“…กำหนดวิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ ‘ยืดหยุ่น’ ขึ้น โดยการกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุน ต้องคำนึงถึง ‘รายได้’ และ ‘ความสามารถในการชำระเงินคืน’ ของผู้กู้ประกอบด้วย แต่ต้องไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่มีหน้าที่ชำระ ส่วนการชำระเงินแต่ละงวด สามารถชำระเป็น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ได้…”
..........................
อยู่ในช่วงของการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 โดยครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 13-31 ส.ค.2564 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘หลักการ’ การแก้ไขกฎหมายไปแล้วเมื่อ 22 เม.ย.-12 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปเนื้อหาและสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ดังนี้
@แก้กฎหมาย ‘กยศ.’ เหตุลูกหนี้ผิดนัดเพิ่ม-เงื่อนไขกู้ยืมไม่เหมาะสม
ปัจจุบันกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีปัญหาผู้กู้ยืมเงินจากกองทุนผิดนัดชำระหนี้เป็นจำนวนมาก และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินบางประการ ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน ซึ่งเพิ่งจบการศึกษา รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงสมควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2564 จึงมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้
ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาต่อ ‘คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย’ ก่อนนำร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป
@เปิด 16 ประเด็น แก้ไข ‘พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา’
สำหรับสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ (ครั้งที่ 1) มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ทั้งสิ้น 16 ประเด็น ได้แก่
1.ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ กยศ. สามารถพิจารณา ‘มอบทุนการศึกษา’ ให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาแทน ‘การให้กู้ยืมได้’ ในกรณีของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ‘ให้ชัดเจน’ และ ‘ใช้บังคับเป็นการทั่วไป’ โดยจะกำหนดให้ผู้รับทุนต้องปฏิบัติงานในหน่วยงานตามที่กำหนดด้วยหรือไม่ก็ได้ (เพิ่มเติมมาตรา 6/1 )
2.ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กยศ. เช่น กำหนดลักษณะของของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือทุนการศึกษาตามาตรา 6 รวมทั้งขอบเขตและแนวทางในการให้กู้ยืมหรือให้ทุนการศึกษา ทั้งนี้ ต้องสอดสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การพิจารณาเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการ ‘ขอข้อมูลส่วนบุคคล’ และ ‘เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินและการชำระเงินคืนกองทุน’ ตามมาตรา 45
การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืม เพื่อการศึกษา การให้ทุนการศึกษา การชำระเงินคืนกองทุน การผ่อนผัน การลดหย่อนหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ และการระงับการชำระเงินคืนกองทุน
ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ให้คณะกรรมการ กยศ. พิจารณาข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับความคิดเห็นของนักเรียนหรือนักศึกษา ผู้กู้ยืมเงิน และสถานศึกษา ภาวะการทำงานของประชากร สภาพเศรษฐกิจและสังคม และข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นประกอบด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19)
อีกทั้งเพื่อลดการดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งอาจซ้ำซ้อนและทำให้เกิดความล่าช้า จึงยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้มี ‘คณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษา’ ที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน และ ‘คณะอนุกรรมการกำกับการชำระเงินคืนกองทุน’ (ยกเลิกมาตรา 22 23 24 และ 25)
3.กำหนดระยะเวลาในการประกาศ กำหนดลักษณะของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ขอบเขตการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา รวมตลอดทั้งประเภทวิชา สถานศึกษาหรือระดับชั้นการศึกษา และหลักสูตรที่จะให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาภายในเดือนมกราคมของทุกปีโดยอาจประกาศเพิ่มเติมได้ แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเริ่มปีการศึกษาแต่ละปี
