"...การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ดังกล่าว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. ลดลงเหลือไม่เกิน 2% ต่อปี จากกฎหมายฉบับปัจจุบันที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% ต่อปี พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ‘ผู้กู้ยืมเงิน’ ทั้งลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ที่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี สามารถยื่นเรื่อง “ขอผ่อนผัน” การชำระเงินคืนกองทุน ขอลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด..."
...............................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไปนั้น (อ่านประกอบ : ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ฉบับดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เหตุผลการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
โดยที่การกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอันเป็นรากฐานสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม แต่บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่อำนวยให้การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ภายใต้บริบทการศึกษาเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป
สมควรแก้ไขเพิ่มติมบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้มีระบบการให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนที่ต้องได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาให้ทำงานเชิงรุก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลแก่นักเรียนหรือนักศึกษาก่อนเลือกสาขาวิชาที่จะกู้ยืมเงินเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพแห่งอนาคต รวมทั้งให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงกำหนดกลไกให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถชำระเงินคืนกองทุนตามความสามารถในการหารายได้และสร้างวินัยในการชำระเงินคืนกองทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนแก่กองทุน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
@ให้ผู้ศึกษา ‘หลักสูตรอาชีพ-ยกระดับทักษะ’ กู้เงิน กยศ.ได้
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ฉบับดังกล่าว จะเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ใน 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย
1.แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของกองทุน กยศ. ได้แก่
การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “นักเรียนหรือนักศึกษา” ให้หมายความว่า “ผู้ซึ่งศึกษาอยู่ในสถานศึกษา หรือผู้ซึ่งได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในสถานศึกษาแล้ว และให้หมายรวมถึงผู้ซึ่งมีหลักฐานว่า จะเข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ในสถานศึกษาด้วย”
รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สถานศึกษา” ให้หมายความว่า
“โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นของรัฐ โรงเรียนของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และให้หมายความรวมถึงบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งจัดให้มีการศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ ตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย”
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างจากการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และทำให้ผู้ซึ่งจะเข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
@ปรับหลักเกณฑ์ให้ ‘ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์’ มีโอกาสกู้ยืมได้
2.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการ กยศ. และคณะอนุกรรมการ ได้แก่
การ “เพิ่มเติม” บทบัญญัติมาตรา 6/1 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ดังนี้
“มาตรา 6/1 กองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) ขาดแคลนทุนทรัพย์
(2) ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
(3) ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิซาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
(4) เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ
ในกรณีตาม (3) คณะกรรมการจะกำหนดให้เป็นทุนการศึกษาแทนการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็ได้ แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ชัดเจนและใช้บังคับเป็นการทั่วไป โดยจะกำหนดให้ผู้ได้รับทุนต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานตามเวลาที่กำหนดด้วยหรือไม่ก็ได้….”
พร้อมทั้งให้ยกเลิกข้อความใน (1) ของมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 และให้ใช้ข้อความว่า “(1) เป็นเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และทุนการศึกษาตามมาตรา 6/1 วรรคสอง”
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ยังแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กยศ. เช่น การให้คณะกรรมการ กยศ. มีอำนาจกำหนดลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษาตามมาตรา 6/1
