‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 4 ชะลอการอนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน ระบุขอให้รอคำพิพากษาศาลปกครองก่อน
........................
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่บอกว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน
ก่อนหน้านี้ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้เดินหน้ากระบวนการคัดเลือกต่อไป
อีสท์วอเตอร์ ยังขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วย (อ่านประกอบ : ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด)
นายประภาศ กล่าวว่า ตนไม่สามารถบอกได้ว่า กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลางในคดีนี้จะแล้วเสร็จเมื่อใด และในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลปกครองกลางมีพิพากษาออกมาหลังปี 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่สัญญาเช่าท่อส่งน้ำดิบที่ อีสท์วอเตอร์ ทำไว้กับกรมธนารักษ์สิ้นสุดลง จะทำอย่างไร แต่ไม่มีกรรมการท่านใดพูดอะไรต่อ และหากศาลปกครองกลางตัดสินแล้ว จะต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาอีกหรือไม่
“ท่อที่มีสัญญามันจะหมดปี 2566 แต่ระบบท่อที่ไม่มีสัญญานั้น จริงๆแล้วจะต้องมีการ operate (ดำเนินการ) ทันที เราต้องเอามาบริหารเลย แต่ทางกรรมการเขาบอกว่าให้รอก่อน” นายประภาศกล่าว
นายประภาศ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ตนได้ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงคำสั่งของศาลปกครองกลางที่ระบุว่า เป็นสิทธิ์โดยชอบของกรมธนารักษ์ที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และในชั้นนี้ศาลก็ยังบอกว่ากระบวนการยกเลิกไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคำสั่งบอกอีกว่าหาก อีสท์วอเตอร์ ได้รับความเสียหาย ก็มาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลังได้
ขณะเดียวกัน ตนยังชี้แจงว่า หากมีการลงนามสัญญาเช่าท่อกับเอกชนรายใหม่ แม้ว่าภาครัฐจะได้ค่าเช่าปีละหลักสิบล้านบาท แต่ผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับจากส่วนแบ่งรายได้จะอยู่ที่ปีละประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อกรรมการส่วนใหญ่ยืนยันว่าให้รอศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาก่อน ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า กรรมการเสียงส่วนใหญ่ที่ให้ชะลอการอนุมัติผลการประมูล และบอกให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก่อน เป็นกรรมการจากกระทรวงหมาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรรมการที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ครั้งที่สอง ซึ่งเปิดให้เอกชนยื่นซองเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงินจำนวน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ขณะที่เงื่อนไขการเปิดประมูลดังกล่าว กำหนดให้เอกชนที่รับสิทธิ์บริหารจัดการเช่าท่อส่งน้ำฯ จะต้องจำหน่ายน้ำดิบในราคาไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่ อีสท์วอเตอร์ ขายน้ำดิบให้ผู้ใช้ในราคาประมาณ 13 บาท/หน่วย และกรณีที่ผู้ใช้น้ำหรือผู้ประกอบการรายใดใช้น้ำไม่เป็นไปตามขั้นต่ำที่ อีสท์วอเตอร์ กำหนด จะโดนชาร์จค่าน้ำเพิ่ม ทำให้อัตราค่าน้ำที่ต้องจ่ายจริงสูงกว่า 13 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ อีสท์วอเตอร์ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รัฐวิสาหกิจในกำกับดูแลของกระทรวงมหากไทย เป็นถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 40.20%
อ่านประกอบ :
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้