กยศ. มีรายได้รวมอยู่ที่ปีละ 6,638-7,425.35 ล้านบาท ได้แก่
ปีงบ 2563 กยศ.มีรายได้รายรวม 6,638 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม 3,302.43 ล้านบาท ,รายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืม 2,520.15 ล้านบาท ,รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 568.77 ล้านบาท และรายได้อื่น 246.75 ล้านบาท
ปีงบ 2562 กยศ.มีรายได้รายรวม 7,425.35 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม 4,074.06 ล้านบาท ,รายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืม 2,564.52 ล้านบาท ,รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 583.62 ล้านบาท และรายได้อื่น 203.14 ล้านบาท
ปีงบ 2561 กยศ.มีรายได้รายรวม 6,813 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม 3,758.86 ล้านบาท ,รายได้เบี้ยปรับเงินให้กู้ยืม 2,338.55 ล้านบาท ,รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 546.70 ล้านบาท และรายได้อื่น 169.15 ล้านบาท (อ่านประกอบ : กางงบ'กยศ.'ย้อนหลัง 3 ปี! ฟันเบี้ยปรับ 7.4 พันล.-จ่ายค่าคดี 4 พันล. จ่อฟ้องอีกล้านคน)
@พบปีงบ 64 ‘กยศ.’ มีรายได้สูงกว่ารายจ่าย 7,534 ล้านบาท
ขณะที่ในปีงบ 2564 กยศ. มีรายจ่ายสำคัญๆ เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากร 222.33 ล้านบาท , ค่าบำเหน็จพนักงาน 20.67 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม 340.68 ล้านบาท (ค่าจัดทำบัญชีลูกหนี้รายตัว 236 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายแจ้งภาระหนี้ 8.65 แสนบาท ,ค่าบริหารจัดการในการดำเนินคดี 53.23 ล้านบาท)
ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ 3.18 ล้านบาท ,ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 520.08 ล้านบาท ,ค่าใช้สอย 343.19 ล้านบาท ,ค่าสาธารณูปโภค 52.5 ล้านบาท ,ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 38.54 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนการดำเนินงานสถานศึกษา 29.41 ล้านบาท เป็นต้น
ส่งผลให้ในปีงบ 2564 กยศ. มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 7,534.97 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายในการค่าใช้จ่ายในการระงับหนี้และหนี้สงสัยจะสูญลดลง 2,266.56 ล้านบาท เทียบกับปี 2563 ที่มีค่าใช้จ่ายในการระงับหนี้และหนี้สงสัยจะสูญ 10,084 ล้านบาท
นอกจากนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 กยศ. มีสินทรัพย์ 357,503 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ลูกหนี้เงินกู้ยืมระยะยาว 276,118 ล้านบาท ,มีหนี้สินรวม 2,363.46 ล้านบาท และมีสินทรัพย์สุทธิ 355,139 ล้านบาท (สินทรัพย์ส่วนทุน เงินกองทุน 468,673 ล้านบาท เงินสมทบ ADB 100 ล้านบาท และรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสะสม 113,633 ล้านบาท)
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ.... และแน่นอนว่าหาก ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ ย่อมจะส่งผลดีต่อผู้กู้ยืมเงิน กยศ. แต่จะทำให้รายได้ ‘ดอกเบี้ย’ และรายได้ ‘เบี้ยปรับ’ ของ กยศ. ลดลง
อ่านประกอบ :
‘กยศ.’แจงกรณีลูกหนี้ถูกเรียกเก็บ‘เบี้ยปรับ’สูง เหตุ‘ผิดนัดฯ-ค้างชำระ’เป็นเวลานาน
รัฐบาลรุกแก้หนี้ กยศ.ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องกลุ่มผิดนัดชำระ-ถูกเลิกสัญญา 1.7 แสนคน
เปิดละเอียด!ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ลด ดบ.เหลือ 2%-ปรับโครงสร้างหนี้ได้ 'บิ๊กตู่'ช่วยผู้กู้ 5 ล.คน
ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ
ต่อคิวเข้าครม.!‘สนง.กฤษฎีกา’เผยส่งร่างแก้ไข ‘พ.ร.บ.กยศ.’ให้ ‘สลค.’ตั้งแต่ 9 ก.ย.แล้ว
ทวี สอดส่อง : ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง 'กยศ.' กับ การไร้วินัยการเงินการคลัง!
ชงแก้ พ.ร.บ. ‘กยศ.’! เปิดทาง ‘ลูกหนี้’ ตามคำพิพากษา ปรับโครงสร้างหนี้-แปลงหนี้ใหม่
กางงบ'กยศ.'ย้อนหลัง 3 ปี! ฟันเบี้ยปรับ 7.4 พันล.-จ่ายค่าคดี 4 พันล. จ่อฟ้องอีกล้านคน
6 เดือน ลูกหนี้ ‘กยศ.’ ที่ผิดนัดชำระฯ 2.47 หมื่นราย ใช้สิทธิฯปิดบัญชี-ลดเบี้ยปรับ 100%
ผ่อนจนตายก็ไม่หมด! ลูกหนี้'กยศ.'จ่ายค่างวดนับปี‘เงินต้น’ไม่ลด-‘เบี้ยปรับ’เดินรายวัน
กยศ.เพิ่มวงเงินเป็น 4 หมื่นล้าน รองรับผู้กู้ 7 แสนราย ขยายเวลายื่นถึง 31 ต.ค.
อดีตลูกหนี้ กยศ. ร้องโดน‘เบี้ยปรับ’เกือบเท่าเงินต้น-กลัวถูกยึดบ้าน กู้สหกรณ์ฯปิดยอด
เจออีกราย! ลูกหนี้ กยศ.โดน ‘เบี้ยปรับ'โหด ท่วม‘เงินต้น’-ผ่อนหนี้ไม่ไหวขอ ‘ลดค่างวด’
สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.