“..เรื่องผู้ค้ำประกัน ถ้าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากสินเชื่อ ไม่ได้เงิน ก็ไม่ควรถูกบังคับให้เป็นผู้กู้ร่วมหรือลูกหนี้ร่วม ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นกันเยอะ และถ้าเขามาค้ำประกันกันหลายๆคน ก็ควรแบ่งการชำระหนี้ตามสัดส่วน ไม่ใช่ว่าบังคับเอาหนี้กันทั้งวง และการไล่เบี้ยก็เช่นกัน กฎหมายพูดว่าให้ไปไล่เบี้ยผู้กู้ก่อน แต่เจ้าหนี้ไปฟ้องพร้อมกันเลย…”
กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น
สำหรับ ‘ร่างหนังสือเวียนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม’ ฉบับใหม่ จัดทำโดยฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคาดว่าจะมีการประกาศในเร็วๆนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆใช้เป็นแนวทางในการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ท่ามกลางสถานการณ์ ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่พุ่งแตะ 90.5% ของจีดีพี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของ ‘ร่างหนังสือเวียนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม’ ที่อยู่ระหว่างการ Hearing ความเห็นของภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@เปิดร่าง ‘แนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม’ ฉบับใหม่
เนื้อหาของร่างหนังสือเวียนฯ จะแบ่งเป็น 6 ส่วน คือ
ส่วนแรก การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ประกอบด้วย
1.แนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยง ได้แก่ สินเชื่อที่หักจากเงินเดือน ‘ความเสี่ยงต่ำ’ หรือใช้เงินฝากค้ำประกัน ควรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ, สินเชื่อที่อยู่อาศัย, ประกันคุ้มครองวงเงิน MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance อัตราดอกเบี้ยควรต่ำ และลูกหนี้ที่มีประวัติผ่อนดีต่อเนื่อง 12 หรือ 24 เดือน ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย
2.แนวทางการกำหนดรูปแบบเงินกู้ที่เหมาะสม ได้แก่ ผู้ให้บริการฯ ต้องออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความสามารถชำระหนี้และสถานการณ์, ระยะเวลาผ่อนยาวเพียงพอ อยู่ในวิสัยที่ปฏิบัติได้ คำนึงถึงรายได้ที่ดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรี (Residual Income) และหลีกเลี่ยงการผ่อนชำระเป็นก้อนใหญ่ (balloon payment)
ส่วนที่สอง การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ประกอบด้วย
กรณีผู้ค้ำประกัน ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบภาระหนี้ ‘เฉพาะส่วน’ โดยเฉพาะในกรณีที่มีผู้ค้ำประกันหลายคน และกรณีที่ผู้กู้ไม่ชำระหนี้นั้น ผู้ให้บริการฯจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด คือ ต้องไปไล่เบี้ยจาก ‘ผู้กู้’ ก่อน ไม่ใช่การฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันพร้อมกัน หรือการให้ ‘ผู้ค้ำประกัน’ เป็นเสมือน ‘ผู้กู้ร่วม’ ซึ่งเจ้าหนี้ฟ้องให้ทั้งคู่รับผิดชอบเท่ากัน
กรณีการซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงเพิ่มเติม ผู้ให้บริการฯต้องพิจารณาภาระที่ผู้กู้แบกรับว่าเหมาะสม เป็นธรรมหรือไม่ และในกรณีการซื้อประกันครอบคลุมวงเงินทั้ง 100% ของวงเงินกู้ ควรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง อีกทั้งการให้ลูกหนี้ซื้อประกันเพิ่ม ต้องไม่บังคับให้ซื้อจากรายใดรายหนึ่ง
ส่วนที่สาม การติดตามทวงถามหนี้และการเรียกเก็บค่าทวงหนี้ โดยกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม และกำหนดระยะเวลาของงวดในการทวงถามหนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกหนี้ (อ่านประกอบ : เปิดคลิปเสียงแบงก์เรียก ‘ค่าทวงหนี้’ ยึดรถโหด 8 หมื่น! แม่ค้าตลาดนัดร้อง 'ธปท.')
