‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ส่งหนังสือถึง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรมโครงการประมูล ‘ท่อส่งน้ำสายหลัก’ ในพื้นที่ EEC’ 2.5 หมื่นล้าน ระบุบริษัทฯเป็นผู้ชนะประมูลโดยชอบ ร้องให้นัดประชุม ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลการประมูล
...............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ทำหนังสือถึงนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อขอความเป็นธรรมโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ขอให้มีการนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาว่า ตามที่กรมธนารักษ์ประกาศผลคัดเลือกบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นเอกชนผู้เข้าบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกและได้นำเสนอสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อให้ความเห็นชอบ แต่คณะกรรมการฯ มีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ด้วยเสียงข้างมากให้รอผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน นั้น
บริษัทฯ ขอกราบเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุความเป็นมาที่แท้จริงมายังท่าน เพื่อโปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์แห่งราชการ ดังจะได้กราบเรียนโดยลำดับ
บริษัทฯ มีสถานะเป็นผู้ชนะการประมูลฯ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมธนารักษ์ประกาศกำหนดโดยได้ผ่านกระบวนการต่อรองสัญญาและยอมรับสัญญาที่จัดทำและตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด จนถึงขั้นตอนลงนามในสัญญาร่วมลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากมูลค่าโครงการฯ เกินกว่า 500 ล้านบาท ต้องนำเสนอคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นชอบตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ซึ่งคณะกรรมการฯ ในฐานะคณะกรรมการบริหารนโยบายชอบที่จะมีความเห็นไปในทางใดทางหนึ่ง คือ เห็นชอบด้วยกับสัญญาฯที่เสนอ หรือไม่เห็นชอบด้วยกับสัญญาฯ ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ คณะกรรมการฯ หาอาจที่จะลงมติก้าวล่วงไปในขั้นตอนหรือกระบวนการที่อยู่ภายในอำนาจพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือขององค์กรอื่นเพราะไม่ใช่หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
อย่างไรก็ดี ขอกราบเรียนว่า สัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ เป็นสัญญาที่จัดทำและตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรง จึงเป็นที่รับรองได้ว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ประกอบกับสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีการเข้าสู้ราคาแข่งขันกันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 (ฉบับใหม่) ที่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) (East water) ผู้แพ้ประมูลก็เข้าร่วมประมูลเสนอราคา พร้อมกับนิติบุคคลอื่น แต่ East water แพ้ประมูล เพราะเหตุเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในอัตราต่ำกว่า บริษัท วงษ์สยามก่สร้าง จำกัด หาได้แพ้ประมูล เพราะตกคุณสมบัติหรือขาดโอกาสในการเสนอราคา
ซึ่งในข้อนี้ East water ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันรับฟังเป็นยุติตามกฎหมายว่าเป็นการประมูลสู้ราคาโดยถูกต้อง และ East water แพ้ราคาในการประมูลดังกล่าว ประกอบกับ East water ไม่ได้ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่าเป็นการประมูลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการไม่ให้โอกาสแก่ตนในการเข้าสู้ราคา
และศาลปกครองกลางมีคำสั่งในส่วนนี้ว่า การออกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และประกาศเชิญชวนฯดังกล่าว มีผลเพียงให้ผู้ฟ้องคดี (East water) ต้องยื่นซองข้อเสนอใหม่อีกครั้งเท่านั้น มิได้เป็นการตัดสิทธิของ East water ในการเข้ายื่นซองเสนอราคาแต่อย่างใด จึงไม่เกิดความเสียหายแก่ East water
จึงถือว่าเป็นการประมูลฯ สู้ราคากันโดยถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด หากยอมให้ยกเลิกเพิกถอนหรือประวิงการปฏิบัติตามการประมูลแข่งขันที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ East water เรียกร้องได้ ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล โดยสุจริตชอบธรรม และถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายด้วย
บริษัทฯ ขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่า การฟ้องคดีของ East water ที่อ้างว่าคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มีคำสั่งยกเลิกกระบนการคัดเลือกตามหนังสือเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 (ฉบับเดิม) เป็นการกระทำโดยไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ยกเลิกดังกล่าวและกลับไปประมูลคัดเลือกใหม่ ตามหนังสือเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 (ฉบับเดิม) และให้งดการดำเนินการหรือการกระทำใด ๆ ที่ต้องกระทำเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกตามหนังสือเชิญชวนฯฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 (ที่ได้ประมูลกันไปแล้วโดยถูกต้องและ East water แพ้ราคา) นั้น
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นพฤติการณ์ ไม่ยอมรับกติกาของสังคมหรือนัยหนึ่งแพ้แล้วไม่ยอมรับสภาพว่าแพ้ ซึ่งหากยอมรับบังคับให้ตามที่ East water อ้างขอ ย่อมเป็นการทำลายระบบธรรมาภิบาลในองค์กร และทำลายกฎเกณฑ์ของสังคมทำลายบทกฎหมาย และยังเป็นต้นแบบให้ผู้แพ้ประมูลทั่วราชอาณาจักรไทยใช้เป็นแบบอย่างในการฟ้องคดีบังคับให้ประมูลกันใหม่ โดยไม่รู้จบสิ้น ซึ่งเชื่อว่าไม่มีหน่วยงานใดของรัฐยอมรับได้ และคงไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่คนใดกล้าที่จะปฏิบัติตาม