ส่วนการ “กำหนดลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษา” นั้น
“คณะกรรมการต้องกำหนดให้ ผู้ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงมีโอกาสกู้ยืมเงินได้ โดยต้องไม่คำนึงถึงเฉพาะรายได้ต่อครอบครัวของผู้กู้ยืมเงินเพียงด้านเดียว แต่ต้องคำนึงถึงรายจ่ายของครอบครัวด้วย และรายได้ต่อครอบครัวที่กำหนด เมื่อหักรายจ่ายของครอบครัวแล้ว หากไม่เพียงพอที่จะรับผิดชอบในการศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษานั้นได้ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์”
นอกจากนี้ คณะกรรมการอาจมอบอำนาจของคณะกรรมการบางเรื่อง ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้จัดการหรือบุคคลอื่นใดกระทำการแทนคณะกรรมการก็ได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ฉบับนี้ ยังกำหนดให้ยกเลิกมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2562 และให้ยกเลิกมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560
ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิก “คณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษา” ที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน และ “คณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน” เพื่อลดการดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการซึ่งอาจซ้ำซ้อนและทำให้เกิดความล่าช้า โดยคณะกรรมการสามารถพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้เฉพาะตามที่เห็นสมควรและจำเป็น
@เพิ่มบทบาท ‘สำนักงาน’ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการกู้เงิน
3.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้เงินกู้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนี้
กำหนดให้ยกเลิกความในมาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 37 ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดลักษณะของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาขอบเขตการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา รวมตลอดทั้งประเภทวิชา สถานศึกษาหรือระดับชั้นการศึกษาและหลักสูตรที่จะให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ภายในเดือนมกราคมของทุกปี โดยอาจประกาศเพิ่มเติมได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเริ่มปีการศึกษาแต่ละปี
ให้สำนักงานส่งประกาศตามวรรคหนึ่งให้สถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนและให้สำนักงานและสถานศึกษาดังกล่าวเผยแพร์ให้ประชาชนทราบทั่วไป โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานหรือสถานศึกษาและปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ สำนักงานหรือบริเวณสถานศึกษาแล้วแต่กรณีด้วย
มาตรา 38 สถานศึกษาที่ประสงค์จะเข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ยื่นคำขอเข้าร่วมดำเนินงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
สถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบให้เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุนตามแบบที่กองทุนกำหนด และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงโดยเคร่งครัด หากสถานศึกษาใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องครบถ้วน กองทุนอาจเพิกถอนการเข้าร่วมดำเนินงานของสถานศึกษาแห่งนั้นก็ได้”
สำหรับการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 37 ดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งต้องการกู้ยืมเงินมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ก่อนที่จะทำการสมัครเข้าศึกษา และขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 38 จะทำให้สำนักงาน กยศ. มีหน้าที่และอำนาจดำเนินงานบางเรื่องแทนคณะกรรมการ กยศ. ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน เช่น การยื่นคำขอเข้าร่วมดำเนินงานของสถานศึกษา การยื่นคำขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาของนักเรียนหรือนักศึกษา การทำสัญญากู้ยืมเงิน และการแจ้งขอเบิกเงินกู้ยืมเงิน เป็นต้น
@สั่งเผยแพร่สถิติ ‘การมีงานทำ-ประเภทงาน’ หลังผู้กู้จบการศึกษา
ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ได้กำหนดให้ “เพิ่มเติม” มาตรา 38/1 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ดังนี้
“มาตรา 38/1 เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาใช้ประกอบการพิจารณาขอกู้ยืมเงิน ให้สำนักงานรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสถิติที่สำนักงานมีอยู่ เกี่ยวกับการมีงานทำและประเภทของงานที่ทำของผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมทั้งคาดการณ์งานที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต โดยให้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเป็นระยะๆ"
ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษา ใช้ประกอบการตัดสินใจกู้ยืมเงิน
@ยกเลิกการกำหนดให้มี ‘ผู้ค้ำประกัน’ เงินกู้ กยศ.
ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ฉบับนี้ ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา 40 และ มาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้ใช้ข้อความว่า
“มาตรา 40 นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ใดจะขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานตามวิธีการที่กองทุนกำหนด
มาตรา 41 นักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับกองทุนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด
ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนดต้องมีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนด้วยก็ได้”
ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกการกำหนดให้มี ‘ผู้ค้ำประกัน’ ในการชำระเงินคืนกองทุน กยศ. แต่อย่างไรก็ดี “ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร” คณะกรรมการ กยศ. จะกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงิน “ซึ่งมีลักษณะตามที่กำหนด” ต้องมีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุนด้วยก็ได้
ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้ กยศ. พิจารณาให้เงินเพื่อการศึกษาเป็นจำนวนปีที่กำหนดไว้ในหลักสูตรได้ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และเพิ่มเติมมาตรา 43/1 เป็นดังนี้
“มาตรา 43 เมื่อได้ลงทะเบียนเรียนหรือมีหลักฐานว่าจะเข้าศึกษาแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินแจ้งขอเบิกเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา พร้อมทั้งแจ้งจำนวนเงินค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพโดยมีคำรับรองจากสถานศึกษาประกอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กองทุนกำหนด”
“มาตรา 43/1 กองทุนจะจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่ผู้กู้ยืมเงินไม่เกินจำนวนปีที่กำหนดไว้ในหลักสูตรที่ผู้กู้ยืมเงินศึกษาอยู่
ในกรณีจำเป็นและสมควร กองทุนจะพิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเกินจำนวนปีที่กำหนดไว้ในหลักสูตรตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อ หลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564 ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
@ลดดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ.ไม่เกิน 2% ต่อปี-เปิดทางปรับโครงสร้างหนี้
4.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. ดังนี้
การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และให้ใช้ข้อความว่า
“มาตรา 44 เมื่อสำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไป พร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุนโดยจะชำระเงินคืนกองทุนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระก็ได้ ทั้งนี้ ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนกำหนด
คณะกรรมการจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืมเงินนับแต่เวลาใดภายหลังที่สำเร็จการศึกษา เลิกการศึกษา หรือพ้นสภาพการศึกษาแล้วก็ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดที่คิด ณ วันทำสัญญา ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสอง (2) ต่อปี และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น
ในการชำระเงินคืนกองทุนตามวรรคหนึ่ง ถ้าผู้กู้ยืมเงินได้แจ้งให้กองทุนทราบถึงการสำเร็จการศึกษา การเลิกการศึกษา หรือการพันสภาพการศึกษา ภายในเก้าสิบวัน (90) นับแต่วันที่สำเร็จการศึกษา การเลิกการศึกษา หรือการพันสภาพการศึกษา ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดหนี้เป็นเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด
ผู้กู้ยืมเงินซึ่งมิได้ปฏิบัติตามวรรคสาม หากประสงค์จะได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดหนี้ จะยื่นคำขอเพื่อขอรับประโยชน์ตามวรรคสามก็ได้
เพื่อบรรเทาภาระของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้ กองทุนอาจผ่อนผันให้ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันชำระเงินคืนกองทุนแตกต่างไปจากจำนวน ระยะเวลาหรือวิธีการที่กำหนดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุนตามที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันร้องขอเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
การดำเนินการตามวรรคห้า ให้กระทำได้แม้จะอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี
ในกรณีที่มีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรือในระหว่างการบังคับคดี หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าระยะเวลาการบังคับคดีได้สิ้นสุดลงก่อนแล้วหรือเหลือไม่ถึงสาม (3) ปี ให้ดำเนินการบังคับคดีได้ภายในสาม (3) ปีนับแต่วันที่ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
ในกรณีที่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรือในระหว่างการบังคับคดี ให้ถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอันระงับไป หากมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแปลงหนี้ใหม่
ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดผิดนัดการชำระเงินคืนกองทุน และไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่อนผันตามวรรคห้า ผู้กู้ยืมเงินต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปี เว้นแต่คณะกรรมการจะยกเว้นหรือลดหย่อนให้ตามที่เห็นสมควร
เมื่อได้มีการดำเนินการตามวรรคห้ากับผู้กู้ยืมเงินแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น”
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 44 พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ดังกล่าว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กยศ. ลดลงเหลือไม่เกิน 2% ต่อปี จากกฎหมายฉบับปัจจุบันที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 7.5% ต่อปี
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ‘ผู้กู้ยืมเงิน’ ทั้งลูกหนี้ปกติ และลูกหนี้ที่ในระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดี สามารถยื่นเรื่อง “ขอผ่อนผัน” การชำระเงินคืนกองทุน ขอลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด
โดยเฉพาะในกรณีที่มีการทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ภายหลังมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว หรือในระหว่างการบังคับคดี ให้ถือว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นอันระงับไป หากมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ให้ถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ชำระหนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแปลงหนี้ใหม่
อีกทั้งยังกำหนดให้ “ผู้ค้ำประกัน” หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินได้รับการผ่อนผัน ลดหย่อนหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืน กยศ.