ส่วนที่สี่ การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการจ่ายชำระคืนหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน (Debt Mediation) เช่น
กรณีเกิดวิกฤติ ผู้ให้บริการฯ ควรพิจารณา ‘เลื่อน-ปรับลดค่างวดดอกเบี้ย’ ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้, กรณีลูกหนี้มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ควรเปลี่ยนเงินหมุนเวียนที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาเป็น ‘สินเชื่อเงินก้อนอัตราดอกเบี้ยต่ำ’ และให้คงวงเงินบางส่วนไว้ได้
ที่สำคัญผู้ให้บริการฯ ควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ โดยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านโครงการไกล่เกลี่ยต่างๆก่อนฟ้องในช่วงการพิจารณา และแม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว ผู้ให้บริการฯก็ควรช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในการไกล่เกลี่ยหนี้นั้น เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้อาศัยความไม่รู้กฎหมายของลูกหนี้มาเป็นช่องโหว่ โดยใช้การ ‘ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง’ ตามมาตรา 20 ตรี แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาเป็นการ ‘เร่งรัดคดี’
ดังนั้น ผู้ให้บริการฯจะต้องแจ้งสิทธิของลูกหนี้ ขั้นตอน ข้อดี-ข้อเสีย ผลทางคดี และลูกหนี้มีสิทธิปฏิเสธ หากเจ้าหนี้ขอให้การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็น ‘คำพิพากษาตามยอม’ ที่จะเกิดสภาพบังคับทันทีหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยให้ลูกหนี้ลงลายมือชื่อรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐานไว้ด้วย
ส่วนที่ห้า กระบวนการดำเนินคดี
ผู้ให้บริการฯ ต้องกำกับดูแลการปฏิบัติงานในขั้นตอนการดำเนินคดีและการบังคับคดีกับลูกหนี้ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ยึดถือจรรยาบรรณอาชีพ หลักธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เช่น ไม่นำคดีที่เกินอายุความมาฟ้อง ไม่เรียกค่าทนายเกินศาลสั่งทั้งช่วงก่อนฟ้อง ไกล่เกลี่ย และทำสัญญายอม เป็นต้น
โดยเฉพาะกรณีการเรียก ‘ค่าทนาย’ นั้น เนื่องจากลูกหนี้ไม่รู้สิทธิว่า ตนเองต้องจ่ายค่าทนายเพียงเท่าที่ศาลมีคำพิพากษาเท่านั้น จึงมีทนายบางกลุ่มเอาเปรียบลูกหนี้ โดยเรียกร้องเงินเพิ่มนับหมื่นบาท
นอกจากนี้ ในกรณีมอบหมายให้ ‘ผู้ให้บริการภายนอก’ ดำเนินการทางคดี ผู้ให้บริการต้องควบคุมดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการภายนอกเสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง
ขณะเดียวกัน กรมบังคับคดีควรลดค่าธรรมเนียมในชั้นการบังคับคดี จากปัจจุบันที่เก็บค่าธรรมเนียมที่ 2-3% ของมูลค่าทรัพย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี เพื่อให้ลูกหนี้ได้เริ่มต้นใหม่ เพราะแม้ว่ากฎหมายจะให้เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมส่วนนี้ แต่ในชีวิตจริงลูกหนี้ถูกผลักให้รับผิดชอบ
ส่วนที่หก การขายและโอนหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายเดิม
