“…โครงการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้ง 3 โครงการ ควรยุติการผูกขาดโดยเอกชน จึงดำเนินการให้มีการเปิดโอกาส ให้เอกชนได้แข่งขันกันยื่นข้อเสนอเข้าดำเนินการบริหารโครงการโดยเสรีและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ ของประชาชน และของผู้ประกอบกิจการต่างๆ…”
.................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่เห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการเอกชนบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เป็นคำสั่งที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ (ผู้ฟ้องคดี) อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยา นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
โครงการที่พิพาทในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ ,กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ) เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 มิได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กรณีจึงมิอาจนำมาตรา 119 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้
ดังนั้น ถึงแม้ต่อมาจะได้มีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการที่พิพาทแล้ว แต่หากปรากฎว่าการดำเนินการเพื่อคัดเลือกคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวได้ และหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ (อ่านประกอบ : ข้ออ้าง'อีสท์วอเตอร์'ฟังไม่ขึ้น! 'ศาลปค.'ยกขอคุ้มครองชั่วคราวฯ คดีประมูลท่อส่งน้ำ EEC)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 นั้น
คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ ,กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3) ได้ยื่นคำชี้แจงฉบับลงวันที่ 4 เม.ย.2565 ให้ศาลฯพิจารณา โดยมีเนื้อหาสรุปได้ ดังนี้
@‘ธนารักษ์’ชี้ควรยุติการผูกขาด-เปิดแข่งขันยื่นข้อเสนอ
1.ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ผูกขาดบริหารโครงการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้ง 3 โครงการแต่เพียงผู้เดียวเป็นระยะเวลานาน แต่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือตั้งแต่ พ.ศ.2536 จำนวน 1 โครงการ ซึ่งจะสิ้นกำหนดอายุสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566
ส่วนอีก 2 โครงการ มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการบริหารโครงการในทำนองเดียวกับโครงการแรกตั้งแต่ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2541 โดยมิได้มีการทำสัญญาเป็นหนังสือ สองโครงการนี้ผู้ฟ้องคดีได้ชำระผลประโยชน์ตอบแทนการได้เข้าบริหารโครงการแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์)
ซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าวเกิดจากรายได้ของผู้ฟ้องคดีได้รับจากการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชน จากผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมและกิจการอื่นๆ และผู้ฟ้องคดีจัดแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) เป็นผลประโยชน์ตอบแทนการได้ดำเนินการบริหารโครงการ
2.โครงการทั้งสามโครงการดังกล่าว เป็นการนำสาธารณูปโภคซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจให้บริการแก่ประชาชน ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และกิจการอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้ใช้น้ำสำหรับการอุปโภคหรือบริโภค โดยเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนและผู้ประกอบกิจการต่างๆ
กระทรวงการคลัง จึงตั้งคำถามต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ว่า การที่ได้กระทำมาแล้วเป็นการให้เอกชนผูกขาดกิจการสาธารณูปโภคของรัฐหรือไม่
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) จึงพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกทั้ง 3 โครงการ ควรยุติการผูกขาดโดยเอกชน จึงดำเนินการให้มีการเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขันกันยื่นข้อเสนอเข้าดำเนินการบริหารโครงการโดยเสรีและเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ ของประชาชน และของผู้ประกอบกิจการต่างๆ
จึงเสนอขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการที่ราชพัสดุ) เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่าบริหารระบบท่อน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอ เพื่อได้รับการคัดเลือกให้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้เช่าบริหารโครงการทั้ง 3 โครงการกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์)
@ระบุประกาศเชิญชวนฯประมูล ‘ครั้งที่ 1’ โมฆะ-ขัดรัฐธรรมนูญ
3.การให้คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีผลบังคับต่อไป ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีในการเป็นผู้ชนะการคัดเลือกตามประกาศเชื้อเชิญเอกชนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ)
และจะได้ทำสัญญาเป็นผู้บริหารโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออกกับหน่วยงานของรัฐที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแต่ประการใดตามรายละเอียดซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะได้กล่าวต่อไป ดังนี้ คือ
ประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (การเปิดประมูลครั้งที่ 1) ซึ่งเป็นการคัดเลือกเอกชนให้ดำเนินการบริหารโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564
เนื่องจากวิธีการในการตัดสินคัดเลือกเอกชน ไม่ได้ระบุปริมาณน้ำดิบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งที่ท่อส่งน้ำดิบในแต่ละโครงการและในแต่ละท่อมีศักยภาพในการส่งน้ำผ่านท่อไม่เท่ากัน ทำให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนตามวิธีการที่ระบุในประกาศฉบับนี้ ไม่อาจคำนึงถึงได้ว่าราชการได้ประโยชน์มากที่สุด ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินกว่าห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ข้อ 27
ทั้งยังไม่แน่ชัดว่า แผนธุรกิจที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เสนอในการดำเนินการโครงการเป็นที่เห็นได้ว่า โครงการจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
เนื่องจากปริมาณน้ำดิบที่ผู้ฟ้องคดีเสนอ แตกต่างจากปริมาณน้ำดิบที่ระบุในเอกสารรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ฉบับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำ และเสนอเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1)
อันทำให้ประกาศฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับที่กำหนดในข้อ 34 (1) ของกฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2534 ที่กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง เพื่อทำการคัดเลือกเอกชนและดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทางราชการมากที่สุด
และกฎกระทรวงดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง มาตรา 24 มาตรา 26 มาตรา 28 วรรคสอง และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จึงทำให้ประกาศเชิญชวนเอกชน ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 เป็นประกาศที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 เป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ประกาศนี้ยังขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า การนำสาธารณูปโภคไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับ และค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน
ส่วนที่กำหนดคุณสมบัติ ‘ห้ามมิให้’ ผู้ถูกเลิกสัญญาโดยหน่วยงานของรัฐ เข้าร่วมยื่นข้อเสนอขัดต่อหลักการแข่งขันโดยเสรี และเป็นธรรมขัดต่อสิทธิและเสรีภาพการทำสัญญาของบุคคล จึงเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เป็นข้อห้ามอันขัดต่อกฎหมายอีกด้วย ประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 จึงขัดต่อกฎหมายไม่มีผลใช้บังคับได้
แม้ว่าผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) เป็นผู้ชนะในการยื่นข้อเสนอ ก็ไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ได้ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กล่าวไว้แล้วในคำให้การฉบับลงวันที่ 31 มี.ค.2565
อนึ่ง หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) ไม่ยกเลิกการคัดเลือกและมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป จนมีการทำสัญญากับผู้ฟ้องคดี การดำเนินการดังกล่าวย่อมเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายทำให้สัญญานั้นตกเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิอาศัยสัญญาไม่ดำเนินการใดๆได้
หากผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ดำเนินการใดๆ ตามสัญญา และการดำเนินการนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ซึ่งเป็นคู่สัญญา และกระทรวงการคลังต้นสังกัด ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว
@‘อีสท์วอเตอร์’ เคยยื่นข้อเสนอขอทำสัญญาบริหารท่อส่งน้ำ EEC
4.ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 ยืนยันข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดกฎหมาย
ในกรณียกเลิกการคัดเลือกเอกชนและประกาศเชิญชวนเอกชน ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 ประการหนึ่ง และการทำผิดกฎหมายกรณีออกประกาศเชิญชวนเอกชนฯ ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 อันเป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อีกประการหนึ่ง
แต่หลังจากฟ้องคดีแล้ว ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ได้ยื่นข้อเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ) เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาคัดเลือกผู้ฟ้องคดี ให้เป็นผู้บริหารโครงการระบบท่อน้ำสายหลักพื้นที่ภาคตะวันออก และเพื่อมีสิทธิทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมธนารักษ์) ต่อไป
ย่อมเป็นการสละสิทธิไม่ติดใจ ที่จะขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อีกต่อไป และเป็นการยอมรับว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามคำฟ้อง
ทั้งเป็นการยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อผู้ฟ้องคดี จึงย่อมไม่เป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีดังได้กล่าวแล้ว ในคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฉบับลงวันที่ 31 มี.ค.2565
“ตามเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กล่าวแล้ว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นการทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) ได้รับความเสียหายหรืออาจได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเสี่ยงได้แต่อย่างใด คำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ไม่อาจรับฟังได้ ศาลอาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำหน่ายคดีได้
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราว ห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำซ้ำและกระทำต่อไป ซึ่งการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงขอศาลโปรดยกคำร้องของผู้ฟ้องคดี” คำชี้แจงของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ,กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3) ฉบับลงวันที่ 4 เม.ย.2565 ในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ระบุ
@‘ธนารักษ์’คาดลงนาม‘วงษ์สยามก่อสร้าง’บริหารท่อฯ ต้น พ.ค.นี้
ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า สำหรับคดีประมูลท่อส่งน้ำ EEC นั้น ที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุด หรือครั้งที่ 3 อีสท์วอเตอร์ อ้างข้อมูลใหม่ว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้ วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูล
“เรื่องนี้ (การขอคุ้มครองชั่วคราวฯ) เป็นคดีที่ศาลฯยกมา 3 ครั้งแล้ว ซึ่งครั้งล่าสุดที่ศาลฯต้องไต่สวนฯ เพราะมีการอ้างข้อมูลเข้าไปใหม่ คือ อีสท์วอเตอร์ อ้างข้อมูลว่าคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกแล้ว จึงเป็นข้อมูลใหม่ที่มาร้อง พอศาลฯไต่สวนประเด็นนี้แล้ว และศาลสั่งไม่คุ้มครองฯ อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นที่สุด” ประภาศ กล่าว
ประภาศ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ กรมธนารักษ์ จะเรียก วงษ์สยามก่อสร้าง เข้ามาหารือเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินที่ วงษ์สยามก่อสร้าง จะต้องเข้ามาบริหาร โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องพูดคุยให้ยุติ หลังจากนั้นจะมีเดินหน้าในการเซ็นสัญญา ซึ่งคาดว่าอย่างช้าสุดน่าจะไม่เกินต้นเดือน พ.ค.นี้
“ขณะนี้ศาลฯสั่งไม่คุ้มครอง เมื่อศาลฯสั่งไม่คุ้มครองแล้ว ถ้าเราเพิกเฉยอยู่ ไม่ดำเนินการ เราก็ผิด และเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ หรือถ้าจะไปอ้างว่า คดีอยู่ในศาลฯขอให้รอก่อน ขอถามว่า ถ้ารอแล้วความเสียหายเกิดขึ้นกับรัฐ เพราะผลประโยชน์ที่เกิดกับรัฐในวันลงนามในสัญญาเกือบ 500 ล้านบาทแล้ว
ถ้าเรารออยู่ ก็เหมือนกับเราละเว้นในการไม่รักษาประโยชน์ของรัฐ เพราะไม่รู้เมื่อไหร่ จึงจะลงนามสัญญาได้ ศาลจะพิพากษาเมื่อไหร่ เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น แนวทางของกรมธนารักษ์ คือ ต้องเดินหน้าในการลงนามสัญญา แต่ต้องขอดูให้ยุติ และให้รอบคอบก่อน” ประภาศ ย้ำ
ประภาศ ระบุว่า สำหรับโครงการท่อส่งน้ำที่ วงษ์สยามก่อสร้าง จะเข้ามาบริหารทันที หลังจากมีการลงนามในสัญญาแล้ว ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำที่ไม่มีสัญญา 2 โครงการ คือ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)
ส่วนโครงการท่อส่งน้ำที่มีสัญญา คือ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย นั้น วงษ์สยามก่อสร้าง จะเข้าไปบริหารได้ หลังจากสัญญาเช่าท่อที่ อีสท์วอเตอร์ ทำไว้กับกรมธนารักษ์ สิ้นสุดลงในปีวันที่ 31 ธ.ค.2566
เหล่านี้ เป็นคำชี้แจงของ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ ,กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่ยื่นต่อศาลปกครองกลาง
ก่อนที่ศาลฯจะมีคำสั่งยกคำขอ ‘อีสท์วอเตอร์’ ที่ขอให้ศาลฯมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีมติเห็นชอบให้ วงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งเสนอผลประโยชน์ให้รัฐสูงสุด 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการเอกชนบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
ในขณะที่ กรมธนารักษ์ คาดว่าจะเข้าทำสัญญากับ วงษ์สยามก่อสร้าง ได้ในช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ และถือเป็นการยุติบทบาทของ ‘อีสท์วอเตอร์’ ในการผูกขาดการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในพื้นที่ EEC มาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี
อ่านประกอบ :
ข้ออ้าง'อีสท์วอเตอร์'ฟังไม่ขึ้น! 'ศาลปค.'ยกขอคุ้มครองชั่วคราวฯ คดีประมูลท่อส่งน้ำ EEC
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้องศาลฯขอคุ้มครองชั่วคราวฯประมูล'ท่อส่งน้ำ' EEC-นัดไต่สวนฉุกเฉินวันนี้
มติ 6 ต่อ 3! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ เคาะ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล.
ข้อเท็จจริง'EASTW-ธนารักษ์' ศึกประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล. ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุรื้อมติ?
รมช.คลัง นัดถก บอร์ดที่ราชพัสดุ 14 มี.ค. ชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล.
‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร้อง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรม ประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้