ครม.เห็นชอบ ร่างกฎหมาย กยศ.ปลดล็อกกู้ยืมเงินไม่ต้องมีผู้ค้ำ บางกรณีอาจอนุมัติให้ทุนแทนการกู้ยืมได้ ส่งต่อสภาพิจารณาต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดให้คณะกรรมการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
นายธนกร กล่าวด้วยว่า สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เช่น เพิ่มนิยามคำว่า นักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษา ให้รองรับการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่าง , เพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ คณะกรรมการ กยศ. อาจให้ทุนการศึกษาแทนการให้เงินกู้ยืมได้ , เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะอนุกรรมการฯ กำหนดลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์โดยให้คำนึงถึงรายได้ และรายจ่ายของครอบครัวว่าเพียงพอต่อการให้การศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษามากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้น ยังแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. โดยวิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ยืดหยุ่นขึ้น ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิเลือกชำระเงินกู้ยืมคืนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระได้ รวมทั้งให้คณะกรรมการ กยศ.กำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วน
รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมและการชำระเงินคืนกองทุน ที่จะส่งผลให้ ผู้กู้ยืมสามารถกู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันเฉพาะที่จำเป็น ทั้งนี้ยังมีการจัดลำดับการตัดชำระเงิน โดยเรียงจาก เงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ปรับรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่น อาจเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น
นายธนกร กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะมอบ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยให้สามารถนำบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ มาบังคับใช้แก่ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันไว้แล้ว ก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่จากนายกรัฐมนตรี ส่งมอบให้กับนักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศ
นายธนกร กล่าวต่อด้วยว่า การปลดล็อกกู้เงิน กยศ.โดยไม่มีผู้ค้ำ และกำหนดให้มีผู้ค้ำแค่เฉพาะกรณีนั้น จะส่งผลให้ผู้กู้เงินในระบบ 2.8 ล้านคน และผู้ค้ำประกัน 3 ล้านคนได้รับประโยชน์ ถือเป็นการขยายโอกาส เข้าถึงเงินกู้ ปรับเปลี่ยนการดำเนินการ
“ขอฝากไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โปรดช่วยดูรายละเอียดและผ่านกฎหมายฉบับนี้ด้วยเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก”