‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ทำหนังสือถึง ‘ธนารักษ์’ ขอให้นัดประชุม ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ หลัง 'กรรมการที่ราชพัสดุ' บางราย ขอฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก่อนทบทวนผลประมูลคัดเลือกเอกชนบริหาร 'ท่อส่งน้ำ' EEC 2.5 หมื่นล้าน
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทำหนังสือถึงนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ให้เสนอและนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อให้มีการทบทวนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุเกี่ยวกับการอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก
สำหรับหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ กรมธนารักษ์ประกาศผลการคัดเลือกให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นเอกชนผู้เข้าบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และได้นำเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุ พิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 แต่คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติเสียงข้างมากให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก่อน นั้น
ขอเรียนว่าบริษัทฯ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกที่ ผ่านกระบวนการต่อรอง/ยอมรับร่างสัญญา ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด รอเพียงการนำเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุให้ความเห็นชอบ และบัดนี้ล่วงพ้นกำหนดเวลาลงนามในสัญญาตามที่กฎหมายกำหนดไปเป็นเวลาเกินสมควร ประกอบกับศาลปกครองกลางสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้แพ้การเสนอราคา โดยไม่มีประเด็นความมิชอบของการเสนอราคา
และบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีหน้าที่และอำนาจเพียงการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
การที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุไม่ได้ทักท้วงความถูกต้องแห่งสัญญา แต่เสียงข้างมากมีมติว่า “ให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง” นอกจากเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่อันพึงต้องกระทำของคณะกรรมการที่ราชพัสดุแล้ว ยังเป็นการประวิงเวลาในการปฏิบัติตามพันธะของรัฐที่มีต่อเอกชนผู้ชนะประมูลให้เนิ่นนานออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
จึงมีข้อครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์และให้ประโยชน์แก่ผู้แพ้ประมูลในอันที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปอย่างไม่มีประมาณด้วยค่าตอบแทนเดิมที่กำหนดเมื่อ 30 ปีที่ล่วงมา และถือเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ
และเมื่อปรากฎว่าการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุดังกล่าว มีกรรมการลาประชุม 2 ราย และปรากฎข่าวทางสื่อสารสนเทศว่า กรรมการเสียงข้างมากดังกล่าวจำนวน 4 ราย ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มเติม และแจ้งว่าเปลี่ยนใจเห็นชอบตามมติให้รับรองสัญญาตามข้อเสนอของกรมธนารักษ์ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุผลอันสมควรที่ท่านจักได้นำเสนอต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาทบทวนลงมติใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ เพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามบทกฎหมาย และเพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในอันที่จะได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาในทันทีตามจำนวนที่ตกลงไว้ และป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐต้องถูกผู้ชนะประมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายตลอดจนเพื่อหลีกเลี้ยงมิให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้เกี่ยวข้อง ต้องเกิดความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งจากการนี้
“ด้วยเหตุที่ได้เรียนมาแล้ว จึงขอท่านในฐานะกรรมการ/เลขานุการ และในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีหน้าที่ปกครองดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ได้โปรดนำเสนอและนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อพิจารณาทบทวนให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย จักเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อประโยชน์ของรัฐ” หนังสือระบุ
ก่อนหน้านี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทำหนังสือเรื่อง ขอสอบถามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ลงวันที่ 18 ก.พ.2565 ถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ โดยมีเนื้อหาว่า
“ตามที่กรมธนารักษ์ได้ทำการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด จึงเชิญบริษัทเข้าร่วมเจรจาต่อรองเพื่อจัดทำเงื่อนไขในร่างสัญญา ในวันที่ 30 กันยายน 2564
ต่อมา กรมธนารักษ์ได้ส่งข้อสังเกตและร่างสัญญาบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกฉบับผ่านการพิจารณาจากสำนักอัยการสูงสุดให้บริษัทพิจารณา บริษัทได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าบริษัทสามารถรับทั้งร่างสัญญาบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ฉบับนำเสนอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา (ร่างสัญญาฉบับเดิม) และร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับแก้ไข) โดยไม่ขัดข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง รอบคอบ กรมธนารักษ์ได้เชิญบริษัทเข้าร่วมเจรจาต่อรองในวันที่ 21 มกราคม 2565 ซึ่งปัจจุบันนับระยะเวลารวมในการเจรจาร่างสัญญาผ่านมากว่า 4 เดือน และบริษัทได้ทราบว่าเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาแล้ว นั้น
ในการนี้ บริษัท ในฐานะเป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดในโครงการดังกล่าว จึงขอสอบถามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ และแนวทางการดำเนินงานในขั้นต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาแจ้งมติการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุดังกล่าวให้บริษัททราบด้วยภายใน 7 วันจักขอบพระคุณยิ่ง”
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายประภาศ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากกรรมการที่ราชพัสดุบางรายว่า ขอให้นัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุอีกครั้ง เพื่อให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือแล้ว กรมธนารักษ์ได้นำเรื่องเสนอต่อ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อให้พิจารณาสั่งการเรียกประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุต่อไป
อ่านประกอบ :
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้