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กู้ได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะทำการสมัครเข้าศึกษา และกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา รวมทั้งกำหนดให้ต้องเผยแพร่ประกาศดังกล่าวทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานและสถานศึกษาด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37)
@เพิ่มอำนาจกำหนดลักษณะเงินกู้ยืมกรณี ‘ขาดแคลนทุนทรัพย์’
4.กำหนดเป็นหลักการไว้ว่า ในการกำหนดลักษณะของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษากรณีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้คณะกรรมการพิจารณาข้อมูลอื่นที่จำเป็น นอกจากรายได้ของครอบครัวของนักเรียนหรือนักศึกษาประกอบด้วย เพื่อให้การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีความเป็นธรรมและไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ (เพิ่มเติมมาตรา 37/1)
5.ให้นำหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กยศ. ในบางเรื่อง มากำหนดเป็นหน้าที่และอำนาจของ 'สำนักงานฯ’ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน อาทิ การยื่นคำขอกู้ยืมเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา การกำหนดแบบสัญญากู้ยืมเงิน เป็นต้น โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ กยศ. กำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 38)
6.กำหนดให้สำนักงาน กยศ. เผยแพร่ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับ ‘การมีงานทำ' และ ‘ประเภทของงานที่ทำ’ ของผู้กู้ยืมเงินภายหลังที่สำเร็จการศึกษาแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาใช้ประกอบการพิจารณากู้ยืมเงิน ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่มีสำนักงานมีอยู่เป็นระยะๆ (เพิ่มเติมมาตรา 38/1)
@เพิ่มอำนาจบอร์ด ‘กยศ.’ ใช้ดุลพินิจกำหนดให้มี ‘ผู้ค้ำประกัน’
7.กำหนดให้คณะกรรมการ กยศ. มีอำนาจดุลพินิจในการกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงิน ‘ต้องมีผู้ค้ำประกัน’ การชำระเงินคืนกองทุนด้วย เนื่องจากนับแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป กยศ. มีแนวทางการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในกรณีทั่วไปโดยไม่มีการบังคับให้ต้องมีการจัดหาผู้ค้ำประกัน
ดังนั้น ในบางกรณีอาจสมควร คณะกรรมการ กยศ. มีอำนาจดุลพินิจให้ผู้กู้ยืมเงินจัดหา 'ผู้ค้ำประกัน' เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนของสถานะทางการเงินของ กยศ. จึงต้องกำหนดให้คณะกรรมการ กยศ. มีอำนาจดุลพินิจดังกล่าวได้ในกรณีที่เห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41)
8.กำหนดหน้าที่ของผู้กู้ยืมเงินให้แจ้งกองทุนทราบถึงการสำเร็จการศึกษา การเลิกการศึกษา หรือการพ้นสภาพการศึกษา ภายใน 90 วันนับแต่วันที่สำเร็จการศึกษา การเลิกการศึกษา หรือการพ้นสภาพการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืมเงิน
ทั้งนี้ เมื่อผู้กู้ยืมเงินแจ้งกองทุนทราบแล้ว จะมีสิทธิได้รับประโยชน์จากระยะเวลาปลอดหนี้เป็นเวลาตามที่คณะกรรมการกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 42)
9.กำหนดอำนาจในการพิจารณาให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ‘เกินกว่า’ จำนวนปีที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ตามที่ผู้กู้ยืมเงินร้องขอเป็นรายบุคคลไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน (เพิ่มเติมมาตรา 43/1)
10.กำหนดอำนาจในการพิจารณาผ่อนผันการผ่อนชำระหนี้ การลดหย่อนหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้ใหม่ หรือการระงับการชำระเงินคืนกองทุน ไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินให้สามารถชำระเงินคืนกองทุนได้อย่างแท้จริง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44)
@รื้อเงื่อนไขคืนเงินกู้ กยศ. เน้น ‘ยืดหยุ่น-ดอกเบี้ยไม่เกิน 2%’
11.ปรับปรุงการชำระเงินคืนกองทุน โดยกำหนดให้ผู้กู้ยืมเงินสามารถชำระเงินกู้ยืม ‘คืนทั้งจำนวน’ หรือ ‘ผ่อนชำระ’ ก็ได้ โดยคณะกรรมการฯจะกำหนดให้เริ่มคิดดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กู้ยืม นับแต่เวลาใดภายหลังที่ ‘สำเร็จการศึกษา’ หรือ ‘เลิกการศึกษา’ แล้วก็ได้
