“…สุนิสา พยายามชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รายได้แทบจะไม่พอใช้ เพราะทนายฝ่าย กยศ. แจ้งว่าหากไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ จะทำการบังคับคดี โดยจะยึดที่ดินเนื้อที่ 25 ตารางวาพร้อมบ้านของพ่อ แต่ปรากฏว่าเงินที่ สุนิสา ได้ผ่อนชำระคืนหนี้ กยศ. ตามคำพิพากษาของศาลนั้น ไม่ได้ทำให้เงินต้น 216,758.52 ลดลงเลย เพราะเงินทั้งหมดถูกนำไปตัด ‘ดอกเบี้ยผิดนัด’ ทั้งหมด…”
..........................
เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีคดี ‘ฟ้องร้อง’ ประชาชนมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้
สำหรับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ สำนักงาน กยศ. เพราะนับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุน กยศ. เมื่อปี 2539 จนถึงปัจจุบัน พบว่า กยศ. ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ กยศ.แล้ว เกิน 1 ล้านคดี และมีประชาชนถูกฟ้องเป็นจำนวนหลายล้านคนทั้งในฐานะ ‘ผู้กู้ยืมเงิน กยศ.’ และในฐานะ ‘ผู้ค้ำประกัน’
แม้ว่าขณะนี้ กยศ. จะผ่อนผันการฟ้องร้องลูกหนี้ กยศ. ที่ผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี
แต่กรณีลูกหนี้ กยศ.ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและอยู่ระหว่างการบังคับคดี กยศ.ยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือที่ชัดเจน
ข้อมูลจากฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ระหว่างปี 2547-2562 มีลูกหนี้ กยศ.ถูกฟ้องดำเนินคดีกว่า 1.5 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างบังคับคดีสูงถึง 1.2 ล้านคดี (ที่มา : ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.)
ในขณะที่ปัญหาใหญ่ที่ลูกหนี้ กยศ. ใน ‘คดีแดง’ ซึ่งอยู่ระหว่างบังคับคดี กำลังพบเจออยู่ในขณะนี้ และทำให้ลูกหนี้จำนวนมาก ยังคงติดอยู่ใน ‘บ่วงหนี้’ จากการกู้ยืมเงินเรียนจากภาครัฐ นั่นเพราะเงินที่ลูกหนี้ได้ผ่อนจ่ายให้กับ กยศ. ตามคำพิพากษาของศาลนั้น ไม่ได้ถูกนำไปตัด ‘เงินต้น’ แม้แต่บาทเดียว
เช่น กรณี สุนิสา (ขอสงวนนามสกุล) ลูกหนี้ กยศ. ที่ต้องชดใช้หนี้ กยศ. โดยไม่รู้ว่าจะชดใช้หนี้ได้หมดเมื่อใด
สุนิสา เริ่มกู้ยืมเงิน กยศ. ในปี 2539 ในขณะที่เธอมีอายุ 18 ปี เพื่อเรียนหนังสือในระดับ ปวส. และกู้ยืมเงินต่อจนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในคณะบัญชี จากมหาวิทยาลัยของเอกชน โดยเมื่อจบการศึกษาในปี 2545 สุนิสา กู้ยืมเงิน กยศ. เป็นเงินทั้งสิ้น 216,758.52 บาท
ต่อมา สุนิสา เริ่มทำงานครั้งแรก โดยสมัครเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ได้รับเงินเดือน 5,500 บาท แต่เนื่องจากในขณะนั้นเธอมีภาระต้องผ่อนค่าเช่าบ้าน ค่ากินอยู่ และค่ารถโดยสาร ทำให้เธอเหลือเงินชำระคืนหนี้ กยศ. เดือนละ 500 บาท แต่เธอก็พยายามคืนหนี้ กยศ. โดยในช่วงปี 2552-2554 เธอคืนหนี้ กยศ. รวม 11 งวด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 สุนิสา ตกงาน และไม่สามารถหางานใหม่ได้ จึงไม่สามารถชำระหนี้ กยศ. ต่อไปได้ ทำให้เธอถูก กยศ. ฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการฟ้องร้องมีขึ้นในเดือน ต.ค.2561 (การฟ้องร้องลูกหนี้ กยศ.ที่ผิดนัดชำระหนี้นั้น กยศ.จะดำเนินการฟ้องร้องเมื่อลูกหนี้ผิดนัดฯเกิน 4 ปี 5 งวด)
ทั้งนี้ สุนิสา ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ กยศ. โดยสัญญาฯดังกล่าว สุนิสา ต้องชำระเงินต้น 216,758.52 บาท ดอกเบี้ย 33,084.35 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 230,578.69 บาท รวมเป็นเงิน 480,421.86 บาท พร้อมทั้งจ่ายดอกเบี้ย 1% ต่อปี ของเงินต้น ให้กับ กยศ.
