ลูกหนี้ กยศ.ร้อง ‘อิศรา’ หลัง กยศ. ให้จ่าย ‘เบี้ยปรับ’ 2.37 แสนบาท สูงกว่า ‘เงินต้น’ แต่ผ่อนไปเท่าไหร่เงินต้นไม่ลด เผยเคยขอ กยศ. ลดเงินค่างวดรายเดือน เพราะผ่อนไม่ไหว แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ เหตุทนายอ้างแต่คำพิพากษาศาล
...........................
สืบเนื่องจากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอกรณี ‘สุนิสา’ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ถูก กยศ.ฟ้องร้อง เพราะผิดนัดชำระหนี้ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ กยศ. แต่ลูกหนี้รายหนี้เสียเบี้ยปรับสูงถึง 230,578.69 บาท ซึ่งมากกว่าเงินต้น 216,758.52 บาท และไม่ว่าจะผ่อนค่างวดไปเท่าใด เงินต้นไม่ลดเลย (อ่านประกอบ : ‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
ล่าสุดมีลูกหนี้ กยศ. รายหนึ่ง ร้องเรียนมาที่สำนักข่าวอิศรา ว่า ตนเองเป็นลูกหนี้ กยศ. ซึ่งเมื่อปี 2561 ถูก กยศ. ฟ้องร้อง เนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ และต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมหนี้ยอมความกับ กยศ. แต่ปรากฎว่าต้องเสียเบี้ยปรับเป็นเงินสูงถึง 237,256.22 บาท ในขณะที่เงินต้นคงค้างอยู่ที่ 165,000 บาท และมีดอกเบี้ย 25,802.91 บาท จึงอยากขอให้ กยศ. ช่วยภาระลดเบี้ยปรับส่วนนี้ลง รวมทั้งช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.รายอื่นๆ ที่ต้องประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน
น.ส.เกศินี (ขอสงวนนามสกุล) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ตนเองกู้ยืม กยศ. เมื่อปี 2539 เพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย โดยกู้ยืมเงินเป็นเวลา 3 ปี คือ ปี 2539 ,ปี 2541 และปี 2542 วงเงินต้นรวมทั้งสิ้น 165,000 บาท แต่หลังจากจบการศึกษาแล้ว ไม่ได้มีอาชีพที่มีรายได้ประจำ ทำให้เมื่อพ้นระยะเวลาปลอดการชำระหนี้แล้ว ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้รายปีให้ กยศ.ได้
ต่อมาในเดือน ก.พ.2561 ตนเองได้รับหมายศาล โดย กยศ.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องร้องตนเอง (ผู้กู้) และพี่สาว (ผู้ค้ำประกัน) เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ เมื่อถึงที่วันศาลฯนัดพิจารณาคดี คือ ในวันที่ 18 มิ.ย.2561 ทนายฝ่าย กยศ. ได้ให้ตนเองทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่ศาล เป็นเงินทั้งสิ้น 428,059.13 บาท เป็นเงินต้นคงค้าง 165,000 บาท ดอกเบี้ย 25,802.91 บาท และเบี้ยปรับ 237,256.22 บาท
ทั้งนี้ ทนายฝ่าย กยศ. ให้ตนเองผ่อนชำระหนี้ กยศ. รายเดือนๆละ 4,500 บาท เป็นเวลา 9 ปี หรือตั้งแต่เดือน ก.ค.2561-ก.ค.2571 แต่เนื่องจากค่างวดเดือนละ 4,500 บาทนั้น สูงเกินไป และตนเองก็ผ่อนไม่ไหว เพราะแม้ว่าขณะนั้นตนมีอาชีพที่มีรายได้ประจำมา 3-4 ปีแล้ว แต่เงินเดือนยังไม่ถึง 20,000 บาทต่อเดือน จึงขอลดเงินส่งค่างวดเหลือเดือนละ 2,000 บาท แต่ทนายฝ่าย กยศ. ไม่ยอม ทำให้ตนเองจำเป็นต้องลงนามรับสภาพหนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องบังคับคดี
อย่างไรก็ตาม หลังจากลงนามรับสภาพหนี้แล้ว ตนเองพยายามผ่อนชำระค่างวดให้ กยศ. เดือนละ 2,000-3,000 บาท แต่หากมีรายได้จากการค้าขายพิเศษนอกทำงานก็นำไปโป๊ะ เช่น 20,000-30,000 บาทก็เคยมี แต่ไม่ว่าจะส่งค่างวดเท่าไปเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างลดลงไม่มาก และยังต้องเสียดอกเบี้ยรายเดือนอีก เดือนละประมาณ 1,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยตรงนี้ก็เดินทุกวัน หากเป็นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะชำระหนี้ได้หมด