แต่อัตราดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ใดที่คิด ณ วันทำสัญญา ต้องไม่เกิน ‘ร้อยละ 2 ต่อปี’ และห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น (พ.ร.บ.ฉบับปี 2560 กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี) (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44)
กำหนดวิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ ‘ยืดหยุ่น’ ขึ้น โดยการกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุน ต้องคำนึงถึง ‘รายได้’ และ ‘ความสามารถในการชำระเงินคืน’ ของผู้กู้ประกอบด้วย แต่ต้องไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันที่มีหน้าที่ชำระ ส่วนการชำระเงินแต่ละงวด สามารถชำระเป็น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี ได้
ขณะที่การคิดดอกเบี้ย ให้คำเฉพาะ ‘เงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้ชำระ’ และกำหนดลำดับการตัดชำระโดยเรียงจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม รวมทั้งให้อำนาจคณะกรรมการในการกำหนด ‘มาตรการจูงใจ’ เพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วนก่อนกำหนดเวลา เช่น อาจลดหย่อนเงินต้นหรือให้ประโยชน์อื่นใดก็ได้ (เพิ่มเติมมาตรา 44/1)
12.กำหนดแนวทางในการให้กู้ยืมเงินสำหรับการศึกษาที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี โดยให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคำนวณเงินที่จะต้องใช้ใน 5 ปีถัดไปแล้ว ยังมีเงินเหลือจากการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี (เพิ่มเติมมาตรา 44/1)
13.ปรับปรุงลักษณะของผู้กู้ยืมเงินที่มีผลต่อการระงับหนี้ที่มีต่อกองทุน โดยกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงิน ตาย ล้มละลาย พิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ หรือเป็นโรคอันตรายร้ายแรง ให้หนี้ที่มีต่อกองทุนเป็นอันระงับไป และในกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันเป็นอันระงับไป (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 49)
@ปรับปรุงเนื้อหา 'นายจ้าง' หักเงินลูกหนี้ส่งกองทุน ‘กยศ.’
14.ปรับปรุงเนื้อหากรณีการให้ ‘นายจ้าง’ หักเงินได้พึงประเมินของ ‘ลูกจ้าง’ ที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน กยศ. เพื่อนำส่งกองทุนฯให้กระชับและชัดเจนขึ้น โดยบัญญัติว่า
“ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนบรรดาที่มีลักษณะตามที่คณะกรรมการกำหนด มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้ 11 พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชำระเงินกู้ยืมคืนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบโดยให้นำส่ง กรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 51)
15.ปรับปรุงวิธีการนำเงินส่งกองทุนฯ ให้ยืดหยุ่นสำหรับนายจ้างที่ยังไม่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีหรือมีข้อจำกัดในการดำเนินการ ทำให้ไม่สามารถหักเงินผ่านระบบของกรมสรรพากรได้ ให้สามารถนำส่งด้วยวิธีการอื่นได้
โดยคณะกรรมการ กยศ. มีอำนาจดุลพินิจในการพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนเงินเพิ่ม ในกรณีนายจ้างไม่ได้หักและนำส่งเงินเดือนของลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. ให้แก่ กยศ. เนื่องจากมีเหตุจำเป็น เพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมต่อ และไม่ให้นายจ้างต้องรับภาระเกินสมควร (เพิ่มเติมมาตรา 51)
16.เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ กยศ. อันเกิดจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน จึงกำหนดให้สามารถนำบทบัญญัติซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ มาใช้บังคับแก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันที่กู้ยืมเงินหรือค้ำประกันไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย
เหล่านี้เป็นประเด็นและเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้
ผู้สนใจสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ที่ https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=MzUxREdBX0xBV19GUk9OVEVORA==
อ่านประกอบ :
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/