โดยทนายฝ่าย กยศ. กำหนดให้ สุนิสา ต้องชำระหนี้คืน กยศ. เป็นรายเดือนๆละ 5,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระจนกว่าจะหมด รวม 97 งวด หรือคิดเป็นระยะเวลา 8 ปี 1 เดือน
แม้ สุนิสา ซึ่งทำงานเป็นลูกจ้าง จะได้รับเงินเดือนเพียง 9,000 บาทต่อเดือน และมีภาระส่งเสียลูกสาววัยประถม 1 คน รวมถึงต้องส่งเงินเลี้ยงดูบิดามารดาที่แก่ชราจนไม่สามารถทำงานได้ แต่เธอก็พยายามผ่อนชำระอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 จนถึงปัจจุบัน รวม 34 งวด รวมเป็นเงิน 170,000 บาท
เหตุผลที่ทำให้ สุนิสา พยายามชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รายได้แทบจะไม่พอใช้
เพราะทนายฝ่าย กยศ. แจ้งว่าหากไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ จะทำการบังคับคดี โดยจะยึดที่ดินเนื้อที่ 25 ตารางวา พร้อมบ้านของพ่อเธอ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันที่อยู่ในเขต อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ซึ่งมีราคาประเมินพร้อมบ้านประมาณ 500,000 กว่าบาท อีกทั้งเธอเกรงว่าหากผ่อนชำระหนี้ไม่ได้ เธออาจต้องเสียค่าปรับใหม่เพิ่มขึ้น
แต่ปรากฏว่าเงินที่ สุนิสา ได้ผ่อนชำระคืนหนี้ กยศ. ตามคำพิพากษาของศาลนั้น ไม่ได้ทำให้เงินต้น 216,758.52 ลดลงเลย เพราะเงินทั้งหมดถูกนำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดทั้งหมด ที่สำคัญ กยศ. ไม่เคยประนีประนอมที่จะตัดลด ‘ดอกเบี้ยผิดนัด’ ที่มีจำนวน 230,578.69 บาท ซึ่งมากกว่าต้นเงินกู้ยืม กยศ. ให้เธอเลย
“กรณีลูกหนี้ กยศ. ไม่จ่ายหนี้ ดอกเบี้ยปรับแพงมาก 18% จึงเกิดกรณีลูกหนี้ กยศ. ต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดมากกว่าเงินต้น แต่ตรงนี้เจ้าหนี้ (กยศ.) สามารถผ่อนปรนได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่เป็นธรรม ส่วนใหญ่จะไม่ผ่อนปรน” ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ขจร ยังกล่าวถึงปัญหาที่ลูกหนี้ กยศ. ทุกรายต้องเจอในช่วงที่ผ่านมา เช่น เรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ เพราะเงินที่ลูกหนี้ผ่อนจ่ายให้ กยศ. นั้น จะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยก่อน ทำให้ลูกหนี้จ่ายเท่าไหร่ ก็ยังไม่ได้ตัดเงินต้นเสียที บางรายถึงกับเลิกส่ง แต่พอไม่จ่ายหนี้ก็เกิดปัญหาผิดนัดฯ ซึ่ง กยศ. คิดดอกเบี้ย 18% ต่อปี
ขณะเดียวกัน ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของลูกหนี้เงิน กยศ. ต้องเจอ คือ เมื่อจบมาแล้วไม่รู้ว่าจะมีงานทำหรือไม่ พร้อมทั้งเปรียบเทียบว่าการได้งานทำนั้น “เหมือนกับการซื้อหวย”
ดังนั้น ธปท.จึงเสนอแก้ไขกฎหมายกองทุน กยศ. โดยบังคับให้ กยศ. ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการมีงานทำและประเภทของงานที่ทำ ของผู้กู้ยืมเงินภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาใช้ตัดสินใจกู้ยืมเงิน (อ่านประกอบ : ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ)
(ขจร ธนะแพสย์)
ขจร เสนอว่า การกำหนดเงื่อนไขการเริ่มผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ กยศ. หลังจากจบการศึกษาแล้วนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานว่าลูกหนี้ต้องมีงานทำและมีรายได้ก่อน จะเริ่มจ่ายปีแรกเลยก็ได้ แต่ต้องเริ่มจ่ายภายในไม่เกิน 4 ปี ไม่ใช่การที่กำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ไว้ตามตัวที่ 2 ปี
ขจร กล่าวด้วยว่า ตนเองไม่อยากเห็นใครหรือหน่วยงานใดทำรายได้ จากการฟ้องร้องประชาชนเป็นล้านๆคดี เพราะที่ผ่านมาตนได้รับทราบข้อมูลจากการบอกเล่าจากคนที่เป็นเจ้าของบริษัททนายว่า เขาได้รับส่วนแบ่ง ‘เค้ก’ ในการฟ้องคดีลูกหนี้ กยศ. ซึ่งการทำคดีจะได้รับค่าตอบแทน 7,500 บาท/เคส เป็นต้น
“ถามว่าทำไมวันนี้ กยศ. กลายเป็นผู้ฟ้องรายใหญ่ของประเทศ ฟ้องเป็นล้านเคส…กยศ.ตั้งมาบอกว่าจะให้ความรู้ ให้โอกาส แต่ถ้าชาวบ้านเขาโดนอย่างนี้กัน บางคนแทบหมดอนาคตเลยนะ และยังมีพวกที่หากินกับการฟ้องร้องอีก มีคนสารภาพว่าเขาเคยได้รับการแบ่งเค้ก เพราะเขาเป็นบริษัททนาย แล้วคดีมีเป็นล้านเคส
ลองคิดดูแต่ละคดี ค่าจ้างอยู่ที่ 7,500 บาท คิดดูเป็นเงินไหร่ บางคดีเงินแค่ 5,000 บาท ถามว่าจะไปฟ้องเขาทำไม ไปปรับโครงสร้างหนี้ หรือให้ประนีประนอมหนี้ก็ได้ จะไปฟ้องทำไม และบางคนกู้มาตั้งแต่มัธยม พอเขาจ่ายหนี้ไม่ได้ แล้วจะไปฟ้องยึดบ้านเขา ผมว่ามันแย่มากเลย” ขจร กล่าวทิ้งท้าย
เหล่านี้คือปัญหาที่ลูกหนี้ กยศ. เจอ และต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน!
อ่านประกอบ :
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/