เนื่องจากมีข้อร้องเรียนว่า ลูกหนี้ไม่ทราบว่า ‘หนี้’ ได้ถูกขายไปแล้ว และเจ้าหนี้รายใหม่ที่รับโอนสิทธิเรียกร้องไปนั้น ให้ข้อเสนอที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ดังนั้น ธปท.จึงสนับสนุนให้ผู้บริการที่ขายหรือโอนหนี้ ต้องรับผิดชอบในการส่งผ่านข้อมูลลูกหนี้ให้ครบถ้วน และผู้รับซื้อหรือรับโอนหนี้ ควรพิจารณารูปแบบการผ่อนชำระให้ผู้บริโภคหรือลูกหนี้ ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน หรือดีกว่าเดิม
@แก้ปัญหา ‘ผู้ค้ำประกัน’ ถูกเอาเปรียบ-รับภาระตามสัดส่วน
“เรื่องผู้ค้ำประกัน ถ้าเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากสินเชื่อ ไม่ได้เงิน ก็ไม่ควรถูกบังคับให้เป็นผู้กู้ร่วมหรือลูกหนี้ร่วม ซึ่งปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นเยอะ และถ้าเขามาค้ำประกันกันหลายคน ก็ควรแบ่งการชำระหนี้ตามสัดส่วน ไม่ใช่ว่าบังคับเอาหนี้กันทั้งวง และการไล่เบี้ยก็เช่นกัน กฎหมายพูดว่าให้ไปไล่เบี้ยผู้กู้ก่อน แต่เจ้าหนี้ไปฟ้องพร้อมกันเลย
อันนี้เป็น pain point ใหม่เลย เราจึงกำหนดว่า ในตอนลงนามในสัญญาให้แบงก์ต้องบอกสิทธินี้กับลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ไม่ใช่ไปบังคับโดยไม่บอกเขา หรือไปยัดเยียดให้เขาเซ็น” ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. ซึ่งเป็นโต้โผหลักในการ Hearing ร่างหนังสือเวียนฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ขจร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องค่าทนายก็เช่นกัน ปกติแล้วแบงก์จะผลักภาระไปให้กับประชาชน ซึ่งค่าทนายดังกล่าวลูกหนี้ควรจ่ายตามจำนวนที่ศาลสั่งเท่านั้น รวมถึงค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี เราได้ขอให้กรมบังคับคดีลดค่าธรรมเนียมลงมา เพราะเป็นอุปสรรคในการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้กัน และทราบว่ากรมบังคับคดีกำลังพิจารณาปรับลดให้อยู่
“ปัญหาเรื่องการบังคับคดี มันมีประเด็นว่า มีภาระบางอย่างที่เจ้าหนี้ชอบผลักไปให้กับลูกหนี้ เช่น เมื่อไปยึดทรัพย์ลูกหนี้พอจะขายก็ไปผลักภาระค่าธรรมเนียมไปให้ลูกหนี้ทั้งหมด” ขจร กล่าว
@ลูกหนี้ที่ถูกหักหนี้จากเงินเดือน ต้องได้ ‘ดอกเบี้ย’ ลดลง
ขจร ยังระบุว่า ร่างหนังสือเวียนฯยังกำหนดแนวทางการในการดูแลลูกหนี้ที่ถูกหักค่างวดจากเงินเดือน ซึ่งควรได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เพราะมีความเสี่ยงต่ำ เช่น ข้าราชการที่ถูกหักหนี้จากเงินเดือน อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับควรลดลงตามความเสี่ยง ไม่ใช่ว่าสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ต้องเสียเท่านั้น
ขณะที่ลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระเงินที่ดี เช่น ในช่วง 12 เดือน หรือ 24 เดือน แบงก์ควรปรับลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้
“ปีแรกคุณไม่รู้จักกัน แต่ปีต่อมา คุณรู้จักลูกหนี้แล้ว ดอกเบี้ยควรจะลง หรือถ้าลูกหนี้มีเงินฝากค้ำประกันอยู่ กรณีนี้มีเยอะเลย เขาควรได้ดอกเบี้ยลดลง ซึ่งวันนี้แบงก์หรือนอนแบงก์ก็มีเกณฑ์อย่างนี้หมด แต่เราพบว่ามีการลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้น้อยมาก” ขจร กล่าว
(ขจร ธนะแพสย์)
สำหรับการกำหนดงวดการชำระหนี้นั้น ร่างหนังสือเวียนฯ กำหนดผู้ให้บริการฯกำหนดงวดการชำระให้เหมาะสม เพราะหากกำหนดไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม หรือกำหนดไว้สั้นๆ หรือที่เรียกว่า ‘balloon payment’ ก็จะเป็นปัญหาได้ เช่น กรณีหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งกำหนดให้จ่ายปีละ 1 ครั้ง ทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายเงินเป็นเงินจำนวนที่สูง เป็นต้น
หรือกรณีการ ‘ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง’ และออกเป็นคำพิพากษานั้น ปัจจุบันชาวบ้านไม่รู้ความหมายว่าคืออะไร เพราะแบงก์ไม่เคยบอกลูกหนี้ว่าเป็นอย่างไร ส่งผลให้ลูกหนี้บางรายที่กำลังจะถูกยึดทรัพย์ ต้องถูกยึดทรัพย์ในทันที
“ชาวบ้านไม่รู้ว่าความหมายของการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และออกเป็นคำพิพากษา เป็นอย่างไร เช่น บ้านกำลังจะถูกยึด แบงก์ก็ชอบหลอกให้ลูกหนี้ทำ แล้วบ้านก็ถูกยึดไปเลย เราจึงบังคับให้แบงก์ต้องบอกลูกค้าให้ชัดว่า อันนี้มันคืออะไร ไม่ใช่ไปสวมรอยไปยึดทรัพย์” ขจร ระบุ
@ห้ามแบงก์ตั้ง KPI ให้บริษัทที่ได้รับจ้างฯแข่งทวงหนี้
ขจร กล่าวว่า ในเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ก็เช่นกัน ร่างหนังสือเวียนฯระบุว่า ในการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องมีการหารือร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้เจ้าหนี้เป็นผู้กำหนด และที่ผ่านมาจะพบปัญหาว่าเงินที่ลูกหนี้จ่ายไปนั้น ถูกนำไปตัดแต่ดอกเบี้ย ไม่ได้นำไปตัดเงินต้นเลย
ส่วนเรื่องการทวงถามหนี้ แม้ว่าปัจจุบันคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ จะกำหนดอัตราการทวงถามหนี้ไว้ชัดเจนแล้ว แต่ปรากฏว่าแบงก์กำหนด KPI (ดัชนีชี้วัดผลงาน) ให้กับบริษัททวงถามหนี้ เพื่อให้บริษัททวงถามหนี้ 2-3 แห่ง ที่แบงก์จ้างมาแข่งกันทวงถามหนี้กับลูกหนี้
“การที่แบงก์ไปบังคับคนทวงหนี้ให้ทวงหนี้เยอะๆ เป็นสิ่งที่ไม่ดี พฤติกรรมอย่างนี้ เราเห็นว่าไม่น่าทำ เพราะไปตั้ง KPI แล้วให้บริษัท 2-3 แห่ง แข่งกันทวงหนี้” ขจร กล่าว
นอกจากนี้ ร่างหนังสือเวียนฯยังกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติต่อลูกหนี้อย่างเป็นธรรม เช่น กรณีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หลายกรณีพบว่าลูกหนี้จ่ายค่างวดให้เจ้าหนี้หมดแล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่คืนเล่มให้ทันที บางกรณีลูกหนี้ต้องรอถึง 9 เดือนกว่าจะได้เล่มคืน เนื่องจากเป็นเทคนิคที่เจ้าหนี้ใช้ เพื่อให้ลูกหนี้ขอสินเชื่อจำนำทะเบียนรถต่อ
“ในช่วง 1-2 เดือนนี้ น่าจะมีการประกาศหนังสือเวียนแนวทางการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรมได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรม” ขจร กล่าวทิ้งท้าย
เหล่านี้เป็นอีกหนึ่งความพยายามของ ธปท. ในการดูแลลูกหนี้ให้ได้รับ ‘ความเป็นธรรม’ จากบรรดาเจ้าหนี้ ส่วนจะมีการออกหนังสือเวียนฯได้เมื่อไหร่ คงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/