‘ศาลปกครองกลาง’ มีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฯ กรณี ‘อีสท์วอเตอร์’ ขอศาลฯสั่งทุเลาการบังคับตามมติ ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ที่เห็นชอบให้ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลท่อส่งน้ำ EEC มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ระบุในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า การออก TOR ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่เกิดความเสียหายร้ายแรงจนยากจะเยียวยา หากมีการลงนามสัญญา
.................................
สืบเนื่องกรณีที่เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลพิจารณาคำขอหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวเป็นการฉุกเฉิน กรณีคณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติอนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับเลือกให้ดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท
โดย อีสท์วอเตอร์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯพิจารณาและมีคำสั่งใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.ขอให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ระงับการดำเนินการใดๆตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 หรือประกาศเชิญชวนฯฉบับใหม่ ไว้ก่อนชั่วคราว
2.ให้ทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ก่อน (อ่านประกอบ : 'อีสท์วอเตอร์'ฟ้องศาลฯขอคุ้มครองชั่วคราวฯประมูล'ท่อส่งน้ำ' EEC-นัดไต่สวนฉุกเฉินวันนี้)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่เห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในโครงการเอกชนบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ในชั้นนี้ยังฟังไม่ได้ว่า คำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เป็นคำสั่งที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดี (อีสท์วอเตอร์) อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการที่พิพาทในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญาในการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กฎกระทรวงการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 มิได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กรณีจึงมิอาจนำมาตรา 119 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้
ดังนั้น ถึงแม้ต่อมาจะได้มีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการที่พิพาทแล้ว แต่หากปรากฎว่าการดำเนินการเพื่อคัดเลือกคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวได้ และหากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีก็ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
“ในชั้นนี้จึงเห็นได้ว่า หากคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุพิพาทในคดีนี้มีผลบังคับต่อไปก่อนศาลมีคำพิพากษา ไม่ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังแต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงมิอาจรับฟังได้
เมื่อคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่
เพราะมิได้ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2543 จึงมีคำสั่งยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดี” หนังสือแจ้งคำสั่งศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 ลงวันที่ 12 เม.ย.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อเดือน ต.ค.2564 อีสท์วอเตอร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง โดย อีสท์วอเตอร์ ขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 รวมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่ง ‘คุ้มครองชั่วคราว’ ให้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เนื่องจากมิใช่กรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
“การออกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นมูลเหตุข้อพิพาทในคดีนี้ มีผลเพียงทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นซองข้อเสนอใหม่อีกครั้งเท่านั้น มิได้เป็นการตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการเข้ายื่นซองข้อเสนอแต่อย่างใด อีกทั้ง หากภายหลังศาลเห็นว่า กระบวนการในการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายในภายหลังได้ กรณีจึงมิทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา” คำสั่งศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 12 พ.ย.2564 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน และให้กรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต่อไป
ทั้งนี้ ในการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกดังกล่าว (การประมูลครั้งที่ 2) บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงิน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
อ่านประกอบ :
'อีสท์วอเตอร์'ฟ้องศาลฯขอคุ้มครองชั่วคราวฯประมูล'ท่อส่งน้ำ' EEC-นัดไต่สวนฉุกเฉินวันนี้
มติ 6 ต่อ 3! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ เคาะ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล.
ข้อเท็จจริง'EASTW-ธนารักษ์' ศึกประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล. ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุรื้อมติ?
รมช.คลัง นัดถก บอร์ดที่ราชพัสดุ 14 มี.ค. ชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล.
‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร้อง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรม ประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้