‘ศาลปกครองกลาง’ ยกฟ้อง ‘รฟม.’ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนค่าจ้าง ‘ที่ปรึกษาฯ’ 5 แสนบาท ให้ BTSC แต่ชี้การแก้กติการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
................................
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง กรณีที่ BTSC ขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าที่ปรึกษาทางเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย เป็นเงิน 500,000 บาท
เนื่องจากเห็นว่าค่าที่ปรึกษาทางเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอผลตอบแทนลงทุนฯ รวมกันแล้วแบ่งคะแนนซองที่ 2 เป็น 30 คะแนน และซองที่ 3 เป็น 70 คะแนน แทนหลักเกณฑ์การประเมินเดิม ที่ให้พิจารณาซองที่ 2 (ข้อเสนอเทคนิค) ก่อน หากผ่านเกณฑ์จึงจะพิจารณาซองที่ 3
อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาของศาลปกครองดังกล่าว ศาลฯได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การร่วมทุน จากเดิมที่ให้พิจารณาซองที่ 2 (ข้อเสนอเทคนิค) ก่อน หากผ่านเกณฑ์จึงจะพิจารณาซองที่ 3 มาเป็นให้ใช้การประเมินซองที่ 2 (ข้อเสนอเทคนิค) และซองที่ 3 (ข้อเสนอผลตอบแทนลงทุน) รวมกันแล้วแบ่งคะแนนซองที่ 2 เป็น 30 คะแนน และซองที่ 3 เป็น 70 คะแนน นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อ BTSC ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีหรือไม่ โดยประเด็นดังกล่าว ศาลฯมีคำวินิจฉัยว่า เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“การเปลี่ยนแปลง แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการดังกล่าว นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) ดังกล่าวเป็นการแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินที่จะต้องใช้จ่ายจำนวนมาก
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงต้องดำเนินการเช่นเดียวกันกับการกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนกับรัฐฉบับแรกก่อนแก้ไข กล่าวคือ ต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนผู้เกี่ยวข้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ.2563
ในส่วนนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้ข้อเท็จจริงว่า การพิจารณาปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่จำเป็นต้องนำกลับไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่แต่อย่างใด และข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจว่า ไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น
แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ โดยพิจารณาถึงปัจจัยและผลประโยชน์ด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาปรับปรุงการประเมินข้อเสนอ เพื่อหาผู้ชนะการคัดเลือกให้มีความเหมาะสมชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมายและหนังสือดังกล่าวได้ส่งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ซึ่งในวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้มีการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ต่อมาได้มีการจัดทำร่างเอกสารปรับปรุงแก้ไขหัวข้อการประเมินข้อเสนอในวันที่ 22 สิงหาคม 2563 โดยได้ปรับปรุงแก้ไขหัวข้อการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม
โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองใช้เวลาพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพียง 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ.2563 กรณีจึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนดังที่กำหนดไว้ตามประกาคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ดังกล่าวด้วย
จึงเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 192/2565 ลงวันที่ 9 ก.พ.2565 ระบุ
อ่านประกอบ :
ศาลปค.กลางนัดอ่านคำพิพากษา คดี ‘บีทีเอส’ ฟ้อง ‘รฟม.’แก้กติกาประมูลสายสีส้ม 9 ก.พ.นี้
‘ศาลคดีทุจริตฯ’ เลื่อนพิจารณาหลักฐาน คดีแก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ เป็น 25 ต.ค.
'ศาลปค.สูงสุด' สั่งจำหน่ายคดี 'บีทีเอส' ฟ้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้า 'สายสีส้ม'
จี้หาคนรับผิดชอบ! 'รฟม.' รื้อ TOR รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ทำล่าช้า-เสียหาย 4.3 หมื่นล./ปี
‘ดีเอสไอ’ ส่งสำนวนคดี ‘รฟม.’ แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ ให้ 'ป.ป.ช.' ไต่สวนฯ
‘บีทีเอส’ ขู่ฟ้องศาลปค.เพิกถอนประกาศ 'รฟม.' ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ ไม่ชอบ
ศาลปค.จำหน่ายคดีฟ้องเพิกถอน TOR สายสีส้ม-'คีรี' ร้อง'บิ๊กตู่'สั่งระงับประมูลรอบใหม่
วรวรรณ ธาราภูมิ : รถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนซื้อซอง TOR แล้ว รัฐเปลี่ยนเงื่อนไขได้ด้วยหรือ?
เปิดคำฟ้องศาลทุจริตฯ! ‘บีทีเอส’กล่าวหา ‘ผู้ว่าฯรฟม.-พวก’ ผิดม.157-165 แก้TORสายสีส้ม
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'