นอกจากนี้ การที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมเงินให้แจ้ง กยศ. ทราบถึงการสำเร็จการศึกษา การเลิกการศึกษา หรือการพ้นสภาพการศึกษานั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืมเงินแล้ว เมื่อผู้กู้ยืมเงินแจ้งกองทุนทราบแล้ว จะมีสิทธิได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดหนี้ด้วย
@ปรับลำดับการ ‘ตัดหนี้’-ให้จ่ายตามความสามารถแต่ไม่เกิน 15 ปี
ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ ได้ให้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. โดยกำหนดวิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ยืดหยุ่นขึ้น โดยให้ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิเลือกชำระเงินกู้ยืมคืนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระได้
การกำหนดให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้ชำระ และกำหนดลำดับการตัดชำระโดยเรียงจากต้นเงิน ดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม และให้อำนาจคณะกรรมการ กยศ. ในการกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วนก่อนกำหนด
โดยให้เพิ่มเติมมาตรา 44/1 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 ดังนี้
“มาตรา 44/1 หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 19 (8) ต้องเป็นไปตามหลักการดังต่อไปนี้
(1) ระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุน ต้องคำนึงถึงรายได้และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืมเงินประกอบด้วย แต่ต้องไม่เกินสิบห้า (15) ปี นับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องชำระ
(2) การผ่อนชำระเงินคืนกองทุนเป็นงวด ผู้กู้ยืมเงินต้องสามารถชำระเป็นรายเดือนรายไตรมาส หรือรายปีได้
(3) ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินมีหนี้ค้างชำระทั้งต้นเงิน ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม เงินที่ผู้กู้ยืมเงินชำระให้นำไปหักต้นเงินเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มตามลำดับ
(4) การให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคำนวณเงินที่จะต้องใช้ในห้า (5) ปี ถัดไปแล้ว ยังมีเงินเหลือจากการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี
(5) การกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วนก่อนกำหนดเวลา ซึ่งอาจเป็นการลดหย่อนต้นเงินหรือให้ประโยชน์อื่นใดก็ได้”
การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขฯ ดังกล่าว เพื่อให้การให้กู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุนมีความเป็นธรรมและไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ เช่น การผ่อนชำระเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี และลำดับการตัดชำระซึ่งให้นำไปหักต้นเงินก่อนแล้วจึงไปหักดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม รวมทั้งมาตรการจูงใจอื่นๆ เพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัด
ไม่เพียงเท่นั้น ร่าง พ.ร.บ.กยศ. กำหนดให้ กยศ. พิจารณาขยายระยะเวลาการชำระเงินคืนกองทุนได้ในกรณีที่กองทุนบอกเลิกสัญญากู้ยืมเงิน โดยให้เพิ่มเติมวรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ความว่า “ระยะเวลาตามวรรคสอง กองทุนจะขยายให้ตามความจำเป็นที่เห็นสมควรก็ได้”
@กำหนด ‘4 ลักษณะ’ ที่ทำให้หนี้ กยศ. ระงับไป
ร่าง พ.ร.บ.กยศ. กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะที่ทำให้หนี้ที่มีต่อกองทุนเป็นอันระงับไป เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกัน เช่น ผู้กู้ยืมเงินตาย ล้มละลายแต่ไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต พิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานหรืออาชีพได้ เป็นโรคอันตรายร้ายแรงหรือมีเหตุอันไม่สามารถประกอบการงานหรืออาชีพได้ ดังนี้
“มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินมีลักษณะดังต่อไปนี้ภายหลังจากการกู้ยืมเงินให้หนี้ที่มีต่อกองทุนเป็นอันระงับไป
(1) ตาย
(2) ล้มละลาย ยกเว้นเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานหรือประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ตามลักษณะและระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
(4) เป็นโรคอันตรายร้ายแรงหรือมีเหตุอันไม่สามารถประกอบการงานหรือประกอบอาชีพได้ ทั้งนี้ ตามลักษณะและระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีตาม (2) ให้ระงับเฉพาะหนี้ในส่วนที่ไม่ได้รับจากการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเป็นอันระงับไป”
@เพิ่มความยืดหยุ่น ‘นายจ้าง’ หักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ กยศ.
