‘ศาลปกครองกลาง’ นัดพิจารณาคดี ‘รฟม.’ ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้งแรก 23 มิ.ย. ขณะที่ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ชี้ขาดคดี AIS ยื่นอุทธรณ์จ่ายค่าปรับ ‘กสทช.’ 24 มิ.ย.นี้
.................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 23 มิ.ย. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมายเลขดำที่ 480/2564 ระหว่าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวก รวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีประกาศ ลว. 3 ก.พ.2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
@‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดชี้ขาดคดี AIS อุทธรณ์จ่ายค่าปรับ ‘กสทช.’
นอกจากนี้ ในวันนี้ 24 มิ.ย. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 56/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 717/2559 ระหว่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือค่าย AIS (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)
คดีนี้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ฟ้องว่า เลขาธิการ กสทช. กับพวกรวม 2 คน ได้มีหนังสือที่ สทช. 5011/9627 ลว. 31 พ.ค.2555 ให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์กรณีดังกล่าว และได้รับแจ้งผลการพิจารณาตามมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในการประชุมครั้งที่ 35/2555 ให้ยื่นตามคำสั่งเดิมเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนด การที่ผู้ฟ้องคดีให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะที่เรียกเก็บเงินล่วงหน้า (แบบ Pre-Paid) โดยมีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการที่ต้องใช้บริการภายในเวลาที่กำหนด เป็นการที่ผู้ฟ้องคดีฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือถึงผู้ฟ้องคดีให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน และในภายหลังได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการตามประกาศดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะกำหนดค่าปรับทางปกครอง แต่ผู้ฟ้องคดียังคงฝ่าฝืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมมีอำนาจที่จะออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชำระค่าปรับทางปกครอง ตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
ส่วนการกำหนดจำนวนค่าปรับทางปกครองนั้น เห็นว่า การพิจารณาค่าปรับทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ประเมินจากผลกระทบด้านต่าง ๆ ดังนี้ (1) ผลกระทบต่อการประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก สมควรปรับ 40,000 บาท (2) ผลกระทบต่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม สมควรปรับ 20,000 บาท (3) ผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ทำให้ผู้ใช้บริการถูกบังคับให้ใช้บริการในระยะเวลาที่กำหนด สมควรปรับ 40,000 บาท รวมเป็นค่าปรับ 100,000 บาท ต่อวัน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้กับผู้ประกอบการทุกราย
ทั้งนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีให้ผู้ใช้บริการใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์ ซึ่งขณะนั้นผู้ฟ้องคดีมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายล่วงหน้า 31.7 ล้านเลขหมาย เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าปรับกับรายได้ผู้ฟ้องคดีแล้ว การกำหนดค่าปรับดังกล่าวจึงไม่กระทบผู้ฟ้องคดีจนเกินสมควร การกำหนดค่าปรับทางปกครองวันละ 100,000 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด