รฟม.เปิดขายซองรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)’ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.นี้ ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นซอง 27 ก.ค. ตั้งเกณฑ์ผ่านการประเมิน ‘ซองเทคนิค’ ต้องได้ไม่น้อยกว่า 90 คะแนน
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลงนามประกาศเชิญการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดย รฟม.จะเปิดให้เอกชนที่สนใจซื้อซองเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.2565
ทั้งนี้ รฟม.กำหนดวันรับซองเอกสารข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 27 ก.ค.2565 ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. และมีกำหนดเปิดซองข้อเสนอในวันที่ 1 ส.ค.2565 เวลา 13.30 น.
สำหรับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการจัดหาระบบรถไฟฟ้า โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 การออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้า และทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่แจ้งให้เริ่มงาน เว้นแต่จะได้รับการขยายระยะเวลาจาก รฟม. ทั้งนี้ ในการณีดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลา จะมีค่าปรับตามอัตราในเงื่อนไขของร่างสัญญาร่วมลงทุน
ส่วนที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา และการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง ทดสอบระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถไฟฟ้าของโครงการสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินงานไม่เกิน 6 ปี นับตั้งแต่วันที่แจ้งให้เริ่มงาน เว้นแต่จะได้รับการขยายระยะเวลาจาก รฟม. ทั้งนี้ ในการณีดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลา จะมีค่าปรับตามอัตราในเงื่อนไขของร่างสัญญาร่วมลงทุน
ระยะที่ 2 การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยให้นับจากวันที่เริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จนสิ้นสุดสัญญาร่วมทุน
ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสาร และรายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของร่างสัญญาร่วมลงทุน โดย รฟม.จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ ส่วนตะวันตก และให้ผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เหลือทั้งหมดในการดำเนินงานตามขอบเขตของงาน
ส่วนคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลไทยตามกฎหมายรายเดียวที่จดทะเบียนในประเทศไทยมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีนับถึงวันยื่นข้อเสนอ หรือกรณีเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคล จะต้องมีนิติบุคคลไทยร่วมอย่างน้อย 1 ราย ที่มีสัดส่วนถือหุ้นไม่น้อยกว่า 35% ของทั้งหมด
โดยผู้นำกลุ่มนิติบุคคลจะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นมากที่สุดและไม่น้อยกว่า 35% ส่วนสมาชิกอื่นต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 10% ของทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของนิติบุคคลไทยรวมกันแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 51% ของทั้งหมด ทั้งนี้ นิติบุคคลทุกรายที่เข้าร่วมจะต้องจดทะเบียนมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นนิติบุคคลไทยตามกฎหมายรายเดียว จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับกรณีที่เป็นกลุ่มนิติบุคคลหลายรายร่วมกัน จะนำทุนจดทะเบียนชำระแล้วของสมาชิกแต่ละรายมาคำนวณหามูลค่าทุนจดทะเบียนรวมของกลุ่มนิติบุคคล โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท
ด้านคุณสมบัติด้านการเงิน ผู้ยื่นข้อเสนอต้องแสดงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรายปีในรอบ 3 ปีล่าสุด โดยต้องมีมูลค่าเฉลี่ยเป็นบวก และต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันหรือสินเชื่อ หรือแหล่งการเงินอื่นๆรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท
ขณะที่คุณสมบัติทางเทคนิค ประสบการณ์ และผลงาน ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ ดังนี้
1.ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามกำหนด อย่างน้อย 1 โครงการนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ
อนึ่ง ในการเสนอผลงาน สามารถเสนอประสบการณ์ทางด้านงานโยธา 1 ประเภท ต่อ 1 โครงการ หรือประสบการณ์เกินกว่า 1 ประเภท ต่อ 1 โครงการก็ได้ โดยมูลค่าของผลงานแต่ละประเภทในสัญญาเดียวจะต้องไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ประสบการณ์ทางด้านงานโยธาทั้ง 3 ประเภท ที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องนำเสนอ ประกอบด้วย
ก.งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ
ข.งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน
ค.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง
2.ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า ในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Heavy Rail) ภายในระยะเวลา 25 ปี รับถึงวันยื่นข้อเสนอ และดำเนินงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ อย่างน้อย 1 โครงการ
ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก วิธีการและหลักเกณฑ์ในการตัดสิน การจัดทำข้อเสนอฯจะแบ่ง 4 ซอง ได้แก่ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ,ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ,ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และการดำเนินงานของ รฟม.
โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งจะประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคเป็น 4 หมวด คะแนนเต็มร้อยละ 100 คือ
1.โครงสร้างองค์กร บุคลากร และแผนการดำเนินงาน ร้อยละ 10
2.แนวทางวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคโยธา ร้อยละ 50
3.แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานระบบรถไฟฟ้า ร้อยละ 10
4.แนวทาง วิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคบริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา ร้อยละ 30
ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับคะแนนการประเมินในแต่ละหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และได้รับคะแนนการประเมินรวมของทุกหมวดไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของคะแนนรวมทั้งหมด มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 และจะส่งข้อเสนอซองที่ 3 และซองที่ 4 คืน แต่หากผู้ยื่นข้อเสนอผ่านเกณฑ์การพิจารณาซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จะมีการพิจารณาซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนต่อไป
สำหรับผู้ยื่นข้อเสนอที่มี NPV ของผลประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักด้วยเงินสนับสนุนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.) สูงที่สุด จะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด
อย่างไรก็ตาม รฟม.ได้กำหนดเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์ เช่น รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตราฯ 36 สงวนสิทธิ์ที่จะลด หรือขยายระยะเวลาขอการคัดเลือก เปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ยกเลิก ประกาศเชิญชวน หรือเอกชนสำหรับการคัดเลือกเอกชนหรือยกเลิกการคัดเลือกเอกชน โดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดก็ได้ โดยผู้ยื่นข้อเสนอไม่สามรถเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียหายใดได้
อ่านประกอบ :
'รฟม.' เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 'บางขุนนนท์-มีนบุรี' 1.28 แสนล. 'รอบใหม่' มี.ค.นี้
‘ศาลปค.กลาง’ชี้ ‘รฟม.’แก้กติกาประมูล‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบด้วยกม.-ยกฟ้องชดใช้ ‘BTSC’ 5 แสน
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.
'ศาลปค.สูงสุด' สั่งจำหน่ายคดี 'บีทีเอส' ฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม'
จี้หาคนรับผิดชอบ! 'รฟม.' รื้อ TOR รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ทำล่าช้า-เสียหาย 4.3 หมื่นล./ปี
‘ดีเอสไอ’ ส่งสำนวนคดี ‘รฟม.’ แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ให้ 'ป.ป.ช.' ไต่สวนฯ
‘บีทีเอส’ ขู่ฟ้องศาลปค.เพิกถอนประกาศ 'รฟม.' ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ
ศาลปค.จำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอน TOR สายสีส้ม-'คีรี' ร้อง'บิ๊กตู่'สั่งระงับประมูลรอบใหม่
วรวรรณ ธาราภูมิ : รถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว รัฐเปลี่ยนเงื่อนไขได้ด้วยหรือ?
เปิดคำฟ้องศาลทุจริตฯ! ‘บีทีเอส’กล่าวหา ‘ผู้ว่าฯรฟม.-พวก’ ผิดม.157-165 แก้TORสายสีส้ม
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'