ซึ่งคำขอดังกล่าวของ East water ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งว่า กรมธนารักษ์และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าวได้ตามสิทธิที่ได้แจ้งสงวนไว้ โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่จะวินิจฉัยยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ได้ และไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าคำสั่งยกเลิกดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนคำขอที่ให้งดหรือชะลอการดำเนินการหรือการกระทำใดๆ ที่ต้องกระทำตามกระบวนการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย นั้น ศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งว่าประกาศเชิญชวนฯฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ตัดสิทธิ East waterในการเข้าเสนอราคา ไม่เกิดความเสียหายแก่ East water ยกคำร้องไม่บังคับตามคำขอของ East water
กล่าวคือ ไม่มีเหตุจะงดการดำเนินการหรือการใดๆ ที่ต้องกระทำตามกระบวนการคัดเลือกตามหนังสือเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ได้ระทำมาโดยถูกต้องตามกฎหมาย คำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวได้ยืนยันชัดแจ้งแล้วว่า ไม่รับบังคับตามคำฟ้องและคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ East water กรณีจึงไม่อาจที่จะหยุดชะลอการกระทำหรือกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามหนังสือเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ชอบด้วยกฎหมายได้อีก
บริษัทฯ ขอกราบเรียนว่า คำสั่งศาลปกครองกลางที่ยกคำขอทุเลาการบังคับตามที่ East water ร้องขอนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีในศาลปกครองฯ ประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ข้อ 76 บัญญัติให้เป็นที่สุด คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ซึ่งศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ก่อนวันนัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเวลา 3 เดือนและคำสั่งดังกล่าวได้แจ้งระบุความเป็นที่สุดไว้ในหมายเหตุ ข้อ 2 ด้านหลังหมายแจ้งคำสั่งด้วย
ดังนั้น คณะกรรมการที่ราชพัสดุย่อมไม่อาจปฏิเสธความรู้เห็นในผลแห่งคดีนี้ เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องที่เสนอเพื่อพิจารณา การที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุลงมติโดยเสียงข้างมากให้รอฟังผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางเสียก่อน ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะถึงที่สุดเมื่อใดนั้น นอกจากเป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ อันจะกระทำได้ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
ยังเป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการฝ่าฝืนหรือจงใจละเว้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันเป็นที่สุดของศาลปกครองกลางและเป็นพฤติการณ์ อันครหาได้ว่าเป็นการประวิงเวลาในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2564 อย่างไม่รู้กำหนดสิ้นสุด โดยเล็งเห็นผลแห่งเจตนาได้ว่าประสงค์จะให้ประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์แก่ผู้แพ้ประมูลในอันที่จะครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินของรัฐต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด โดยจ่ายผลประโยชน์ต่ำกว่าที่รัฐพึงจะได้รับ
ถือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ผู้ชนะประมูลในอันที่จะเข้าลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเตรียมการรับมอบทรัพย์สินในโครงการฯ ที่ประมูลตามสิทธิที่มีอยู่ตามกระบวนการคัดเลือกและตามสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้
ทั้งยังเป็นผลให้รัฐต้องขาดรายได้จากการรับเงินในทันที เมื่อลงนามในสัญญาฯ จำนวน 624 ล้านบาท และยังทำให้หน่วยงานของรัฐเกิดความรับผิดในการชดใช้ค่าเสียหายในเหตุล่าช้าต่อผู้ชนะประมูล ตลอดจนก่อให้เกิดความรับผิดทางอาญาและทางแพ่งแก่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกโสดหนึ่งด้วย
“อาศัยเหตุดังที่ได้กราบเรียนมาข้างต้น บริษัทฯ ใคร่ขอความกรุณาจากท่าน ขอได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐ อย่างถูกต้องชอบธรรม ทั้งนี้ เพื่อรักษากติกาของสังคม และเพื่อประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานของรัฐ และเพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทอันอาจเกิดแก่หน่วยงานของรัฐและคณะกรรมการที่ราชพัสดุซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตลอดจนพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
อนึ่ง บริษัทฯ ทราบข่าวจากสื่อสารสนเทศว่ามีกรรมการฯ บางท่านให้ข่าวต่อสื่อว่า ลงมติโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและประสงค์จะลงมติใหม่ ประกอบกับบริษัทฯ ได้ร้องขอให้คณะกรรมการฯ นัดประชุมเพื่อทบทวนมติเดิมอีกครั้ง ซึ่งหากท่านเห็นว่าการลงมติดังกล่าวเป็นไปโดยผิดหลงและเห็นควรทบทวนมติขอได้โปรดทำบันทึกแจ้งต่อเลขานุการคณะกรรมการฯ เพื่อยืนยัน ประกอบการนัดประชุมกรรมการฯอีกครั้ง” หนังสือของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ลงวันที่ 3 มี.ค.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับหนังสือของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ดังกล่าว นับเป็นหนังสือฉบับที่ 3 ที่บริษัท ส่งถึงหน่วยงานภาครัฐและประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ โดยบริษัทฯ ขอให้นัดประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อพิจารณาทบทวนเรื่องการอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติ 6 ต่อ 4 ไม่อนุมัติผลการประมูลฯ โดยระบุว่า ให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก่อน
ทั้งนี้ ในการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ครั้งที่สอง ซึ่งเปิดให้เอกชนยื่นซองเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงินจำนวน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
อ่านประกอบ :
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้