ร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้ นายจ้างหักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และการเพิ่มเติมบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ใช้บังคับบทบัญญัติในเรื่องเงินเพิ่มกับผู้กู้ยืมเงินและผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน จนกว่าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในเรื่องดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ ดังนี้
“มาตรา 51 ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนบรรดาที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ โดยให้นำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”
และให้เพิ่มวรรคหกของมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ความว่า “เมื่อมีเหตุอันสมควรกองทุนจะยกเว้นหรือลดหย่อนเงินเพิ่มตามวรรคสี่ให้แก่ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินเป็นการเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
@กำหนด ‘บทเฉพาะกาล’ ให้การช่วยเหลือลูกหนี้มีผลย้อนหลัง
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฯ กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อนำบทบัญญัติซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.กยศ.ฉบับนี้ มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงินหรือค้ำประกันไว้แล้ว ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับด้วย และห้ามมิให้บังคับใช้บทบัญญัติบางมาตราที่จะเป็นผลในทางร้ายแก่ผู้กู้ยืมด้วย ได้แก่
มาตรา 23 ห้ามมิให้ใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 44 วรรคเก้า และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในทางที่จะเป็นผลร้ายแก่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน จนกว่าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตราดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ
มาตรา 24 เพื่อบรรเทาผลกระทบอันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ให้นำมาตรา 44 วรรคสอง วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด วรรคแปด วรรคเก้า และวรรคสิบ แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงินหรือค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
มาตรา 25 ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดมีลักษณะตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาพ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้หนี้ที่มีต่อกองทุนเป็นอันระงับไป แต่ถ้าได้มีการชำระเงินคืนกองทุนไปแล้วทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้กู้ยืมเงินไม่มีสิทธิเรียกเงินคืน
มาตรา 26 ในการออกข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเป็นคุณต่อผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกัน คณะกรรมการจะกำหนดให้มีผลใช้บังคับกับผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ค้ำประกันซึ่งกู้ยืมเงินหรือได้ค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับก็ได้ แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้วหรืออยู่ในระหว่างการบังคับคดีก็ตาม
เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา 44 วรรคห้า ภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กับผู้กู้ยืมเงิน ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากหนี้นั้น
เหล่านี้เป็นสาระสำคัญและรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขและผลักดัน เพื่อเป็น ‘ของขวัญปีใหม่’ ให้กับ ลูกหนี้ กยศ. ทั้งระบบที่มีจำนวนกว่า 5 ล้านคน
จึงต้องติดตามต่อไปกันต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศใช้ได้เมื่อใด
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะแก้กฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ
ต่อคิวเข้าครม.!‘สนง.กฤษฎีกา’เผยส่งร่างแก้ไข ‘พ.ร.บ.กยศ.’ให้ ‘สลค.’ตั้งแต่ 9 ก.ย.แล้ว
ทวี สอดส่อง : ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง 'กยศ.' กับ การไร้วินัยการเงินการคลัง!
ชงแก้ พ.ร.บ. ‘กยศ.’! เปิดทาง ‘ลูกหนี้’ ตามคำพิพากษา ปรับโครงสร้างหนี้-แปลงหนี้ใหม่
กางงบ'กยศ.'ย้อนหลัง 3 ปี! ฟันเบี้ยปรับ 7.4 พันล.-จ่ายค่าคดี 4 พันล. จ่อฟ้องอีกล้านคน
6 เดือน ลูกหนี้ ‘กยศ.’ ที่ผิดนัดชำระฯ 2.47 หมื่นราย ใช้สิทธิฯปิดบัญชี-ลดเบี้ยปรับ 100%
ผ่อนจนตายก็ไม่หมด! ลูกหนี้'กยศ.'จ่ายค่างวดนับปี‘เงินต้น’ไม่ลด-‘เบี้ยปรับ’เดินรายวัน
กยศ.เพิ่มวงเงินเป็น 4 หมื่นล้าน รองรับผู้กู้ 7 แสนราย ขยายเวลายื่นถึง 31 ต.ค.
อดีตลูกหนี้ กยศ. ร้องโดน‘เบี้ยปรับ’เกือบเท่าเงินต้น-กลัวถูกยึดบ้าน กู้สหกรณ์ฯปิดยอด
เจออีกราย! ลูกหนี้ กยศ.โดน ‘เบี้ยปรับ'โหด ท่วม‘เงินต้น’-ผ่อนหนี้ไม่ไหวขอ ‘ลดค่างวด’
สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.