“หลังรับสภาพหนี้แล้ว ดอกเบี้ยก็ไม่หยุดเดิน ยังคิดดอกเบี้ยทุกเดือน และเงินที่ผ่อนจ่ายไปบางเดือนจ่าย 2,000 บ้าง 3,000 บ้าง บางเดือนเอาเงินไปโป๊ะครั้งละหลายหมื่นบาท แต่กลายเป็นเงินเบี้ยปรับและดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยก้อนแรกที่ยอด 2 แสนกว่า ลดลงไม่มาก เคยทำหนังสือไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอลดค่างวดรายเดือนหรือลดดอกเบี้ยลง ก็ไม่เป็นผล เนื่องจาก กยศ. อ้างว่ามีคำพิพากษาแล้ว ทำอะไรไม่ได้
ทั้งที่ในความเป็นจริง ตอนที่ กยศ. บังคับให้รับสภาพหนี้ ก็ได้ขอความเมตตาให้ กยศ. ช่วยลดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับลงบ้าง เนื่องจากผ่อนชำระเดือนละ 4500 บาท ไม่ไหวจริงๆ แต่ทางทนายก็อ้างว่าไม่ได้ กยศ. ไม่ลดให้ จึงผ่อนไปเท่าที่ไหว บางเดือนไม่มีเงิน ก็ไม่ได้ผ่อน ทำให้เบี้ยปรับยังเดินต่อไปเรื่อยๆ ตอนนี้ทุกข์ใจมากไม่รู้จะพึ่งใคร ก็เข้าใจอยู่ว่าเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่อยากขอความเมตตาลดดอกเบี้ยและค่าปรับให้บ้าง แต่ไม่เป็นผลอะไรเลย” น.ส.เกศินี ระบุ
น.ส.เกศินี กล่าวว่า ในฐานะที่ กยศ. เป็นหน่วยงานของรัฐ น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. ที่ต้องคำพิพากษาแล้วบ้าง แต่กลับอ้างแต่คำพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้จ่ายหนี้อย่างเดียว และกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแล กยศ. ควรเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. กลุ่มนี้ เพราะเจอเบี้ยปรับโหดจริงๆ ทั้งนี้ หากครอบครัวมีเงินส่งตนเองเรียน ก็คงไม่คิดกู้ยืมเงิน กยศ. เพราะเมื่อจบการศึกษาออกมาแล้ว ก็ยังไม่มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เพิ่งมามีอาชีพที่มั่นคงก็เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมาเอง
ก่อนหน้านี้ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำหนังสือชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ถึงสาเหตุที่ กองทุน กยศ. ต้องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระจะต้องเสียเบี้ยปรับนั้น เพื่อเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้ตรงตามกำหนดเท่านั้น โดยคิดเบี้ยปรับ 12% ในปีแรก และคิดเบี้ยปรับ 18% ในปีถัดไป ทั้งนี้ กองทุนได้ปรับลดอัตราเบี้ยปรับเหลือ 7.5% ตั้งแต่เดือน ต.ค.2562 เป็นต้นมา
อีกทั้งกองทุนยังเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมขอผ่อนผันชำระหนี้ในกรณีที่ยังไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท หรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ หรือเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัวซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการอีกด้วย (อ่านประกอบ : สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด)
อ่านประกอบ :
สร้างวินัยการเงิน! ‘กยศ.’ แจงเหตุเก็บ ‘เบี้ยปรับ’ หลังลูกหนี้โอดผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด
รื้อใหญ่'แนวทางให้สินเชื่อเป็นธรรม’ ดูแล‘ลูกหนี้ดี-คนค้ำฯ’-ห้ามแบงก์ทำ KPI แข่งทวงหนี้
‘ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด! ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ'เบี้ยปรับ'อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?’
เมธี ครองแก้ว : วิบากกรรมของสุนิสากับ กยศ.
ผ่อน 3 ปี เงินต้นไม่ลด!ทุกข์ลูกหนี้ กยศ. เจอ‘เบี้ยปรับ’อ่วม แฉมีพวกหากินฟ้องชาวบ้าน?
ยืดหยุ่น-ลดเหลื่อมล้ำ! เปิด 16 ประเด็น รื้อกฎหมาย ‘กยศ.’ แก้ปัญหาลูกหนี้ผิดนัดฯ
ศูนย์ปฏิบัติการนายกฯ : สรุปมาตรการ-ความคืบหน้าช่วยเหลือลูกหนี้ ‘กยศ.’
แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/